ศตวรรษที่ 13 ศัลยแพทย์ชื่อ Theodoric Burgognoni (1205-1298) แนะนำให้ล้างแผลโดย จุ่มลงไปในไวน์จะทำให้แผลไม่เกิดหนอง แต่ตอนนั้นไม่มีใครทราบว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ต่อมา Sir John Pringle (1707-1782) แพทย์ชาวอังกฤษเริ่มศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและบทความของเขาชื่อ "Experiments Upon Septic and Antiseptic Substance" ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Philosophical Transactions ซึ่งมีการใช้คำว่า น้ำยาฆ่าเชื้อ (Anti-septic) เป็นครั้งแรก โดยรากศัพท์มาจากภาษากรีก "Anti" ที่แปลว่า "ต่อต้าน" และ "sepsis" ที่แปลว่า "ย่อยสลาย'
Joseph Lister กับ phenol
ค.ศ. 1834 Friedlieb Ferdinand Runge (1795-1867) นักเคมีชาวเยอรมันกลั่นสารได้จากน้ำมันดินถ่านหิน สารนี้มีฤทธิ์เป็นกรดและละลายในน้ำมะนาว เขาเรียกสารนี้ว่ากรด Carbolic แต่ ค.ศ. 1842 Charles Gerhadt (1816-1856) นักเคมีชาวฝรั่งเศสตั้งชื่อสารนี้ว่า Phenol ต่อมา ค.ศ. 1854 Frederick Crace Calvert (1819-1873) นักเคมีชาวอังกฤษผลิตกรด Carbolic เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสีย.
ทศวรรษที่ 1850 มีการค้นพบยาสลบทำให้ มีการผ่าตัดใหญ่เพิ่มขึ้นมากมาย Joseph Lister (1827-1912) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษที่มหาวิทยาลัยแห่ง Glasgow สังเกตว่าผู้ป่วยกระดูกหักทั่วไปมักจะหายโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผิดกับกรณีกระดูกหักแบบมีแผลเปิดที่ผิวหนัง (Open fracture) แผลมักจะเกิดหนองเช่นเดียวกับแผลหลังการผ่าตัดใหญ่เช่นการผ่าตัดอวัยวะ แผลที่เน่าเป็นหนองทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการตายสูงประมาณร้อยละ 40-50 เลยทีเดียวและสารประกอบไอโอดีนใช้ไม่ได้ผล บังเอิญเขาอ่านหนังสือพิมพ์พบว่าทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ ที่เมือง Carlisle กำจัดสิ่งปฏิกูลโดยใช้กรด Carbolic เขาจึงเกิดความสนใจที่จะทดลองใช้.
12 สิงหาคม ค.ศ. 1865 Lister ก็เริ่มทดลองใช้สารนี้เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อ ผลการศึกษาสามารถลดอัตราการตายหลังผ่าตัดใหญ่ลงเหลือเพียงร้อยละ 15 วันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1867 บทความของเขาที่ชื่อ "Antiseptic principle of the Practice of Surgery" ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Lancet ตอนแรกความคิดของเขาถูกต่อต้านพอสมควร แต่ความจริงก็คือความจริง เมื่อ ค.ศ. 1871 Queen Victoria ยังใช้กรด Carbolic ในการผ่าตัดฝีที่รักแร้ ผลงานของเขาจึงเป็นที่ยอมรับทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ.
ยากลุ่ม Phenol ตัวอื่นๆ
ค.ศ. 1886 Oswald Schmiedeberg ค้นพบว่าว่า Cresol ออกฤทธิ์ดีกว่า Phenol และมีพิษน้อยกว่า ต่อมาบริษัทแห่งหนึ่งในเยอรมนีก็นำ Chlorocresol ออกสู่ตลาดในปี ค.ศ. 1897.
ค.ศ. 1931 Leonard Colebrook (1883-1967) นักแบคทีเรียวิทยาชาวอังกฤษร่วมกับนักเคมีที่บริษัทแห่งหนึ่งในอังกฤษค้นพบสารที่ระคายเคืองต่อผิวหนังน้อยลงคือ Chloroxylenol (Dettol)
ค.ศ. 1937 ที่สหรัฐฯ William Gump ค้นพบสารอีกตัวคือ Hexachlorophene ซึ่งฆ่าเชื้อที่ผิวหนังได้และมีข้อดีคือ ยังคงประสิทธิภาพแม้ผสมในสบู่ จึงถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวต่างๆ มากมาย แต่สารนี้มีข้อเสียคือ เกิดพิษรุนแรงต่อระบบประสาทได้ และแล้วโศกนาฏกรรมก็เกิดขึ้นในฝรั่งเศส เมื่อผู้ผลิตแห่งหนึ่งผสม Hexachlorophene 6% ในแป้งเด็ก ปรากฏว่ามีเด็กเสียชีวิตถึง 20 คน ทำให้ ค.ศ. 1972 สำนักงานอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาจึงห้ามขายผลิตภัณฑ์ที่มี Hexachlorophene เกิน 0.1% ต่อมาจึงมีการพัฒนาสารตัวอื่นๆ เพื่อมาทดแทนตัวอย่างเช่น Triclosan เป็นต้น.
แอลกอฮอล์ (alcohol)
แอลกอฮอล์ที่มีบทบาทในการเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อคือ Ethanol หรือ Ethyl alcohol สารนี้ถูกทำให้บริสุทธิ์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1796 โดย Johann Tobias Lowitz อีก 30 ปีต่อมา Antoine Lavoisier บรรยายว่าสารนี้ประกอบด้วยคาร์บอน, ไฮโดรเจนและออกซิเจน ค.ศ. 1858 Nicolas-Theodore de Saussure Archibald Scott Couper (1831-1892) นักเคมีชาวสก๊อตก็ค้นพบโครงสร้าง และเป็น Pierre Eugene Mercellin Berthelot (182-1907) ที่สังเคราะห์สารนี้ได้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1860 จนถึงปัจจุบัน Ethyl alcohol ความเข้มข้น 70% เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้กันทั่วไป.
ยากลุ่ม Aldehyde
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ที่สำคัญที่สุดคือ Formaldehyde (Formalin) ถูกค้นพบโดยบังเอิญในปี ค.ศ. 1859 โดยนักเคมีชาวรัสเซีย Aleksandre Mikhailovich Butlerov (1828-1886) แต่อีกหลายปีต่อมาคือ ค.ศ. 1868 August Wilhelm von Hofmann (1818-1892) นักเคมีชาวเยอรมันจึงค้นพบวิธีผลิต และในปี ค.ศ. 1892 Friedrich August Kekule von Stradonitz (1829-1896) นักเคมีอินทรีย์ชาวเยอรมันจึงสังเคราะห์ได้บริสุทธิ์.
ยากลุ่ม Halogen
ยาในกลุ่มนี้ที่สำคัญมี 2 อย่าง อย่างแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1774 Carl Wilhelm Scheele (1742-1786) นักเคมีชาวสวีเดนหยดกรด HCl ลงใน manganese dioxide ได้ก๊าซสีเขียวอมเหลือง เขาเข้าใจว่าเป็นสารประกอบของออกซิเจนแต่ที่จริงเป็นธาตุชนิดหนึ่ง [ค.ศ. 1810 Humphry Davy ตั้งชื่อว่าคลอรีน (chlorine) มาจากภาษากรีก "chloros" ที่แปลว่า "เขียวอมเหลือง"].
ค.ศ. 1785 Claude Louis Berthollet (1748-1822) แพทย์ชาวฝรั่งเศสค้นพบว่าของเหลวที่เป็นสารประกอบคลอรีนคือ hypochlorite ป้องกันการเน่าเสียได้และเริ่มนำมาใช้ในทางการแพทย์ (ต่อมา ค.ศ. 1915 Henry Drysdale Dakin (1880-1952) นักเคมีชาวอังกฤษคิดค้นสารละลายเฉพาะตัวขึ้น มา โดยผสม hypochlorite กับกรด boric เรียกว่า Dakin's solution ปัจจุบันก็ยังมีใช้อยู่).
ยาตัวที่สองในกลุ่มนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1811 Bernard Courtois (1777-1838) นักเคมีชาวฝรั่งเศสค้นพบไอโอดีน (iodine) ต่อมา ค.ศ. 1839 นายแพทย์ J. Davies พบว่าสารประกอบไอโอดีนใช้ฆ่าเชื้อที่แผลได้ แต่กว่าจะได้รับการยอมรับก็อีกหลายปีต่อมาเมื่อ Casimir Davaine นักแบคทีเรียวิทยาชาวฝรั่งเศสทดลองยืนยันว่าไอโอดีนฆ่าเชื้อได้จริง ช่วงแรกใช้ตัวทำละลายเป็นแอลกอฮอล์เรียกว่า ทิงเจอร์ ไอโอดีน (tincture iodine) ซึ่งมีข้อเสียคือ ระคายเคืองเนื้อเยื่อมาก.
ค.ศ. 1943 บริษัทยาแห่งหนึ่งในเยอรมนีคิดค้นโพลิเมอร์ที่ชื่อ polyvinylpyrolidone หรือ povidone ต่อมาที่ห้องปฏิบัติการในสหรัฐฯ H. A. Shelanski และ M. V. Shelanski พบว่าสารผสม povidone-iodine นั้นอยู่ตัวโดยไม่ต้องเติมตัวทำละลาย จากการศึกษาพบว่าพิษน้อยกว่า tincture iodine. ยานี้ออกสู่ตลาดในปี ค.ศ. 1955 จากนั้นมาก็กลายเป็นน้ำยาทำแผลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจนกระทั่งปัจจุบัน.
น้ำยาฆ่าเชื้ออื่นๆ
ตัวแรกที่จะกล่าวถึงคือ Hydrogen peroxide ค้นพบในปี ค.ศ. 1818 โดย Louis Jacque Thenard (1777-1857) นักเคมีชาวฝรั่งเศสปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่.
อีกตัวที่ได้รับความนิยมคือ chlorhexidine ถ้าความเข้มข้น 0.5% มีชื่อการค้าว่า Hibitane ส่วน Hibiscrub นั้นจะมี chlorhexidine ความเข้มข้น 4% นอกจากนี้ก็ยังมี savlon ซึ่งเป็นสารละลายผสม chlorhexidine 1.5% กับ cetrimide 15%.
ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.
โรงพยาบาลบ้านแหลม, จังหวัดเพชรบุรี
E-mail : [email protected]
www.geocities.com/tantanodclub
- อ่าน 24,310 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้