ไข้หวัด
โดยทั่วไปมักมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัวเป็นพักๆ ปวดหนักศีีรษะเล็กน้อย อ่อนเพลียเล็กน้อย อาจมีอาการคอแห้ง แสบคอหรือเจ็บคอเล็กน้อยนำมาก่อน ต่อมาจะมีน้ำมูกไหลใสๆ คัดจมูก ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะใสหรือขาวๆ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ เดินเหิน ทำงานได้ และจะกินอาหารได้
ในเด็กเล็ก อาจมีไข้สูงฉับพลัน ตัวร้อนเป็นพักๆ เวลาไข้ขึ้นอาจซึมเล็กน้อย เวลาไข้ลง (ตัวเย็น) ก็จะวิ่งเล่นหรือหน้าตาแจ่มใสเหมือนปกติ ต่อมาจะมีน้ำมูกใส ไอเล็กน้อย
ในผู้ใหญ่ อาจไม่มีไข้ มีเพียงอาการเจ็บคอเล็กน้อย น้ำมูกใส ไอเล็กน้อย
ในทารก อาจมีอาการอาเจียน หรือท้องเดิน ร่วมด้วย
อาการไข้มักเป็นอยู่นาน 48-96 ชั่วโมง (2-4 วันเต็มๆ) แล้วอาการก็ทุเลาไปได้เอง
อาการน้ำมูกไหลจะเป็นมากอยู่ 2-3 วัน ส่วนอาการไอ อาจไอนานเป็นสัปดาห์ หรือบางรายอาจไอนานเป็นแรมเดือน หลังจากอาการอื่นๆ หายดีแล้ว
ในรายที่การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีไข้เกิน 4 วัน หรือมีน้ำมูกเข้มข้นเหลืองหรือเขียวเกิน 24 ชั่วโมง หรือไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียวทุกครั้ง
การดำเนินโรค
ส่วนใหญ่มักจะหายเอง โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ยาแก้อักเสบ”) เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส อาการไข้จะเป็นอยู่ 2-4 วัน น้ำมูกจะมีมากใน 2-3 วันแรก ส่วนอาการไอ ส่วนใหญ่ก็จะทุเลาได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
ยกเว้นบางราย (หรือบางครั้ง) อาจมีการอักเสบของหลอดลมร่วมด้วย ก็จะไอนาน 1-3 เดือน เนื่องจากเยื่อบุหลอดลมที่อักเสบมีความอ่อนแอ เกิดการระคายเคืองง่าย เวลาถูกฝุ่น ควัน หรืออากาศเย็น ก็มักจะไอ (ซึ่งมักจะไอแห้งๆ แบบระคายคอ หรือมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะสีขาว) ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง ถ้าจำเป็นแพทย์จะให้ยาระงับไอ ไม่จำเป็นน้องใช้ยาปฏิชีวนะ และจะค่อยๆ ทุเลาจนหายขาด เมื่อเยื่อบุหลอดลมฟื้นตัวแข็งแรงดังเดิมตามจังหวะธรรมชาติของมัน
บางรายอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะรักษา
อาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งปอดอักเสบ ซึ่งอาจมีอันตรายร้ายแรงได้
ดังนั้น ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกตดูอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการหายใจหอบเร็ว (เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้ปกครองควรฝึกนับการหายใจ ดูหน้าอกหรือหน้าท้องที่กระเพื่อมขึ้นลง ว่ามีอัตราเร็วเกินเกณฑ์อายุที่กำหนดหรือไม่)
ในเด็กเล็ก หรือเข้าศูนย์เลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนในช่วง 3-4 เดือนแรก เด็กอาจเป็นไข้หวัดซ้ำซากจากเชื้อไวรัสหวัด ซึ่งมีอยู่หลายชนิด อาจเป็นไข้หวัดเดือนละ 1-2 ครั้ง หรือทุกสัปดาห์ (เนื่องจากติดเชื้อตัวใหม่จากเพื่อนในห้อง) เด็กอาจมีไข้ 2-4 วัน แล้วทุเลาไปหลายวัน แล้วก็อาจเป็นไข้หวัดรอบใหม่ จนกว่าจะรับเชื้อครบทุกตัวที่มีอยู่ไม่ซ้ำในกลุ่มเพื่อนกลุ่มนั้น ก็จะค่อยๆ ห่างหายไปในที่สุด ข้อสำคัญผู้ปกครองอย่าได้ตกใจ และควรให้การดูแลตามอาการตามที่แนะนำ ยาที่จำเป็นคือ ยาลดไข้-พาราเซตามอลเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ (หากไม่มีอาการบ่งชี้ว่ามีภาวะแทรกซ้อน) ขืนกินยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นหรือมากเกิน นอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังอาจมีโทษ เช่น ทำให้เชื้อโรคดื้อยาง่าย เด็กแพ้ยาง่าย หรือยาปฏิชีวนะจะทำลายจุลินทรีย์ในลำไส้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ภูมิค้มกันเด็กอ่อนแอ ติดเชื้อง่ายขึ้นได้
ดังนั้น ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองควรเรียนรู้ว่า เมื่อเป็นไข้หวัด มีลักษณะใดที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
ภาวะแทรกซ้อน
ที่พบบ่อยคือ มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผู้ป่วยมักจะมีไข้นานเกิน 4 วัน หรือมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียว
ภาวะแทรกซ้อน ที่อาจพบได้รุนแรงก็คือ ปอดอักเสบ ผู้ป่วยมักมีไข้สูง หายใจหอบหรือเร็วกว่าปกติ ไอมีเสลดข้นเหลืองหรือเขียวร่วมด้วย มักพบในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ
นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ไซนัสอักเสบ (น้ำมูกออกเป็นหนองข้นเหลืองหรือเขียว ปวดโหน่งที่โหนกแก้มหรือหัวคิ้ว), หลอดลมอักเสบ (ไอมีเสลดมาก ไอดังโครกๆ นานหลายวัน), หูชั้นกลางอักเสบ (มีอาการปวดหู หูอื้อ), กล่องเสียงอักเสบ (มีอาการเสียงแหบร่่วมด้วย)
การแยกโรค
อาการไข้ มีน้ำมูกไหล ไอ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ที่สำคัญได้แก่
- ปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง เบื่ออาหาร ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียว เจ็บหน้าอกมาก หรือหายใจหอบ หรือหายใจเร็วกว่าปกติ
- ไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยมาก นอนซม เบื่ออาหาร ร่วมกับอาการคล้ายไข้หวัด บางรายอาจไม่มีน้ำมูก อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียนหรือท้องเดิน
- หัด ผู้ป่วย (มักพบในเด็ก) จะมีไข้สูงตลอดเวลา กินยาลดไข้ไม่ทุเลา ซึม หน้าแดง ตาแดง น้ำมูกไหล ไอ มีผื่นแดงขึ้นตามตัวหลังมีไข้ 4 วัน และไข้มักเป็นอยู่นานนับสัปดาห์
- ไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ น้ำมูกออกเป็นหนองข้นเหลืองหรือเขียว คัดจมูก ปวดหน่วงบริเวณโหนกแก้มหรือหัวคิ้ว
- หลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไอมีเสลด (ออกจากใต้ลำคอลึกๆ) ไอโครกๆบางครั้งไอจนเจ็บหน้าอก เสลดอาจเป็นสีขาวข้น (จากเชื้อไวรัส) หรือข้นเหลือง หรือเขียว (จากเชื้อแบคทีเรีย) บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
- ทอนซิลอักเสบ ผู้ป่วยมักมีไข้สูง เจ็บคอมาก กลืนลำบาก อ้าปากดูภายในคอหอย จะเห็นทอนซิลบวมแดง มีจุดหนอง บางรายอาจมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกหรือเสมหะสีเหลืองหรือเขียว
- โรคหวัดภูมิแพ้ (แพ้อากาศ) ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก คันจมูก คนคอ ไอแห้งๆ ส่วนใหญ่ไม่มีไข้ อาการทั่วไปแข็งแรงดี มักเป็นๆ หายๆ บ่อย เวลาสัมผัสถูกส่งที่แพ้ เช่น ฝุ่น ควัน อากาศเย็น
- อ่าน 52,060 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้