• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคปัจจุบัน : โรคเรื้อรัง

โรคปัจจุบัน : โรคเรื้อรัง

 

 

 

คุณหมอครับ เป็นโรคเบาหวานมีทางรักษาให้หายขาดไหมครับ?”

“คุณหมอครับ เป็นโรครูมาติสซั่ม ทำไมกินยาเป็นปีๆแล้วยังไม่เห็นหายสักที?”

“คุณหมอครับ เป็นโรคหืด หาหมอตั้ง 20-30 รายแล้ว ทำไมไม่เห็นหายสักราย?”

คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนมักจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ เวลาออกไปบรรยายให้กลุ่มชาวบ้านหรือพระสงฆ์ฟังเกี่ยวกับการสาธารณสุขมูลฐานมันสะท้อนให้เห็นว่า คนที่เจ็บป่วยทุกคนต้องการให้ตนเองหายป่วยหรือหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานจากโรคที่เป็นโดยเร็ว

ถ้าหากหาหมอหรือกินยาสักระยะหนึ่งแล้วยังรู้สึกไม่ดีขึ้น ก็จะดิ้นรนเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลไปเรื่อยๆ รวมทั้งเสาะแสวงหาหมอไสยศาสตร์ (คนทรง หมอน้ำมนต์ หมอเสกเป่า หมอพระ) หรือหมอแผนโบราณที่ดังๆ หรือลือกันว่าเป็นผู้วิเศษ แม้จะต้องเสียเงิน (ค่ารักษาหรือค่าทำขวัญ) สักเท่าไร หรือต้องเดินทางไกลขนาดไหนก็ไม่เกี่ยงทั้งนี้ก็เพราะคนไข้และญาติๆต่างมุ่งหวังให้คนไข้หายจากโรคให้ได้ความจริงแล้ว ธรรมชาติของโรคแต่ละชนิดล้วนมีความแตกต่างกันถ้าหากจะแบ่งตามระยะเวลาของการเป็นโรค ก็สามารถแบ่งออกเป็น โรคปัจจุบัน กับ โรคเรื้อรัง

โรคปัจจุบัน (Acute disease) บางครั้งก็เรียกว่า ไข้เฉียบพลัน หรือโรคเฉียบพลัน หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นเร็ว เป็นอยู่เพียงช่วงสั้นๆ (ไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์) แล้วก็ให้รู้แล้วรู้รอดกันไปว่าถ้าไม่ตายก็หายขาด อาทิ โรคติดเชื้อเฉียบพลัน (Acute infectious disease) เช่น ปอดอักเสบ คอตีบ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส อหิวาต์ เป็นต้น ทั้งนี้ยังอาจรวมถึงกลุ่มโรคที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บ (เช่น บาดแผล ตกเลือด กระดูกหัก) หรือกลุ่มโรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด (เช่น ไส้ติ่งอักเสบ กระเพาะทะลุ ตั้งครรภ์นอกมดลูก) โรคเหล่านี้เมื่อได้รับการรักษาได้ถูกต้องและทันกาลก็มักจะหายขาด ไม่เหลืออาการให้คนไข้รู้สึกทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน หรือถ้าเป็นรุนแรงและรักษาไม่ทันกาล ก็อาจจะตายไปในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ตกเป็นภาระของครอบครัวและสังคมต่อไป

โรคเรื้อรัง (Chronic disease) หมายถึง โรคที่เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการหรือต้องรักษาติดต่อกันนาน เป็นแรมเดือนแรมปีหรือตลอดชีวิต มักได้แก่โรคไม่ติดเชื้อ (Non-infectious disease) เป็นส่วนใหญ่ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพาต โรคหัวใจ โรคหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมพอง ตับแข็ง มะเร็ง โรคภูมิแพ้ ปวดข้อเรื้อรัง (ที่เรียกว่า รูมาติสซั่ม ซึ่งได้แก่ โรคข้อเสื่อม รูมาตอยด์ โรคเก๊าต์ เป็นต้น) โรคประสาท โรคกระเพาะเรื้อรัง คอพอกเป็นพิษ ธาลัสซีเมีย โรคลมบ้าหมู เป็นต้น
นอกจากนี้โรคติดเชื้อเรื้อรัง (Chronic infectious disease) เช่น วัณโรค ก็จัดอยู่ในกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่นเดียวกัน โรคเรื้อรังเหล่านี้ บางชนิดก็อาจค่อยๆทุเลาหรือหายได้ (เช่นอัมพาต) แต่จะต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือนแรมปี ไม่ใช่หายภายใน 5 วัน 7 วัน เช่น ไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ บางชนิดจะค่อยๆทรุดลงและหมดทางเยียวยา (เช่น มะเร็งตับแข็ง ถุงลมพอง) แต่จะไม่ตายเร็วเช่น คอตีบหรืออหิวาต์

บางชนิดถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็อาจหายขาดได้ (เช่น วัณโรค คอพอกเป็นพิษ) แต่ต้องกินยาและติดตามผลการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ บางชนิด ถ้าได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ก็อาจควบคุมโรคไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และอยู่ได้นานชั่วอายุขัยเช่นคนปกติธรรมดา (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง) แต่ถ้าขาดการควบคุมก็มักจะเกิดโรคแทรกซ้อน และในที่สุดอาจจะเสียชีวิตได้

ข้อแนะนำสำหรับท่านที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังไม่ว่าชนิดใดก็ตาม ควรติดตามรักษากับแพทย์คนหนึ่งคนใด (ที่เราเชื่อใจ) เป็นประจำ ถามหมอให้แน่ใจว่าเป็นโรคอะไร มีสาเหตุจากอะไร รักษาอย่างไร มีทางหายขาดไหม ถ้าไม่รักษาจะมีโรคแทรกซ้อนอะไร และควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ข้อสำคัญ คุณจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอ และอย่าทิ้งการรักษาทางแผนปัจจุบัน หันไปพึ่งยาหม้อ (สมุนไพร) หรือน้ำมนต์ (คาถา) แทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณจนวิเศษผิดธรรมดา หรือถูกเรียกค่ายาหรือค่าทำขวัญแพงหูฉี่ (เช่น ยาหม้อละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นไป) เพราะในปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันทางวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอนว่าไสยศาสตร์หรือน้ำมนต์ช่วยรักษาโรคเรื้อรังได้ นอกจากให้ผลทางด้านกำลังใจเท่านั้น ถ้าจะได้ผลบ้าง (เช่น อัมพาต) ก็เพราะธรรมชาติของโรคนั้น ที่มันสามารถฟื้นตัวของมันได้เอง

ส่วนสมุนไพรและวิธีการรักษาทางแผนโบราณ (ที่ไม่ใช่ไสยศาสตร์) หากจะลอง การศึกษาให้ถ่องแท้ว่ามีสรรพคุณและโทษอย่างไรให้แน่ชัดเสียก่อน อย่าหลงเชื่อตามคำอวดอ้างเพียงอย่างเดียวและทางที่ดี ควรขอความเห็นจากแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษาอยู่ก่อนด้วย

ข้อมูลสื่อ

85-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 85
พฤษภาคม 2529
ภาษิต ประชาเวช