นายแพทย์ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ เป็นแพทย์รุ่นใหม่ที่รักการทำงานในชนบท และทุ่มเททำงานเพื่อชาวบ้านที่ยังขาดโอกาสที่ดีในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ทั้งอุปกรณ์และบุคลากรแพทย์
ผมเป็นคนชนบทแต่กำเนิด จบประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านสองห้องฯ อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน เรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย ไม่ใช้คำว่าจบเพราะว่าเรียนแค่ 4 ปี (จบ ม.2 สอบเทียบเข้า ม.4 ได้และพอจบ ม.5 ก็สอบเข้าเรียนแพทย์ศิริราชได้)
ผมจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลรุ่นที่ 108 มหาวิทยาลัยมหิดล (เกียรตินิยม อันดับ 2) หลังจากเรียนจบแพทย์แล้วก็ได้ไปใช้ทุน ปีแรกผมเพิ่มพูนทักษะที่โรงพยาบาลยโสธรซึ่งเป็นโรงพยาบาลจังหวัด จากนั้นปีที่สองจึงไปอยู่โรงพยาบาลทรายมูล จังหวัดยโสธร ปีที่สาม โรงพยาบาลท่าแซะ จังหวัดชุมพร ปีที่สี่จนถึงปัจจุบัน (ปีที่ห้า) ประจำที่โรงพยาบาลบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
อดแปลกใจไม่ได้ว่าบัณฑิตที่มีเกียรตินิยมห้อยท้าย เหตุไฉนจึงตัดสินใจมาทำงานในต่างจังหวัด ไม่ลาออกจากการใช้ทุนแล้วไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนที่ได้ค่าตอบแทนสูงกว่า และกำลังเป็นกระแสของบัณฑิตแพทย์รุ่นใหม่ ซึ่งคุณหมอก็ให้ความกระจ่างว่า ที่ผมยังคงทำงานในต่างจังหวัดเพราะชอบ รู้สึกไม่วุ่นวาย และอากาศก็ดี ประกอบกับภรรยาผมก็ชอบชีวิตชนบทเช่นกัน
การเป็นแพทย์ทั่วไปในโรงพยาบาลชุมชน หลายคนอาจมองเป็นเรื่องง่าย แต่ความจริงแล้วยากมาก เพราะเราคือด่านหน้าที่ต้องพบคนไข้หลากหลายอาการ ฉะนั้นเราต้องมีความรู้กว้างมากๆ เพื่อที่จะวินิจฉัยได้ว่าคนไข้แต่ละคนป่วยเป็นโรคอะไร แล้วก็ส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง แพทยสภาได้เคยจัดอันดับให้แพทย์กลุ่มนี้ เป็นแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องสูงเป็นอันดับต้นๆ แต่ผมคิดว่าถ้าเรามีความรู้จริง รู้จักสื่อสารกับชาวบ้าน และสร้างความศรัทธา ก็จะช่วยป้องกันการถูกฟ้องร้องได้ อย่างผมบางครั้งก็เกิดความผิดพลาด แต่ผมมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน ทำให้พวกเขาเข้าใจ ผมมองว่าการที่เราสามารถปฏิสังคมได้ดี จะทำให้คนรักเรา ตรงนี้จะเป็นพลังอย่างหนึ่งให้เราหลุดพ้นจากการถูกฟ้องร้อง แต่ความรู้ต้องเป็นตัวหลัก
นอกจากการตรวจรักษาคนไข้ทั่วไปแล้ว ผมยังสนใจเรื่องการดูแลผู้ป่วยเอดส์ เพราะพื้นที่แถวนี้เป็นพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากชาวบ้านจำนวนมากประกอบอาชีพประมง หน้าที่การตรวจรักษาจะเป็นของภรรยาผม ส่วนผมดูแลเรื่องการหาข้อมูลการรักษาใหม่ๆ และตอนนี้ผมกำลังผลักดันโครงการก่อสร้างอาคารดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจร
ส่วนสาเหตุการเขียนคอลัมน์เล่าสู่กันฟัง (ประวัติศาสตร์ทางการแพทย์) และคำคมทางการแพทย์นั้น เพราะผมสนใจเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์อย่างประวัติศาสตร์มันเกี่ยวข้องกับคนที่ค้นพบ ซึ่งคนเหล่านี้มีความน่าสนใจตรงที่เราสามารถนำจุดดีของเขามาเป็นแบบอย่าง ส่วนเรื่องคำคมนั้นจุดเริ่มต้นเกิดจากความประทับใจในพระดำรัสของพระบิดาที่ว่า "ฉันไม่อยากให้เธอเป็นหมออย่างเดียว แต่อยากให้เป็นคนด้วย" คำคมแม้เป็นเพียงประโยคสั้นๆ แต่ความหมายกลับลึกซึ้งกินใจ เมื่อพบข้อความที่มีความหมายดีจึงหมั่นจดบันทึกไว้
ก่อนลาได้ทิ้งท้ายคำถามถึงผลตอบแทนที่ได้รับจากการเป็นหมอ ซึ่งในความคิดของคุณหมอนั้นอย่างแรกแน่นอนคือเงินเดือนที่ดีในระดับหนึ่ง และนอกเหนือไปกว่านั้นคือความรักความกลมเกลียวที่ได้จากชาวบ้าน "เรารู้สึกว่าได้กลับมาเยอะ เพราะในอำเภอเรา รู้จักกันหมด ถ้าอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ ความสัมพันธ์ตรงนี้อาจจะน้อย มีเหตุการณ์ที่ผมประทับใจมากคือ วันหนึ่งผมจะกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ก็มีชาวบ้านเข้ามาถามว่าอยากได้ของฝากไหม เดี๋ยวจะหามาให้ แค่นี้เราก็รู้สึกประทับใจแล้ว"
ชีวิตการทำงานที่ทุ่มเทเพื่อชาวบ้านของคุณหมอ ทำให้นึกถึงพระดำรัสของพระบิดาที่ว่า "True success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind
ความสำเร็จมิใช่อยู่ที่การเรียนรู้เท่านั้น หากแต่เป็นการนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์"
- อ่าน 4,000 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้