สิ่งที่จําเป็นต้องรู้ 10 ประการเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่( Ten things you need to know about pandemic influenza*)
1. การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่แตกต่างจากโรคไข้หวัดนก
ไข้หวัดนกเป็นกลุ่มของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เดิม ทําให้เจ็บป่วยเฉพาะในนก นานๆ ครั้งจะพบการติดเชื้อในสัตว์ตระกูลอื่น เช่น หมู และคน. ไวรัสไข้หวัดนกส่วนใหญ่จะไม่ทําให้เกิดการติดเชื้อในคน. การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นเมื่อมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยทําให้เกิดโรคในคนขึ้น ดังนั้นไวรัส H5N1 จึงเป็นสายพันธุ์ที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการระบาดใหญ่ เนื่องจากอาจปรับเปลี่ยนเป็นสายพันธุ์ที่ติดต่อจากคนสู่คนได้ เมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นไม่เพียงแต่จะเป็นไวรัสของนก แต่จะเป็นไวรัสของคนด้วย. การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่มีสาเหตุจากไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ปรับเปลี่ยนมาติดต่อสู่คน.
2. การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดซ้ำได้
การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่พบได้น้อยแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำได้ ในศตวรรษก่อนเคยเกิดการระบาดใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง : " Spanish influenza " ในปี พ.ศ. 2461, " Asian influenza" ในปี พ.ศ. 2500 และ "Hong Kong influenza "ในปี พ.ศ. 2511. การระบาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2461 คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก ไปประมาณ 40-50 ล้านคน นับเป็นเหตุการณ์ที่ รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เหตุการณ์หนึ่ง. การระบาดในครั้งต่อๆ มามีความรุนแรงน้อยลงมาก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 2 ล้านคนในปี พ.ศ. 2500 และ 1 ล้านคนในปี พ.ศ. 2511. การระบาดใหญ่เกิดขึ้นเมื่อมีไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อุบัติขึ้นและเริ่มแพร่กระจายไปได้ง่ายแบบไข้หวัดใหญ่ปกติ โดยการไอและการจามเนื่องจากเป็นไวรัสตัวใหม่ คนจึงยังไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงดูเหมือนว่าคนที่ป่วยในการระบาดใหญ่จะมีอาการป่วยรุนแรงกว่าที่เกิดจากไข้หวัดใหญ่ปกติ.
3. ทั่วโลกอาจอยู่ในสภาวะที่จะเกิดการระบาดใหญ่ครั้งใหม่
ผู้เชี่ยวชาญได้ติดตามไวรัสตัวใหม่ที่มีความรุนแรงคือ สายพันธุ์ H5N1 มาประมาณ 8 ปี ไวรัสสายพันธุ์ H5N1 เริ่มทําให้เกิดการติดเชื้อในคนในฮ่องกงปี พ.ศ. 2540 ทําให้มีผู้ป่วย 18 ราย เสียชีวิต 6 ราย. ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2546. ไวรัสนี้ทําให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่และรุนแรงในสัตว์ปีก เดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 พบการติดเชื้อในคนที่สัมผัสสัตว์ป่วย จากนั้นพบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกมากกว่า 100 ราย ใน 4 ประเทศในทวีปเอเชีย (กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ไทย และเวียดนาม) และมากกว่าครึ่งของผู้ป่วยเหล่านี้เสียชีวิต หลายรายเป็นเด็กและผู้ใหญ่ที่แข็งแรงดีมาก่อน. อย่าง ไรก็ตาม เชื้อไวรัสนี้ก็แพร่จากนกมายังคนไม่ง่ายนัก และยังไม่แพร่จากคนสู่คน เมื่อไวรัส H5N1 เปลี่ยน ไปเป็นแบบไข้หวัดใหญ่ปกติที่สามารถติดต่อจากคน สู่คนได้ก็จะเกิดการระบาดใหญ่ได้.
4. ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบ
เมื่อมีไวรัสที่ติดต่อจากคนสู่คนได้เต็มที่อุบัติขึ้น การแพร่ระบาดไปทั่วโลกก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ แม้หลายประเทศจะมีมาตรการปิดพรมแดนและจํากัดการเดินทาง แต่ก็เป็นเพียงยืดเวลาการเข้ามาของไวรัส แต่ไม่สามารถหยุดมันได้. การระบาดใหญ่ในศตวรรษที่ผ่านมาใช้ระยะเวลา 6-9 เดือนในการแพร่ระบาดไปทั่วโลก แม้ว่าการเดินทางระหว่างประเทศโดยส่วนใหญ่เป็นทางเรือในขณะที่ความเร็วและปริมาณการเดินทางระหว่างประเทศทางเครื่องบินในปัจจุบัน เชื้อไวรัสจะสามารถแพร่ระบาดไปได้เร็วกว่ามาก อาจแพร่ไปทั่วทุกทวีปภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน.
5. จะเกิดการเจ็บป่วยในวงกว้าง
เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ทําให้เกิดการระบาดใหญ่ คาดว่าการติดเชื้อและอัตราป่วยจะสูงกว่าฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ปกติ. คาดการณ์ว่าในการระบาดใหญ่ครั้งต่อไปจะมีประชากรโลกจำนวนมากที่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ แต่มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่มีบุคลากร สิ่งอํานวยความสะดวก เครื่องมือเครื่องใช้และเตียงที่จําเป็นเพียงพอสําหรับรองรับผู้ป่วยเฉียบพลันจํานวนมากได้.
6. เวชภัณฑ์ทางการแพทย์จะมีไม่เพียงพอ
การสนับสนุนวัคซีนและยาต้านไวรัส เพื่อบรรเทาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในระหว่างเกิดการระบาดใหญ่จะไม่เพียงพอในหลายประเทศ ในช่วงแรกที่เกิดการระบาดใหญ่และหลายเดือนต่อจากนั้น การมีวัคซีนไม่เพียงพอเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักถึงเนื่องจากวัคซีนเป็นด่านแรกในการป้องกันการเกิดโรคของประชากร. แนวโน้มในปัจจุบันประเทศกําลังพัฒนาหลายประเทศจะไม่สามารถมีวัคซีนได้ตลอดช่วงระยะเวลาของการระบาดใหญ่.
7. จะมีการเสียชีวิตจํานวนมาก
จากประวัติศาสตร์จํานวนผู้เสียชีวิตในระหว่างการระบาดใหญ่มีความแตกต่างกันมากอัตราตายสามารถพิจารณาได้จากปัจจัย 4 อย่าง คือ
1) จํานวนประชากรที่ติดเชื้อ.
2) ความรุนแรงของเชื้อไวรัส.
3) ลักษณะพื้นฐานและภูมิไวรับของประชากร ที่ป่วย.
4) ประสิทธิภาพของมาตรการป้องกัน.
การคาดคะเนอัตราตายที่แน่นอนไม่สามารถทําได้ก่อนที่จะพบไวรัสที่ทําให้เกิดการระบาดใหญ่และเริ่มแพร่ระบาด จํานวนคาดประมาณการตายเป็นเพียงการเดาเท่านั้น.
8. จะเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างใหญ่หลวง
อัตราป่วยสูงและการขาดงานเป็นสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งจะนําไปสู่การหยุดชะงักของเศรษฐกิจและสังคม การระบาดใหญ่ที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดไปทั่วโลกเป็น 2 ระลอก (wave) และ 3 ระลอกในบางครั้ง คาดว่าไม่ใช่ทุกส่วนของโลกหรือประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงในเวลาเดียวกัน. การหยุดชะงักของภาวะเศรษฐกิจและสังคมอาจเป็นเพียงชั่วคราว แต่อาจขยายผลถึงระบบการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศในปัจจุบัน การหยุดชะงักของสังคมอาจเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อมีอัตราการหยุดงานมากในภาคบริการที่สําคัญ เช่น พลังงาน การขนส่ง และการสื่อสาร.
9. ทุกประเทศต้องเตรียมพร้อม
องค์การอนามัยโลกได้จัดทําข้อแนะนําปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ (recommended strategic actions) เพื่อตอบสนองการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ เป็นการปฏิบัติที่มีรูปแบบสําหรับใช้ตอบสนองในระดับที่แตกต่างกันของผลกระทบในสภาวะการณ์ต่างๆ แนวทางดังกล่าว แตกต่างกันตามระยะปัจจุบันที่อยู่ในช่วงของการเตือนภัยการระบาดใหญ่ การพบเชื้อไวรัสที่ทําให้เกิดการระบาดใหญ่ และการประกาศการระบาดใหญ่ และผลที่จะเกิดตามมาจากการแพร่ระบาดไปนานาประเทศ.
10. องค์การอนามัยโลกจะส่งสัญญาณเตือนทั่วโลกเมื่ออันตรายจากการระบาดเพิ่มขึ้น
องค์การอนามัยโลกทํางานใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรสาธารณสุขจํานวนมาก เพื่อสนับสนุนการเฝ้าระวังสายพันธุ์ไวรัสที่วนเวียนกระจายอยู่ ระบบเฝ้าระวังที่มีความไวที่สามารถตรวจพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ มีความสําคัญสําหรับการตรวจจับไวรัสที่จะทําให้เกิดการระบาดใหญ่ได้รวดเร็ว.
มีการแบ่งระยะของสถานการณ์เป็น 6 ระยะ* เพื่อการวางแผนเตรียมความพร้อมสําหรับการระบาดใหญ่พร้อมกับกําหนดบทบาทของภาครัฐ อุตสาหกรรม และองค์การอนามัยโลก สถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 3 : มีการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน แต่ยังไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน.
*สถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ 6 ระยะ (กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก)
ระยะก่อนการระบาดใหญ่ (Interpandemic period)
¾ ระยะ 1 : ไม่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ พบในคนอาจพบในสัตว์ ถ้าพบในสัตว์ความเสี่ยงที่จะ ทําให้เกิดการติดเชื้อหรือเกิดโรคในคนต่ำ.
¾ระยะ 2 : ไม่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ในคน แต่คนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่พบวนเวียนอยู่ในสัตว์.
ระยะเตือนภัยการระบาดใหญ่ (Pandemic alert period)
¾ ระยะ 3 : มีการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน แต่ยังไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน หรือมีโอกาสน้อยมากที่จะติดต่อไปยังผู้สัมผัสใกล้ชิด.
¾ ระยะ 4 : มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นกลุ่มเล็ก ซึ่งการติดต่อจากคนสู่คน ยังอยู่ในพื้นที่จํากัด เชื้อไวรัสยังมีพัฒนาการติดต่อมา สู่คนไม่ดี.
¾ ระยะ 5 : มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นกลุ่มใหญ่ แต่การติดต่อจากคนสู่คนยังคงอยู่ในพื้นที่จํากัด เชื้อไวรัสมีพัฒนาการติดต่อ มาสู่คนดีขึ้นแต่ยังอาจไม่เต็มที่ (ความเสี่ยงต่อการ ระบาดใหญ่มีมาก).
ระยะการระบาดใหญ่ (Pandemic period)
¾ ระยะ 6 : การระบาดใหญ่เพิ่มขึ้น และมีการติดต่อในประชากรทั่วไปจํานวนมาก.
สําหรับประเทศไทย ได้ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์และเงื่อนไขของประเทศเป็นระยะต่างๆ ดังนี้
ระยะก่อนการระบาดใหญ่ (Interpandemic period)
¾ ระดับ 1 : พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สาย พันธุ์ใหม่ในสัตว์ในประเทศอื่น ไม่พบการติดเชื้อในคน.
¾ ระดับ 2 : พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในสัตว์ในประเทศไทยหรือในประเทศอื่น ไม่ พบการติดเชื้อในคน แต่มีความเสี่ยงของการติดเชื้อ ในคน.
ระยะเตือนภัยการระบาดใหญ่ (Pandemic alert period)
¾ ระดับ 3 : พบคนติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากสัตว์ ยังไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน (ยกเว้นกรณีมีการสัมผัสใกล้ชิดมาก ซึ่งเกิดได้น้อย)ในประเทศไทยหรือประเทศอื่น.
¾ ระดับ 4 : พบว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ติดต่อจากคนสู่คนเป็นกลุ่มเดียว (single small cluster) หรือกลุ่มเล็กจํานวนน้อยกลุ่มในพื้นที่จํากัด (few small clusters in limited area) ในประเทศไทยหรือประเทศอื่น.
¾ ระดับ 5 : พบว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ติดต่อจากคนสู่คนเป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มเดียว (single large cluster) หรือกลุ่มใหญ่หลาย กลุ่มในพื้นที่จํากัด (multiple large clusters in limited area) ในประเทศไทยหรือประเทศอื่น หรือ มีหลักฐานว่าเชื้อที่พบในประเทศอื่นได้ปรับเปลี่ยน สายพันธุ์จนติดต่อจากคนสู่คนได้ง่าย.
ระยะการระบาดใหญ่ (Pandemic period)
¾ ระดับ 6 : พบการติดต่อจากคนสู่คนเป็น กลุ่มใหญ่ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในประเทศไทยหรือประเทศอื่น.
ระยะหลังการระบาด (Postpandemic period)
¾ ระยะการระบาดชะลอตัว
ผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทยรายใหม่มีจํานวนลดลงอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การระบาดในประเทศอื่นมีแนวโน้มลดลงหรือได้หยุดลงแล้ว.
¾ ระยะการระบาดสงบ
ไม่มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทยต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 1 เดือน โดยมีการเฝ้าระวังโรคที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการระบาดอยู่ในประเทศอื่นในเวลาเดียวกัน.
*รายงานเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา, 2548;36(45):789-93.
เอกสารอ้างอิง
1. WHO. Ten things you need to know about pandemic influenza, 14 October 2005 [Online]/. Availlable from URL:http://www.who.int/csr/disease/influenza/pandemic10things/en/index.html
2. WHO global influenza preparedness plan. Geneva, World Health Organization, 2005. (Document WHO/CDS/CSR/GIP/2005.5) http://www.who.int/csr/resources/publications/influenza/WHO_CDS_CSR_GIP_2005_5
3. คณะกรรมการพิจารณาแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนก และคณะทํางานแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมใน การป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของไข้หวัดใหญ่. แผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก และแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ (พ.ศ. 2548-2550). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จํากัด, 2548.
แปลและเรียบเรียงโดย
ลดารัตน์ ผาตินาวิน , สํานักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
[email protected]
- อ่าน 3,196 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้