ท่านศาสตราจารย์เปรม บุรี, ท่านหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์-ศาสตราจารย์กฤษฎา รัตนโอฬาร, เพื่อนศัลยแพทย์ร่วมอาชีพทุกท่าน และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ผมขอขอบคุณที่ได้เชิญให้มาบรรยายในปาฐกถา เปรม บุรี ครั้งที่สองในวันนี้ ผมถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูงและมีความเต็มใจที่รับมาบรรยายโดยเหตุผลสองประการ ประการที่หนึ่ง ผมมีความรักเคารพอาจารย์หมอเปรมมาตั้งแต่ได้เป็นลูกศิษย์เมื่อสมัยผมเป็นนักเรียนแพทย์จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ และประการที่สอง ผมมีความรักในวิชาชีพของผมดังนั้นถ้ามีโอกาสใดที่ผมอาจจะเป็นประโยชน์กับวิชาชีพนี้ ผมฉวยโอกาสนั้นทำให้ทันทีโดยไม่ลังเลใจเลย
ผมได้มีโอกาสร่วมทำงานกับอาจารย์หมอเปรมมาหลายครั้งหลายคราวนับตั้งแต่ได้จบเป็นแพทย์มา อาจารย์หมอเปรมและผมได้ประดิษฐ์เครื่อง heart lung machine ที่คงจะเป็นเครื่องแรกในประเทศไทยโดยได้ประดิษฐ์เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2499-2500 เราประดิษฐ์และทำเครื่องมือเองทั้งหมดอย่างครบถ้วน โดยใช้ motor ขับให้ pump ซึ่งขอให้ช่างกลโรงพยาบาลศิริราชช่วยกลึงเหล็กให้เป็นไปตามที่เราควบคุมอยู่ตลอดเวลา และใช้ท่อ plastic ที่ผมไปเดินหาซื้อจากเวิ้งนครเขษม แล้วเคลือบด้วย silicone solution ที่อาจารย์หมอเปรมหามาจากเมืองนอก เราออกแบบลอกเลียน heart-lung machine จากรูปในวารสารการแพทย์และเมื่อสำเร็จลงแล้วก็ได้ทดลองกับสุนัขหลายตัวและผมจำได้ว่าสุนัขตัวสุดท้ายได้รอด ชีวิตเป็นปรกติดีหลังจากได้ใช้ heart-lung machine ที่เราประดิษฐ์เองนี้ run เป็นเวลาหลายชั่วโมง และนอกจากนี้เรายังได้ทดสอบการทำ hypothermia ในสุนัข โดยใช้ pump ของเรานี้เอาเลือดจากสุนัขมาทำให้เย็นหลายครั้งด้วยกันจนกระทั่งมีความมั่นใจว่าสามารถทำได้และให้ความปลอดภัยอย่างเต็มที่จึงได้ทำการผ่าตัดโดยใช้ hypothermia เป็นครั้งแรกในประเทศไทยกับคนไข้ที่เป็น aneurysm ของ abdominal aorta เมื่อปี พ.ศ. 2501 เราได้รายงานในที่ประชุมวิชาการของโรงพยาบายศิริราชเมื่อปลายปี พ.ศ. 2501 ก่อนที่ผมจะเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ
วันหนึ่งสองสามปีก่อนที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจะเปิด ผมยังจำได้อย่างชัดเจนถึงคำพูดของอาจารย์หมอเปรมที่ได้กล่าวว่า "เมื่อคืนหมออารีเขามาขอร้องให้ผมเป็นหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ของโรงเรียนแพทย์ใหม่ ผมอยากให้หมอไปทำงานด้วยกันกับผม" คำพูดของท่านนั้นทำให้ผมมีความภูมิใจมากและได้ตอบรับคำกับท่านทันที โรงเรียนแพทย์ใหม่ที่อาจารย์หมอเปรมพูดถึงได้แก่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี นี้เอง
ผมเป็นคนที่โชคดีที่ได้มีโอกาสทำงานในวิชาชีพนี้อย่างยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน และได้มีโอกาสพบและทำงานใกล้ชิดกับศัลยแพทย์ที่มีชื่อเสียงทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศหลายท่าน ในวันนี้ผม อยากจะนำคุณสมบัติที่ดีของท่านเหล่านั้นมาบรรยายให้ทุกคนได้พิจารณา เพื่อที่จะได้จดจำคุณสมบัติที่ดีไว้ปฏิบัติเป็นตัวอย่างต่อไป ศัลยแพทย์ที่ผมจะได้เอ่ยนามในการบรรยายนี้ได้เป็น hero และ role model ของผมมาตลอดจนกระทั่งถึงทุกวันนี้และผมอยากจะให้ท่านทั้งหลายได้ทราบคุณสมบัติที่ดีเหล่านี้และนำไปพิจารณาเป็นประโยชน์ต่อไป
ก่อนอื่นผมจะต้องขอกล่าวถึงลักษณะจำเพาะของศัลยแพทย์เสียก่อน
¾ ศัลยแพทย์เป็นอาชีพที่มีเกียรติ และเป็นผู้ที่สังคมยอมรับนับถือ แต่ในขณะเดียวกันความเรียกร้องและคาดหวังของสังคมที่มีต่อศัลยแพทย์ก็สูงด้วยเช่นกัน ทุกคนหวังว่าจะต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดจากศัลยแพทย์เท่านั้น อะไรที่น้อยไปกว่านั้นเขาจะม่ยอมรับ
¾ความรับผิดชอบของศัลยแพทย์เป็นความรับผิดชอบที่สูง เนื่องจากเราต้องรับผิดชอบทั้งชีวิตและคุณภาพของชีวิต ดังนั้นลักษณะของงานที่ศัลยแพทย์ต้องเผชิญหน้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเป็นงานที่เรียกได้ว่าเป็นงานที่ stressful ที่สุด เพราะนอกจากมีความรับผิดชอบที่สูงแล้ว ศัลยแพทย์ยังต้องมีการตัดสินใจด่วนแข่งกับเวลา การเคลื่อนไหวของร่างกายจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องได้รับการ ฝึกมาเป็นอย่างดี เพราะจะต้องนำมาใช้ให้ถูกต้องในเวลาที่จำกัด
¾ ศัลยแพทย์ต้องเผชิญหน้ากับความจริงอยู่ตลอดเวลา ลองคิดถึง case scenario ว่าขณะที่ศัลยแพทย์กำลังทำงานอยู่ในห้องผ่าตัดอย่างหนักและเต็มที่นั้น เขารู้อยู่ตลอดเวลาว่านอกห้องผ่าตัดจะมีญาติหลายคนที่กำลังรอฟังคำอธิบายจากศัลยแพทย์ว่าผลของการผ่าตัดจะเป็นอย่างไร นับว่าเป็นความ เครียดที่เพิ่มขึ้นให้กับศัลยแพทย์อีกไม่ไช่น้อย
¾ อาชีพของศัลย์แพทย์เป็นอาชีพที่ควบคุมด้วย professional ethics ดังนั้นสิ่งแรกที่ศัลยแพทย์ที่จะต้องคำนึงถึงอยู่ก่อนอื่นคือ Primum non nocere ซึ่งแปลว่า First, do no harm ซึ่งถ้าจะคิดให้ลึกแล้วอาชีพนี้คงจะล่อแหลมที่สุดต่อ medical ethics ในข้อนี้
¾ ศัลยแพทย์เป็นผู้นำโดยปริยาย การจะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้นจะต้องทำเป็นทีม และผู้นำของทีมก็คือศัลยแพทย์อย่างแน่นอน การเป็นผู้นำนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องเรียนและฝึกหัด เพื่อจะเป็นผู้นำของทีมที่ชนะอยู่เสมอ
¾ การสร้างศัลยแพทย์คนหนึ่งนั้นจะต้องใช้เวลาที่นานและมีราคาแพง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการลงทุนที่สูงที่สุดของรัฐในกระบวนอาชีพด้วยกัน กว่าจะเป็นศัลยแพทย์ได้ก็ตกอายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป จึงทำให้เหลือระยะเวลาที่จะปฏิบัติงานจริงตลอดชีวิตของการทำงานน้อยกว่าอาชีพอื่น เวลาที่จะต้องใช้ไปกับการรักษาที่เป็นการผ่าตัดต่อคนไข้แต่ละคนก็เป็นเวลาที่ต้องใช้มากกว่าเวลาที่ใช้ในการรักษาด้วยวิธีอื่น ดังนั้นถ้าจะคิดถึงผลที่ได้กับการลงทุนแล้วศัลยแพทย์ก็คงเป็นอาชีพที่มีค่าตัวสูงสุดถ้าเราจะทำงานให้คุ้มกับการลงทุนของรัฐ เราจะต้องพยายามยืดการทำงานของเราเองให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทุกครั้งที่ผมได้ทราบว่าศัลยแพทย์ผู้ใดได้เปลี่ยนอาชีพไปทำหน้าที่อื่น ผมรู้สึกเสียใจที่ประเทศ เราได้เสียบุคคลากรที่มีค่าและมีจำนวนน้อยไปทำหน้าที่อื่นที่มีคนเป็นจำนวนมากสามารถจะทำได้
¾ ศัลยแพทย์จะต้องเป็นผู้ที่ต้องกระทำทุกอย่างด้วยมือของตนเองตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้นความสามารถของศัลยแพทย์จะต้องมีอย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็น knowledge, skill หรือ attitude
¾ ศัลยแพทย์จะต้องเป็นคนที่มีประสิทธิภาพสูงอยู่ตลอดเวลา และระหว่างการผ่าตัดศัลยแพทย์จะต้อง alert และ focus, มีสมาธิสูง พร้อมด้วยความสามารถและประสบการณ์ที่ทำให้ตัดสินใจได้ถูกและรวดเร็วแข่งกับเวลาและไม่ทำให้เกิดเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย การตัดสินใจและการกระทำเหล่านี้จะต้องทำโดยมี body, mind, heart and soul เป็น น้ำหนึ่งอันเดียวกัน การทำงานจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด
ในการบรรยายนี้ผมจะพยายามบรรยายถึงว่ามีคุณสมบัติของศัลยแพทย์ที่ดีอะไรบ้างที่ผมได้พบห็น อ่านมาและที่ผมได้พบเห็นด้วยตนเอง และผมจะยกตัวอย่างของศัลยแพทย์ที่มีชื่อเสียงตามคุณสมบัติที่จะบรรยาย
ศัลยแพทย์และประสิทธิภาพ
คงไม่มีใครโต้เถียงว่าศัลยแพทย์ต้องเป็นคนที่มีประสิทธิภาพ แต่ประสิทธิภาพเป็นคำที่กว้าง ดังนั้น เราควรที่จะมาแยกแยะออกอย่างละเอียดว่าคำที่ว่ามีประสิทธิภาพนั้นเป็นอย่างไร หนังสือ "The seven habits of highly effective people" เป็นหนังสือ ที่ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อสิบห้าปีมาแล้ว1 และเมื่อหนังสือเล่มนี้ออกมาใหม่ๆ ผมได้ไปประเทศอเมริกาและซื้อหนังสือมาอ่าน เมื่อได้อ่านแล้ววางไม่ลงต้องอ่านจนจบ และอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายสิบเที่ยว เวลาผมสอน นักศึกษาแพทย์ หรือศัลยแพทย์รุ่นน้อง บางทีผมได้ใช้ บางส่วนของหนังสือเล่มนี้มาสอนเป็นการปลูกฝังให้เขาเป็นศัลยแพทย์ที่มีประสิทธิภาพให้ดีขึ้นในโอกาสต่อไป
Dr. Stephen R. Covey ได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่าการที่จะเป็นคนที่มีประสิทธิภาพสูงนั้นจะต้อง มาจากนิสัยที่ปลูกลึกมาจากภายในไม่ใช่เป็นสิ่งที่สามารถมีขึ้นได้อย่างทันทีทันใด ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับ iceberg ที่ลอยมาในทะเล ส่วนของน้ำแข็งที่เรามองเห็นอยู่นิดเดียวนั้นจะต้องมีส่วนที่ใหญ่กว่าคอยพยุงอยู่ คนที่เป็นคนมีประสิทธิภาพจะต้องเกิดมาจากนิสัยที่อยู่ภายในเหมือนน้ำแข็งใต้น้ำที่คอยพยุงอยู่ นิสัยเป็นสิ่งที่เราจะต้องใช้เวลาปลูกฝังให้เกิดขึ้น และไม่ใช่ว่าจะสามารถจะให้เกิดได้ขึ้นทันทีทันใด
นิสัยคืออะไร? เมื่อเรามีหลักการเราจะต้องเรียนหลักการนั้นจนเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง แล้วจะต้องจำให้มั่นไม่ให้ลืม หลักการนั้นก็จะกลายเป็นความรู้ (knowledge - what?, why?), สามารถนำไปใช้ให้คล่องแคล่วจนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญ (skill - how?), และต่อมาก็ทำให้เกิดเป็นความต้องการที่อยากจะทำ (attitude - desire, want to) และเมื่อทั้งสามเข้ามาซ้อนกัน นั่นแหละคือนิสัยที่มีรากฐานอยู่อย่างหนาแน่น
คราวนี้เราลองมาดูว่านิสัยทั้งเจ็ดอย่างที่ Dr. Stephen R. Covey ได้เขียนไว้มีอะไรบ้าง
1. Be proactive คำภาษาอังกฤษที่ว่า proactivity นั้นอาจจะไม่อยู่ในพจนานุกรมเพราะเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ หรือถ้าจะปรากฏอยู่ในพจนานุกรม ก็เป็นการอธิบายอย่างสั้นๆ ว่าเป็นการ active ล่วงหน้า แต่ proactivity นั้นมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้นและต้องการคำอธิบายและตัวอย่าง ดังจะบรรยายให้ละเอียดต่อไป
2. Begin with the end in mind เป็นนิสัยที่สำคัญของผู้นำ ว่าจะต้องมั่นใจในหนทางที่จะ ไปสู่เป้าหมายอยู่เสมอ เพราะบางครั้งเราอาจจะหลงทางไปในความยุ่งเหยิงของการงานจนลืมเป้าหมายกัน จนหมด
3. Put first things first เป็นนิสัยที่สำคัญของผู้บริหารที่จะต้องทำตามทางเดิน ที่ได้กำหนดไว้เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในเวลาที่น้อยที่สุด นิสัยนี้เป็นนิสัยของผู้บริหารที่จะต้องทำงานตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
4. Think win/win เป็นนิสัยที่ผู้มีประสิทธิภาพควรจะนำไปใช้ในทุกโอกาสเมื่อเกิดมีการ ขัดแย้งกัน เราต้องเข้าใจด้วยว่า win/win ไม่ใช่การ ประณีประนอม ซึ่งในกรณีนั้นจะเป็นมี win/looseหรือ loose/win และเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความไม่พอใจในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าหากได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วหาวิธี win/win ไม่ได้ ควรจะตกลงโดย " no deal " จะเป็นทางออกมากกว่าประนีประนอม
5. Seek first to understand, then to be understood เป็นคุณสมบัติที่ศัลยแพทย์ควรมีอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการที่จะอธิบายกับคนไข้ คำพูดที่เราได้ยินอยู่เสมอก็คือ " ผมไม่เข้าใจลูกชายของผมเลย เขาไม่ยอมฟังผมพูด" เป็นตัวอย่างของคนทั่วไป คือจะให้เขาฟังเราอย่างเดียว แล้วเราจะเข้าใจเขาได้อย่างไร การที่เราเข้าใจผู้อื่นเสียก่อนจะเป็นคุณสมบัติที่อาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า empathic mindset ซึ่งจะได้อธิบายและยกตัวอย่างให้เห็นในการบรรยายนี้ด้วย
6. Synergize เป็นการกระทำอีกอย่างหนึ่งที่ศัลยแพทย์ควรจะต้องนำมาใช้ เพราะศัลยแพทย์จะต้องเป็นผู้นำอยู่แล้วโดยลักษณะของอาชีพ การที่เรา synergize นั้นหมายถึงว่าเราทำให้หนึ่งบวกหนึ่งได้ผลบวกมากกว่าสอง หรือสองบวกสองได้ผลบวกมากกว่าสี่หลายเท่า ผมจะไม่บรรยายมากในเรื่องนี้เพราะศัลยแพทย์ทุกท่านคงจะทราบกันอยู่ดีแล้ว แต่จะขอกระซิบถามสักนิดเดียวว่า ครั้งสุดท้าย หลังจากที่ท่านได้ผ่าตัดเสร็จแล้ว และท่านได้ขอบคุณผู้ร่วมงานของท่าน ได้แก่วิสัญญีแพทย์ พยาบาล ส่งเครื่องมือ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทั้งหลายในห้องผ่าตัดนั้น เป็นเวลานานเท่าไรมาแล้ว
7. Sharpen the saw เป็นคุณสมบัติส่วนตัวที่จะขาดไม่ได้สำหรับศัลยแพทย์ที่จะต้องทำให้เขา up-to-date ต่อวิชาการ และสามารถจะทำให้การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงไปเพื่อจะได้ผลดีที่สุด
เราจะเห็นได้ว่านิสัยทั้งเจ็ดอย่างนี้สามอย่างแรกคือ character ethics, สามอย่างต่อมาคือ personality ethics, และอันสุดท้ายได้แก่วินัยที่เราฝึกให้กับตัวเองให้เป็นคนที่รักจะเรียนอยู่ตลอดเวลา ในความเห็นของผมนั้นนิสัยอย่างแรกเป็นนิสัยที่สำคัญที่สุดเพราะถ้าเป็นคนที่ proactive แล้วนิสัยที่เหลือก็จะตามมาเอง ดังนั้นผมจะบรรยาย proactivity ให้ละเอียดกว่าอย่างอื่นและจะยกตัวอย่างของศัลยแพทย์ที่เป็นคน proactive ให้เป็นตัวอย่าง ต่อจากนั้นก็จะนำนิสัยบางอย่างในเจ็ดอย่างนี่มาอภิปราย โดยเฉพาะในส่วนที่ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ดีต่อศัลยแพทย์ทั่วไป
ก่อนที่จะอธิบายคำว่า proactivity ซึ่งเป็นคำที่อธิบายยากนั้นเราจะต้องมาพูดถึงคำว่า paradigm เสียก่อน คำนี้มาจากภาษากรีก paradigma ซึ่งแปลว่า model หรือตัวอย่าง แต่ความหมายของคำนี้นั้น ได้ใช้กว้างไปกว่านั้นคือใช้หมายถึงว่าเป็น the way we look at the world แต่ละคนก็มีการมองโลกที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรู้สึกของแต่ละคน การเปลี่ยน paradigm นั้นเราเรียกว่า paradigm shift ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการที่จะก้าวหน้าต่อไป
เมื่อเราเกิดมาเราจะต้องอาศัยแม่เป็นผู้เลี้ยงดู เป็นผู้ให้นม และอื่นๆ เราต้อง dependent กับคนที่เลี้ยงดูตลอดเวลา และไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ถ้าไม่มีคนเลี้ยงดู แต่พอเจริญเติบโตเป็น teenager ก็จะเริ่มเปลี่ยน paradigm หรือมี paradigm shift เป็น independent และบางทีอาจจะโกรธถ้าหากมีคนไม่ยอมปล่อยให้เราเป็นอิสระ สังเกตว่าเมื่อยังเป็น dependent นั้น อะไรทุกอย่างเป็น" you" หมด แต่พอเป็น independent ก็กลายเป็น " I " หมด ต่อมาพอพ้น teenage แล้วคนปรกติก็จะเปลี่ยนเป็น interdependent โดยที่จะกลายเป็น we แทน การมี paradigm shift นี้ไม่ได้เกิดกับทุกคนไปเพราะบางคนเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังใช้คำว่า I หรือ you อยู่ ยังไม่เข้าใจการเป็น interdependent อย่างแท้จริง คนที่ proactive จะเป็นคนที่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าเราจะต้องอยู่ด้วยกันและพึ่งพาอาศัยกันโดยจะอยู่แต่เพียงคนเดียวไม่ได้
ประการต่อไปคนที่ proactive เป็นคนที่เข้าใจดีว่าสมบัติที่ประเสริฐสุดของมนุษย์นั้นได้แก่สิทธิที่จะเลือก ผมอยากจะอธิบายถึงอีกสักหน่อยว่าระหว่างการกระตุ้นและการโต้ตอบนั้นจะมีช่องว่างอยู่ และช่องว่างนี้ค่อนข้างจะแคบหรือเกือบไม่มีเลยในสัตว์ทั้งหลาย ถ้าเราเตะสุนัข มันจะร้องทันทีและอาจจะกัดตอบหรือไม่ก็วิ่งหนี แทบจะไม่มีช่องว่างระหว่างการกระตุ้นและการโต้ตอบ แต่สำหรับมนุษย์นั้น ตรงกันข้าม จะมีช่องว่างระหว่างการกระตุ้นและการโต้ตอบเสมอ และในช่องว่างนี้เป็นที่อยู่ของ อิสระภาพที่จะเลือกที่เราจะใช้หรือไม่ใช้อย่างใดก็ได้ คนที่ proactive จะถือว่าอิสระภาพที่จะเลือกนั้นคือพรสวรรค์ที่ธรรมชาติให้กับเราและเขาจะเลือกทุกครั้งเมื่อมีโอกาสโดยไม่ต้องไม่ให้ใครมาสั่ง เขาจะเลือกที่จะ take initiative, เลือกที่จะ care และ concern, เลือกที่จะทำชนิดที่กระโดดเข้าเต็มตัว, เลือกที่จะทำให้ตัวดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และเลือกที่จะรับผิดชอบ ดูแต่คำว่า responsibility ซึ่งถ้าจะแยกคำออกเป็นสองคำ มันจะกลายเป็น response และ ability ซึ่งหมายถึง ความสามารถที่จะเลือกการโต้ตอบได้ นอกจากจะแปลว่าความรับผิดชอบตามที่เข้าใจกันแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ Viktor E. Frankl ซึ่งเป็นจิตแพทย์และเป็นคนยิวที่ถูกจองจำใน concentration camp ที่ใน ประเทศโปแลนด์โดยพวกนาซีในสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่เขาอยู่ใน concentration camp นั้น เขาได้ถูกทรมาน ได้รับความทารุณจากพวกนาซีอย่างมากมายร่วมกับคนยิวอื่นๆ และในขณะเดียวกัน พวกนาซีก็ได้ส่งคนยิวเป็นจำนวนหลายล้านคนไปสังหารด้วยวิธีรมแก๊สพิษเป็นหมู่ แต่เขาโชคดีได้รอดตายมาได้ ถึงแม้ว่าจะได้รับทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างสาหัสแต่เขาก็ได้รอดพ้นมาโดยไม่มีความผิดปรกติ ของจิตใจแต่อย่างใดเลย ทั้งนี้ก็เพราะระหว่างที่เขาได้รับการทรมานอยู่ใน concentration camp นั้น เขาได้คิดว่าไม่มีใครจะมาดูหมิ่นเราได้ถ้าเราไม่ยอม ดังนั้นเขาจึงเลือกที่จะไม่ยอมให้ใครมาดูหมิ่นหรือมาทำร้ายจิตใจเขาเป็นอันขาดจะทำกับร่างกายของเขาอย่างไรก็ทำไป จนในที่สุดผู้คุมขังได้เกิดความเคารพในตัวเขา และนั่นก็อาจจะเป็นเหตุผลอันหนึ่งที่ทำให้เขารอดพ้นจากการถูกสังหารก็ได้ หลังจากที่ได้รอดพ้นจาก concentration camp มาแล้วเขาได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งมีชื่อว่า Man' Search for Meaning บรรยายถึงเหตุการณ์ต่างๆ และวิธีที่เขาเลือกทำใจอย่างที่กล่าวมา หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ขายดีมาก ขายได้หลายล้านเล่ม และเป็นต้นตอของการใช้ logotherapy คือให้ใช้วิธีแสวงหาความหมายของชีวิตเพื่อที่จะใช้ความคิดให้ถูกต้อง และช่วยบรรเทารักษาภาวะที่ผิดปรกติของจิตใจบางอย่าง2
คนที่ตรงกันข้ามกับ proactive คือคน reactive และถ้าเราจะเปรียบเทียบภาษาของคนสองชนิดเรา จะมองเห็นข้อแตกต่างของคนทั้งสองประเภทอย่างเด่นชัด
ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆว่าคนที่ proactive นั้นเป็นอย่างไร โดยยกตัวอย่างศัลยแพทย์ผู้หนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นผู้ที่ proactive ที่สุดท่านผู้นี้คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เปรม บุรี โดยจะเล่าเหตุการณ์ณ์ที่เกิดขึ้นให้ท่านทั้งหลายฟังดังต่อไปนี้มื่อต้นปี พ.ศ. 2508 ประเทศไทยกำลังเข้าภาวะวิกฤติ เนื่องจากบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่เทือกเขาภูพานที่ทอดยาวจากทางเหนือของประเทศไทยและประเทศข้างเคียงได้เป็นสถานที่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้ามาแทรกแซงเป็นจำนวนมากและได้หว่านล้อมให้ประชาชนบริเวณนั้นเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล โดยใช้ลัทธิที่ได้มาจากจีนแดงและรัสเซียมาเผยแพร่ และได้มีเหตุการณ์นองเลือดระหว่างผู้ก่อการร้ายเหล่านี้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง อาจารย์หมอเปรมได้ไปคุยกับฝ่ายบ้านเมืองที่กำลังเร่งพัฒนาบริเวณอีสานอย่างรีบด่วน เพื่อให้ประชาชนกลับใจมาเป็นฝ่ายไทย อาจารย์หมอเปรมได้เห็นว่าถ้า จะนำการแพทย์ไปเป็นด่านหน้าก็จะเป็นการดีที่จะ ให้ประชาชนเห็นใจว่าเราไม่ได้ทอดทิ้งเขาเลย ในสมัยนั้นการแพทย์สมัยใหม่ยังไม่ได้เข้าไปทั่วถึงบริเวณนั้น เพราะเราขาดแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ความเห็นและข้อเสนอของอาจารย์หมอเปรมได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากทางฝ่ายบ้านเมืองและจากท่านคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลศิริราชได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ ผู้เป็นตัวอย่างศัลยแพทย์ที่ proactive อีกท่านหนึ่ง จนกระทั่งในที่สุดได้เกิดเป็นโครงการแพทย์พัฒนาชนบท ศิริราช/อุดรขึ้น โดยฝ่ายบ้านเมืองเป็นผู้สนับสนุนการเงินและโรงพยาบาลศิริราชเป็นผู้ให้บุคคลากรแพทย์ เภสัชและพยาบาล และจะไปจัดเป็นทีมที่มีประมาณ 20 ท่านที่สมัครไปอยู่อุดรธานี เป็นเวลาครั้งละหนึ่งเดือน การออกไปทำงานจะแบ่งเป็นทีม ทีมละห้าท่าน ทีมแรกอยู่โรงพยาบาลอุดรฯ และอีก 4 ทีมแยกย้ายไปอีกสี่ทิศ ทิศละอำเภอ ได้แก่อำเภอหนองบัวลำภู หนองหาร ผือ และเพ็ญ อาจารย์หมอเปรมในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการได้แต่งตั้งให้ผมเป็นผู้เตรียมการ ผมจึง จำเหตุการณ์ได้เป็นอย่างดีจนถึงทุกวันนี้ เราได้ไปทำประโยชน์อย่างมากมายในด้านการแพทย์ โดยตั้งเป็นหน่วยกลางที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดอุดรธานี และได้เปิดให้ ward หนึ่งเป็น ICU เพื่อรับคนไข้หนักที่ refer มาจากสถานีอนามัยทั้งสี่แห่ง ได้มีการผ่าตัดและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคทางสมอง หัวใจ ปอด และอื่นๆจนครบการรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่
ส่วนตามสถานีอนามัยก็เช่นเดียวกัน เราได้ปรับปรุงให้เป็นสถานีอนามัยที่อาจจะเป็นโรงพยาบาล เล็กๆ ได้แห่งหนึ่ง และอะไรที่เหลือบ่ากว่าแรงก็ส่งไปทำต่อที่ส่วนกลาง ส่วนแต่ละหน่วยก็ทำหน้าที่ออกไปตรวจรักษาและให้คำแนะนำกับชาวบ้าน บางทีผู้ป่วยมีอาการท้องเดินมา มีอาการหนักมากนอนมาใน เกวียน และเดินทางมาไกลมาก เราต้องปีนขึ้นไปให้ น้ำเกลือบนเกวียนก็มี มีอยู่ครั้งหนึ่งที่หนองบัวลำภู ได้เกิดการสู้รบกันจริงๆ กลางดึกและมีตำรวจถูกยิงหลายคน ทีมแพทย์ที่อยู่หนองบัวลำภูที่อยู่ห่างสถานีตำรวจเพียงไม่กี่เมตรและต้องไปรับผู้ป่วยที่ถูกยิงมารักษา ทุกคนเสียขวัญมากเพราะไม่รู้ว่าจะถูกโจมตีอีกหรือไม่ ทางราชการได้สั่งปิดทางไปมาจากหนองบัวลำภูจนหมด ไม่มีทางจะลำเลียงรับคนเจ็บและหน่วยแพทย์กลับ ขณะนั้นผมอยู่ที่อุดรฯ และเป็นหัวหน้าคุมทั้งหมดจำต้องตัดสินใจบากหน้าไปขอ helicopter เพื่อที่จะไปรับพวกเรากลับมาส่วนกลาง และได้ helicopter เครื่องใหญ่พอที่จะนำแพทย์และผู้ป่วยที่เป็น ตำรวจที่ถูกยิงกลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอุดรฯ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือหาที่ลงลำบาก และผมรู้สึกหวาดเสียวว่าเครื่อง helicopter จะไปเกี่ยวกับสายไฟที่ระโยงระยาง และต้นไม้ที่อยู่รอบข้าง โชคดีที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ เครื่อง helicopter ได้ขึ้นลงโดยไม่มีปัญหาและได้รับพวกเราและคนไข้กลับไปอุดรฯ ได้โดยสวัสดิภาพ มีหลายครั้งที่พวกเราได้เสี่ยงชีวิตกับการบินขึ้นลงของ helicopter ต่างชนิดที่เสี่ยงลงตามที่ต่างๆ เพื่อไปออกตรวจผู้ป่วยในสถานที่ที่ยังมีการลอบยิงกันอยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ตามภายใต้การนำของอาจารย์หมอเปรม พวกเราได้ทำประโยชน์อย่างมากมายให้กับชาวอุดร ได้ช่วยชีวิตคนนับจำนวนไม่ถ้วน และ ได้ประสพการณ์กับการแพทย์ การอนามัย ในท้องที่กันดาร และผมเชื่อว่าประสพการณ์ที่ได้นั้น มีผลส่งต่อมาหลายอย่างที่ทำให้พวกเราหลายคนในโรงเรียนแพทย์มีสายตาที่กว้างขึ้นและเริ่มมองเห็นความสำคัญของการแพทย์ต่อการพัฒนาชุมชน ได้มีโครงการที่มีประโยขน์เกิดขึ้นมาเพราะประสพการณ์ที่ได้จากโครงการศิริราช/อุดรนี้หลายโครงการดังจะได้บรรยายต่อไป
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไปในศิริราชก็คือหลัง จากที่โครงการได้ดำเนินไปได้พักหนึ่งก็ได้เกิดการอภิปรายขึ้นครั้งใหญ่โดยที่ผู้วิจารณ์ที่มีวาทศิลป์ดีหลายท่านได้อภิปราย ซึ่งเป็นสำนวนของคนที่ reactive เช่น ทำไมเราไปทำหน้าที่ของคนอื่น เช่น กระทรวงสาธารณสุข ของฝ่ายบ้านเมือง-เราเป็นโรงเรียนแพทย์เราทำหน้าที่ของเราดีอยู่แล้วหรือแต่ความจริงที่ทุกคนทราบแต่ไม่กล้าพูดออกไปชัดๆ ก็คือ มีหมอที่ทำคลินิกนอกเวลาไม่ใช่น้อยที่ไม่อยากทิ้งรายได้จากคลินิกไปอุดรฯ เป็น " us, who? If not now, when? " ถ้าหากไฟจะไหม้บ้านเราจะไม่ช่วยดับไฟแต่มัวเอาแต่จะกวาดบ้านอยู่ได้อย่างไร เนื่องจากอาจารย์หมอเปรม นิ่งอยู่ไม่ยอมตอบ ทุกคนจึงนิ่งตามและปล่อยให้เกิด การวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบไปหมด แต่ผมเองอดนิยมและชมเชยอาจารย์หมอเปรมอย่างมากที่ท่านมีความอดกลั้นและไม่ยอมตอบโต้ด้วยวาทศิลป์ เพราะปัญหาของบ้านเมืองในขณะนั้นไม่สามารถจะโต้แก้ด้วยวาทศิลป์ หากแต่จะต้องแก้ด้วยการกระทำเท่านั้น แต่ในที่สุดทุกคนก็เห็นในเวลาต่อมาว่าสิ่งที่ท่านได้ทำนั้นถูกต้องอย่างไม่มีข้อสงสัย
ทำไมผมจึงยกย่องให้อาจารย์หมอเปรมเป็นศัลยแพทย์ตัวอย่างที่มี proactivity สูงสุด ผมยกย่องท่านก็เพราะว่าในเวลานั้นบ้านเมืองกำลังระส่ำระสาย และโดยที่ไม่มีใครให้คำสั่ง อาจารย์หมอเปรมได้ เลือก หาวิธีที่จะช่วยประเทศชาติ และได้ลงมือทำงานที่มีประโยชน์ รับเป็นผู้อำนวยการโครงการศิริราช/อุดร ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลาสมควร ทั้งๆที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ก็ไม่ยอมถอย ผมมีความเห็นว่าถ้าประเทศเราที่อยู่รอดได้นั้นก็เพราะมีคนอย่างอาจารย์หมอเปรมที่ได้เลือกที่จะ care. เลือกที่จะทำ และเลือกที่จะรับผิดชอบโดยที่ไม่ต้องให้ใครมาสั่ง. และนอกจากนั้นโครงการศิริราช/อุดรยังเป็นโครงการที่ให้ประสพการณ์กับผู้ที่ได้ร่วมปฏิบัติการ ในเรื่องการแพทย์และการพัฒนาชนบทในท้องถิ่นที่ยากไร้ และในส่วนตัวของผมเองได้เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ทำงานในลักษณะเดียวกันในระยะเวลาต่อมาอีกหลายโครงการ รวมถึงการสอนให้นักศึกษาแพทย์มีความสนใจใน community medicine ผมจึงได้นำทีมแพทย์อาสาสมัครจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ภายใต้การสนับสนุนของ Rotary ดุสิต นำเอาทีมแพทย์ ทันตแพทย์ นักศึกษาแพทย์ และพยาบาลไปตั้งหน่วยตรวจรักษาคนไข้ โดยมีอาจารย์ทันตแพทย์พิทักษ์ ไชยเจริญ เป็นผู้ช่วยที่เข้มแข็งร่วมกับเภสัชกรของโรงพยาบาล คุณมยุรี เสรีโรดม เป็นกำลังสำคัญอีกผู้หนึ่ง และมีเจ้าหน้าที่ภาควิชาศัลยศาสตร์คือคุณลดาวัลย์ นาคคล้าย (มีศีล) เป็นผู้จัดการติดต่อ และได้ไปปฏิบัติการต่อเนื่องเดือนละครั้งทุกเดือนเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม นอกจากนี้แล้วเมื่อผมได้เป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ริเริ่มทำโครงการส่งเสริมการศึกษาสำหรับชาวชนบทของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีคุณพรรณี3 ตันสกุล หัวหน้ากองกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ช่วยที่เข้มแข็ง โครงการนี้เป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่รับนักศึกษามาจากสถานที่ที่เขา จะไปอยู่จริงๆโดยที่ไม่ต้องผ่านการสอบคัดเลือก โครงการแพทย์นี้ได้ดำเนินอยู่สิบปีเต็มและได้ผลิตแพทย์ออกไปมากกว่าห้าร้อยคน ในระยะต่อมาก็มีมหาวิทยาลัยอื่นได้ใช้วิธีเดียวกันนี้ผลิตแพทย์ในลักษณะคล้ายกัน ความดีที่ได้จากโครงการนี้ในฐานะที่ผมได้เป็นผู้อำนวยการโครงการมาโดยตลอด ผมขอกราบมอบให้กับอาจารย์หมอเปรมที่ได้ให้ผมมีโอกาสสัมผัสกับชนบทในโครงการศิริราช/อุดร และได้ปลูกฝังความรักชนบท และการทำ community development ให้กับผม
(ตอนที่ 2 อ่านต่อฉบับหน้า)
สิระ บุณยะรัตเวช พ.บ.,ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี,มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 16,227 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้