บิดชิเกลล่า
เริ่มแรกจะมีอาการปวดบิดในท้องก่อน ภายใน 1 ชั่วโมงต่อมาจะมีไข้ขึ้นและถ่ายเป็นน้ำ ถ้าถ่ายรุนแรงอาจทำให้อ่อนเพลีย เพราะเสียน้ำกับเกลือแร่ บางรายอาจเพียงถ่ายเหลว นอกจากนี้ยังมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมาอาการท้องเดินจะทุเลาลง แต่จะปวดเบ่งที่ก้นและถ่ายเป็นมูก (หนองสีขาว) หรือมีมูกปนเลือดบ่อยครั้ง กลิ่นไม่เหม็นมาก ในเด็กอาจมีไข้สูง ซึม และชักได้
อาการไข้จะหายเองภายใน 2-3 วัน ส่วนอาการท้องเดินเป็นบิดจะหายเองภาย 5-7 วัน (โดยไม่ได้กินยา) แต่บางรายอาจกลับเป็นได้ใหม่อีก
การดำเนินโรค
ส่วนใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรง และอาจค่อยๆ หายไปได้เอง แต่ถ้ากินยาปฏิชีวนะ อาการมักจะทุเลาภายใน 24-48 ชั่วโมง ควรกินยาจนครบ 3-5 วัน ส่วนน้อยอาจมีภาวะขาดน้ำ ในช่วงแรกๆ ที่มีอาการถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง หรืออาจรุนแรง
ภาวะแทรกซ้อน
ที่พบบ่อยคือ ภาวะขาดน้ำ (เกิดจากอาการถ่ายเป็นน้ำ อาเจียน กินไม่ได้) ในเด็กเล็กและคนสูงอายุอาจได้รับอันตราย ถ้ามีภาวะขาดน้ำรุนแรง) ที่พบได้น้อย เช่น เชื้อแพร่กระจายไปที่ข้อทำให้เกิดข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน หรืออาจมีลำไส้ทะลุและเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
การแยกโรค
อาการปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ ร่วมกับมีไข้ (ซึ่งเป็นอาการที่พบในระยะแรกของบิดชิเกลล่า) อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น
- อาหารเป็นพิษ เกิดจากการกินอาหาร ที่ปนเปื้อนพิษเชื้อแบคทีเรียปล่อยออกมา หรือสารพิษอื่นๆ (เช่น เห็ดพิษ) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย บางรายอาจเป็นรุนแรง ถึงขั้นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
-
โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง อาจมีภาวะขาดน้ำรุนแรงได้ ส่วนอาการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือด (ซึ่งเป็นอาการที่พบในระยะต่อมาของบิดชิเกลล่า) อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น
- บิดอะมีบา เกิดจากเชื้อโปรโตซัว (สัตว์เซลล์เดียว) ที่มีชื่อว่า อะมีบา (ameba) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเบ่งที่ก้น ถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือด กะปริดกะปรอย แต่จะมีกลิ่นเหม็นมากเหมือนหัวกุ้งเน่า บางคนเชื้ออาจลุกลามไปที่ตับกลายเป็นฝีในตับ ซึ่งเป็นภาวะรุนแรงได้ หากสงสัยควรรีบไปพบแพทย์
- โรคลำไส้กลืนกันเอง (intussusception) พบมากในทารกอายุประมาณ 6 เดือน จะมีอาการปวดท้องรุนแรงเป็นพักๆ (ทารกจะมีอาการร้องไห้เสียงดังนานหลายนาที เว้นช่วงเงียบไปพักหนึ่ง แล้วร้องขึ้นอีก) อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย บางครั้งอาจถ่ายเป็นมูกปนเลือดคล้ายเยลลี่ หากสงสัยควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีอาการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือดเรื้อรังนานเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นเดือนๆ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หากสงสัยควรรีบไปพบแพทย์
- อ่าน 8,481 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้