หิด
ผู้ป่วยจะมีตุ่มน้ำใสและตุ่มหนอง คัน ขึ้นกระจายเหมือนกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย มักจะพบที่ง่ามนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อมือ ข้อศอก รักแร้ รอบหัวนม รอบสะดือ ก้น ข้อเท้า อวัยวะเพศ (ในเด็กเล็กอาจขึ้นที่หน้าและศีรษะ ส่วนในผู้ใหญ่มักไม่ขึ้นในบริเวณนี้)
บางรายอาจพบเป็นผื่นนูนแดงคดเคี้ยว ขนาดเท่าเส้นด้าย ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ซึ่งตรงปลายสุดจะเป็นที่อยู่ของตัวหิด
ผู้ป่วยมักจะมีอาการคันมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน
บางรายอาจเกาจนมีเชื้อแบคทีเรียอักเสบซ้ำเติมเป็นตุ่มหนองพุพองหรือน้ำเหลืองไหล
การดำเนินโรค
ถ้าไม่รักษา มักเป็นเรื้อรัง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ และแพร่กระจายให้คนข้างเคียงไปเรื่อยๆ ถ้าได้รับการรักษา มักจะหายขาดได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยมักเกาจนกลายเป็นแผลพุพอง และถ้าติดเชื้อบีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเออาจกลายเป็นหน่วยไตอักเสบแทรกซ้อนได้
เด็กบางรายอาจคัน จนนอนไม่พอ กินไม่ได้ และน้ำหนักลด
การแยกโรค
อาการเป็นตุ่มคันตามผิวหนัง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- ตุ่มคันจากยุงหรือแมลงกัดต่อย ซึ่งมักขึ้นเฉพาะที่ และไม่ลุกลามแพร่กระจายไปทั้งตัว
- ผื่นแพ้สัมผัส เช่น แพ้ปูน ผงซักฟอก ขอบยางกางเกงหรือเสื้อชั้นใน สร้อยข้อมือ สายนาฬิกา เป็นต้น ซึ่งมักจะเป็นผื่นคันอยู่เฉพาะตามรอยที่สัมผัสถูกสิ่งที่แพ้
- แผลพุพอง มีอาการขึ้นเป็นตุ่มหนองเล็กๆ ตามแขนขา หรือลำตัว ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียของบาดแผลเล็กน้อย เช่น รอยขีดข่วน รอยแกะเกา รอยถลอกรอบแผลจากยุงหรือแมลงกัด มักขึ้นเฉพาะที่ไม่ลุกลามแพร่กระจายไปทั่วตัว
- อีสุกอีใส มีอาการขึ้นเป็นตุ่มใสค่อยๆ แพร่กระจายไปตามลำตัว ใบหน้าและแขนขา แต่มักมีไข้พร้อมกับมีตุ่มขึ้นในวันแรกของไข้
- อ่าน 13,457 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้