"ผมคาดหวังว่า คนที่ได้รับรู้เรื่องของผมจะมองชาวเขาดีขึ้น"
หนึ่งในความคาดหวังที่เป็นแรงพลังให้ กันตพงศ์ เล่าลือพงศ์ศิริ บากบั่นมุมานะเพียรพยายามไขว่คว้าหาโอกาสทางการศึกษา ให้ตนเองจนสำเร็จ เป็น "หมอม้ง" คนแรกของชาวดอย
"อาจมีม้งเป็นร้อยเป็นพันคิดว่าอยากเป็นหมอ แต่มีกี่คนที่กล้าลงมือทำ นี่คือโอกาสที่เราเปิดให้ตัวเอง... บางครั้งโอกาสเป็นศูนย์ เราก็ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้โอกาสเข้ามา ต้องเป็นคนที่ขยัน อดทน ทุกคนเป็นหมอได้ แต่เราเปิดโอกาสให้ตัวเองหรือเปล่า"
เมตตา... เปลี่ยน "ม้ง" ให้เป็น "หมอ"
จุดหักเหครั้งสำคัญสู่หนทางการศึกษา เริ่มเมื่อย่างเข้า 9 ขวบ โดยได้รับความเมตตาจากพลโทรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ อดีตนายทหารกองพันพลร่มป่าหวาย นำไปชุบเลี้ยงร่วมกับเด็กชาวเขาอื่นๆ โดยให้การดูแลทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและการศึกษาเล่าเรียน หลังจากจบ ม.6 จึงสอบคัดเลือกเข้าคณะพยาบาลและผดุงครรภ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่ำเรียนจนได้รับปริญญาใบแรกของชีวิต
แต่หลังจากก้าวเข้าสู่หน้าที่การงานในบทบาทของบุรุษพยาบาลได้เพียง 2 ปีหลังจากจบปริญญา ก็ตัดสินใจลาออก ก่อนจะหันเหไปทำงานหลากหลายอาชีพ ทั้งค้าขายและเป็นลูกจ้าง ขณะที่ความตั้งใจในการทำงานเพื่อสังคมยังไม่ได้ละทิ้งหรือหยุดลง เพราะภาพความทุรกันดาร และปัญหาการเจ็บไข้ได้ป่วยของพี่น้องชาวดอยยังคงมีปรากฏอยู่ให้เห็น เป็นเหตุให้ตัดสินใจเบนเข็มทิศชีวิตสู่วิชาชีพแพทย์
"ตอนสอบสัมภาษณ์ผมบอกว่า ผมต้องการความถูกต้อง และความเชื่อถือของประชาชน เพราะคนที่มีศักยภาพในการทำงานมากขึ้น ทำให้เราช่วยเหลือคนได้กว้างขึ้น... เมื่อเราเปลี่ยนจากพยาบาลมาเป็นหมอ ประชาชนยอมรับมากขึ้น"
2 ปีเต็มในการเตรียมตัวเพื่อสอบคัดเลือก กระทั่งการสอบครั้งที่ 4 ในรอบ 2 ปี มหาวิทยาลัยรังสิตรับนายกันตพงศ์เข้าเป็นนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ 1 ใน 50 คน จากผู้สมัครทั้งสิ้น 500 คน และได้รับทุนการศึกษาเป็นกรณีพิเศษจาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งถือเป็นจุดพลิกผันให้กันตพงศ์สามารถศึกษาต่อจนสำเร็จได้รับปริญญาใบที่ 2 และจบออกมาเป็นแพทย์ได้ดั่งที่ตั้งใจ
"หมอม้ง" คำตอบของชาวดอย
ในโลกที่แปลกแยก "หมอม้ง" เป็นคำตอบแรกของชาวบ้าน เหตุผลทั้งหมดเป็นมากกว่าความสามารถ ในการวินิจฉัยโรค เป็นมากกว่าเหตุผลนอกเหนือจากการทำตามหน้าที่
"สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานไม่ใช่ความรู้ ความรู้เป็นเรื่องรอง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำความรู้ไปปรับประยุกต์ได้แค่ไหน... การดูแลผู้ป่วย 1 คน ไม่ใช่แค่เรื่องฝีมือการผ่าตัดอย่างเดียว จิตวิทยาการดูแลแบบองค์รวม เอาใจใส่ครอบคลุมทั้งกาย จิต สังคมของเขา คนเรียนเก่งไม่ใช่คนดีเสมอไป แต่คนที่เอาใจใส่ต่อผู้ป่วยต่างหากที่น่าจะเป็นที่ต้องการของผู้ป่วย
ชาวบ้านที่คิดว่าตัวเองต่ำกว่า เขาลำบากใจ ไม่กล้าถามส่วนหนึ่ง ถามไม่รู้เรื่องส่วนหนึ่ง ถามแล้วโดนด่าอีกส่วนหนึ่ง...ไม่ต้องถามดีกว่า หรือถ้าเปรียบเทียบหมอที่พูดภาษาไทย แต่พูดภาษาม้งไม่เป็น ขณะที่พยาบาลพูดภาษาม้งได้ ผู้ป่วยม้งจะเชื่อพยาบาลที่พูดภาษาม้งมากกว่า...ยิ่งถ้าบุคลิกของหมอไม่เป็นมิตร ไม่เห็นอกเห็นใจเมื่อไหร่ ชาวบ้านก็ปิดตัวเองไม่เข้าไปหา ต่อให้เรียนดอกเตอร์มา ชาวบ้านก็พึ่งไม่ได้หรอก"
ทุกเช้า สาย บ่าย เย็น "หมอม้ง" มีกิจวัตรตรวจวินิจฉัยโรคให้บรรดาผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด ที่โรงพยาบาลศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดเชียงใหม่ สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ นั่นคืองานประจำ
แต่นอกจากผู้ป่วยที่โรงพยาบาลในเวลาราชการแล้ว หมอม้งยังให้คำปรึกษานอกเวลาราชการ เกือบตลอดเวลาคล้ายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเสียแล้ว
ส่วนที่นอกเหนือจากงานในและนอกเวลาราชการนั้นคือการให้คำปรึกษากับผู้คนที่ส่งเสียงผ่านมาทางโทรศัพท์ มีทั้งเสียงคนรู้จัก เสียงไม่คุ้นเคย บ้างพูดภาษาม้ง บ้างพูดภาษาไทยสำเนียงแปร่งหู แต่ผู้คนเหล่านั้นล้วนเป็นเพื่อนร่วมชาติพันธุ์
"เป็นหมอต้องรับใช้ประชาชนตลอดเวลา... จริงๆ ตามหลักทางการแพทย์เราไม่สามารถตรวจรักษาทางโทรศัพท์ได้ แต่เราสามารถรักษาผู้ป่วยได้โดยการซักประวัติ... คนที่โทร.มาบางคนผมยังไม่รู้จักเขาเลย แนะนำเขาจนเขาหาย เขาโทร.มาขอบคุณ ผมยังไม่รู้จักเขาเลย เดี๋ยวนี้ผู้ป่วยผมเป็นม้งจากอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่เจริญที่สุดแล้ว แต่เขาก็ยังโทร.มาหา เพราะสิ่งที่เขาได้จากเราไม่ใช่แค่เรื่องของ know how ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องเชื้อชาติ แต่เป็นเรื่องของการสื่อสาร การไว้เนื้อเชื่อใจ ในความเป็น unity เราอาจจะอำนวยความสะดวกอะไรบางอย่างที่เขาไม่ได้จากที่อื่น"
สื่อกลาง "ชาวเขา" กับ "ชาวเรา"
อคติทางชาติพันธุ์ที่ฝังอยู่ในสังคมของเรามาเนิ่นนาน ในฐานะนายแพทย์คนไทยเชื้อสายม้ง หวังว่าการงานและชีวิตขณะนี้ พอจะเบี่ยงเบนความคิดที่มีต่อม้งและชาวเขากลุ่มอื่นๆ อย่างเหมารวมได้บ้าง
"อะไรที่เป็นความขัดแย้งที่ตอกย้ำเขาอยู่ในใจ เขาก็เคลียร์ไม่ได้ เราก็ต้องเป็นสื่อกลางที่ต้องละลายอคติระหว่างคนข้างบนกับคนข้างล่าง หรือคนข้างล่างกับคนข้างบน แต่ผมอยู่ตรงกลาง ผมเป็นสื่อกลางเป็นข้าราชการของรัฐ เป็นคนไทย เป็นคนม้ง ผมเป็นแพทย์ ทุกอย่างมันเกลี่ยได้ค่อนข้างดี ลบกำแพงได้มาก เป็นผลพลอยได้
คนที่เห็นชีวิตผม อย่างน้อยเขามองชาวเขาดีขึ้น เพราะเรามักมองภาพชาวเขาเป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า เกี่ยวข้องกับยาเสพติด บางอย่างอาจไม่ใช่ ภาคอีสานป่าหมด ไม่มีชาวเขานะครับ ภาคใต้โคลนดินถล่มไม่มีชาวเขานะครับ เราเป็นแพะในบางเรื่อง ผมคาดหวังว่าคนที่ได้รับรู้เรื่องของผมจะมองชาวเขาดีขึ้น ลดความขัดแย้งระหว่างคนพื้นราบและชาวเขา ลดทิฐิของคนบนดอยกับคนข้างล่าง ผมอาจเป็นจุดเล็กๆ ในความคิดของเด็กที่ทำให้เขาไม่ตีกันก็ได้ หรือกระตุ้นให้ทั้งเด็กชาวเขาและเด็กชาวเราให้เขาเรียน ให้เขาเปลี่ยนทัศนคติว่า เรามีโอกาส เราน่าจะทำเพื่อสังคมบ้าง"
ปัจจุบันลักษณะการทำงานที่โรงพยาบาลศูนย์บำบัดฯ มีทั้งรูปแบบเชิงรับและเชิงรุก ในเชิงรับโรงพยาบาลจะทำหน้าที่ในการบำบัดรักษา ส่วนเชิงรุกนั้นโรงพยาบาลจะทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ โดยเข้าไปในชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจ และดึงคนออกมารักษาด้วย ทั้งนี้เป้าหมายของการรักษาไม่ได้ชี้วัดจากจำนวนคนที่ผ่านการบำบัด แต่มองว่าผู้ผ่านการบำบัดรักษาเหล่านั้นกลับไปถ่ายทอดสิ่งต่างๆ หรือไปเปลี่ยนทัศนคติให้กับชุมชนได้หรือไม่ และด้วยจำนวนบุคลากรในโรงพยาบาลขนาดย่อมแห่งนี้มีไม่มากนัก หมอม้งจึงมีบทบาททั้งด้านการบำบัดรักษา รวมทั้งงานเชิงบริหารด้วย
"ผมมองว่าที่ผมมีบทบาท และได้รับการยอมรับ เพราะความที่เป็นชาติพันธุ์ทำให้เขารับข้อมูลของเราได้ดีขึ้น ไม่ได้บอกว่าผมมีความสามารถมากกว่า ไม่ใช่เลย"
หน้าที่หมอ...บทบาทของการ 'ให้"
แม้เป็นคนกลุ่มน้อย แต่เครือข่ายม้งรวมตัวกันแน่นแฟ้นภายใต้ "สมาคมม้งแห่งประเทศไทย" กิจกรรม ต่างๆ ของสมาคมมีตั้งแต่การปรึกษาหารือถึงเรื่องการปรับผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมม้งและไทย สำหรับบทบาทของหมอม้ง นอกจากประเด็นทางวัฒนธรรมแล้ว แง่ความเป็นอยู่ของพี่น้องร่วมชาติพันธุ์ถือว่าเกี่ยวข้องกับวิชาชีพ เช่น การบรรยายให้ความรู้แก่พี่น้องม้งในพื้นที่ห่างไกล การตอบข้อสงสัยในฐานะตัวแทนของระบบการแพทย์สมัยใหม่ และที่หนีไม่พ้นคือการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ
อีกหนึ่งหน้าที่ของหมอม้งคือการกระจายความเข้าใจแก่พ่อแม่ของเด็กๆ กลุ่มชาติพันธุ์ม้งโดยให้ตระหนักถึงความสำคัญของ "การศึกษา" พร้อมกับทำหน้าที่ครูแนะแนวเรื่องการเรียนขณะเดียวกันก็สอดแทรกแนวคิดเพื่อสังคมให้แก่เด็กๆ รุ่นใหม่ด้วย เพราะหมอระลึกอยู่เสมอว่า
"การช่วยให้คนหนึ่งคนอยู่ได้ กลับมามีชีวิต มีความคิดใหม่ หรือมีความคิดแตกออกไปเพื่อไปช่วยคนอื่นๆ ได้ มันมีค่า"
- อ่าน 6,029 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้