ศ.นพ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาวะเตี้ย การป้องกันและแก้ไข
พ่อแม่ที่สูงร่วมกับปู่ย่าตายายสูงด้วยทั้งตระกูล ลูกก็มักจะตัวสูง
เด็กเตี้ยหมายถึงเด็กที่มีความสูงน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานของเด็กไทยโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
เด็กที่มีพ่อแม่สูง ลูกมักจะสูง ในทางตรงข้ามเด็กที่มีพ่อแม่เตี้ย ลูกมักจะเตี้ย
การเจริญเติบโตล่าช้า คือภาวะที่ร่างกายเจริญ เติบโตช้ากว่าอัตราปกติ ทั้งน้ำหนักและส่วนสูงหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง
ไม่ว่าความสูง ความเตี้ย ถ้าเกินพอดีหรือไม่ได้สมดุล อาจเป็นสาเหตุของความทุกข์ ก่อให้เกิดความวิตกกังวล และพยายามหาหนทางรักษา แก้ไข ป้องกันสารพัดวิธี
ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความสูง
โดยทั่วไปคนเราจะสูงได้แค่ไหน เกี่ยวข้องกับปัจจัยหลัก ๖ ชนิดด้วยกัน ดังนี้
๑. ยีนหรือพันธุกรรม
ยีนที่ควบคุมเกี่ยวกับความสูงมีหลายยีน ซึ่งมีผลต่อความสูง ดังนั้นพ่อแม่ที่สูง ร่วมกับปู่ย่าตายายสูงด้วยทั้งตระกูล ลูกก็มักจะตัวสูง
ความผิดปกติของยีนบางตัวทำให้สูง เช่น การผ่าเหล่าของยีน การขาดเอนไซม์ เป็นต้น
๒. ฮอร์โมน
ฮอร์โมนกระตุ้นความสูงในวัยเด็กคือฮอร์โมนเจริญเติบโตที่กระตุ้นกระดูก ทำให้มีการขยายตัวเป็นผลให้กระดูกยาวขึ้น
๓. อาหารการกิน
อาหารมีส่วนสำคัญมากในการเจริญเติบโตของร่างกายซึ่งรวมถึงกระดูก ดังนั้นสารอาหารที่สร้างเสริมกระดูกจึงมีความสำคัญต่อความสูง ส่วนประกอบสำคัญ ของกระดูกคือ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และโปรตีนในเนื้อกระดูก
โปรตีน การกินอาหารที่มีโปรตีนและพลังงานเพียงพอจึงมีความสำคัญต่อการขยายตัวของกระดูก เด็กในประเทศด้อยพัฒนาที่เป็นโรคขาดอาหาร ก็จะมีความสูงและน้ำหนักน้อยกว่าปกติ
โปรตีนมีความสำคัญต่อการขยายตัวและแบ่งตัวของเซลล์กระดูกบริเวณส่วนปลายของกระดูกยาว ทำให้ กระดูกมีการขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นโปรตีนที่เพียงพอจึงมีความจำเป็นต่อการเติบโตของกระดูกอย่างมาก
แคลเซียม มีความสำคัญมากต่อมวลกระดูกและการขยายตัวของกระดูก โดยเฉพาะในวัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโต และมีความสำคัญมากขึ้นในช่วงวัยรุ่นที่เริ่มมีช่วงโตเร็ว จะมีการสะสมมวลกระดูกเพิ่มขึ้นมาก
การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นว่าช่วงวัยรุ่นมีอัตราสูงสุดในการสะสมแคลเซียมเข้ากระดูกในชายประมาณ ๓๖๐ มิลลิกรัมต่อวัน ในหญิงประมาณ ๒๘๐ มิลลิกรัมต่อวัน อายุเฉลี่ยที่มีการสะสมแคลเซียม ในอัตราสูงสุดนี้คือ ๑๔ ปีในเพศชาย และ ๑๒.๕ ปีในเพศหญิง
การดูดซึมแคลเซียมจากอาหารในคนปกติจะดูดซึมได้เพียงประมาณ
ประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน จึงจะเพียงพอในการสะสมแคลเซียมในปริมาณดังกล่าว
สมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้กินแคลเซียมประมาณ ๘๐๐ มิลลิกรัมต่อวันในเด็กอายุ ๑-๘ ขวบ
ส่วนเด็กโตอายุ ๙-๑๘ ปี ควรได้รับแคลเซียมประมาณ ๘๐๐-๑,๕๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน โดยเฉพาะช่วงที่เข้าสู่วัยหนุ่มสาว ควรได้รับประมาณ ๑,๒๐๐-๑,๕๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน
อาหารที่มีแคลเซียมปริมาณมากและดูดซึมได้ดีที่สุดคือ นมและผลิตภัณฑ์นม
อาหารในบ้านเราที่พบว่ามีแคลเซียมสูงได้แก่ กุ้งแห้ง ปลากรอบตัวเล็กๆ ที่กินทั้งก้าง เต้าหู้แข็ง เป็นต้น
วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอส-ฟอรัส ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว แนะนำให้วิตามินดีเสริมวันละ ๔๐๐ ยูนิต เนื่องจากนมแม่มีวิตามินดีต่ำคือประมาณ ๑๒-๖๐ ยูนิตต่อลิตร
ส่วนเด็กโตที่ได้รับแสงแดดอย่างน้อย ๑๕-๒๐ นาทีต่อวัน มักมีระดับ ๒๕-OH วิตามินดีปกติ (>25-30 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร)
เกลือแร่อื่นๆ ที่สำคัญคือ โซเดียม เนื่องจากการ กินเกลือโซเดียมมากเกินไปจะทำให้มีโซเดียมและแคลเซียมขับออกทางปัสสาวะมากขึ้น ทำให้มีระดับแคลเซียมในเลือดลดต่ำลง (กระดูกบางลง)
การออกกำลังกาย นักกีฬาบางประเภทมีรูปร่าง สูงใหญ่ เช่น บาสเกตบอล ว่ายน้ำ วอลเลย์บอล เป็นต้น ส่วนนักกีฬาบางประเภทมีรูปร่างเตี้ยเล็ก เช่น ยิมนาสติก บัลเลย์ เป็นต้น ทั้งนี้สืบเนื่องจากปัจจัยหลักคือ ประเภทของกีฬาเป็นตัวคัดเลือกให้คนรูปร่างสูงหรือเตี้ยเพื่อให้ได้เปรียบในเชิงกีฬาประเภทนั้นๆ คนรูปร่างเตี้ยก็จะได้เปรียบในเชิงกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ต้องอาศัยความสูง
ส่วนผลของการออกกำลังต่อ การเจริญเติบโตอาจมีผลดีเพียงบางส่วน แต่ไม่เด่นชัดมากนัก แต่บางกรณีอาจมีผลลบได้ การออกกำลังระดับปานกลาง ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเจริญเติบโตชั่วคราวหลังจากการออกกำลัง แต่ระดับฮอร์โมนเจริญเติบโตรวมตลอด ๒๔ ชั่วโมง ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ามีระดับสูงขึ้น
โรคหรือความเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคโลหิตจางทาลัสซีเมีย โรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค โรคเอดส์ ทำให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนไอจีเอฟ-1 (IGF-1) ลดลง การเจริญเติบโตช้าลง และความ สูงสุดท้ายไม่สูงเต็มที่ตามศักยภาพทางพันธุกรรม
ยาหรือฮอร์โมนบางชนิด ตัวที่สำคัญและใช้บ่อยในเวชปฏิบัติ คือ สตีรอยด์มีผลกดฮอร์โมนเจริญ เติบโต มีผลต่อกระดูกโดยตรง ทำ ให้การสร้างกระดูกลดลง และการสลายกระดูกเพิ่มขึ้น มีผลในการต้านฤทธิ์ของวิตามินดี ทำให้การดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสในลำไส้ลดลง ทำให้มีการสูญเสียแคลเซียม ทางไตด้วย จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน หรือกระดูกบางลง การเจริญเติบโตช้าลง และความสูงเต็มที่ต่ำกว่าศักยภาพตามพันธุกรรม
ภาวะเตี้ยเกิดจากอะไร (short stature)
ความเตี้ยของคนเราเกี่ยวข้องกับ ๒ สาเหตุหลักคือ ภาวะเตี้ยที่ตรวจพบพยาธิสภาพและภาวะเตี้ยที่ไม่ทราบสาเหตุหรือเตี้ยตามพันธุกรรมภาวะเตี้ยที่ตรวจพบพยาธิสภาพ มีสาเหตุต่างๆ มากมาย บางรายอาจมีเพียงสาเหตุเดียว บางรายอาจมีหลายสาเหตุรวมกัน
เนื่องจากการเจริญเติบโตของร่างกายเป็นผลรวมของปัจจัยต่างๆ ร่วมกัน (integrated effects) ได้แก่ พันธุกรรม อาหาร ฮอร์โมน สุขภาพกายและใจและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้นความผิดปกติหรือความไม่สมดุลของปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ทำให้การเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่เหมือนภาวะปกติ ตัวอย่างโรคบางกลุ่มที่พบบ่อย ได้แก่ทารกตัวเล็กตั้งแต่เกิด กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ เป็นต้น
ภาวะเตี้ยที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือเตี้ยตามพันธุกรรม ที่พบได้บ่อย มี ๒ ชนิดคือ
๑. ภาวะเป็นหนุ่ม สาวช้า เป็นภาวะปกติคือเด็กเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาวช้ากว่าเด็กปกติทั่วไป โดยที่สาเหตุไม่ทราบแน่ชัด
เชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนสำคัญในการกำหนดจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาว และมักจะมีประวัติครอบครัวว่าบิดาและ/หรือมารดาเป็นหนุ่มสาวช้ากว่าปกติ มารดามักมีประจำเดือนครั้งแรกช้า (อายุ ๑๔-๑๘ ปี) บิดาเมื่อเป็นเด็กมักตัวเล็กกว่าเพื่อนๆ เริ่มโตเร็วเมื่อเรียนชั้นมัธยมปลาย และมีความสูงสุดท้ายปกติ
๒. ภาวะเตี้ยตามพันธุกรรมหรือไม่ทราบสาเหตุ
พบได้บ่อย ส่วนมากมักมีพ่อหรือแม่เตี้ย หรือถ้าเตี้ยทั้งพ่อและแม่รวมทั้งปู่ย่าตายายเตี้ยด้วย ก็ชัดเจนมากขึ้นว่าเตี้ยจากพันธุกรรม กรณีที่พ่อแม่ไม่เตี้ย แต่ลูกเตี้ยกว่าปกติ โดยตรวจ ไม่พบความผิดปกติ อัตราความสูงที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ก็ปกติคือเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ปกติ
ภาวะเตี้ย ป้องกันและแก้ไขอย่างไร
การเจริญเติบโตเป็นผลรวมของปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ปัจจัยบางอย่างนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น พันธุกรรมเตี้ย โรคความผิดปกติของโครโมโซม เป็นต้น ปัจจัยบางอย่างสามารถปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงให้ดีที่สุด เพื่อให้การเจริญเติบโตได้เต็มที่ตามศักยภาพทางพันธุกรรม
ปัจจัยภายในร่างกายบางอย่าง เช่น โรคประจำตัว ถ้าสามารถแก้ไขหรือควบคุมให้ดีที่สุด การเจริญเติบโต ก็มักจะดีขึ้น
ตัวอย่างเช่น โรคหัวใจชนิดเขียว ถ้าสามารถรักษา หรือผ่าตัดแก้ไขได้ ทำให้ภาวะการขาดออกซิเจนหายไป การเจริญเติบโตก็จะดีขึ้นมาก, โรค renal tubular acidosis ผู้ป่วยโตช้ามากเนื่องจากร่างกายเป็นกรด เมื่อควบคุมความเป็นกรดด่างให้ปกติ การเจริญเติบโตก็จะดีขึ้นชัดเจน เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยภายในอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต เช่น การเจ็บป่วยบ่อยๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก มีไข้เป็นหวัด ท้องเสีย อาเจียน ถ้าเป็นบ่อยๆ การเจริญเติบโตก็ชะงักทุกครั้งที่เจ็บป่วย
การนอนหลับเพียงพอร่วมกับหลับสนิท มีความสัมพันธ์กับการหลั่งฮอร์โมนเจริญเติบโตในสภาวะปกติ ดังนั้น การนอนหลับน้อยและหลับไม่สนิทอย่างเรื้อรัง จึงอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตในระยะยาว แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจน
นอกจากนั้นภาวะเครียดทางจิตใจหรือร่างกายที่เกิดขึ้นเรื้อรัง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโตได้ เนื่องจากในสภาวะเครียด ต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ออกมามากอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเจริญเติบโตชะงักจากภาวะคอร์ติซอลมากผิดปกติ เป็นต้น
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยาและปัจจัยอื่นๆ ที่มีผล ต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะต่อความสูงมีดังต่อไปนี้
๑. ฮอร์โมนเจริญเติบโต เป็นฮอร์โมนที่สำคัญมากต่อการเจริญเติบโตในวัยเด็ก ดังนั้น เด็กที่ขาด ฮอร์โมนเจริญเติบโต มักมีการเจริญเติบโตล่าช้ากว่าปกติ
๒. ผู้ป่วยที่เป็นหนุ่มสาวก่อนวัย คือ เด็กชายเริ่มมีอวัยวะเพศโตขึ้นก่อนอายุ ๙ ขวบ ส่วนเด็กหญิงเริ่มมีเต้านมโตขึ้นก่อนอายุ ๘ ขวบ การมีฮอร์โมนเพศหลั่งออกมาก่อนวัย จะทำให้กระดูกปิดก่อนวัย ความสูงสุดท้ายอาจสูญเสียไปมากกว่า ๕-๑๕ เซนติเมตร การให้ยา GnRH-A รักษาจะทำให้ระดับฮอร์โมนเพศลดลง ทำให้กระดูกปิดช้าลง ช่วยให้ส่วนสูง เพิ่มขึ้นจนเกือบปกติเมื่อเทียบกับความสูงเป้าหมายตาม พันธุกรรมคืออาจมีความสูงมากขึ้น ๕-๑๐ เซนติเมตร เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา
ส่วนเด็กหญิงที่มีพัฒนาทางเพศค่อนข้างเร็ว แต่อยู่ในเกณฑ์ปกติคือ เริ่มเข้าสู่ภาวะความเป็นสาวเมื่ออายุ ๘-๑๐ ปีและมีประจำเดือนเมื่ออายุ ๑๐-๑๒ ปี เมื่อให้ การรักษาด้วย GnRH-A ติดต่อกันนาน ๒-๔ ปี พบว่าความสูงสุดท้ายไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการให้ยาดังกล่าวในเด็ก หญิงที่มีประจำเดือนในวัยปกติ ๙-๑๔ ปีเพื่อให้หยุดการมีประจำเดือน จึงไม่ช่วยให้ความสูงสุดท้ายเพิ่มขึ้น การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ในเด็กที่เข้าสู่ภาวะความเป็นสาวในเกณฑ์ปกติ แต่มีความสูงสุดท้ายจากการคำนวณค่อนข้างเตี้ย คือเฉลี่ยน้อยกว่า ๑๕๐ เซนติเมตร พบว่า กลุ่มที่รักษาด้วย GnRH-A นานเฉลี่ย ๓.๕ ปี มีความสูงสุดท้ายสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างมีนัยสำคัญ คือมีความสูงมากกว่าที่เคยคำนวณไว้ตอนต้นประมาณ ๔ เซนติเมตร
๓. แคลเซียม เป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก แคลเซียมที่กินเข้าไปจะดูดซึมได้เพียงร้อยละ ๓๐
ในวัยเด็กโดยเฉพาะช่วงที่เข้าสู่วัยรุ่น ความต้องการ แคลเซียมจะเพิ่มขึ้นมากและมีผลต่อการเจริญเติบโตและความหนาแน่นของกระดูก
การศึกษาวิจัยโดย Bonjour และคณะแสดงให้เห็นว่าการเสริมแคลเซียมในอาหาร โดยกลุ่มควบคุมได้แคลเซียม ประมาณ ๙๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน เทียบกับกลุ่มเสริมแคลเซียมซึ่ง ได้รับ ๑,๗๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน เมื่อติดตามรักษานานประมาณ ๑ ปี พบว่า กลุ่มที่เสริมแคลเซียมมีความหนาแน่นกระดูกมากกว่าความยาวของกระดูกสันหลัง และความ สูงเพิ่มขึ้นสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ
การศึกษาส่วนใหญ่ พบว่าการเสริมแคลเซียมช่วยเพิ่มความหนาแน่นกระดูก ช่วยทำให้มีการสะสมแคลเซียมในกระดูกมากขึ้น และมีการลดลงของการสลายแคลเซียมจากกระดูก (bone resorption)
เอสโทรเจน เป็นฮอร์โมน สำคัญทำให้กระดูกปิด การยับยั้งการสร้างเอสโทรเจนโดยใช้ยาที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอโรมาเทส (aromatase) ทำให้ระดับเอสโทรเจนลดลง อายุกระดูกพัฒนาช้าลง
๕. การออกกำลังกาย ถึงแม้การออกกำลังกายระยะยาวนานอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเจริญเติบโต แต่ถ้าออกกำลังกายมากเกินไปจนน้ำหนักลดมากจะไม่ส่งผลดีต่อร่างกาย
การออกกำลังกายบางประเภท เช่น ยิมนาสติกและบัลเลต์ โดยเฉพาะในผู้หญิง เป็นกีฬาที่ต้องอาศัยความคล่องตัว รูปร่างนักกีฬามักจะต้องตัวเล็ก นักกีฬาจำเป็นต้องฝึกซ้อมอย่างหนักประมาณ ๒๐-๓๐ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้ต้องใช้พลังงานมาก แต่จำเป็นต้องจำกัดอาหารเพื่อให้รูปร่างผอมบางไม่อ้วน การกระโดดกระแทกซ้ำๆ ของกระดูกขาทำให้มีการบาดเจ็บซ้ำๆ บริเวณปลายกระดูก ส่งผลทำให้ส่วนสูงและความสูง สุดท้ายเตี้ยกว่าศักยภาพตามพันธุกรรม เมื่อหยุดเล่นกีฬา ในรายที่กระดูกยังไม่ปิดทำให้มีความสูงสุดท้ายปกติได้
ผลของการออกกำลังกายประเภทต่างๆ ต่อการเจริญเติบโต โดยเฉพาะความสูงไม่เห็นผลชัดเจน เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตมีผลกระทบร่วมด้วย การศึกษาในนักกีฬาเด็กโดยติดตามระยะยาว พบว่านักกีฬาที่ฝึกซ้อมเป็นประจำในช่วงที่เข้าสู่ภาวะหนุ่มสาว ไม่มีผลทำให้อัตราการเจริญเติบโตเร็วขึ้น
การศึกษาในระยะหลังๆ พบว่าการออกกำลังกาย ไม่ได้ช่วยให้ความสูงเพิ่มขึ้น แต่ช่วยให้ความหนาแน่นกระดูกเพิ่มขึ้น และกระดูกมีขนาดใหญ่กว่า (แต่ไม่ใช่ยาวกว่า) โดยมีความหนาของกระดูกชั้นนอกมากกว่า การออกกำลังกายจึงยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าช่วยให้ความสูงสุดท้ายเพิ่มขึ้น
การป้องกันภาวะเตี้ย
พ่อแม่ที่ไม่สูงมักจะมีพันธุ-กรรมหรือยีนเตี้ย ซึ่งมีโอกาสถ่าย ทอดสู่รุ่นลูกหลาน การคัดเลือกเฉพาะยีนที่ไม่เตี้ยในตัวเชื้ออสุจิจาก บิดาหรือไข่จากมารดายังไม่สามารถ ทำได้ในปัจจุบัน เนื่องจากความสูงไม่ได้ถูกควบคุมโดยยีนเพียงยีนเดียว แต่ถูกควบคุมโดยยีนจำนวนมากและซับซ้อน ดังนั้น การป้องกันภาวะเตี้ย ในขั้นตอนการเลือกยีนจึงยังทำไม่ได้
การป้องกันลำดับต่อไปคือ การดูแลทารกในครรภ์ให้แข็งแรงและสมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่เตี้ยกว่าศักยภาพตามพันธุกรรมนั้นๆ ดังนั้น อาหารและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสุขภาพกายและจิตของแม่ในระหว่างตั้งครรภ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ของทารกในครรภ์
เมื่อทารกเกิดมา การเลี้ยงดูให้มีสุขภาพดี โดยเน้นโภชนาการให้ครบหมู่ ไม่เลี้ยงให้อ้วนหรือผอมเกินไป ควรเน้นการออกกำลังกายปานกลางอย่างสม่ำเสมอ ควรอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่แออัด ไม่มีมลภาวะ เพื่อลดความ เสี่ยงของความเจ็บป่วยบ่อยๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เด็กวัยก่อนเรียนและวัยเรียนมีการเจริญเติบโตล่าช้า
ในช่วงวัยเด็ก ไม่ควรเลี้ยงให้เด็กมีภาวะอ้วน เนื่องจากเด็กอ้วนบางคนจะเข้าสู่วัยสาวเร็วกว่าปกติ ทำให้โตเร็วกว่าปกติและหยุดการเจริญเติบโตก่อนวัย ทำให้เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สูงเท่าที่ควร
ในช่วงวัยรุ่น เมื่อมีฮอร์โมนเพศ จะทำให้มีการเจริญเติบโตของกระดูกอย่างรวดเร็วและมีการสะสมมวลกระดูกอย่างมาก วัยรุ่นตอนต้นอายุ ๙-๑๕ ปี จึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นม ซึ่งเป็นแหล่งของแคลเซียมและโปรตีนที่ดี ควรดื่มนมวันละ ๓-๔ แก้ว ถ้ามีประวัติไขมันในเลือดสูงในครอบครัวหรือมีภาวะอ้วน ควรดื่มนมชนิดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยทดแทนนมปกติ
คำถามน่ารู้
เด็กรุ่นใหม่เป็นสาวเร็วขึ้นทำให้เตี้ยกว่ารุ่นพ่อแม่จริงหรือ?
เด็กไทยรุ่นใหม่เป็นสาวเร็วขึ้นจริง มีประจำเดือนเร็วขึ้น ซึ่งพบเหมือนในญี่ปุ่น จีน ยุโรปและอเมริกา การเป็นสาวเร็วขึ้นสืบเนื่องจากการมีโภชนาการ ความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าการเป็นสาวเร็วขึ้นจะทำให้หยุดการเจริญเติบโตเร็วขึ้น แต่เด็กไทยรุ่นใหม่โดยเฉลี่ยมีความสูงมากกว่ารุ่นพ่อแม่
เด็กที่เป็นสาวก่อนวัยเท่านั้นซึ่งถือว่าเป็นภาวะผิดปกติ จึงอาจมีความสูงโดยเฉลี่ยน้อยกว่ารุ่นพ่อแม่
กินไก่แล้วเป็นสาวก่อนวัยจริงหรือ?
การใช้ฮอร์โมนเพศหญิง เช่น hexestrol ในการกระตุ้นให้ไก่โตเร็ว หากกินเนื้อไก่ที่มีการปนเปื้อนฮอร์โมนเป็นประจำ อาจจะทำให้เป็นสาวก่อนวัยได้ แต่การใช้ฮอร์โมนดังกล่าวในการเลี้ยงไก่ได้ถูกสั่งห้ามการใช้มานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว และไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันว่ามีการปนเปื้อนฮอร์โมนเพศหญิงในเนื้อไก่ที่ผลิตในประเทศไทย ดังนั้นจึงยังไม่มีผลงานวิจัยทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ว่า ภาวะเป็นสาวก่อนวัยที่พบบ่อยขึ้นในประเทศไทยสืบเนื่องจากการกินไก่ การแอบลักลอบใช้ยาดังกล่าวในการเลี้ยงไก่พบได้น้อยในปัจจุบัน เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อนมีการใช้ยานี้มากและหาซื้อได้ง่าย แต่ก็ไม่พบภาวะเป็นสาวก่อนวัยในคนรุ่นก่อน ดังนั้นผู้เขียนมีความเห็นว่าเนื้อไก่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่มีการปนเปื้อนฮอร์โมนเพศ คงมีเพียงส่วนน้อยที่อาจปนเปื้อนฮอร์โมน การสรุปเหมารวมว่ากินไก่แล้วเป็นต้นเหตุให้เป็นสาวเร็วผิดปกติจึงเป็นความเชื่อของแพทย์บางคนโดยไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยในวงกว้างอย่างแท้จริง
มีประจำเดือนแล้วทำให้ไม่สูงจริงหรือ?
การให้ยาหยุดการมีประจำเดือนจะช่วยให้ความสูงเพิ่มขึ้นหรือไม่ ?
เด็กหญิงเมื่อโตเกือบเต็มที่แล้ว ก็จะมีประจำเดือนซึ่งเป็นสัญญาณบอกกว่าการเจริญเติบโตของร่างกายหรือความสูงขณะนั้นประมาณร้อยละ ๙๕ ของความสูงเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เมื่อมีประจำเดือนแล้วจึงมักสูงขึ้นได้อีกเพียง ๕-๗ เซนติเมตร การมีประจำเดือนจึงเป็นผลตามมาของการเจริญเติบโต แต่ไม่ใช่สาเหตุทำให้เด็กโตช้าลง ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งเข้าใจผิดว่าประจำเดือนทำให้หยุดสูง ดังนั้นเมื่อระงับการมีประจำเดือนด้วยการฉีดยา จึงไม่ช่วยให้มีความสูงเพิ่มขึ้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาหยุดการมีประจำเดือนในเด็กปกติที่ไม่ได้เป็นสาวก่อนวัย
เด็กที่เป็นสาวในวัยปกติ ถ้าฉีดยาชนิดนี้เพื่อชะลอการปิดของกระดูก จะช่วยให้ความสูงเพิ่มขึ้นได้หรือไม่?
จากผลการทดลองฉีดยาชนิดนี้ในเด็กปกติ พบว่ามีแนวโน้มจะไม่ได้ผลในการเพิ่มความสูง กล่าวคือเมื่อทดลองใช้ยานี้ในเด็กปกติที่เริ่มเป็นสาวเมื่ออายุ ๙-๑๑ ปี พบว่ายาช่วยชะลอการเป็นสาวได้ ทำให้เต้านมเล็กลงและชะลอไม่ให้มีประจำเดือนมา ในทางทฤษฎี การช่วยชะลอการปิดของกระดูก อาจจะทำให้เป็นผู้ใหญ่ที่สูงขึ้น
ข้อเท็จจริงคือ เมื่อติดตามกลุ่มนี้จนโตเป็นผู้ใหญ่ พบว่าไม่ได้ช่วยให้เป็นผู้ใหญ่ที่สูงขึ้นกว่าปกติตามพันธุกรรมนั้นๆ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ชะลอความเป็นสาว หรือชะลอการมีประจำเดือนในเด็กปกติ
การเสริมแคลเซียมทำให้กระดูกงอกและอายุกระดูกแก่เกินวัยหรือไม่?
เด็กไทยโดยเฉลี่ยได้รับแคลเซียมจากอาหารประมาณ ๒๕๐-๓๐๐ มิลลิกรัมเท่านั้น เนื่องจากเด็กไทยยังดื่มนมค่อนข้างน้อย การดื่มนมให้เพียงพอจึงมีความจำเป็นต้องสุขภาพของกระดูกโดยตรง เด็กที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ การเสริมแคลเซียมจึงช่วยให้กระดูกมีความหนาแน่นและเจริญเติบโตได้เต็มที่ การให้แคลเซียมในเด็กโดยไม่ได้ให้วิตามินดีขนาดสูงร่วมด้วย ไม่มีข้อมูลแสดงว่า ทำให้มีกระดูกงอกหรือเป็นนิ่ว และไม่มีข้อมูลว่าทำให้อายุกระดูกแก่เกินวัย ในทางตรงข้ามการได้รับแคลเซียมในขนาดต่ำ ทำให้กระดูกเจริญเติบโตไม่เต็มที่ อาจทำให้อายุกระดูกล่าช้ากว่าปกติ
กรณีที่ ๑
เด็กชายอายุ ๑๖ ปี สูง ๑๕๘ เซนติเมตร
คุณพ่อสูง ๑๖๒ เซนติเมตร คุณแม่สูง ๑๔๘ เซนติเมตร
มาพบแพทย์ด้วยปัญหาตัวเตี้ย แพทย์เอกซเรย์อายุกระดูกแล้วบอกว่า สูงได้อีกประมาณ ๒ เซนติเมตร เนื่องจากกระดูกใกล้ปิดแล้วคือ คล้ายกับกระดูกผู้ใหญ่ หมอควรแนะนำอย่างไร
ความเห็นจากแพทย์
เด็กชายคนนี้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะสูงประมาณ ๑๖๐ เซนติเมตร ซึ่งเป็นความสูงเป้าหมายเมื่อคำนวณจากความสูงของพ่อแม่ ภาวะเตี้ยในรายนี้จึงน่าจะเป็นภาวะเตี้ยตามพันธุกรรม การให้ฮอร์โมนหรือยาใดๆ ในตอนนี้ ก็ไม่ช่วยให้ความสูงสุดท้ายมากขึ้น
แพทย์ควรชี้ให้เห็นว่า ความสูงของเขายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ตัวเล็กกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเท่านั้น คนที่ไม่สูงก็ประสบความสำเร็จได้ดี อย่างเช่นคุณพ่อคุณแม่ของเขา คุณค่าของคนไม่ใช่อยู่ที่ความสูงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือ การมีสุขภาพแข็งแรง การเรียนให้รู้จริงและมีสติปัญญา การประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเป็นคนดีของแผ่นดิน รวมทั้งควรมองหาจุดเด่นของลูก เช่น เล่นดนตรีเก่ง ร้องเพลงไพเราะ มีทักษะการกีฬา เป็นต้น พ่อแม่ควรชี้ให้ลูกเห็นจุดเด่นของลูกและเชิดชูจุดเด่นนั้น เพื่อสร้างเสริมความภูมิใจในตนเองและเพิ่มพูนทักษะชีวิตของลูก
กรณีที่ ๒
ลูกสาวอายุ ๑๐-๑๑ ขวบ มีประจำเดือนครั้งแรก ไปพบกุมารแพทย์ เอกซเรย์อายุกระดูก พบว่า อายุกระดูก ๑๓ ปี หมอบอกว่าลูกจะไม่ค่อยสูงแล้ว ควรฉีดยาหยุดประจำเดือน จะได้โตได้อีกเล็กน้อยประมาณ ๕-๗ เซนติเมตร ควรให้คำแนะนำอย่างไร
ความเห็นจากแพทย์
เด็กหญิงส่วนมากเมื่อเริ่มมีประจำเดือน แสดงว่าการเจริญเติบโตของร่างกายเกือบเต็มที่แล้ว คือประมาณร้อยละ ๙๕ ของความสูงเมื่อโตเต็มที่ อายุกระดูกจะช่วยบอกได้ชัดเจนเหมือนในเด็กรายนี้ ดังนั้น เด็กรายนี้จะโตได้อีก ๕-๙ เซนติเมตรตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องฉีดยาหยุดประจำเดือน
การฉีดยาหยุดประจำเดือนในเด็กรายนี้ ซึ่งถือว่าเป็นเด็กปกติที่มีอายุกระดูก ๑๓ ปี ไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าช่วยให้ความสูงเพิ่มขึ้นกว่าเด็กที่ไม่ได้ฉีดยารักษา จึงไม่แนะนำให้รักษาด้วยการฉีดยาหยุดประจำเดือน
กรณีที่ ๓
ลูกสาวอายุ ๙ ขวบ เริ่มมีอาการเจ็บเล็กน้อย บริเวณหัวนมและมีไตแข็งขนาด ๒ เซนติเมตร ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เนื่องจากกังวลว่าจะเป็นสาวเร็วก่อนวัย แพทย์เอกซเรย์อายุกระดูกพบว่า อายุกระดูกเท่ากับ ๑๐ ปี จึงบอกว่าโตเร็วกว่าวัยไป ๑ ปี ควรฉีดยาเข็มละประมาณ ๘,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้เต้านมยุบลง ไม่ให้เป็นสาวเร็วตาม ธรรมชาติ และบอกว่าเป็นยาเพิ่มความสูง ถ้าไม่รักษาจะมีประจำเดือนมาเร็ว และเด็กจะเตี้ย
แพทย์แนะนำว่า จำเป็นต้องฉีดยาทุก เดือน ติดต่อกันนาน ๑-๓ ปี จึงจะช่วยให้ความสูงเมื่อเป็นผู้ใหญ่สูงขึ้นกว่าธรรมชาติ
ความเห็นจากแพทย์
เด็กอายุเกิน ๘ ขวบ เริ่มมีการขยายตัวของเต้านม ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ลูกสาวอายุ ๙ ขวบ อายุกระดูก ๑๐ ขวบถือว่าปกติ เนื่องจากอายุกระดูกกับอายุจริงในวัยนี้อาจมีความแตกต่างกันได้ ๑-๒ ปี ทั้งนี้ขึ้นกับเด็กเข้าสู่วัยสาวหรือยัง ในรายนี้เริ่มเข้าสู่วัยสาวค่อนข้างเร็ว (อายุ ๙ ปี) อายุกระดูกก็จะมากกว่าอายุจริง การฉีดยาดังกล่าวมีข้อบ่งชี้เฉพาะในรายที่เป็นสาวเร็วผิดปกติ กล่าวคือมีเต้านมโตขึ้นก่อนอายุ ๘ ขวบ หรือ มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ ๙ ขวบ
การแนะนำให้ฉีดยาในผู้ป่วยรายนี้ จึงไม่มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสม เป็นการนำยามาใช้ในเด็กหญิงปกติ ซึ่งไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่สนับสนุนว่าการใช้ยานี้จะช่วยให้เด็กหญิงปกติดังกล่าวมีความสูงเพิ่มขึ้นกว่าศักยภาพตามพันธุกรรม ขอแนะนำให้ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่มีอาการคล้ายกับกรณีข้างต้น อย่าเชื่อคำแนะนำทันที ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขากุมารเวช-ศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อหลายๆ คนจากโรงเรียนแพทย์หลายๆ แห่ง ก่อนที่จะตัดสินใจรักษาด้วยยาที่มีราคาสูง และต้องรักษายาวนานหลายๆ ปี
- อ่าน 57,433 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้