โรคลำไส้แปรปรวน (กลุ่มอาการลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า)
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพักๆ ตรงบริเวณท้องน้อย (ใต้สะดือ) แบบปวดท้องถ่าย และทุเลาปวดเมื่อมีการถ่ายอุจจาระ ผู้ป่วยมักมีอาการท้องเดินหรือท้องผูกร่วมด้วย
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีการบีบตัวของลำไส้เร็วกว่าปกติ ก็จะมีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลววันละหลายครั้ง มักจะถ่ายช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือขณะกินอาหาร หรือหลังกินอาหารทันที อาการอาจเป็นต่อเนื่องทุกวัน หรือเป็นๆ หายๆ เป็นบางวัน มีข้อน่าสังเกตว่าเมื่อเข้านอนตอนกลางคืน จะไม่มีอาการลุกขึ้นมาถ่าย จนกระทั่งรุ่งเช้า สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีการบีบตัวของลำไส้ช้ากว่าปกติ ก็จะมีอาการท้องผูกหรือถ่ายเป็นก้อนแข็ง บางคนอาจถ่ายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
บางคนอาจมีอาการท้องเดินสลับท้องผูก หรือถ่ายเป็นมูกร่วมด้วย (พบว่าลำไส้ใหญ่ของผู้ป่วยบางคนจะมีการหลั่งเมือกออกมามากกว่าปกติ)
นอกจากนี้ บางคนอาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อมีลมในท้องร่วมด้วย
ผู้ป่วยมักเริ่มอาการครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 20 ปี และจะเป็นเรื้อรังเรื่อยๆ นานหลายปี หรือตลอดชีวิต โดยที่ผู้ป่วยมีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ไม่มีอาการถ่ายเป็นเลือด เป็นไข้ หรือน้ำหนักลด
สิ่งที่ทำให้อาการของโรคกำเริบ เช่น
- การกินอาหารปริมาณมาก
- การกินอาหารมันๆ นม เนย ไอศกรีม ช็อกโกแลต ชา กาแฟ เครื่องดื่มกาเฟอีน แอลกอฮอล์ น้ำโซดาน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรักโทสสูง ( เช่น น้ำแอปเปิ้ล น้ำองุ่น)
- อารมณ์เครียด
การดำเนินโรค
มักเป็นๆ หายๆ เรื้อรังนานหลายปี หรือตลอดชีวิต โดยที่สุขภาพแข็งแรงดี และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อย ไม่ต้องหาหมอหรือกินยารักษา เพียงแต่ปฏิบัติตัวต่างๆ ก็จะมีคุณภาพชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป
ภาวะแทรกซ้อน
โรคนี้แม้จะเป็นเรื้อรัง แต่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อน หรืออันตรายต่อสุขภาพ นอกจากสร้างความรำคาญ และมีความลำบากในการหาห้องน้ำเวลามีอาการท้องเดิน
บางคนที่ถ่ายบ่อย ก็อาจทำให้โรคริดสีดวงทวารที่เป็นอยู่กำเริบ (ถ่ายเป็นเลือด) ได้
การแยกโรค
- โรคติดเชื้อ เช่น เชื้อบิด เชื้อพยาธิไกอาร์เดีย จะมีอาการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือด หรือถ่ายเป็นน้ำเรื้อรัง หรืออาจมีไข้ น้ำหนักลดร่วมด้วย
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีอาการท้องผูกสลับท้องเดินเรื้อรัง ถ่ายเป็นเลือดสด น้ำหนักลด มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี
- โรคของต่อมไทรอยด์ เช่น คอพอกเป็นพิษ จะมีอาการถ่ายเหลวบ่อย ร่วมกับอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลด ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ จะมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักขึ้น ท้องผูก
- ภาวะเยื่อบุมดลูกงอกผิดที่ (endometriosis) จะมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรงเวลามีประจำเดือน
- ภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนม (แล็กเทส) จะมีอาการท้องเดินเฉพาะเวลาดื่มนม หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นองค์ประกอบ
- อ่าน 114,614 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้