การล้างจมูก เป็นการชะล้างเอาน้ำมูก หนอง สิ่งสกปรกในจมูก ซึ่งเกิดจากการอักเสบในโพรงจมูกและไซนัส หรือคราบสะเก็ดแข็งของเยื่อบุจมูกหลังการผ่าตัดจมูกและไซนัส หรือหลังการฉายแสงออก ด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ เพื่อให้โพรงจมูกและบริเวณรูเปิดของไซนัสโล่ง ทำให้บรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ทั้งที่ไหลออกมาข้างนอก และไหลลงคอ. การล้างจมูกจึงมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากการติดเชื้อ หรือ "หวัด", โรคไซนัสอักเสบ, โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้, โรคจมูกอักเสบเหี่ยวฝ่อ หรือผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจมูกและ ไซนัส. นอกจากนั้น การล้างจมูกก่อนการพ่นยาในจมูก จะทำให้ยาสัมผัสกับเยื่อบุจมูกได้มากขึ้น ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น การล้างจมูกมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูกเสมอ โดยให้มีอุณหภูมิพอเหมาะกับเยื่อบุจมูกการใช้น้ำเกลือที่ไม่ได้อุ่นล้างจมูก อาจทำให้เกิดการคัดจมูกหลังการล้างได้. การอุ่นน้ำเกลือสามารถทำได้โดยต้มน้ำประปาให้เดือดในหม้อต้ม ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่สามารถใส่ขวดน้ำเกลือเพื่อลงไปอุ่นได้ หลังจากนั้นปิดไฟ แล้วนำขวดน้ำเกลือที่แพทย์จ่ายให้ใส่ลงไปแช่ในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที (ขวดน้ำเกลือที่ซื้อมาจากโรงพยาบาล สามารถทนความร้อนได้) แล้วนำขวดน้ำเกลือนั้น ขึ้นมาเทใส่ภาชนะปากกว้าง เช่น ชาม ในขนาดพอประมาณที่จะทำการล้างในเวลานั้นๆ. ในกรณีที่อยากทำน้ำเกลือไว้ล้างเอง อาจทำได้โดยต้มน้ำประปาในขนาด 1 ขวด (ขนาด 750 มล.) ในหม้อต้มให้เดือด หลังจากนั้นใส่เกลือแกง หรือเกลือป่นที่ใช้ปรุงอาหารลงไป 1 ช้อนชา แล้วคนให้เข้ากัน หลังจากนั้นปิดไฟ และตั้งทิ้งไว้ให้อุ่น (น้ำเกลือที่เตรียมเอง ควรใช้ภายใน 1 วันเท่านั้น ที่เหลือควรทิ้งไป) ก่อนนำน้ำเกลือที่อุ่นแล้วนั้นมาล้างจมูก ควรทดสอบกับหลังมือก่อน น้ำเกลือควรจะอุ่นในขนาดที่หลังมือทนได้.
2. ควรล้างจมูกบนโต๊ะ โดยหาภาชนะมารองรับน้ำเกลือหลังล้างที่จะออกมาทางจมูก และปาก เช่น ชาม หรือกะละมัง หรือล้างในอ่างล้างหน้า.
3. ใช้ลูกยางแดง หรือกระบอกฉีดยาที่แพทย์ จ่ายให้ ดูดน้ำเกลือที่อุ่นได้ที่แล้วในขนาดน้อยๆ ก่อน เช่น ประมาณ 10-15 มล. ในผู้ใหญ่ หรือประมาณ 5 มล. ในเด็ก.
4. ผู้ที่จะล้างจมูกควรนั่งโน้มตัวไปข้างหน้า และก้มหน้าเล็กน้อย อยู่เหนือภาชนะรองรับน้ำเกลือหลังจากที่ล้างแล้ว ซึ่งวางอยู่บนโต๊ะ หรืออยู่เหนืออ่าง ล้างหน้า ควรเริ่มล้างจมูกข้างที่โล่งกว่า หรือคัดน้อยกว่าก่อน.
5. ควรนำปลายของลูกยางแดง หรือปลายกระบอกฉีดยา ใส่เข้าไปในจมูกข้างที่จะล้างเล็กน้อย อ้าปากไว้ แล้วหายใจเข้าเต็มที่ และกลั้นหายใจไว้.
6. บีบลูกยางแดง หรือดันกระบอกสูบของกระบอกฉีดยาเบาๆ ให้น้ำเกลือไหลเข้าไปในจมูกช้าๆ หลังจากที่น้ำเกลือส่วนใหญ่ไหลออกมาจากจมูก และ/หรือปากแล้ว ให้หายใจตามปกติได้. ข้อสำคัญคือ ระหว่างที่ดันน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูก จะต้องกลั้นหายใจไว้ มิฉะนั้นอาจหายใจเอาน้ำเกลือลงไปยังกล่องเสียงและหลอดลมทำให้เกิดการสำลักได้.
7. หลังจากที่คุ้นเคยกับการล้างจมูกและรู้จังหวะของการหายใจแล้ว จึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณของน้ำเกลือ ในการล้างแต่ละครั้งขึ้นเรื่อยๆ การล้างจมูกให้ได้ประสิทธิภาพในการชำระล้างโพรงจมูกให้สะอาดนั้น ควรจะดันน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกทุกทิศทาง เช่น ทางขวา ซ้าย ด้านบนและล่างของโพรงจมูก เพื่อชะล้างน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกในโพรงจมูกออกได้ทั่วทั้งโพรงจมูก และออกมากที่สุดเท่าที่จะมากได้. หลังจากฉีดล้างโพรงจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ควรจะมีน้ำเกลือไหลออกจากโพรงจมูกอีกข้าง ถึงจะเป็นการล้างที่ถูกต้อง คือ มีปริมาณของน้ำเกลือที่ใช้ล้างในแต่ละครั้ง และมีความแรงของน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปเพียงพอ ควรล้างโพรงจมูกสลับข้างไปเรื่อยๆ เช่น หลังล้างข้างซ้าย ก็ควรย้ายไปล้างข้างขวา แล้วสลับกันไปมา.
8. การล้างจมูกแต่ละครั้งนั้น ควรล้างจนกว่า จะรู้สึกว่าจมูกโล่ง ไม่มีน้ำมูกหรือสิ่งสกปรกอะไรคั่งค้างในจมูก และควรล้างจนกว่าน้ำเกลือที่ออกมาจากจมูกและ/หรือปาก จะใสเหมือนกับน้ำเกลือที่ฉีดเข้าไปในโพรงจมูก จึงจะหยุดการล้างได้.
9. หลังจากล้างเสร็จ สามารถสั่งน้ำมูก หรือ น้ำเกลือที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูก และบ้วนน้ำเกลือและน้ำมูกส่วนที่ไหลลงคอรวมทั้งเสมหะในคอออกมาได้. การล้างจมูกอย่างถูกต้องบ่อยๆ จะไม่เกิดโทษ หรืออันตรายต่อจมูก หรือร่างกาย ในทางตรงกันข้าม จะมีประโยชน์โดยช่วยล้างน้ำมูก สิ่งสกปรกที่คั่งค้างอยู่ในโพรงจมูกออก. ดังนั้น ในช่วงวันหยุด ถ้าล้างเพิ่มได้ ก็ควรจะทำ ควรล้างจมูกก่อนการอบจมูกด้วยไอน้ำเดือด หรือการพ่นยาในจมูกเสมอ. แนะนำให้ล้างจมูกก่อนเวลารับประทานอาหาร (ขณะท้องว่าง) หรือหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลัก.
10. หลังล้างจมูกเสร็จทุกครั้ง ควรล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำยาล้างจาน แล้ว ล้างด้วยน้ำประปาจนสะอาด (ในกรณีที่ใช้ลูกยางแดงหรือกระบอกฉีดยาที่ทำจากแก้ว หลังจากล้างแล้วควร นำมาต้มกับน้ำเดือด ประมาณ 5 นาที) แล้วผึ่งให้แห้ง.
ปารยะ อาศนะเสน พ.บ., ผู้ช่วยศาสตาจารย์ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 7,564 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้