Holman RR, et al. 10-year follow-up of intensive glucose control in type 2 diabetes. NEJM 2008; 359 :1577-89.
UKPDS เป็นการศึกษาการดูแลรักษาผู้ป่วย เบาหวานระยะยาว เมื่อ ปี พ.ศ. 2541 มีรายงานผลระยะแรกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่คุมน้ำตาลในเลือดอย่างเข้มงวด (HbA1C < 6.5) มีอัตราเกิดภาวะแทรกซ้อน (โดยเฉพาะ microvascular diseases) ต่ำกว่ากลุ่มที่มีไม่เข้มงวด อย่างชัดเจนใน 2 ปีแรกของการรักษา. การศึกษานี้ได้ติดตามในระยะ 10 ปีต่อมา จึงมีคำถามว่ายังมีผลดีในระยะยาว 10 ปีหรือไม่.
ผู้ป่วยจำนวน 4,209 คน ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มแบบสุ่มเป็นกลุ่มที่รักษาแบบจำกัดอาหาร และกลุ่ม ที่ใช้ยาลดน้ำตาล (ยา sulfonylurea หรือ insulin หรือ metformin). หลังการศึกษา ผู้ป่วยจำนวน 3277 ราย ได้รับการติดตามระยะยาวเป็นประจำทุกปี นาน 5 ปี โดยช่วงติดตามไม่ได้มีการบังคับให้ได้รับการรักษาในแต่ละกลุ่มแบบเดิม. ผู้ป่วยที่ไม่มาตามนัดมีการติดต่อด้วยจดหมายทุกปี และระหว่างปีที่ 6 ถึง 10 มีการประเมินผลผู้ป่วยด้วยแบบสอบถาม. การศึกษานี้ติดตามผลผู้ป่วยในช่วงวง 10 ปี โดยดูตัว ชี้วัดผลการเกิดโรคแทรกซ้อนเบาหวานในผู้ป่วย เหล่านี้เปรียบเทียบระหว่าง 2 กลุ่ม.
ผลการศึกษา หลังการรักษาระดับ HbA1C ของกลุ่มได้ยาต่ำกว่าควบคุมอย่างชัดเจนในปีแรก แต่หลังจากปีที่ 2 เป็นต้นไป ระดับ HbA1C เริ่ม ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่ม. การติดตามในช่วง 10 ปีพบว่า กลุ่ม sulfonyl urea ยังคงมีความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนน้อยกว่ากลุ่มควบคุม ร้อยละ 9 (relative risk reduction, RRR) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีการเกิดโรคทางหลอดเลือดเล็ก (microvascular disease) น้อยกว่าร้อยละ 24 และการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายน้อยกว่าร้อยละ 15 และการตายด้วยสาเหตุใดๆ ร้อยละ 13. สำหรับกลุ่ม metformin นั้นมีอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนน้อยกว่ากลุ่มควบคุม เช่นกัน (น้อยกว่าร้อยละ 21) กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (น้อยกว่าร้อยละ 33) การตายจากสาเหตุใดๆ ร้อยละ 27.
สรุปผล แม้ว่ากลุ่มที่ควบคุมน้ำตาลอย่างเข้มข้นในระยะแรกภายหลังการศึกษาในปีที่ 2 จนถึงปีที่ 10 นั้น ไม่มีระดับน้ำตาลแตกต่างจากกลุ่มควบคุม แต่ก็พบว่ายังมีการเกิดโรคแทรกซ้อนของเบาหวานน้อยกว่ากลุ่มควบคุมในระยะยาว.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D.
รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 1 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้