โดยที่ศาลอาจแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๙๙ มาตรา ๑๒๙ จึงเห็นสมควรให้มีข้อบังคับว่าด้วยผู้เชี่ยวชาญของศาล ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ออกข้อบังคับไว้ดังนี้ ข้อความข้างต้นเป็นเจตนารมณ์ของศาลที่ได้ออกเป็นข้อบังคับไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 แต่ในความเป็นจริง ยังไม่เคยมีพยานผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เลย จนกระทั่งวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 คณะทำงานซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก 3 ฝ่าย ศาล (สำนักงานยุติธรรม) ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนแพทยสภา นายแพทย์อำนาจ กุสลานันท์ (อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1), นายแพทย์ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย และผม นายแพทย์สัมพันธ์ คมฤทธิ์ (เลขาธิการแพทยสภา) ได้ประชุมร่วมกัน ทุกฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกันครับว่าให้ศาลควรมีพยานผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์สำหรับศาลในทุกๆ คดีทางการแพทย์ เนื่องจากการที่แพทยสภาได้เคยประกาศเจตนารมณ์ไว้ในเรื่องนี้ และได้ให้ข้อมูลชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาตลอดเนื่องจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ยากซับซ้อน มีตัวแปรมากและไม่สามารถคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้เหมือนวิชาชีพอื่น ดังพระโอวาทและคติธรรม สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
" แพทย์วิทยา ผิดกับวิชาดาราศาสตร์หรือวิชาคำนวณ ทั้งสองนี้เป็นวิทยาศาสตร์แม่นคำนวณ ส่วนวิชาแพทย์นั้นเป็นวิชาแม่นบางส่วนแต่ก็เป็นวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ "
มูลเหตุที่กระตุ้นในเรื่องนี้เริ่มต้นที่ คดีสมุยอินเตอร์ครับ เรื่องย่อ ผู้ป่วยปวดศีรษะ admit พบแพทย์ 2 คน แล้วเสียชีวิต 35 ชั่วโมงหลังจากเข้านอนโรงพยาบาล ฟ้องเป็นคดีอาญา โจทย์ จำเลย ต่อสู้กันเองโดยไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีการชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิต คำพิพากษาให้จำคุกแพทย์ 2 คน 3 ปี พยาบาล 1 คน 1 ปี ไม่รอลงอาญา ขณะนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์. โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าการมีพยานผู้เชี่ยวชาญ ทางการแพทย์นั้นจะช่วยให้ศาลได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ ในการใช้ดุลยพินิจในการพิพากษา ไม่จำเป็นเลยครับที่จะต้องช่วยแพทย์ด้วยกันเอง เป็นเรื่องไม่สมควรด้วยความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่ผูกมัดศาล.
อันที่จริงเราได้เสนอเรื่องการฟ้องอาญาว่า ต้องเป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น ส่วนประมาทธรรมดาหรือละเมิดให้ฟ้องแพ่งได้โดยไม่ขัดข้อง แต่เอาเถอะคงต้องรอต่อไปในโอกาสอันควร ได้เรื่องผู้เชี่ยวชาญศาลในคดีแพทย์ ก็ถือได้ว่ามาครึ่งทางแล้วครับ แพทยสภาเคยจัดอบรมเชิงสัมมนาให้แก่แพทย์ผู้สนใจเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ 2 ปีที่แล้ว มีคนสนใจมาก จัดขึ้น 2 วัน ประมาณ 300 คน เราเตรียมไว้เผื่อศาลจะเรียกนะครับ แต่หลังจากได้ประชุมคณะทำงาน 3 ฝ่าย พบว่าต้องมีการลงทะเบียน ต้องอบรม สอบสัมภาษณ์ด้วยครับ แต่อย่างที่บอกครับ ศาลเองขณะนี้ต้องการผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์มาก เพราะไม่มีเลย และอยากได้ต่างจังหวัดด้วย ยังขอให้แพทยสภาช่วยเชิญชวนให้แพทย์ไปลงทะเบียนที่สำนักงานศาลยุติธรรม ผมรีบรับปากทันที เพราะใน 300 คนนี้ เคยแสดงเจตนาไว้บ้างแล้ว ส่วนท่าน ที่ยังไม่ได้อบรมไม่ต้องห่วงนะครับ ต้องไปอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สำนักงานศาลยุติธรรมอยู่แล้วทุกคน ต้องมีทักษะ ความรู้เกี่ยวกับศาล เป็นผู้เชี่ยวชาญจริง ให้ประมวลข้อเท็จจริงให้มากที่สุด แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องเป็นกลางครับ.
ในที่ประชุมยังพูดถึงเรื่องไกล่เกลี่ย ซึ่งศาลก็พยายามจะทำให้จบเร็วที่สุด ให้พอใจด้วยกับทุกฝ่าย เพราะคดีในศาลมีมากมายเหลือเกิน อีกเรื่องหนึ่งที่ศาลเสนอคือ ให้แพทยสภาไปอบรมหลักการทางการแพทย์ให้กับผู้ช่วยผู้พิพากษาที่เตรียมจะเป็นผู้พิพากษา ผมก็เสนอให้ศาลมาอบรม หรือบรรยายเรื่องทางกฎหมายให้แก่แพทย์จบใหม่ของเราด้วย ท่านก็ยินดีครับ. ในโอกาสนี้ผมขอเชิญชวนแพทย์ที่สนใจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของศาลแสดงความจำนงได้ที่สำนักงานเลขาธิการ แพทยสภา แพทย์ต่างจังหวัดด้วยนะครับ ในเดือนเมษายนปีนี้คณะทำงานชุดนี้จะประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจได้แนวทาง วิธีปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้นในการประสานงานกันระหว่างแพทยสภากับสำนักงานศาลยุติธรรม เมื่อประชุมอีก 2-3 ครั้ง คณะทำงานนี้ก็จะสลายตัว เป็นการประสานกันรวมเป็นองค์กรแทน ผมรู้สึกดีใจครับที่ความเชื่อของเรา มีคนให้ความสำคัญ และยกระดับเป็นมรรคผลจวนจะเป็นรูปธรรมแล้ว และเชื่อต่อไปว่า การที่ศาลได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้านสมบูรณ์ จะช่วยให้การใช้ดุลยพินิจของศาลแม่นยำขึ้นเป็นประโยชน์ เป็นที่พึ่งต่อสังคมโดยรวมตลอดไป.
สัมพันธ์ คมฤทธิ์ พ.บ.
เลขาธิการแพทยสภา
- อ่าน 5,721 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้