3.3 วิธีบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน
(1) การรักษาสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะผ่านพ้นไปแล้ว เช่น การให้ยาฆ่ามะเร็ง ("เคโม") การฉายแสง หรือมักจะรักษาไม่ได้ เช่น มีพยาธิสภาพรุนแรงในช่องท้อง หรือในสมอง แต่บางอย่างก็รักษาสาเหตุได้ เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ (จากยาหรือโรคของตนเอง) ก็ให้ยาลดกรดและยาเคลือบกระเพาะ อาการท้องผูกก็ให้ยาระบายหรือสวนอุจจาระออก เป็นต้น.
(2) การใช้ยา เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนแบบต่างๆ เช่น dimenhydrinate ใช้ได้ดีในกลุ่มที่เวียนหัวบ้านหมุนด้วย, domperidone ใช้ได้ดีในกลุ่มที่กระเพาะลำไส้ไม่ค่อยทำงาน, metoclopramide ใช้ในกลุ่มคลื่นไส้อาเจียนทั่วไป, ondansetron ใช้ในกลุ่มที่คลื่นไส้อาเจียนรุนแรงมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้ยาฆ่ามะเร็ง ("เคโม") เป็นต้น.
ถ้าผู้ป่วยใช้ยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนแล้วยังไม่ได้ผล ควรให้ยานอนหลับ จนผู้ป่วยพักหลับได้ อาการคลื่นไส้อาเจียนจะหายไป.
(3) การใช้วิธีการอื่นๆ เช่น การดึงความสนใจของผู้ป่วยไปจากอาการ รบกวนต่างๆ ของตนด้วยการชวนคุยถึงเรื่องสนุกๆ/ตื่นเต้น การหลีกเลี่ยงกลิ่น (ยา อาหาร ฯลฯ) ที่ทำให้คลื่นไส้ การผ่อนคลาย การนั่งสมาธิ การกดจุด หรืออื่นๆ.
3.4 วิธีบรรเทาอาการสับสนกระวนกระวาย เช่น
(1) การรักษาสาเหตุ เช่น น้ำตาลหรือเกลือแร่ในเลือด ถ้าผิดปกติก็จะรักษาได้ง่าย ผลข้างเคียงจากยาก็ให้หยุดยานั้นๆ เสีย เป็นต้น.
(2) การใช้ยา ในกรณีที่ไม่รู้สาเหตุหรือผู้ป่วยสับสนดิ้นรน กระสับกระส่ายมาก โดยเฉพาะในระยะสุดท้ายของชีวิต ที่เรียกว่า "ดิ้นรนทุรนทุรายระยะสุดท้าย" (terminal agitation or restlessness) ก็ควรใช้ยา เช่น diazepam 5-10 มิลลิกรัม IV ช้าๆ ซ้ำได้ทุก 10-15 นาที จนผู้ป่วยสงบลง หรือเกิดผลข้างเคียงจากยา.
ถ้าผู้ป่วยมีอาการเพ้อคลั่ง จิตหลอน (เห็นหรือได้ยินในสิ่งที่คนอยู่ใกล้ๆ ไม่เห็นหรือไม่ได้ยิน) ก็อาจใช้ haloperidol 2.5-5.0 มิลลิกรัม 1V ช้าๆ ซ้ำได้ทุก 10-15 นาที จนผู้ป่วยสงบลง หรือเกิดผลข้างเคียงจากยา.
(3) การใช้วิธีการอื่นๆ เช่น การพูดคุยให้ผู้ป่วยสบายใจ การให้ผู้ป่วยได้พูดระบายอารมณ์ในเรื่องต่างๆ การให้ฟังเพลงหรือการสวดมนต์ที่ผู้ป่วย ชอบ ในกรณีที่ผู้ป่วยเพ้อคลั่งมาก และยังไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยสงบลงได้ อาจต้องจับมัด/จับตรึงผู้ป่วยไว้กับเตียง เพื่อป้องกันอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเองและต่อบุคคลอื่น.
3.5 วิธีแก้อาการเบื่ออาหาร เช่น
(1) การรักษาสาเหตุ ถ้าพบสาเหตุที่รักษาได้ เช่น ผลข้างเคียงจากยา การนอนไม่หลับ อาการท้องผูก/แน่นท้อง อาการซึมเศร้า เป็นต้น.
แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากโรคที่อยู่ในระยะสุดท้าย และไม่สามารถรักษาได้ ควรจะให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนตามธรรมชาติให้มากที่สุด อย่าเคี่ยวเข็ญ/บีบคั้นให้กินโน่นกินนี่ หรือใส่สายยางให้อาหารทางจมูกหรือทางหน้าท้อง เพราะมีแต่จะทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานมากขึ้นและมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ.
การเบื่ออาหารเป็นกลไกทางธรรมชาติที่จะทำให้ผู้ป่วยขาดอาหารและน้ำ และได้จากไปโดยสงบตามกลไกแห่งความตายตามธรรมชาติ นั่นเอง.
(2) การใช้ยา ในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่ได้อยู่ในระยะสุดท้ายและไม่ทุกข์ทรมานจากอาการอื่นๆ การใช้ยา เช่น prednisolone 5 มิลลิกรัม หลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น ในช่วงสั้นๆ อาจจะกระตุ้นให้ผู้ป่วย หายเบื่ออาหารได้ ถ้าผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามในการใช้ยานี้.
3.6 วิธีแก้อาการอ่อนเพลีย ผอมลง
อาการอ่อนเพลีย ผอมลง มักเกิดจากอาการเบื่ออาหาร ซึ่งมักเกิดร่วมกับการรุนแรงขึ้นของโรคที่เป็นอยู่ ผู้ป่วยบางรายอาจบอกว่า มีอาการ "เหนื่อย" แต่ยังนอนราบได้และหายใจเป็นปกติ อาการ "เหนื่อย" ของผู้ป่วยจึงหมายถึงอาการ "ไม่มีแรง" ทำอะไรไม่ได้นั่นเอง.
การรักษาอาการอ่อนเพลียและผอมลง จึงเป็นวิธีการเดียวกับการแก้อาการเบื่ออาหาร เมื่อ ผู้ป่วยกินได้ดีขึ้น อาการอ่อนเพลียและผอมลงก็จะดีขึ้น.
3.7 วิธีแก้อาการท้องผูก เช่น
(1) การแก้สาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจาก การกินแต่อาหารอ่อนที่ไม่มีกาก ก็ต้องเพิ่มอาหารที่ มีกาก (fibers) เช่นผักให้มากขึ้น ถ้าเกิดจากการไม่ได้กินอาหารเพราะเบื่ออาหาร ก็ต้องแก้อาการ เบื่ออาหาร ถ้าเกิดจากการใช้ยาแก้ปวดจำพวกฝิ่น/มอร์ฟีนมากเกินไป ก็ต้องลดยาลง เป็นต้น.
(2) การใช้ยา เช่น สมุนไพร (เม็ดแมงลัก มะขาม มะขามแขก ฯลฯ) ยาแผนปัจจุบัน (milk of magnesia, bisacodyl) ยาสวนอุจจาระแบบต่างๆ เป็นต้น.
3.8 วิธีแก้อาการไอ และเสมหะ เช่น
(1) การแก้สาเหตุ ถ้าเกิดจากการติดเชื้อ ก็ต้องให้ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) ถ้าเกิดจากการระคายคอ ก็ให้อมยาแก้ไอ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว หรือดื่มน้ำอุ่นๆ ถ้าเกิดจากการแพ้ความเย็น (แอร์จากเครื่องปรับอากาศ) ก็ให้ลดความเย็นลง เป็นต้น.
(2) การใช้ยาแก้ไอ ถ้าเป็นอาการไอแห้ง (ไม่มีเสมหะ) ก็ให้อมยาแก้ไอ ดื่มน้ำอุ่น หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว หรือถ้าเป็นมาก ก็อาจใช้ยากดอาการไอ เช่น codeine, ถ้าเป็นอาการไอมีเสมหะ ควรให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ถ้าไม่มีข้อห้าม และอาจให้ยาช่วยละลายเสมหะ เช่น acetylcysteine, ambroxol, bromhexine, carbocysteine เป็นต้น.
(3) การใช้วิธีการอื่นๆ เช่น การให้สูดดมไอน้ำผสมสิ่งหอมระเหย เช่น น้ำมันยูคาลิบตัส การตบอกด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อช่วยให้เสมหะที่ติดอยู่ในหลอมลมลึกๆ หลุดออก และไอออกมาได้ การเช็ด/ดูดเสมหะออกจากปาก/จมูกแบบตื้นๆ ที่ไม่ทำความรำคาญให้ผู้ป่วย ส่วนการพยายามดูดเสมหะด้วยสายยางสอดเข้าไปลึกๆ ถึงคอหอยมักจะทำความ รำคาญให้ผู้ป่วย และอาจทำให้ผู้ป่วยสำรอก/อาเจียนอาหารและน้ำกรดในกระเพาะออกมาได้.
ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายบางรายอาจมี เสียงเสมหะครืดคราดอยู่ในคอหรือในหลอดลม (death rattle) การพยายามดูดเสมหะในลำคอลึกๆ หรือในหลอดลมด้วยการใส่ท่อหลอดลมคอ (endotracheal tube) จะทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานมาก และไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตหรือสบายขึ้น จึงไม่ควรทำเช่นนั้น แต่อาจให้ atropine หรือ hyoscine เพื่อลดการหลั่งเสมหะลง.
3.9 วิธีแก้อาการปากแห้ง ปากเหม็น เจ็บแผลในปาก
ถ้าปากแห้งจากการขาดน้ำ ก็ต้องให้ กินน้ำมากขึ้นหรือบ่อยขึ้น ถ้าปากแห้งจากการหายใจทางปาก ควรใช้ผ้าบางๆ เช่น ผ้าก็อซชุบน้ำคลุมปากไว้ หยอดน้ำ 1-2 มิลลิลิตร (ซีซี) ใส่ปากเป็นครั้งคราว เป็นต้น.
ถ้าปากเหม็น ควรให้อมน้ำเกลือ (0.9% normal saline) บ้วนปากบ่อยๆ หรือจะใช้น้ำยา อมบ้วนปากแบบอื่นก็ได้ ถ้าปากเหม็นจากแผลมะเร็งอาจใช้ metronidazole หรือ tetracycline 2 เม็ด บดผสมน้ำ 1 แก้วอมบ้วนปากทุก 3-4 ชั่วโมง เป็นต้น.
ถ้าเจ็บแผลในปาก อาจใช้ยาชา เช่น lidocaine ทา หรือใช้สตีรอยด์ เช่น prenisolone บด แล้วทาบริเวณแผล เป็นต้น.
ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดหรือน้ำผลไม้ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดในปาก หรืออาหารและน้ำที่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป.
3.10 วิธีการดูแลแผลอื่นๆ เช่น แผลกดทับ (bed sores) แผลเรื้อรัง (chronic ulcers) แผลต่อทะลุ (fistula) หรืออื่นๆ ควรปรึกษาผู้เชี่ยว ชาญทางด้านนั้นว่าจำเป็นมากน้อยเพียงใดเพื่อคุณภาพ ชีวิตของผู้ป่วย ถ้าการรักษาจะเพิ่มความเจ็บปวด/ความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น การดูแลรักษาแผล แบบธรรมดาๆ ให้แผลสะอาดแห้ง และไม่รบกวนผู้ป่วยมากนัก มักจะทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีความสุขสบายมากกว่า เป็นต้น.
3.11 วิธีการแก้อาการปัสสาวะอุจจาระเล็ด/ราด/คั่งค้าง ถ้าปัสสาวะอุจจาระเล็ด/ราด/ เพราะหูรูดอ่อนแรง ก็ควรปล่อยให้มันออกได้ตามสะดวก แล้วทำความสะอาดด้วยน้ำ และซับให้แห้ง ในปัจจุบัน มีการใช้ "แผ่นซับ" ทำเป็นแบบ"ผ้าอนามัย" หรือ "ผ้าอ้อม" ซึ่งจะซับน้ำปัสสาวะและน้ำอุจจาระได้ดีขึ้น แต่ก็ควรเปลี่ยน "แผ่นซับ" นี้บ่อยๆ และทำความสะอาดก้นให้สะอาดและแห้งก่อนเปลี่ยนด้วย.
ถ้าปัสสาวะอุจจาระเล็ด/ราด เพราะมีปัสสาวะ/อุจจาระคั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ใหญ่มาก ก็ควรสวนปัสสาวะและอุจจาระออก และอาจต้องคาสายสวนไว้ เป็นต้น.
3.12 วิธีแก้อาการโซเซเปะปะ ซึ่งอาจเกิดจากอาการอ่อนเพลีย/อ่อนแรง/ปวดเมื่อย/เมื่อยล้า ก็ควรช่วยเหลือด้วยการพยุง/ประคอง/บีบนวด หรืออื่นๆ ให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้นและถ้าพบสาเหตุที่อาจแก้ไขได้ง่าย เช่น การขาดอาหาร/น้ำ/เกลือแร่ ก็ควรทดแทนให้ผู้ป่วยถ้าผู้ป่วยต้องการ โดยมีเป้าหมายที่จะให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้น ไม่ใช่เพื่อยืดเวลาตายของ ผู้ป่วย.
ตัวอย่างวิธีบรรเทาอาการรบกวนต่างๆ ของผู้ป่วยที่หมดหวังหรือระยะสุดท้ายดังกล่าวไว้ ข้างต้น คงพอจะทำให้เข้าใจได้ว่า เป้าหมายของการบรรเทาอาการรบกวนต่างๆ นั้น เป็นไปเพื่อลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายขึ้นโดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อยืดชีวิต (ยืดเวลาตาย) ของผู้ป่วย และไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยตายเร็วขึ้น.
แม้ในบางครั้ง การใช้ยาบรรเทาอาการเจ็บปวด/เหนื่อยหอบ/นอนไม่หลับ หรืออื่นๆ อาจทำให้ระบบประสาทสู้ (symphathetic neuro-humoral system) ผ่อนคลายการสู้ลง ทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้นได้ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะ "ระบบสู้" นี้จะอ่อนล้าลงเรื่อยๆ จากความทุกข์ทรมานต่างๆ และหยุด"สู้"" ในที่สุด.
4. การบรรเทาอาการทางใจ
นอกจากอาการทางกายและวิธีแก้ไขดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยเกือบทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะมีอาการทางใจด้วย.
ผู้ป่วยจำนวนมาก หรือส่วนใหญ่ ย่อมกลัวความตายเช่นเดียวกับคนทั่วไป จนกว่าเขาเหล่านั้นจะได้รับความทุกข์ทรมานอย่างมากมายจากโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่ จากการรักษาและ/หรือจากการถูกทอดทิ้ง เขาเหล่านั้นจึงอยากที่จะตายมากกว่าที่ จะทนทุกข์ทรมานต่อไป.
คนเราเกือบทั้งหมดกลัวตาย เพราะกลัว ความทุกข์ทรมานก่อนตาย กลัวการสูญเสียความสุขสบายที่ตนกำลังมีอยู่ กลัวการสูญเสียสิ่งที่ตนรัก (ตนเอง/ผู้อื่น) กลัวการสูญเสียสิ่งที่สั่งสมไว้ และ/หรือกลัวสภาวะหลังตายที่ตนไม่รู้จัก ไม่เคยสัมผัส และไม่เคยมีใครสามารถอธิบายให้เข้าใจและยอมรับได้.
ความกลัวตายอาจจะทำให้ผู้ป่วยบางคนไม่อยากรู้ว่าตนเป็นโรคอะไร โดยเฉพาะถ้าเป็นโรคร้ายแรงหรือโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หาย ญาติผู้ป่วยจำนวนมากก็ไม่อยากจะให้ผู้ป่วยรู้ว่าเป็นโรคร้ายแรง เพราะกลัวจะบั่นทอนกำลังใจของผู้ป่วย.
ผู้ป่วยจำนวนมากจึงไม่ทราบความจริงเกี่ยวกับโรคร้ายแรงของตน ทำให้ไม่มีโอกาสเตรียมตัวเตรียมใจ และสะสางสิ่งคั่งค้างต่างๆ ให้หมดห่วงหมดกังวลก่อนถึงวาระสุดท้าย.
นอกจากนั้นผู้ป่วยที่ไม่ทราบความจริง ยังเกิดความกังวลและความสงสัยว่า ทำไมยิ่งรักษายิ่งทรุด ลง เกิดความโกรธเคืองหรือไม่พอใจแพทย์ พยาบาล และผู้ดูแลรักษาตน หรือโกรธเคืองญาติที่ไม่พาไปหาหมออื่น หรือโรงพยาบาลอื่นเพื่อให้อาการของตนดีขึ้น.
4.1 การบอกความจริง
การบรรเทาอาการทางใจของผู้ป่วย จึงควรเริ่มด้วยการบอกความจริงเกี่ยวกับการเจ็บป่วย โดยแพทย์ พยาบาล หรือญาติที่ผู้ป่วยเชื่อถือศรัทธา ซึ่งโดยทั่วไปก็คือผู้ที่ได้ดูแลผู้ป่วยด้วยความเมตตากรุณาและความเอาใจใส่มาโดยตลอด (แต่ในบางครั้ง ในภาวะฉุกเฉินที่ผู้ดูแลผู้ป่วยไม่เคยรู้จักผู้ป่วยมาก่อน การบอกความจริงก็อาจทำได้ในเวลาจำกัด ดังตัวอย่างที่ยกไว้ในหัวข้อที่ 1 การกล้าพูดความจริงเกี่ยวกับความเจ็บป่วย).
การบอกความจริงเกี่ยวกับความเจ็บป่วยแก่ผู้ป่วย อาจจะค่อยๆ บอกวันละเล็กวันละน้อย หรือจะบอกในครั้งเดียว ย่อมขึ้นอยู่กับกาลเทศะและความพร้อมของผู้ป่วยแต่ละคน โดยผู้บอกความจริงต้องบอกด้วยความเมตตากรุณา เห็นอกเห็นใจ อ่อนโยน และหวังให้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วย ไม่ยอมรับ โกรธเคือง โวยวาย หงุดหงิด หรือเกิดอารมณ์ร้ายใส่ ผู้บอกความจริงต้องอดทนอดกลั้นและให้อภัย ไม่แสดงอาการขุ่นเคืองหรือไม่พอใจ ความสงบและความเมตตากรุณาของเราจะทำให้ผู้ป่วยสงบลงเอง.
คำพูดที่อ่อนโยนและเต็มเปี่ยมด้วยความเมตตา การสัมผัสผู้ป่วยด้วยความนุ่มนวลและอบอุ่น การสบตาผู้ป่วยเพื่อแสดงความจริงใจและความเต็มใจที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ อากัปกิริยา (body language) ที่อ่อนน้อมและให้เกียรติผู้ป่วย จะทำให้ผู้ป่วยยอมรับความจริงเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของตนง่ายขึ้น แต่อย่าคาดหวังว่า การพูดเพียงครั้งเดียวจะทำให้ผู้ป่วยยอมรับความจริงเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของตนอย่างสมบูรณ์ได้.
เมื่อผู้ป่วยยอมรับความจริงเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของตนแล้ว จึงค่อยๆ บอกความจริงเกี่ยวกับกลไกแห่งความตายตามธรรมชาติ ซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดสามารถตายได้อย่างสงบและไม่ทุกข์ทรมานมากนัก มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราปล่อยให้กลไกแห่งความตายตามธรรมชาติเป็นไปอย่างสะดวกสบาย เราก็จะตายอย่างสงบและไม่ทุกข์ทรมานเกินอัตภาพของตัวเราเองเช่นกัน (ดูหัวข้อที่ 2 การทำ ให้ผู้ป่วยยอมรับกลไกแห่งความตายตามธรรมชาติ).
4.2 การเอาใจใส่ดูแลและไม่ทอดทิ้งผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่หมดหวังหรืออยู่ในระยะสุดท้าย (หรือแม้แต่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ) กลัวมากคือ การถูกทอดทิ้งโดยญาติมิตร ซึ่งอาจเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการต้องดูแลผู้ป่วยมาเป็นเวลานาน ต้องรู้สึกทนทุกข์ทรมานไปกับอาการต่างๆ ของผู้ป่วย และ/หรือต้องรับฟังการระบายความทุกข์ ความกังวล และอื่นๆ จากผู้ป่วยซ้ำๆ ซากๆ.
จึงควรมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแลผู้ป่วยถ้าทำได้ และควรให้คนที่รักและเมตตาผู้ป่วยอยู่แล้วเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย การให้คนแปลกหน้า (เช่น คนเฝ้าไข้จากศูนย์รับเฝ้าไข้ต่างๆ) ซึ่งไม่ได้รักและผูกพันกับผู้ป่วยมาดูแลผู้ป่วย หรือการนำผู้ป่วยไปทิ้งไว้ตามสถานพยาบาลต่างๆ รวมทั้งสถานพยาบาลระยะสุดท้าย (hospice) มักทำให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานทางใจ (และมักจะได้รับความทุกข์ทรมาน ทางกายด้วย)เพิ่มขึ้น เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้งด้วยบุคคลที่ตนรักและต้องการให้มาเอาใจใส่ดูแลตน.
อนึ่ง คนที่ไม่ได้รักและผูกพันกับผู้ป่วย มักไม่เอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ซึ่งก็เป็นธรรมดาสำหรับปุถุชนทั่วไป ผู้ป่วยจึงมักจะได้รับความทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นทั้งทางกายและทางใจ.
ญาติมิตรที่ผู้ป่วยรักและผูกพัน จึงควรผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเยี่ยมเยียนและดูแลผู้ป่วย อย่าให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง แม้ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว แต่การพูดคุยและสัมผัสกับผู้ป่วยอย่างอ่อนโยนและอบอุ่น ย่อมทำให้ "จิตวิญญาณ" ของผู้ป่วยเกิดความสุขสงบได้ (ไม่ควรคิดว่า ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวจะไม่สามารถรับรู้คำพูดและการสัมผัสใดๆ ได้).
การเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยโดยคนที่ผู้ป่วยรักและผูกพัน ในสถานที่ (บ้าน) ที่ผู้ป่วยรักและผูกพัน ในสิ่งแวดล้อม (ชุมชนและธรรมชาติ) ที่ผู้ป่วยชอบจะให้ความสุขความสงบแก่ผู้ป่วยมากกว่าการนำผู้ป่วยไปไว้ในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลอื่นๆ ซึ่งมักจะให้ความเจ็บปวดทั้งทางกายและทางใจแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถพูดหรือสื่อสารให้ญาติมิตรเข้าใจถึงสิ่งที่ตนถูกกระทำโดยผู้ดูแลในสถานพยาบาล เหล่านั้นได้.
4.3 การรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของผู้ป่วย
ผู้ป่วยแต่ละคนย่อมมีความคิดเห็น และความต้องการที่ต่างกัน ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงควรรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของผู้ป่วยอย่างสนใจและพยายามทำความเข้าใจกับความคิดเห็นและความต้องการเหล่านั้น แม้บางอย่างอาจจะผิดแปลกไปจากสิ่งที่ผู้ดูแลเชื่อหรือคิด หรือแม้แต่ผิดไปจากความจริงที่คนทั่วไปเชื่อในปัจจุบัน.
ผู้ป่วยอาจมีเรื่องค้างคาใจที่อยากสะสางให้เสร็จ ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยอาจจะพูดออกมาตรงๆ แต่บางครั้งผู้ป่วยอาจจะไม่กล้าพูดโดยเฉพาะเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องที่ผู้ป่วยอับอายหรือคิดว่าจะกระทบกระเทือนผู้อื่นหรือทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น ผู้ดูแลโดยเฉพาะญาติมิตรจึงต้องเป็นคนช่างสังเกต มีความใส่ใจและฉับไวในสิ่งที่ผู้ป่วยเผลอพูดขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ และหาทางไต่ถาม/เลียบเคียงถึงสิ่งที่ยังค้างคาใจผู้ป่วยอยู่ เช่น
ภารกิจการงานที่ยังคั่งค้างทำไม่เสร็จ ทรัพย์สินมรดกที่ยังไม่ได้จัดสรร ความโกรธแค้น/น้อยเนื้อต่ำใจในคนใกล้ชิดหรือลูกหลาน ความสำนึกผิดในสิ่งที่ตนเคยกระทำไว้ ความปรารถนาที่จะไปยังสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ความปรารถนาที่จะได้ทำบุญ/ไถ่บาป/สร้างพระ/รดน้ำมนต์ หรืออื่นๆ ความปรารถนา ที่จะได้พบคนบางคน อาจจะเป็นคนที่ตนรัก/ชอบพออยู่อย่างเงียบๆ หรือเป็นคนที่ตนต้องการขออโหสิกรรมต่อความผิดที่เคยได้ทำไว้ต่อผู้นั้น หรืออื่นๆ.
ผู้ดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะญาติมิตร ควรจะรับฟังด้วยความใส่ใจและช่วยจัดการในสิ่งที่ผู้ป่วยปรารถนาถ้าอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ เพื่อลดความห่วงกังวล ความขุ่นมัว/ขัดเคือง/ค้างคาใจในผู้ป่วยลง ผู้ป่วยจะได้สงบลงและปล่อยวางได้ดีขึ้น.
ถ้าสิ่งที่ผู้ป่วยปรารถนาไม่อยู่ในวิสัยที่ จะทำได้ เช่น การขอไปนมัสการสถานที่ประสูติ-ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาพที่จะเดินทางไกลได้ ก็อาจจะแก้ไขโดยนำรูปจำลองของสถานที่ดังกล่าวมาให้ผู้ป่วยสักการะ และทำบุญได้ตามความประสงค์ เป็นต้น.
การรับฟังความคิดเห็น (ซึ่งอาจจะซ้ำๆ ซากๆ หรือน่าเบื่อหน่าย) ของผู้ป่วยด้วยความอดทนและสนใจ การช่วยแก้ไขและสะสางปัญหาต่างๆ ที่ค้างคาใจของผู้ป่วยอยู่ เป็นการบรรเทาอาการทางใจของผู้ป่วยได้ตรงจุด (ตรงสาเหตุ) มากที่สุด.
แต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถระบายสิ่งที่ตนกลัดกลุ้ม/ค้างคาใจออกมาได้ แม้จะเปลี่ยนคนที่ผู้ป่วยรักและไว้ใจมาพูดคุยด้วยคนแล้วคนเล่า และยังมีอาการครุ่นคิด ซึมเศร้า เครียด กังวล หรืออื่นๆ ก็อาจใช้ยาแก้เครียดและ/หรือยาแก้อาการซึมเศร้าเข้าช่วยด้วย จะทำให้ผู้ป่วยสบายใจมากขึ้นได้.
ถ้าผู้ป่วยเขียนได้หรือชอบเขียน แต่ไม่กล้าพูดด้วยปากของตนเอง ก็ควรให้ผู้ป่วยเขียนถึงสิ่งที่ตนต้องการหรืออยากทำหรืออยากให้คนอื่นช่วยทำให้ หรืออื่นๆ ก็อาจจะช่วยลดความอึดอัดใจและความเครียดลงได้ เมื่อมีทางให้ผู้ป่วยได้ระบายออก.สำหรับผู้ป่วยที่เป็นคนไม่ชอบพูด (ไม่ช่างพูด) ผู้ดูแลอาจจะต้องเป็นผู้เริ่มชวนคุยถึงเรื่อง ต่างๆ ที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วย ปริปากแสดงความคิดเห็นและเล่าถึงความปรารถนาของตนได้ เป็นต้น.
สันต์ หัตถีรัตน์ พ.บ.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 17,253 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้