บทเรียนจากระยอง ถึงเซาท์เทิร์นซีบอร์ด เส้นทางการพัฒนาที่รอการมีส่วนร่วม
เกือบ 30 ปี ภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเล ภาคตะวันออก ทำให้จังหวัดระยองซึ่งเคยมีรายได้หลักมาจากการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ตามโครงสร้างเศรษฐกิจสามขาอย่างสมดุล ต้องกลายมาเป็นเศรษฐกิจขาเดียว เพราะการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ที่แม้จะมีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวของประชากรสูงที่สุดในประเทศ คือสูงกว่า 800,000 บาท มากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศถึง 8 เท่า
แต่จากผลการสำรวจกลับพบว่า คุณภาพชีวิตของคนระยองไม่ได้ดีขึ้นจริงตามแผนพัฒนาดังกล่าวที่มุ่งเน้นพัฒนาเฉพาะในภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยไม่ได้กระจายการพัฒนาไปยังภาคส่วนอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากอัตราครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ อัตราการว่างงาน อัตราเด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กได้รับเชื้อ HIV อัตราผู้ป่วยเอดส์รายใหม่ จำนวนคดีประทุษร้าย คดียาเสพติด จำนวนประชากรที่ไม่ได้รับการศึกษา ครัวเรือนที่มีหนี้สิน และสัดส่วนคนจน ล้วนแต่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ในประเทศ ซึ่งสวนทางกับการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยสิ้นเชิง
การมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจที่หลงลืมสุขภาวะของชุมชน เป็นบทเรียนที่ชาวระยองและอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่กำลังเผชิญจากการกำหนด นโยบายโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนคนในพื้นที่
หากเพียงแต่รัฐ และเราทุกคนจะเรียนรู้ในบทเรียนดังกล่าว และสร้างการมีส่วนร่วมก่อนกำหนดนโยบาย ตามสิทธิและหน้าที่ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ได้ระบุไว้ใน มาตรา 5
บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ
บุคคลมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการ ดำเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง
และ มาตรา 10 เมื่อมีกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นและวิธีป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชน ทราบและจัดหาข้อมูลให้โดยเร็ว
การเปิดเผยข้อมูลตามวรรคหนึ่งต้องไม่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลใดเป็นการเฉพาะ
จากระยอง สู่เซาท์เทิร์นซีบอร์ด และอีกหลายแผน หลายนโยบาย เป็นสิ่งที่รัฐต้องทบทวน คืนอำนาจในการมีส่วนร่วมให้กับผู้คนในท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นผู้ร่วมกำหนดแผนพัฒนาที่จะสร้างความสุขอย่างยั่งยืนได้ด้วยตนเอง
- อ่าน 2,278 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้