ในปี พ.ศ. 2523 กองระบาดวิทยาได้รับรายงานโดยโทรสารจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรีว่ามีการระบาดของโรคผิวหนังเป็นแผล ในชาวบ้านจำนวนมาก ขอให้ส่งนักระบาดวิทยาไปช่วยสอบสวนหาสาเหตุของโรค และแนะนำวิธีการควบคุม/ป้องกันการระบาดของโรค.
ความจริงแล้วก่อนหน้านั้น 1 เดือน ได้มีการสอบสวนการระบาดของโรคแผลที่มีลักษณะเรื้อรังแล้วครั้งหนึ่งที่จังหวัดนครปฐม ชาวบ้านเรียกแผลชนิดนี้ว่า " แผลปากหมู " ซึ่งนับว่าน่าทึ่งในภูมิปัญญาชาวบ้าน อาจจะเป็นเพราะว่าลักษณะของแผลส่วนใหญ่จะมีลักษณะกลม ปากแผลมีขอบนูนโดยรอบขึ้นมาชัดเจน ทำให้มองดูลักษณะคล้ายปากหมูก็เป็นได้ แต่อันที่จริงคล้ายส่วนที่เป็นจมูกหมูมากกว่า. ลักษณะพิเศษของแผลนี้ก็คือแม้ว่าระยะเวลาของการเป็น แผลประมาณ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น แต่อาการแสดงออกเป็นเหมือนแผลเรื้อรังที่เป็นมานานนับเดือน และมักก่อให้เกิดการระบาดขนาดใหญ่เช่นที่พบในจังหวัดนครปฐมและในอีกหลายจังหวัดในภาคกลาง.
ในจังหวัดนครปฐมเองครั้งนั้นมีการคาดประมาณว่าอาจมีผู้ป่วยถึง 1,000 ราย เป็นในกลุ่มชาวสวน หรือลูกหลานของชาวสวน เนื่องจากแผลนี้มักเป็นที่บริเวณเท้าหรือขาบริเวณใต้หัวเข่าลงมาทำให้ชาวสวนมีความลำบากมากในการประกอบอาชีพ.
การศึกษาที่ผ่านมามักจับตัวผู้ร้ายไม่ได้เพราะตัวอย่างที่เก็บมาตรวจโดยเฉพาะแผลที่ผิวหนังมักจะมีการปนเปื้อนสูงมากจนทำให้ยากแก่การแปลผลหรือแปลไม่ได้เลย. ดังนั้นเมื่อมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังดูแลเรื่องการตัดชิ้นเนื้อ การเก็บตัวอย่างหนองส่งเพาะเชื้อก็ทำให้มีโอกาสสูงขึ้นในการจับตัว ผู้ร้ายตัวจริงได้.
ทีมแรกที่เข้าไปในพื้นที่ที่สงสัยมีการระบาด คือทีมนักวิชาการระบาดวิทยาดำเนินการสำรวจหาผู้ป่วย และจัดทำแผนที่หมู่บ้าน (ภาพที่ 1) เพื่อช่วยการพิจารณาการกระจายตัวของจำนวนผู้ป่วยละเอียดถึงระดับครัวเรือน ทำให้ภายหลังนักระบาดวิทยาสามารถนำมาวิเคราะห์หาอัตราป่วย และวิเคราะห์หาการกระจายตัวของโรคตามข้อมูลบุคคล เวลาและสถานที่ และหาความสัมพันธ์ของโรคกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่อาชีพ การเกิดบาดแผลมาก่อนเกิดแผลปากหมู การสวมรองเท้า เป็นต้น.
ผลการศึกษาสรุปได้ว่าแผลปากหมูมีขอบเขตการระบาดเป็นวงกว้างคลอบคลุมถึง 6 หมู่บ้าน ของ 2 อำเภอ. การศึกษาโดยละเอียดได้ทำในหมู่บ้านหนึ่งพบอัตราป่วยที่สูงมากถึงร้อยละ 35 หมายถึงว่าประชาชนในหมู่บ้าน 100 คนมีคนที่ป่วยด้วยโรคแผลปากหมูถึง 35 คน เป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและป่วยในกลุ่มเด็กนักเรียนมากที่สุด. ผู้ป่วยหลายรายมีแผลมากกว่า 1 แผล แผลส่วนใหญ่เป็นที่ขาใต้หัวเข่าลงมา (ภาพที่ 2.) การระบาดครั้งนี้เป็นต่อเนื่องอยู่หลายเดือนในฤดูฝน. ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การมีแผลมาก่อนจากตุ่มน้ำใสหรือบาดแผลจากอุบัติเหตุหรือการถูกบาด การเพาะเชื้อพบแบคทีเรียที่คาดว่าจะเป็นสาเหตุเรียกว่า โครีนแบคทีเรียมไพโอจีเนส (Corynebacterium pyogenes) และการศึกษาในสัตว์ทดลองก่อนหน้านี้พบว่าเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ทำให้เกิดแผลคล้ายกันนี้ในกระต่าย. นอกจากนี้ในช่วงของการสำรวจพบว่ามีแมลงหวี่จำนวนมากตอมแผลแม้ว่าจะไม่สามารถแยกเชื้อชนิดเดียวกันจากแมลงหวี่ได้ เพราะมีการปนเปื้อนมาก. แต่ก็เป็นไปได้ว่าแมลงหวี่อาจเป็นพาหะในการนำเชื้อจากคนหนึ่ง ไปสู่อีกคนหนึ่งได้. นอกจากนี้ได้มีการทดลองเปรียบเทียบการรักษาโดยใช้ยาแดงใส่แผลสดที่ผู้ป่วยสามารถ ทาได้เองเปรียบเทียบกับการที่ผู้ป่วยต้องมาล้างแผลด้วยน้ำเกลือสะอาดที่สถานีอนามัยซึ่งเป็นภาระหนักของเจ้าหน้าที่เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมาก พบว่าอัตราการหายไม่แตกต่างกัน. และหากใช้ยาแดงทาแต่เนิ่นๆ หลังจากมีแผลเกิดใหม่ก็จะป้องกันการกลายเป็นแผลปากหมูได้เป็นอย่างดี ข้อแนะนำที่ใช้ในการรักษาจึงเปลี่ยนเป็นการใช้ยาแดงใส่แผลสดโดยผู้ป่วยใช้ได้เอง และการควบคุมโรคโดยการกำจัดแมลงหวี่ก็ทำให้โรคถูกกำจัดไป.
บทความต้นเรื่องตีพิมพ์ในวารสารแพทย์ตามเอกสารอ้างอิง Renoo Kotrajaras and Khanchit Limpakarnjanarat.Epidemic Leg Ulcers in Thailand.Southeast Asia J Trop Med Public Helath 1982 Dec; 13(4) :568-574
ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์ พบ.,M.P.H. โครงการโรคติดเชื้อยุคใหม่ ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณะสุข
- อ่าน 8,575 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้