ภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนม
ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางลำไส้เกิดขึ้นหลังดื่มนมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนม ประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง อาการมากน้อยขึ้นกับความรุนแรงของภาวะพร่องแล็กเทสและปริมาณแล็กโทสที่ดื่ม หรือกินเข้าไป ในรายที่เป็นไม่มาก มักมีอาการมีลมในลำไส้มาก ท้องอืด คลื่นไส้ และปวดบิดท้อง โดยไม่มีอาการท้องเดิน ในรายที่เป็นมาก มักมีอาการท้องเดิน (ถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายเหลว) ร่วมด้วย ส่วนปริมาณนมที่ดื่มจนทำให้เกิดอาการท้องเดินนั้นแปรผันไปตามผู้ป่วยแต่ละราย บางรายดื่มนมได้วันละ 1-2 แก้วก็ไม่เกิดอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางรายเพียงดื่มนมปริมาณเล็กน้อยก็เกิดอาการท้องเดิน
ภาวะแทรกซ้อน
โดยทั่วไปมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากสร้างความรำคาญ ส่วนทารกและเด็กเล็กที่อาศัยนมเป็นอาหารหลัก หากเกิดอาการท้องเดินเรื้อรัง ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวไม่ขึ้นได้ โอกาสที่จะเป็นรุนแรงถึงขั้นขัดขวางการดูดซึมจนน้ำหนักลด และขาดสารอาหารนั้นมีน้อยมาก ถ้าพบมักจะเกิดจากการดูดซึมผิดปกติด้วยสาเหตุอื่น
การดำเนินโรค
หากเป็นภาวะพร่องแล็กเทสที่เกิดหลังจากเป็นโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อ อาการมักจะเป็นเพียงชั่วคราวและหายได้เองภายใน 3-4 สัปดาห์ ส่วนในรายที่เป็นแบบเรื้อรังก็ควรดูแลตนเองอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยให้ทุเลาและดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขได้
การแยกโรค
อาการท้องเดินแบบเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- แพ้อาหาร มักมีอาการจากการกินอาหารที่แพ้ เช่น นม ไข่ ปลา กุ้ง หอย ปู ถั่วลิสง เป็นต้น มักเริ่มเป็นตั้งแต่วัยทารก จะมีอาการลมพิษ ผื่นคัน ร่วมกับอาการปวดท้อง ท้องเดิน ถ้าเป็นมากอาจมีอาการเป็นหวัด จาม หรือหอบหืดร่วมด้วย เมื่อโตขึ้นอาการจะค่อยๆ เป็นห่างขึ้น และอาจหายจากการแพ้อาหารพวกนม ไข่ ปลาข้อแตกต่างจากภาวะพร่องเอนไซม์ ย่อยนม คือ โรคแพ้อาหาร จะมีอาการของโรคภูมิแพ้ (ลมพิษ ผื่นคัน หวัด จาม หอบหืด) ร่วมด้วย และกินอาหารเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดอาการ ในขณะที่ภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนมจะมีอาการเมื่อดื่มนมในปริมาณมาก และไม่มีอาการของโรคภูมิแพ้ร่วมด้วย
- ลำไส้แปรปรวน หรือ ไอบีเอส (IBS ซึ่งย่อจาก irritable bowel syndrome) มักมีสาเหตุจากความเครียดเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยอาจเกิดจากอาหาร (เช่น นม ผลิตภัณฑ์จากนม แอลกอฮอล์ กาเฟอีน) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน หลังกินอาหาร 15-30 นาที เป็นๆ หายๆ อยู่เรื่อยๆ บางคนอาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเดินเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความเครียด ผู้ป่วยมักจะมีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี น้ำหนักไม่ลด ทำงาน เรียนหนังสือได้ตามปกติ จัดเป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด
- สาเหตุร้ายแรง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคบิดเรื้อรัง เบาหวาน คอพอกเป็นพิษ เอดส์ เป็นต้น นอกจากมีอาการท้องเดินเรื้อรังแล้ว มักมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด หรือมีไข้เรื้อรัง
- อ่าน 8,490 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้