หัดเยอรมัน
ที่สำคัญคือ ผื่นขึ้นทั่วตัวคล้ายหัด ในเด็กเล็กมักมีผื่นขึ้นโดยไม่มีอาการไม่สบายอย่างอื่นที่เด่นชัดมาก่อน บางคนอาจมีน้ำมูกหรือถ่ายเหลวเล็กน้อยก่อนผื่นขึ้น
ในเด็กโตและผู้ใหญ่ เริ่มแรกอาจมีอาการไม่สบายเพียงเล็กน้อย (เช่น ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดตา เจ็บคอ เบื่ออาหาร คลื่นไส้) หรืออาจมีอาการแบบไข้หวัด (มีไข้ น้ำมูก ไอ ปวดเมื่อย) ซึ่งจะมีอาการเป็นอยู่ 1-5 วัน ก่อนผื่นขึ้นและทุเลาเมื่อมีผื่นขึ้นแล้ว
ผื่นมีลักษณะเป็นผื่นราบ สีชมพูขนาดเล็กๆ มักไม่แผ่รวมเป็นแผ่นแบบหัด โดยเริ่มขึ้นที่หน้า (ชายผม รอบปาก ใบหู) แล้วกระจายลงมาตามคอ แขน ลำตัวและขาอย่างรวดเร็วภายใน 1-3 วัน ผื่นที่ขึ้นในแต่ละแห่งมักจะจางหายภายใน 24 ชั่วโมง โดยเรียงลำดับจากหน้าลงมาที่ขา เมื่อผื่นที่หน้าเริ่มจางหาย ผื่นที่ ลำตัวบางครั้งอาจแผ่รวมกันเป็นแผ่นใหญ่ขึ้น ผื่นจะจางหายไปทั้งหมดภายในประมาณ 3 วัน (ฝรั่งจึงเรียกว่า หัด 3 วัน) โดยไม่ทิ้งรอยผื่นสีคล้ำหรือหนังลอกแบบ หัด ยกเว้นในรายที่เป็นผื่นมากอาจลอกแบบขุยละเอียด โดยทั่วไปมักไม่มีอาการคันนอกจากในผู้ใหญ่บางคน อาจมีอาการคันเล็กน้อยได้
นอกจากนี้มักพบว่ามีต่อมน้ำเหลืองโต (คลำได้เป็นเม็ดตะปุ่มตะปา) ตรงบริเวณหลังหู หลังคอ
บางคนอาจเป็นหัดเยอรมัน โดยไม่มีผื่นขึ้นก็ได้แต่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้
การดำเนินโรค
สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ทั่วไป มักจะมีอาการอยู่ประมาณ 3-5 วัน หรือประมาณ 1 สัปดาห์ อาการไข้และผื่นจะทุเลาไปได้เอง ส่วนอาการต่อมน้ำเหลืองโตอาจขึ้นอยู่นานเป็นแรมเดือน แล้วจะค่อยๆ ยุบหายไปในที่สุด ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา (ดูหัวข้อ "ภาวะแทรกซ้อน")
ภาวะแทรกซ้อน
ที่สำคัญคือ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อหัดเยอรมันแพร่จากแม่ไปสู่ลูกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระยะ 3 เดือนแรก อาจทำให้เกิดการแท้ง หรือการตายคลอด (stillbirth หรือการคลอดทารกที่ตายในครรภ์) ส่วนทารกที่รอดชีวิต จะเกิดความผิดปกติหรือความพิการแต่กำเนิด ซึ่งเรียกว่า โรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด (congenital rubella) ซึ่งมักจะมีความผิดปกติหลายอย่าง รวมกันที่พบบ่อยได้แก่ ทารกเจริญเติบโตช้า (น้ำหนักแรกเกิดน้อย) ต้อกระจก (พบได้ 1 ใน 3 ของทารกที่เป็นหัดเยอรมันแต่กำเนิดอาจเป็นข้างเดียว หรือ 2 ข้าง) จอประสาทตาพิการ (retinapathy) นัยน์ตาเล็ก (micro-phthalmia) หูหนวก (มักเป็น 2 ข้าง) หัวใจพิการ (ได้แก่ patent ductus arteriosus) ปัญญาอ่อน ภาวะเกล็ดเลือด ต่ำ ตับโต ม้ามโต นอกจากนี้ ความผิดปกติที่อาจ พบได้แต่ไม่บ่อย เช่น ต้อหิน ศีรษะเล็กผิดปกติ ผนังหัวใจรั่ว (ได้แก่ ASD VSD) ซีด ดีซ่าน ตับอักเสบ สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น ซึ่งบางอย่างอาจทำให้ทารกเสียชีวิตหลังคลอดได้
โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ ขึ้นกับอายุครรภ์ที่แม่ติดเชื้อหัดเยอรมัน มีรายงานว่า ถ้าแม่เป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ 2 เดือนแรก พบทารกผิดปกติ ถึงร้อยละ 60-85 ถ้าแม่เป็นหัดเยอรมัน ขณะตั้งครรภ์เดือนที่ 3 พบทารกผิดปกติประมาณ 1 ใน 3
ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ในคนทั่วไปที่เป็นหัดเยอรมัน มีดังนี้
- ข้ออักเสบ 1 ข้อหรือหลายข้อ มักพบในเด็กโตและผู้ใหญ่ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งมักจะหายได้เอง
- สมองอักเสบ พบได้ประมาณ 1 ใน 6,000 คน พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก มักเกิดหลังผื่นขึ้น 2-4 วัน (บางคนอาจเกิดพร้อมผื่นขึ้น) มีอัตราตายถึงร้อยละ 20-50
- อื่นๆ เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (อาจทำให้มีภาวะเลือดออก) ประสาทตาอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ ตับอักเสบ เยื่อบุหัวใจหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น
การแยกโรค
ในระยะแรกเริ่ม ขณะมีอาการไข้ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ จะดูคล้ายไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ (ซึ่งมักมีไข้สูงหรือปวดเมื่อยตามตัว แต่จะไม่มีผื่นขึ้นที่ตัวตามมา)
ระยะที่มีผื่นขึ้นตามตัว ควรแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น
- หัด จะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง เบื่ออาหาร ซึม เด็กเล็กมักจะร้องงอแงหลังมีไข้ 3-4 วัน จะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว เริ่มขึ้นที่ชายผมและซอกคอก่อน ต่อมาจะลามไปตามหน้าผาก ใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยที่ผื่นเล็กๆ จะค่อยๆ แผ่ติดกันเป็นแผ่นกว้าง ผื่นจะค่อยๆ จางหายภายใน 4-7 วัน เหลือให้เห็นเป็นรอยแต้มสีคล้ำๆ และอาจมีอาการหนังลอกตามมา ไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ (มักจะทุเลาหลังผื่นขึ้นประมาณ 3-4 วัน)
- ส่าไข้ หรือ ไข้ผื่นกุหลาบในทารก (roseolar infantum) จะมีไข้สูงตลอดเวลา (โดยไม่มีอาการอื่นๆ ชัดเจน) อยู่ 3-5 วัน แล้วไข้จะลดลงได้เอง หลังไข้ลดไม่กี่ชั่วโมงจะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ตอนผื่นขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกสุขสบายดี ผื่นจะจางหายไปภายใน 2 วัน มักพบในเด็กอายุไม่เกิน 3 ขวบ (พบมากในช่วง 6-8 เดือน)
- ไข้เลือดออก จะมีไข้สูงตลอดเวลา หน้าแดง ตาแดง ซึม เบื่ออาหาร หลังมีไข้ 2-3 วัน อาจมีผื่นแดงขึ้นตามลำตัวและแขนขา ซึ่งจะจางหายไปภายใน 2-3 วัน บางคนอาจพบมีจุดเลือดออก ลักษณะเป็นจุดแดงเล็กๆ (รีดหนังให้ตึง ไม่จางหาย)
- ผื่นจากยา จะมีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้าลำตัวและแขนขา โดยเกิดขึ้นหลังจากกินยารักษาอาการไม่สบาย (ไข้หวัด เจ็บคอ ไอ ท้องเสีย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยาปฏิชีวนะ ผื่นอาจมีอาการคันหรือไม่คันก็ได้
- อ่าน 20,987 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้