การแพทย์ทางเลือกในเวชปฏิบัติโรคผิวหนัง : ตอนจบ (Alternative Medicine in Dermatological Practice)
ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงโรคผิวหนังที่มีการนำสมุนไพร และการแพทย์ทางเลือกมาใช้รักษา ในตอนนี้จะกล่าวถึงสมุนไพรต่างประเทศที่ใช้ในรูปยาทา, สมุนไพรไทยที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคผิวหนัง, งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้สมุนไพรไทยในการรักษาโรคผิวหนัง และข้อแทรกซ้อนจากการใช้สมุนไพร.
สมุนไพรต่างประเทศที่ใช้ในรูปยาทารักษาโรคผิวหนัง เช่น
Arnica ที่มาจากดอกแห้งของต้น Arnica montana ห้ามใช้ในรูปยากินโดยเด็ดขาด เพราะแม้จะกินปริมาณน้อยก็จะก่ออันตรายต่อร่างกาย. ส่วนในรูปยาทาปลอดภัย นำมาใช้ทารักษาอาการปวดข้อปวดกล้ามเนื้อ, ฟกช้ำ, แมลงต่อย, เหงือกบวม, สิว และริดสีดวงทวารหนัก และยังใช้ทารักษาโรครังแคของผิวหน้า (เซ็บเดิร์ม, seborrheic dermatitis) และโรคสะเก็ดเงิน.
German chamomile ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Matricaria recutita (ภาพที่ 1) เป็นพืชตระกูลต้นเดซี (daisy family) ใช้กันมาหลายศตวรรษ ทั้งในรูปยากิน ยาทา เช่น ใช้รักษาอาการของโรคระบบทางเดินอาหาร, ช่องปากและผิวหนังอักเสบ.
สมุนไพรที่มีส่วนประกอบของน้ำเมือก จากต้นไม้ (mucilage containing herbs) ใช้ทาลดอาการระคายเคืองผิว เมื่อเมือกถูกน้ำจะขยายเป็นสารนุ่มเหนียว จึงช่วยรักษาอาการผิวแห้งและผิวอักเสบเล็กน้อย เมื่อทาทิ้งไว้จะแห้ง จึงใช้เป็นพลาสเตอร์ปิดแผลที่เป็นเล็กน้อยได้. สมุนไพร ที่มีสารเมือก เช่น ป่าน (flax), fenugreek (ต้นไม้ใช้ใบเป็นสมุนไพรใช้เม็ดเป็นเครื่องเทศ), English plantain, heartsease (ดอกไม้ป่าชนิดหนึ่ง), marshmallow (พืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ชื่อถูกนำมาใช้เป็น ชื่อขนมหวานเพราะแรกเริ่มใช้เมือกจากต้นไม้ชนิดนี้มาทำ), mullein (สมุนไพรที่ส่วนใหญ่นำมารักษาอาการเจ็บคอ, ไอ, โรคปอด) และ slippery elm (ต้นไม้ยืนต้นสูง 10-20 เมตร).
Oats ใช้ข้าวโอ๊ต (oats) ในรูปยาทามานานหลายร้อยปี เพื่อลดอาการคันและกักเก็บความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ในทางการแพทย์ผิวหนังใช้เวลาอาบน้ำ เรียกว่า colloidal oatmeal.
Pansy Flower เป็นพืชดอกสีม่วง (ภาพที่ 2) ในเยอรมนีใช้ทารักษาโรครังแคของผิวหน้า โดยเฉพาะในทารก.
Jewelweed ใช้ jewelweed (Impatiens biflora, พืชดอกคล้ายต้อยติ่ง) ใช้รักษาอาการผิวหนังอักเสบจากการแพ้เถาวัลย์พิษ (poison ivy contact dermatitis).
โรคผิวหนังที่มีการนำสมุนไพรของไทยมาใช้รักษา
มีหลายชนิด (บางสูตรเป็นตำรับยาพื้นบ้านที่บอกต่อกันมา) อาจยังไม่ได้มีการพิสูจน์ผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เช่น
โรคสิว มีหลายสูตร เช่น ใช้น้ำมะนาวผสมน้ำเท่าตัว, ดินสอพองผสมน้ำมะนาว, น้ำมะนาวผสมไข่ขาว, ใช้เปลือกลูกมะตูมสุกฝนกับน้ำมะกรูด, ว่านหางจระเข้.
โรคฝ้า มีสมุนไพรไทยหลายตัวมีแนวโน้มจะมีการสกัดสารมาใช้รักษาฝ้าได้ เช่น ปอสา (paper mulberry), bearberry, โกฐสอจีน (Angelica dahurica), Sophora flavescens, ชะเอมเทศ (licorice), พืชตระกูลหม่อน (mulberry) และแก่นมะหาด ซึ่งต้องการการศึกษาวิจัยต่อไป.
หน้ามัน ใช้น้ำมะนาวผสมน้ำ, ว่านหางจระเข้.
หน้าเกรียมแดด ก่อนออกไปตากแดดให้เอาน้ำเมือกว่านหางจระเข้ทาหน้าก่อน และหลังจากตากแดดถ้ารู้สึกว่าใบหน้าร้อน ให้เอาน้ำเมือกว่านหางจระเข้ทาจะรู้สึกเย็น.
บำรุงผิวหน้า ทาน้ำเมือกว่านหางจระเข้ทุกวันหลังจากตื่นนอนและก่อนนอน สำหรับผู้ที่มีใบหน้าแห้งให้ผสมน้ำมะกอก หรือครีมทาหน้ากับว่านหางจระเข้ก่อน.
ผมร่วง, ผมหงอกก่อนวัย, บำรุงผม ใช้น้ำมันมะกอก, มะกรูด, ว่านหางจระเข้.
ผมร่วงเป็นหย่อมๆ อาจเกิดจากเชื้อราให้ใช้ใบทองพันชั่งตำ จนละเอียดผสมน้ำพอเหนียว, ใช้น้ำมันละหุ่งและกระเทียม, มะกรูดแก่.
รังแคคัน บวบอ่อน, น้ำส้มสายชู.
ผมแตกปลาย ตะไคร้สด, น้ำมันมะกอก.
ยาสระผม สมุนไพรที่ใช้แทนแชมพู เป็น สมุนไพรที่มีสารพวกซาโปนิน (saponin) ซึ่งเป็นสารที่เมื่อตีกับน้ำแล้วเกิดฟองเหมือนฟองสบู่ และชะล้างสิ่งสกปรกออกจากผมได้ ที่นิยมใช้กันในสมัยก่อน คือ ฝักส้มป่อยแก่ และมะกรูด.
เหา ใช้น้ำส้มสายชู, มะกรูด, ใบ เมล็ด น้อยหน่า, ใบสะเดาแก่ๆ, น้ำในลูกบวบขม, ผลมะตูมสุกมาผ่า เอายางจากผลมะตูมสุกทาผม แล้วหวีให้ทั่ว ปล่อยไว้ให้แห้งเหาจะตายหมด แล้วล้างน้ำ ต่อจากนั้นจึงหวีออก.
สมุนไพรไทยที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคผิวหนัง กลุ่มที่มีการศึกษาวิจัยบ้างแล้ว เช่น
ขมิ้นชัน ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma longa Linn. Zingiberaceae ชื่อสามัญคือ tumeric ส่วนที่ใช้เป็นยา คือ เหง้าแก่จัด (ภาพที่ 3) ใช้สำหรับรักษาฝี, แผลพุพอง. การที่ขมิ้นชันสามารถรักษาฝี, แผลพุพองได้ เนื่องจากในขมิ้นชันมีน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และมีสารสีเหลืองชื่อ เคอร์คิวมิน (curcumin) มีฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรีย ใช้ลดอาการแพ้ อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย. คนแถบเอเชียใต้และแถบเอเชียตะวันออกไกลนิยมใช้ขมิ้นเป็นเครื่องสำอาง ใช้ขมิ้นทาผิวหน้าทำให้ผิวนุ่มนวล คนมาเลเซียและคนไทยสมัยก่อนใช้ขมิ้นเวลาอาบน้ำ ทำให้ผิวผุดผ่องยิ่งขึ้น. วิธีการอาบน้ำด้วยขมิ้นนั้นจะทาขมิ้นหมักไว้ที่ผิวสักพัก แล้วจึงขัดออกด้วยส้มมะขามเปียก นอกจากทำให้ผิวหนังนุ่มนวลแล้ว ขมิ้นยังมีสรรพคุณในการป้องกันการงอกของขน ผู้หญิงอินเดียจึงใช้ขมิ้นทาผิวหนังเพื่อป้องกันไม่ให้ขนงอก คนพม่าใช้ขมิ้นผสมสมุนไพรที่ชื่อทานาคา (thanakha) ทาผิวทำให้เนื้อผิวละเอียด องค์การเภสัชกรรมได้ใช้ ขมิ้นชันมาผลิตครีมบำรุงผิวหน้า ชื่อครีม GPO Curmin.
มังคุด ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Garcinia mangostana Linn. มีการใช้สารสกัดจากเปลือกมังคุดซึ่งมีสารแทนนิน (tannin) ที่มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว มาใช้รักษาสิว, ใช้เปลือกผลในการรักษาแผล ยังพบว่าสารบางตัวในเปลือกมังคุดช่วยกระตุนให้เซลล phagocyte ในร่างกายมนุษย์ที่ทำหน้าที่ทำลายเชื้อแบคทีเรียทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ใช้สบู่เปลือกมังคุดในผู้ที่มีกลิ่นตัว, ผิวมันมาก, เป็นตุ่มคัน และมีสิว.
ผักบุ้งทะเล ใบมีน้ำมันหอมระเหย (essential oil) มีกรดอินทรีย์ และมีสารอื่นๆ มีฤทธิ์แก้อาการแพ้ จากการทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต่อต้านฮิสตามีนและยับยั้งพิษของแมงกะพรุนไฟได้ และใช้รักษาอาการแพ้, อักเสบ และแมลงสัตว์กัดต่อย.
เสลดพังพอนตัวเมีย ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau. ซึ่งบางคนอาจรู้จักกันในชื่อเรียกต่างๆ กันไปตามท้องถิ่น เช่น พญาปล้องคำ (ลำปาง), พญาปล้องดำ, พญาปล้องทอง (ภาคกลาง), พญายอ (ทั่วไป). สารออกฤทธิ์คือ เฟลโวนอยด์ (flavonoid) สรรพคุณคือ ใช้บรรเทาอาการอักเสบเฉพาะที่, ถอนพิษแมลงสัตว์ กัด ต่อย, รักษาโรคเริม, งูสวัด การที่ใบเสลดพังพอนตัวเมีย สามารถบรรเทาโรคเริม, งูสวัดได้ เพราะสารสกัดของใบเสลดพังพอนตัวเมียมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส Herpes simplex ซึ่งทำให้เกิดโรคเริมได้ และออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส Varicella zoster ซึ่งทำให้เกิดโรคงูสวัด และโรคอีสุกอีใสได้ด้วย ใช้บรรเทาอาการแพ้, อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย. นอกจากนี้แล้วเสลดพังพอนยังสามารถใช้ในรูป " คาลาไมน์เสลดพังพอน " ใช้แก้คัน, ใช้ในรูปของยาหม่องเพื่อแก้ฟกช้ำดำเขียว และในรูปแบบของกลีเซอรีน เพื่อใช้กับแผลในปาก.
เสลดพังพอนตัวผู้ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Barleria lupulina Lindi. ชื่ออื่นคือ ชองระอา, พิมเสนต้น สารสำคัญคือ iridoid glycosides สรรพคุณใช้บรรเทาอาการโรคผิวหนังจำพวกเริม และงูสวัด บรรเทาอาการแก้แพ้อักเสบ ใช้แก้พิษแมลงสัตว์กัด ต่อย, แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน.
ฟ้าทะลายโจร ชื่อภาษาอังกฤษคือ King of bitterness ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Andrographis paniculata Wall.ex Ness. ชื่ออื่นคือ ซิปังกี (จีน), น้ำลายพังพอน (ไทย). ส่วนที่ใช้คือ ทั้งต้นและใบ. สารสำคัญคือ สารจำพวก diterpene lactones หลายชนิด ใช้ใบรักษาแผลน้ำร้อนลวก, แผลไฟไหม้ โดยนำมาบดผสมกับน้ำมันพืช ใช้ทาบริเวณที่เป็นแผล.
ไพล ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Zingiber cassumunar Roxb. ชื่อท้องถิ่น เช่น ปูลอย ปูเลย (ภาคเหนือ) ว่านไฟ (ภาคกลาง) มิ้นสะล่าง (เงี้ยว- แม่ฮ่องสอน). ส่วนที่ใช้เป็นยาคือ เหง้าแก่จัด ใช้แก้ฟกช้ำ, บวม, เคล็ด, ยอก, ปวดเมื่อย, ขับลม ไพลยับยั้งการอักเสบด้วยกระบวนการเดียวกับยาแก้ปวดลดอาการอักเสบแผนปัจจุบัน นอกจากนี้น้ำคั้นไพลยังแสดงฤทธิ์ยาชาเฉพาะที่.
บอระเพ็ด ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Tinospora crispa (L.) Miers ex Hook.f.& Thomson ส่วนที่ใช้คือ เถา, ต้น. สารสำคัญคือ สารกลุ่ม terpenoid และสารกลุ่ม alkaloids. สรรพคุณ ใช้ใบตำให้ละเอียดพอกฝี แก้ฟกช้ำ ปวดแสบ ปวดร้อน.
แก่นมะหาด ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Artocarpus lakoocha Roxb. กิตติศักดิ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ และคณะ แห่งคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) พบว่าสารธรรมชาติในกลุ่มสติลบีน (stilbene) หลายชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส และพบว่า สารออกซิเรสเวอราทรอล (oxyresveratrol) ที่สกัดจากแก่นของมะหาด ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่สามารถพบได้โดยทั่วไปในประเทศไทย ยับยั้งการเกิดของเอนไซม์ไทโรซิเนสได้มากถึง 10 เท่า จากการทดลองในสัตว์และมนุษย์ในระยะสั้นพบว่า สามารถทำให้ผิวขาวได้มากขึ้นและเร็วกว่าสารสกัดจากชะเอมที่ใช้ในเครื่องสำอางโดยทั่วไป และไม่เกิดผลกระทบต่อผิวหนัง นอกจากนั้นยังพบว่าสารสกัดจากแก่นมะหาดมีฤทธิ์ต้านไวรัสเริม พบว่าสารออกฤทธิ์คือ oxyresveratrol. นอกจากนั้น ศูนย์ผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ศึกษาการใช้สารสกัด 5% trans-2,4,3,5- tetrahydroxystilbene จากสมุนไพรแก่นมะหาดในการรักษาฝ้า ได้ผลดีไม่แตกต่างจากยาทา 2% Hydroquinone และพบ ผลข้างเคียงเล็กน้อย.
นอกจากนั้น ยังมีการใช้เหง้าข่าแก่รักษากลาก, พบว่าใบชุมเห็ดเทศมีสารพวก anthraquinones ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก, ใบพลูมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ปลายประสาทชาทำให้หายคัน ใช้ในโรคลมพิษ, บัวบก (ภาพที่ 4)
มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ asiatic acid, madecassic acid และ asiaticoside ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้แผลหายเร็ว แผลเป็น มีขนาดเล็ก ลดการอักเสบ และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิด หนอง ใช้รักษาแผลสด แผลหลังการผ่าตัด แผลกดทับ แผลจากอุบัติเหตุ และแผลติดเชื้อ.
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้สมุนไพรไทยในการรักษาโรคผิวหนัง
มีงานวิจัยการใช้สมุนไพรหลายชนิด ที่พิสูจน์ โดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ว่าได้ผลดี ในการรักษาและป้องกันโรคผิวหนัง ได้แก่ สารสกัดจากพญายอ (เสลดพังพอน) ใช้รักษาโรคเริมและงูสวัด, สารสกัดกระเทียมใช้รักษาโรคกลากและเกลื้อน,สารสกัดจากน้อยหน่าใช้รักษาเหา, สารสกัดจาก ผักบุ้งทะเลใช้รักษาพิษจากแมงกะพรุน, สารสกัดจากว่านหางจระเข้ใช้รักษาแผลไฟไหม้, สารสกัดจากตะไคร้หอมใช้ป้องกันยุง. อย่างไรก็ตาม บางครั้งสมุนไพรไทยที่เชื่อว่ารักษาโรคผิวหนังบางอย่างได้แต่เมื่อพิสูจน์ตามหลักเกณฑ์ทางการวิจัยกลับไม่ได้ผล เช่น เบ็ญจ์สชีว์ ปัทมดิลก และคณะ แห่งโรงพยาบาลศิริราช ศึกษาสาร Allium cepa (หอมใหญ่) พบว่าไม่มีประโยชน์ที่ชัดเจนในการรักษาและป้องกันการกลับเป็นซ้ำของแผลเป็นนูนแข็ง การศึกษานี้ระยะเวลารักษาและระยะเวลาติดตามผลการรักษานานกว่าการศึกษาที่เคยมีมา. วิกันดา ลิมปิอังคนันต์ และคณะ แห่งโรงพยาบาลศิริราช ศึกษาการใช้ครีมซึ่งมีส่วนประกอบของสาร Allium cepa และ mucopolysaccharides polysulphate เพื่อการรักษาแผลเป็นนูนแข็ง สรุปผลว่าสารที่สกัดจากหัวหอมและสาร mucopolysaccharide ไม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาฉีด สตีรอยด์ในการรักษาแผลเป็นนูนแข็งในแง่ความนูน, ความแดง และความยืดหยุ่น. สมยศ จารุวิจิตรรัตนา และคณะ จากโรงพยาบาลรามาธิบดี, พระมงกุฎเกล้า และจุฬาลงกรณ์ ศึกษาการใช้แป๊ะตำปึง (Gynura procumbens)
(ภาพที่ 5) ที่มีสรรพคุณที่ระบุในตำรายาไทยเป็นยาใช้ภายนอก บรรเทาอาการอักเสบ ปวด บวม ผื่นคัน แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย. พืชในสกุลเดียวกันกับแป๊ะตำปึง คือ ว่านมหากาฬ (G. psudochina var. hispida) ว่ามีสรรพคุณบรรเทาอาการอักเสบเนื่องจากเริมและงูสวัดหรือไม่. ผลการวิจัยสรุปว่า ในการทดลองครั้งนี้ยาเจลแป๊ะตำปึงไม่ได้ทำให้โรคเริมที่ปากชนิดเป็นซ้ำหายเร็วขึ้น.
ข้อแทรกซ้อนจากการใช้สมุนไพร (Adverse effects of herbal therapy)
ผู้ป่วยหลายคนเข้าใจผิดว่า เนื่องจากสมุนไพร มาจากธรรมชาติจึงไม่มีอันตราย แพทย์เองบางครั้ง ก็ไม่ได้สอบถามว่าผู้ป่วยใช้ยาสมุนไพรหรือไม่ และ ผู้ป่วยก็อาจไม่บอกแพทย์ว่ารักษาด้วยสมุนไพรอยู่ด้วย เพราะเกรงว่าแพทย์จะไม่เห็นด้วย ที่จริงแล้ว สมุนไพรสามารถก่อภาวะแทรกซ้อนได้. ในทางผิวหนังพบว่าสมุนไพรก่อผลแทรกซ้อนได้หลายอย่าง ที่พบบ่อยที่สุดคือ ผื่นผิวหนังแพ้สัมผัส (contact dermatitis) จากกระเทียม, chamomile tea และ capsicum พบว่าสมุนไพรก่อผลแทรกซ้อนทางผิวหนังที่รุนแรงได้ เช่น ทำให้ผิวเห่อแดงทั้งตัว (erythroderma) หรือ ทำให้เกิดตุ่มน้ำและแตกเป็นแผลตามผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ เช่น ในปาก และตา จนถึงขั้นทำให้ตาบอด ได้ เรียกว่า Stevens-Johnson syndrome.
สมุนไพรอาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะทั่วร่างกาย เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง เคยมีรายงานการปนเปื้อน ของสมุนไพรด้วย podophyllin ทำให้เกิด peripheral motor และ sensory neuropathy, ระบบทางเดินอาหารอักเสบ และอวัยวะหลายระบบล้มเหลว สมุนไพรอาจเป็นอันตรายต่อระบบการไหลเวียนของเลือด เคยมีรายงานการตายจากการใช้สมุนไพรจีนเพื่อปลุกกำหนัด ซึ่งฉลากยาเป็นภาษาจีนบ่งให้ใช้โดยการทาแต่ผู้บริโภคอ่านภาษาจีนไม่ออก จึงใช้กิน จึงเสียชีวิตจากการได้รับสารพิษคล้าย digoxin ที่มาจากหนังคางคกซึ่งเป็นส่วนผสมของสมุนไพรตัวนี้. นอกจากนั้น ก็มีรายงานการเสียชีวิตจากการกินสาร Ephedra ที่มีสมุนไพรเช่น mahuang ประกอบด้วย alkaloid ทำให้ความดันเลือดสูง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและตาย นักกีฬาเบสบอลอเมริกา ชื่อ Steve Bechler เสียชีวิตหลังใช้สารนี้ สมุนไพรยังมีพิษต่อตับ ทำให้ตับโต (hepatomegaly), ตับแข็ง (cirrhosis) และเนื้อตับตาย (hepatocellular necrosis) ยังมีรายงานว่าก่อให้เกิด Budd-Chiari syndrome ได้. ในใบขี้เหล็กมี barakol ซึ่งเป็นพิษต่อตับ. ผลเสียต่อไต เช่น รากชะเอมทำให้ไตสูญเสียโพแทสเซียมปริมาณมาก. พิษต่อตา เช่น มะเกลือที่เคยใช้เป็นสมุนไพรถ่ายพยาธิ มีสารอันตรายทำให้ตาบอดได้ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงไม่กำหนดให้มะเกลือเป็นสมุนไพรใช้ถ่ายพยาธิในงานสาธารณสุขในครัวเรือนอีกต่อไป และแนะนำว่าหากมีปัญหาเรื่องพยาธิควรใช้ยาถ่ายพยาธิที่มีการรับรองจากทางการแพทย์จะปลอดภัยที่สุด. ผลต่อเลือด เช่นพบว่า แป๊ะก๊วย (Ginkgo biloba) ทำให้เลือดหยุดไหลได้ช้าจนอาจก่ออาการเลือดออกในสมอง. นอกจากนั้น ยังพบว่า echinacea และ chamomile tea ก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง (anaphylaxis). พบว่าสมุนไพรบางตัวมีการแอบเจือปนหรือการปะปนของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท สารหนูในระดับความเข้มข้นสูง สมุนไพร บางอย่างมีการลักลอบผสมสารที่ไม่ได้ระบุไว้ลงไป ตัวอย่างสารที่นิยมลักลอบผสมในสมุนไพร เช่น caffeine, acetaminophen, indomethacin, hydrochlorothiazide, ephedrine, chlorpheniramine, methyltestosterone, prednisolone และ phenacetin การลอบเจือปน mefenamic acid และ cadmium ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน การลอบเจือปน dipyrone และ phenylbutazone ทำให้เกิด agranulocytosis.
องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริการายงานว่าในช่วงรอบ 5 ปี มีรายงานผลแทรกซ้อนของการใช้สมุนไพร 2,621 ราย เสียชีวิต 184 ราย ซึ่งคาดว่าตัวเลขนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง.
สรุป
มีแนวโน้มการนำการแพทย์ทางเลือกและสมุนไพรมาใช้ในการรักษามากขึ้น ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย. ในไทยโรงพยาบาลต้นแบบที่มีการดำเนินงานด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร คือโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยโรงพยาบาล มีกลยุทธ์ในการดำเนินงานใน 3 กลยุทธ์หลัก คือ การอนุรักษ์และรวบรวม โดยเริ่มเก็บข้อมูลการใช้สมุนไพรจากภูมิปัญญาชาวบ้าน 4 ภาค เมื่อพ.ศ. 2526
การนำมาใช้จริงในสังคม มีการพัฒนาให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน โดยให้ความใส่ใจตั้งแต่วัตถุดิบที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (IFOAM) ในส่วน ของกระบวนการผลิตได้รับรองมาตรฐาน GMP และมีการส่งเสริมการใช้ในทุกระดับ โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรขึ้นใช้เพื่อทดแทนยาจากต่างประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2529 จนถึงปัจจุบัน ยาจากสมุนไพรที่พัฒนาขึ้น เช่น ครีมพญายอ รักษาเริม งูสวัด, ยาฆ่าเชื้อใส่แผล การ์ซิดีน จากสารสกัดเปลือกมังคุด, ยาแก้ไอมะขามป้อม และครีมพริก บรรเทาอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อม. ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงโรคผิวหนังที่มีการนำสมุนไพร และการแพทย์ทางเลือกมาใช้รักษา ในตอนนี้จะกล่าวถึงสมุนไพรต่างประเทศที่ใช้ในรูปยาทา, สมุนไพรไทยที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคผิวหนัง, งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้สมุนไพรไทยในการรักษาโรคผิวหนัง และข้อแทรกซ้อนจากการใช้สมุนไพร.
เอกสารอ้างอิง
1. สมพนธ์ บุณยคุปต์. ประสบการณของการใช้ยาพื้นบ้านบางอย่างที่ได้ผลดี. วิชัยยุทธจุลสาร 2551; 41:32-5.
2. ปัญญา เจียรวุฒิสาร. สารสกัดสมุนไพรกับการรักษาฝ้า. วารสารผิวหนัง 2545; 7(2):116-22.
3. สมยศ จารุวิจิตรรัตนา และคณะ. ผลของการใช้ครีมตะไคร้หอมในการป้องกันยุงเปรียบเทียบกับครีมที่ไม่มีตัวยา. รามาธิบดีเวชสาร 2531; 11:94-7.
4. Sangkitporn S, Polehan K, Thawatsupa P, Bunchok M, Chawalitthumrong P. Treatment of recurrent genital herpes simplex virus infection with Clinacanthus nutans extract. Bull Dept Med Serv 1993; 18(5):226-31.
5. Charuwichitratana S, Wongrattanapasson N, Timpatanapong P, Bunjob M. Herpes zoster : treatment with Clinacanthus nutans cream. Int J Dermatol 1996; 35:665-6.
6. Tiangda C, Gritsanapan H, Sookvanichsilp W, Limchalearn N. Anti-head lice activity of a preparation of Annona squamosa seed extract. Southeast Asian J Trop Med Public Health 2000; 31:174-7.
7. Sunthornpalin P, Wasuwat S. Jellyfish dermatitis tested by the extract of Ipomoea pescaprae. Siriraj Hosp Gaz 1985; 37:329-38.
8. วิกันดา ลิมปิอังคนันต์,วรพงษ์ มนัสเกียรติ, รังสิมา วณิชภักดีเดชา. ผลของสาร Allium cepa และ mucopolysaccharide polysulphate ในการรักษาแผลเป็นนูนแข็งที่เกิดจากแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง.วารสารโรคผิวหนัง 2551; 24(1):16-7.
9. ตรีรัตน์ รัตนอานุภาพ, มนตรี อุดมเพทายกุล, ปิติ- พลังวชิรา. การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลในการรักษาฝ้าด้วยการทาสารสกัด 5% trans-2,4,3',5'-tetrahydroxystilbene จากสมุนไพรแก่นมะหาด และการทายา 2% hydroquinone. วารสารโรคผิวหนัง 2551; 24(1):26-7.
10. สมยศ จารุวิจิตรรัตนา, วสันต์ จันทราทิตย์, พลอยทราย บุศราคำ, สราวุธ บุญปสาท, สุทธินันท์ วิชญาณรัตน์, สุธินี กุลกลการ, กอบกุล อุณหโชค, วิวัฒน์ ก่อกิจ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการการรักษาผู้ป่วยโรคเริมที่ปากชนิดเป็นซ้ำด้วยเจลจากแป๊ะตำปึง. วารสารโรคผิวหนัง 2551; 24(1):56-7.
11. สุภาภรณ์ ปิติพร. สมุนไพรอภัยภูเบศร (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพ : ปรมัตถ์การพิมพ์; 2547.
12. สุภาภรณ์ ปิติพร, ผกากรอง ขวัญข้าว. สมุนไพรเพื่อชีวิต พิชิตโรคภัย (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพ : ปรมัตถ์การพิมพ์; 2551.
13. วิชาญ เกิดวิชัย, อเนก พึ่งผล, สุภาภรณ์ ปิติพร. กลไกในการพัฒนาแพทย์แผนไทย. เอกสารประกอบคำบรรยาย นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ในโอกาสที่มาเยี่ยมชมโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร. 25 สิงหาคม 2551.
14. Levin C, Maibach H. Exploration of " alternative " and " natural " drugs in ermatology. Arch Dermatol 2002; 138:207-11.
15. Bedi MK, Shenefelt PD. Herbal therapy in dermatology. Arch Dermatol 2002; 138: 232-42.
16. Brown DJ, Dattner AM. Phytotherapeutic approaches to common dermatologic conditions. Arch Dermatol 1998; 134:1401-4.
17. Barrueto F, Hirshon JM. Plant poisoning, herbs. eMedicine. Last updated : Oct 10th, 2006.
18. www.samunpri.com
19. www.pharm.chula.ac.th/museum
20. www.pharm.chula.ac.th/vsuntree/phc/PHCIV.HTM
21. www.chula.ac.th/chula/th/news/news 250651b.html
22. www.pharm.chula.ac.th/physiopharm/2548_sem2/group5.html
23. researchers.in.th/blog/trfnews/925
ที่มาภาพประกอบ
1. www.herbguide.org
2. www.pbase.com
3. www.chinesemedicinenews.com
4. http://gotoknow.org/file/somluckv/LandLotus001.jpg
5. www.goozaar.com
ประวิตร พิศาลบุตร พ.บ., เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
Diplomate, American Board of Dermatology & Subspecialty Board of Dermatological Immunology อาจารย์พิเศษภาควิชาเภสัชกรรม, คณะเภสัชศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข, สภาผู้แทน
E-mail : [email protected]
- อ่าน 22,622 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้