Fuccio L, et al. Meta-analysis: Can Helicobacter pylori Eradication treatment reduce the risk o for gastric cancer? Ann Intern Med 2009; 151:121-8.
เชื้อ Helicobacter pylori เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร องค์กร International Agency for Research on Cancer จัดให้ H. pylori เป็นตัวก่อมะเร็งกระเพาะอาหารกลุ่มที่ 1 คำถามต่อมาคือว่าการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อนี้จะช่วยลดความเสี่ยง ต่อมะเร็งได้หรือไม่ เป็นคำถามที่งานวิจัยเชิงทดลองหลายงานที่ผ่านมาได้พยายามแต่ยังไม่มีข้อสรุปชัด. การศึกษา meta-analysis นี้ผู้วิจัยได้ศึกษาทบทวนงานวิจัย randomized controlled trial ที่เปรียบเทียบอุบัติการณของมะเร็งกระเพาะอาหารในผู้ป่วยที่มี H. pylori จากฐานข้อมูล Medline, EMBASE ฯลฯ และนำมาวิเคราะห์แบบ meta-analysis การทดลองรักษาผู้ป่วยที่มีเชื้อ H. pylori.
ผลการศึกษา พบว่ามีงานวิจัย 7 งาน ที่เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ให้ยากำจัดเชื้อกับกลุ่มที่ไม่ให้ยากำจัดเชื้อ. การติดตามผู้ป่วยมีระยะเวลา 4-10 ปี โดยสรุปพบว่า กลุ่มที่รักษา H. pylori เกิดเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ร้อยละ 1.1(37/3388) ในขณะที่กลุ่มไม่ได้รักษามีร้อยละ 1.7 (56/3307) คิดเป็นอัตราเสี่ยง 0.65 ( RR 0.65 95% CI 0.43, 0.98).
ในจำนวนการศึกษา 6 งาน เป็นการวิจัยในประชากรชาวเอเชียซึ่งมีอุบัติการณ์ของมะเร็งกระเพาะอาหารค่อนข้างสูง. ยาที่ใช้ในการรักษา H. pyroli ได้แก่ยา amoxicillin, proton pump inhibitor, และ clarithromycin หรือ metronidazole ผลการรักษาสามารถกำจัดเชื้อได้ร้อยละ 73-89 ในกลุ่มรักษา และได้ร้อยละ 5-15 ในกลุ่มควบคุม.
สรุป การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการรักษากำจัดเชื้อ H. pyroli น่าจะลดความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหาร การศึกษานี้ทำในคนเอเชีย ผู้วิจัยเอง คิดว่ามีข้อจำกัดในการนำไปใช้กับประชากรอื่น จึงอาจต้องมีการศึกษาเพิ่ม แต่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากเพราะจะมีปัญหาด้านจริยธรรมในกลุ่มควบคุมที่ไม่รักษาการติดเชื้อ ประเด็นการศึกษาเพิ่มเติมที่น่าสนใจ อาจค้นหาว่าผู้ป่วยกลุ่มใดและปัจจัยใดที่จะทำให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์จากการรักษาเพื่อป้องกันมากที่สุด.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D.
รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน,
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี,
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 7,753 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้