ยิ้มสยาม สยามเมืองยิ้ม
เมืองไทย ได้ชื่อว่าเป็นสยามเมืองยิ้มมาเป็นระยะเวลานาน ทว่าในยุคปัจจุบัน รอยยิ้มที่ฉายประกายแห่งความสุข ดูแล้วสบายตา สบายใจ แววตาแห่งการต้อนรับที่อบอวลด้วยความอบอุ่นนั้นดูเลือนรางและลดลงทุกวัน เริ่มเป็นยิ้มแบบฝืดๆ ฝืนๆ เฝื่อนๆ เยาะๆ เย้ยๆ ซ่อนประโยชน์ ซ่อนอารมณ์ ซ่อนเงื่อนกันไป ผู้คนเริ่มมีใบหน้าที่เคร่งขรึม เคร่งเครียด จริงจังมากขึ้น จนอาจลืมไปเลยว่า รอยยิ้มที่เคยเปล่งออกมาอย่างสุขแบบดั้งเดิมที่เคยมีมานั้น หายไปไหน... ได้อย่างไร
การยิ้มและหัวเราะ ความสุขแห่งมนุษย์
สิ่งที่มนุษย์เราเรียกว่า "ยิ้ม" คือพฤติกรรมการฉีกปากออกไปด้านข้างแล้วมองเห็นซี่ฟัน เป็นสัญญาณที่ส่งให้อีกฝ่ายรู้ว่า "ฉันพร้อมเป็นมิตร" ยอมให้ผ่านเข้ามาในอาณาเขต รอยยิ้มจึงถือเป็นใบเบิกทางของการสร้างสัมพันธ์ เปิดตัว ลดความตึงเครียด ด้วยการเปิดหน้า เพื่อเริ่มเปิดปากให้รู้จักกันได้
ในทางตรงข้าม หากสัตว์ทำพฤติกรรมข้างต้น นั่นหมายถึง "การแยกเขี้ยว" ต้องการส่งสัญญาณแก่ผู้มาเยือน เตือนให้รู้ว่าอย่าได้ล้ำเส้นเข้ามา เป็นการข่มขู่หรือให้รู้ว่า แถวนี้คือถิ่นฉัน อย่าได้ริข้ามถิ่นมาเชียว น้อยครั้งมากที่จะพบว่าสัตว์นั้นยิ้มได้ (เช่น กรณีที่สุนัขยิ้มกับเจ้าของเวลาเล่นด้วย ซึ่งไม่ได้พบกับสุนัขทุกตัว)
ถ้าเมื่อใดที่มนุษย์เริ่มมีเสียงเปล่งเป็นจังหวะออกมาขณะที่ใบหน้าและปากเปิดนั้น นั่นหมายถึง เสียงที่บ่งบอกถึงอารมณ์สุข ระยะห่างของความสัมพันธ์ และบรรยากาศบริเวณนั้นจะดีขึ้น แต่หากได้ยินสัตว์เปล่งเสียงพร้อมใบหน้าและปากที่เปิดให้เห็นซี่ฟันขาวแจ่มแจ้งนั้น... หาทางหนีทีไล่ได้เลย นั่นคือการขู่ให้รู้ว่าเริ่มโกรธแล้ว ออกห่างไปเสียที หากช้าอาจได้รับบาดเจ็บได้
เสียง... บ่งบอกอารมณ์คนได้
เมื่อใดที่คนเราเปล่งเสียงออกมา ไม่ใช่แค่บอกถึงความหมายของเนื้อหาที่ต้องการสื่อ แต่ยังบ่งบอกถึงอารมณ์ที่ส่งผ่านออกมาด้วย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า แม้ในบางครั้งเราไม่เข้าใจภาษาที่อีกฝ่ายพูด แต่หากฟังจาก "น้ำเสียง" แล้ว เราสามารถคาดเดาได้ว่าเขาอยู่ในอารมณ์ใด
เสียงจึงเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ ว่าสุขดีอยู่ หรือทุกข์อย่างมาก การเปิดปากออกเสียงจึงเป็นทั้งการระเบิด ระบาย อารมณ์ออกมา หากเสียงที่เปล่งออกมามีแต่การระเบิดเสียง เปิดปากออกทีมีแต่อาการก้าวร้าว ก็ทำให้ทุกข์ทั้งคนระเบิดและคนรับลูกระเบิดนั้น หากเสียงที่เปล่งออก เต็มไปด้วยการระบาย บ่น ระคนทุกข์ ย่อมทำให้ระทม จมอยู่กับความหมองมัวกันไปได้
ถ้าหากเปล่งเสียงระรัวสุข เสียงสดใส มีชีวิตชีวา ย่อมทำให้ผู้คนอยากเข้าหา ตัวผู้เปล่งเสียงก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขๆ สดๆ เกิดเสน่ห์ และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ กันได้ ดังมีคำกล่าวที่ว่า "เมื่อใดที่คุณหัวเราะ โลกทั้งโลกก็จะเปล่งเสียงไปพร้อมกับคุณ... หากเมื่อใดก็ตาม คุณร้องไห้ คุณจะต้องร้องไห้ตามลำพังแต่เพียงผู้เดียว"
มาหัวเราะ เพาะสุข (ภาพ) กันเถอะ
เสียงหัวเราะ จึงหมายถึง เสียงที่เปล่งออกมาเพื่อให้ตนเองสุข ลดความตึงเครียดที่อยู่ภายใน
เสียงหัวเราะคือ ยาอายุวัฒนะ (laughter is the best medicine) อัศจรรย์ของเสียงหัวเราะ สามารถเพาะสุข ไม่ใช่เพียงให้อารมณ์ดีมีสุขเท่านั้น เสียงหัวเราะยังส่งผลดีต่อสุขภาพกาย ช่วยในการปรับตัว เพื่อสร้างสัมพันธ์ทางสังคม และเพิ่มพูนพลังชีวิตให้แก่คนเราอีกด้วย
เมื่อเราเปล่งเสียงหัวเราะออกมาในแต่ละครั้ง คลื่นเสียงแห่งความสุขที่เปล่งออกมาจะทำให้เซลล์ทุกส่วนของร่างกายเราชุ่มชื่นไปด้วยความสุข ที่ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า สารแห่งความสุข หรือสารเอ็นดอร์ฟินหลั่งออกมา สารนี้ช่วยระงับความเจ็บปวดได้อย่างดี โดยมีงานวิจัยศึกษาพบว่าหากหัวเราะต่อเนื่องได้ ๑๐ นาที จะช่วยคลาย ละลายปวดได้นานถึง ๒ ชั่วโมง และเมื่อหัวเราะเพียง ๕ นาที สารแห่งความสุขจะหลั่งออกมาพอๆ กับการออกกำลังกายครึ่งชั่วโมงเลยทีเดียว
นอกจากนี้ เสียงหัวเราะยังช่วยทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวของร่างกายเพิ่มขึ้น ซึ่งหน้าที่ของเม็ดเลือดขาว เสมือนกับเป็นผู้ตรวจตรา ช่วยดักจับสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อร้ายที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายไปได้พร้อมๆ กับการเพิ่มระดับภูมิต้านทานของร่างกาย เมื่อร่างกายมีระดับภูมิต้านทานที่มากขึ้น โอกาสที่จะเผชิญโรคภัยไข้เจ็บก็จะห่างไกลจากตัวเรามากขึ้น
เมื่อเราหัวเราะได้ ระบบการหายใจสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อากาศเข้าสู่ร่างกายได้เติมเต็ม ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้เต็มที่ หัวใจเริ่มสูบฉีดเลือดอย่างเต็มกำลัง ทำให้เลือดลมสามารถไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ออกซิเจนสามารถแทรกซึมเข้าร่างกายได้เต็มที่ ทำให้สมองปลอดโปร่ง โล่งสบาย ส่งผลให้เกิดความสร้างสรรค์ และมีพื้นที่โล่งว่างในการจดจำทำงานต่อไปได้อย่างดีต่อไปอีก หากเราหัวเราะได้เต็มที่แล้ว จะสังเกตได้ว่า ร่างกายนั้นจะขยับเขยื้อนผ่อนคลาย จึงเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดของเส้นประสาทกล้ามเนื้อกายไปด้วย รู้สึกถึงความสบายตัว สบายใจ ดังคำกล่าวที่ว่า บางครั้งคนเราดีใจเสียจนตกเก้าอี้
สยามหัวเราะ เทคนิคใหม่แห่งการหัวเราะ
ในยุคปัจจุบัน คนเรารู้สึกว่าการหัวเราะทำได้ยาก
"ไม่มีอารมณ์หัวเราะ แล้วจะหัวเราะได้อย่างไร"
"เสแสร้งและฝืนหรือเปล่า"
"ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องหัวเราะ"
หลงลืมไปว่า การหัวเราะนั้นไม่ต้องมีเหตุผล เด็กจึงหัวเราะได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่และมีความสุขมากกว่าทุกข์
เสียงหัวเราะของคนที่โตขึ้นมาเรื่อยๆ หลายครั้งไม่ได้เปล่งออกมาด้วยความสุข แต่เป็นการเค้นออกมา ฮึ ฮึ อยู่แถวลำคอ สัก ๑ หรือ ๒ ครั้ง หากต้องฝืนให้มากกว่านั้น ก็อาจมีอาการปวดหัว ปวดกราม หรือมึนศีรษะขึ้นมาได้ หรือหลายครั้งก็พบว่าเสียงที่หัวเราะออกมานั้น แทนที่จะรู้สึกว่าสุข กลับเป็นการระเบิดออกมาเพื่อต้องการเยาะเย้ย ถากถางกัน ที่เรียกว่า "หัวเราะเยาะ" เพื่อต้องการแสดงถึงอำนาจที่เหนือกว่า การเอาชนะอีกฝ่ายได้ หรือเพื่อระบายความคับข้องใจภายในออกมา เพื่อให้ความแค้นที่ซ่อนไว้หายไป
สุดท้ายเมื่อหัวเราะกันไม่ออก ก็เกิดเป็นภาวะซึมเซา ท้อแท้ มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อทำหน้าที่กันไปวันๆ ขาดชีวา เหลือแค่เพียงชีวิตที่มีลมหายใจขับเคลื่อนกันไป เกิดโรคเกิดภัยเข้าตัวกันเต็มไปหมด
ด้วยเหตุนี้ ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงนำศาสตร์ทางตะวันออกและทางตะวันตกมาประยุกต์ สร้างเป็นเทคนิคการหัวเราะแบบไทยๆ เรียกว่า "สยามหัวเราะ" ขึ้นมา เพื่อช่วยคนไทย ให้หันมามาฝึกฝนเปล่งเสียงหัวเราะกันใหม่ เพื่อให้กายสด จิตใจดี สังคมดี ชีวีเป็นสุข และเพิ่มพูนพลังชีวิตใหม่
สยามหัวเราะ เป็นการ "ออกกำลังกายภายใน" ด้วยการขยับเขยื้อนร่างกายในแต่ละส่วนอย่างเป็นจังหวะไปอย่างช้าๆ ให้เกิดเป็นความรู้สึก รู้ตัว พร้อมกับการเปล่งเสียงแห่งความสุขออกมา เพื่อให้สารเคมีในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ หลักการของสยามหัวเราะนั้นจะเริ่มต้นจากการอุ่นเครื่องร่างกายในแต่ละส่วนให้เลือดลมเริ่มไหลเวียน และยืดหยุ่นกล้ามเนื้อก่อน ซึ่งคล้ายกับศาสตร์การออกกำลังกาย ที่ก่อนจะออกกำลังต้องมีการอุ่นเครื่องก่อนทุกครั้ง
ท่าอุ่นเครื่องสยามหัวเราะ
การอุ่นเครื่องจะเริ่มจากล่างขึ้นสู่บน ดังต่อไปนี้
๑. อุ่นเครื่องที่เท้า
ทำท่าเหมือนวิ่งช้าๆ อยู่กับที่ ขยับท่าทางให้ช้าที่สุด พร้อมทั้งแอ่นหน้าแอ่นหลังด้วย เพื่อเป็นการนวดไขสันหลังไปในตัว จากนั้นจะยกมือ ๒ ข้างขึ้นด้านบน เป็นรูปตัววี แล้วใช้มือแตะสลับที่หน้าขาทีละข้าง นั่นคือ เมื่อยกหน้าขาซ้ายขึ้น จะใช้ฝ่ามือขวาแตะไปที่หน้าขาซ้าย และเมื่อยกหน้าขาขวาขึ้น จะใช้มือซ้ายแตะไปที่หน้าขาขวา
๒. อุ่นเครื่องที่สะโพก
โดยการยักสะโพกไปด้านซ้ายและขวา สลับกันไป พยายามตั้งลำตัวให้ตรง ใช้เพียงสะโพกขยับ ลำตัวจะได้ไม่โยกเยก หรือโคลงเคลง จากนั้นหมุนสะโพกเป็นรูปเลขแปดแนวนอน ด้วยการใช้สะโพกวาดวงกลมไปทางซ้ายและทางขวาอย่างต่อเนื่องกัน
๓. อุ่นเครื่องที่อก
ด้วยการเหยียดมือออกไปด้านข้างทั้ง ๒ ข้างระดับไหล่ แล้วแกว่งแขนพร้อมกับลำตัวไปด้านซ้ายและด้านขวา ศีรษะกับลำตัวแกว่งไปในทางเดียวกับแขนด้วย พยายามไม่ให้ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเกร็ง
๔. อุ่นเครื่องที่ไหล่
โดยการยกไหล่ซ้ายและไหล่ขวาสลับกันทีละข้าง เวลายกไหล่แต่ละข้าง ให้ยกขึ้นเหมือนจะติดกับใบหู ศีรษะไม่ขยับ และเวลาผ่อนไหล่ลง ให้ทิ้งน้ำหนักลงมาได้เลย
๕. อุ่นเครื่องที่คอ
เป็นการหมุนคอเป็นรูปเลขแปดแบบขี้เกียจ นั่นคือ หมุนคอช้าที่สุด เริ่มต้นจากการเอียงคอไปด้านข้างด้านใดด้านหนึ่งก่อน แล้วหมุนคอเป็นวงกลมไปด้านหน้า จากนั้นให้หมุนต่อเนื่องอ้อมต่อเป็นวงกลมไปด้านหลัง หลักสำคัญคือหมุนให้ช้าที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บหรือเกิดอาการมึนงง ขณะที่หมุนคอจะลืมตาไว้ตลอดเวลา
อุ่นเครื่องที่คอ
๖. อุ่นเครื่องที่ใบหน้า
โดยการใช้เทคนิค "บาน เบิก" เพื่อให้เกิดความ "เบิกบาน" ด้วยการยิงฟันแยกเขี้ยวออกให้กว้างที่สุด เอียงหน้าไปด้านข้างในแนวนอนพร้อมหลับตาปี๋ เป็นท่า "บาน" หลังจากนั้นผ่อนคลายใบหน้ากลับมา แล้วค่อยๆ เลิกหน้าผากขึ้น ในแนวตั้ง เป็นท่า "เบิก" ทำสลับกันไปอย่างช้าๆ
หลังจากอุ่นเครื่องเสร็จ จะเริ่มหัวเราะกันอย่างต่อเนื่องในท่าพื้นฐาน ดังต่อไปนี้
ท่าหัวเราะพื้นฐาน
ในการฝึกหัวเราะด้วยเทคนิคสยามหัวเราะนั้น จะเริ่มต้นก่อนการเปล่งเสียงในแต่ละท่าด้วยการหายใจเข้าให้เต็ม แน่น ลึก ให้รู้สึกอากาศดันลงไปถึงท้อง สังเกตง่ายๆ คือ ท้องจะต้องพองออกทุกครั้ง และจังหวะของการหายใจออก คือ การออกเสียงหัวเราะตามส่วนต่างๆ สลับกันไปเช่นนี้ตลอด
ท่าพื้นฐานของสยามหัวเราะ มีเกือบ ๒๐ ท่าทาง โดยมีท่าพื้นฐานหลัก ๔ ท่า ดังนี้
๑. ท้องหัวเราะ
เป็นการออกกำลังกายภายในส่วนท้อง โดยการตั้งแขน ยกนิ้วโป้งทั้ง ๒ข้างตั้งขึ้นไว้ด้านหน้าประมาณช่วงเอว แล้วเปล่งเสียงหัวเราะ "โอ" เป็นจังหวะ ขณะออกเสียง ท้องสามารถขยับขึ้น-ลงแนวตั้ง นิ้วทั้ง ๒ จะโยกเป็นจังหวะขึ้น-ลงตามท้องที่ขยับด้วย
การฝึกท่าท้องหัวเราะนี้จะช่วยออกกำลังส่วนท้อง ส่งผลให้ระบบย่อยอาหาร และการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น จะได้ป้องกันอาการท้องผูก ท้องอืด เฟ้อ หรือกรดไหลย้อน รวมถึงสามารถช่วยลดหน้าท้องได้ด้วย
๒. อกหัวเราะ
เน้นการขยับกล้ามเนื้อช่วงอก โดยกางแขนออกไปด้านข้างทั้ง ๒ ข้าง เปิดแผ่นอก ไหล่ไม่ยก ขณะที่เปล่งเสียงหัวเราะ "อา" อกจะขยับขึ้นลง ตามจังหวะเสียง แขนทั้ง ๒ ข้างจะขยับขึ้นลงตามจังหวะไปด้วย
การฝึกท่าอกหัวเราะเป็นการออกกำลังกายช่วงแผ่นอกและหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อช่วงอกได้ขยับและยืดหยุ่น และเป็นท่าที่แสดงออกถึงความมั่นใจด้วย เพราะเป็นท่าเปิดอกเปิดใจ ให้เกิดความมั่นอก ก่อความมั่นใจ
๓. คอหัวเราะ
ทำท่าประกอบโดยตั้งมือระดับเอว ทำเหมือนท่าปืน นิ้วโป้งยกขึ้น พร้อมกับนิ้วชี้และนิ้วกลางที่ยืดเหยียดออก โดยทั้ง ๒ นิ้วนี้ติดกัน ส่วนนิ้วนางและนิ้วก้อยงอเก็บไว้ เมื่อเปล่งเสียงหัวเราะเปิดเสียงออกจากท้องสู่คอ ด้วยเสียง "อู" ช่วงแขนทั้ง ๒ ข้างจะขยับเข้าออก โดยต้นแขนด้านในสีหรือเสียดกับสีข้างบริเวณข้างลำตัว ใช้แรงดันแขนยิงไปด้านหน้า ลำตัวสามารถโยกตามจังหวะได้ด้วย
ท่าคอหัวเราะ ช่วยบริหารลำคอ ให้โล่ง โปร่ง ช่วยให้เซลล์ด้านข้างลำตัวเกิดการสัมผัสและขยับเขยื้อนด้วย และสร้างพลังชีวิตให้เกิดขึ้น เพราะต้องใช้พลังในการพุ่งมือไปด้านหน้าให้ได้ในแต่ละจังหวะ
๔. ใบหน้าหัวเราะ
ด้วยการงอแขน ๒ ข้าง ยกมือขึ้นกางออกด้านข้าง ระนาบเดียวกันกับใบหน้า ขยับเขยื้อนนิ้วทีละนิ้วเป็นจังหวะ คือ โป้ง ชี้ กลาง นาง ก้อย แล้วสลับกลับ ก้อย นาง กลาง ชี้ โป้ง เพื่อฝึกสมองไปด้วย พร้อมทั้งหมุนตัวไปด้านซ้ายและขวา ร่วมกับการย่อตัว ด้วยการยืดหยุ่นเข่าขึ้น-ลงเป็นจังหวะ ด้วยเสียงหัวเราะ "เอ" เบ่งบานทั่วใบหน้า คล้ายหยอกล้อกัน
ท่านี้จะเป็นการขยับเกือบทุกส่วนของร่างกาย ร่างกายจะยืดหยุ่น และใบหน้าจะถูกนวด ช่วยทำให้สมองโปร่ง โล่ง เลือดลมหมุนเวียน บริหารสมอง บริหารเข่าไปในตัว และเมื่อใบหน้าเปิด ย่อมทำให้ยิ้มออก
แต่ละท่าจะทำอย่างละ ๔ ครั้ง อย่างช้าๆ เมื่อฝึกเสร็จแล้วจะหลับตาลงสักครู่หนึ่ง
เทคนิคการฟังเสียงร่างกาย
การหลับตา ภายหลังจากการหัวเราะโดยทันที เป็นการทำให้จิตรวมนิ่งเป็นหนึ่งเดียว ทำให้เกิดสติ และสมาธิ เทคนิคการฟังเสียงร่างกายจึงเป็นการอยู่กับความรู้สึกสดๆ ในปัจจุบัน เพื่อรับรู้ร่างกายของตนเองว่ามีส่วนใดที่อุ่นร้อน โล่ง ผ่อน สบาย คลาย ส่วนนั้นๆ คือ จุดแข็ง หากส่วนใดที่รู้สึกอ่อน เย็น หนัก มึน ปวด เกร็ง ส่วนนั้นคือ จุดอ่อน
การรู้เท่าทันและฟังเสียงร่างกายได้ จะทำให้เราไวต่อการรับรู้การเปลี่ยนแปลงร่างกายมากขึ้น ด้วยการอยู่กับความรู้สึกส่วนที่เป็นจุดแข็งก่อนแล้วจึงย้ายมารับรู้ส่วนที่เป็นจุดอ่อน เมื่อรับรู้ว่าส่วนใดของร่างกายที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนแล้ว จึงค่อยๆ ถ่ายโอนความรู้สึกจากจุดแข็งไปที่จุดอ่อน เพื่อสร้างสมดุล และเยียวยาด้วยการถ่ายเทพลังภายในร่างกาย ประมาณ ๑ นาที
หลังจากนั้น จะสูดลมหายใจเข้าอย่างเต็มที่ แล้วลืมตา กระโดด พร้อมเปล่งเสียงหัวเราะอย่างอิสระเต็มที่ เพื่อเพิ่มพลังแห่งชีวิตใหม่อย่างเต็มที่ด้วยตนเอง ประมาณครึ่งนาทีหรือ ๑ นาที แล้วหลับตาอีกครั้งเพื่อฟังเสียงร่างกายอีกรอบ ยิ้มให้กับตนเอง แล้วจึงพร้อมลืมตา ยิ้มให้กับคนอื่น ยิ้มให้กับโลก
ความสุข อยู่ที่การสร้าง
การหัวเราะด้วยเทคนิค "สยามหัวเราะ" นั้น เป็นการฝึกการสร้างสุขจากภายในตนเอง หากเรามัวแต่ตั้งรับหรือรอคอยคนมาทำให้สุข เราอาจจะต้องตั้งหน้าตั้งตารอคอยต่อไป หากแต่เราปรับตัวเองใหม่ จากการสร้างสุขด้วยตัวเองได้ ความสุขก็จะเริ่มเกิดจากเรา "ความสุขจึงอยู่ที่การสร้าง ไม่ใช่การแสวงหา" หากเรามีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้ ภูมิคุ้มกันทางใจก็จะแข็งแกร่งแข็งแรงขึ้น สิ่งแวดล้อม อันตรายจากภายนอกย่อมกล้ำกรายหรือทะลุผ่านได้ลำบาก หากเราปล่อยจิตให้มันเป็นไปตามยถา ความเครียดและอาการต่างๆ ก็ย่อมถามหาได้เร็วขึ้น
ทุกๆ วัน คงต้องถามตัวเองว่า
"วันนี้ ฉันหัวเราะอย่างมีความสุขไปแล้วหรือยัง"
- อ่าน 12,328 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้