"หลายคนมองว่ามาอยู่ที่นี่จะไม่มีความก้าวหน้า แต่ผมไม่ยึดติดกับความก้าวหน้าตามแบบแผน มองว่าการได้ทำงานที่มีคุณค่าไปพร้อมๆ กับสร้างความสุขได้ คือความก้าวหน้าอีกแบบหนึ่ง การอยู่ในอนามัยเล็กๆ มีสิ่งให้เรียนรู้และทดลองมากมาย และการมีชีวิตที่สมถะก็สามารถพัฒนาตนเองได้เช่นเดียวกัน"
ด้วยฐานความคิดอันมั่นคงเช่นนี้ สถานีอนามัยตำบลพรุใน ซึ่งอยู่ท่ามกลางความสงบ และงดงามบนเกาะยาว จังหวัดพังงา จึงมีโอกาสได้ต้อนรับหมอหนุ่มที่เพิ่งจบการศึกษา สาขาเวชศาสตร์ครอบครัวจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ชื่อ "หมอนิล" หรือ นพ.มารุต เหล็กเพชร
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ชาวบ้านดีอกดีใจกันขนาดไหน ต่างช่วยกันระดมเงินทุนต่อเติมสถานีอนามัยหลังเก่าที่เป็นอาคารไม้หลังเล็กๆ แปลงโฉมเป็นอาคารหลังใหม่ มีห้องตรวจ ห้องคลอด ห้องฉุกเฉิน และห้องพักผู้ป่วยในเป็นสัดเป็นส่วน ด้วยหัวใจที่พองโต เพราะเกิดความอุ่นใจว่า ใกล้บ้านของพวกเขาจะมีสถานบริการทางการแพทย์ ที่ช่วยปัดเป่าความหวาดวิตกในยามป่วยไข้ไม่สบายลงได้เสมอหน้ากับผู้คนบนแผ่นดินใหญ่แล้ว ...
ชาวบ้านเกาะยาวที่มีประมาณ 8,000 คนนั้นกว่า ร้อยละ 90 เป็นชาวมุสลิม ทำอาชีพประมงและเกษตรกรรม เช่น สวนยางพารา มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ ในยามเจ็บป่วยพวกเขาลำบากอย่างยิ่ง เพราะต้องหอบหิ้วกันไปหาหมอบนฝั่ง ขณะที่มีเรือวิ่งเพียงวันละ 2 เที่ยว หากเจ็บป่วยยามค่ำคืน ก็ต้องเหมาเรือไปส่งที่โรงพยาบาลเกาะยาวน้อย หรือโรงพยาบาลในเขตจังหวัดพังงาหรือภูเก็ต ถ้ามีอาการหนักก็มีโอกาสจบชีวิตก่อนถึงฝั่ง
ที่พึ่งพิงในยามป่วยไข้สำหรับคนบนเกาะยาว นอกจากหมอ พื้นบ้านก็คือ สถานีอนามัย 3 แห่ง ที่มีขีดความสามารถในการรักษาจำกัด ถึงบางครั้งมีหมอเวียนมาดูแลบ้าง แต่ก็ไม่ช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นและอุ่นใจเท่าไรนัก
อนาคตของคนเกาะยาวและหมอนิลเคลื่อนตัวมาบรรจบกันครั้งแรกตอนที่หมอนิลเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปี 5 และข้ามน้ำข้ามทะเลมาเที่ยวที่นี่
"เห็นแล้วชอบ คิดว่าอยู่ได้ พอปี 6 ต้องเลือกโรงพยาบาลใช้ทุน ก็ขอเลือกมาที่นี่ เพราะบรรยากาศเงียบสงบ ไม่วุ่นวายเหมือนกับอยู่ในเมือง ซ้ำยังได้พักผ่อนตลอดปี เพราะหากเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาล 1 ปี มีวันหยุดแค่ 10 วัน ถึงจะมาพักผ่อนเที่ยวทะเลได้ แต่หากเป็นหมอที่นี่ขี่จักรยานไม่ถึง 2 นาที ก็เห็นทะเลได้พักแล้ว เรียกว่ากำไรชีวิตที่ไม่ต้องดิ้นรน แถมมีเวลาเหลือได้ทำในสิ่งที่ชอบ อย่างการเขียนหนังสือ หรือถ่ายรูป
คนส่วนใหญ่มองว่า เมื่อเรียนแพทย์แล้ว หากไม่ทำงานใช้ทุน ก็เลือกทำงานที่ภาคเอกชนก็ได้ แต่ในความเห็นของผม การได้มาสัมผัสผูกพันกับชาวบ้านในระยะสั้นๆ รู้สึกอยากกลับมาร่วมงานกับทีมงานสุขภาพในปัจจุบันและลงพื้นที่ได้พูดได้คุยกับชาวบ้านรู้สึกว่า อยากทำงาน หากไปอยู่โรงพยาบาล แค่รักษาผู้ป่วย วันๆ หนึ่งก็หมดเวลาแล้ว ไม่ได้เจอผู้คนภายนอก
คนอื่นอาจคิดว่าเป็นแค่หมอบ้านนอก ไม่ได้เป็นอาจารย์แพทย์ แต่ผมมองว่าการเลือกให้ความสุขกับการดำเนินชีวิตมากกว่า นี่ก็พอเพียงแล้วสำหรับชีวิตของคนหนึ่งที่เติบโตบนแผ่นดินไทยได้ชดใช้สังคมในฐานะที่ร่ำเรียนมา" หมอหนุ่มแห่งเกาะยาวเปิดใจ
หมอนิลเล่าถึงปัญหาสาธารณสุขที่นี่ว่า ไม่แตกต่างจากที่อื่นๆ ชาวบ้านป่วยด้วยโรคทั่วไป ซึ่งที่นี่รักษาได้แล้ว ยกเว้นในรายที่มีอาการของโรคซับซ้อน ต้องส่งต่อโรงพยาบาล ซึ่งนานๆ จะมีสักครั้ง โดยจากสถิติของที่นี่ ในผู้ป่วย 1,000 ราย จะมีเพียงแค่รายเดียวที่ต้องส่งต่อ
แต่จำนวนผู้สูงอายุที่มีมากคือ ประมาณ 400 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์ และอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองอยู่จำนวนหนึ่ง ดังนั้น เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยทั่วถึงและต่อเนื่อง จึงได้เริ่มทำทีมสุขภาพเพื่อออกไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย โดยตอนนี้ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทีมสุขภาพได้แนะนำและดึงอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) มาร่วมเป็นเครือข่ายดูแลผู้ป่วย โดยใช้หลักการเวชศาสตร์ครอบครัวมาปฏิบัติตาม ที่ได้เรียนมา
ความใฝ่ฝันของหมอนิลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสุขภาพแก่ชาวเกาะยาวให้สมกับความเอื้ออาทรและความอบอุ่นที่ได้รับตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ขยับไปข้างหน้าได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น เมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ให้งบบริหารจัดการเพิ่มเติมในปี 2550 เพื่อยกระดับสถานีอนามัยตำบลพรุในให้เป็น "ศูนย์แพทย์ชุมชนพรุใน" ทำให้มีเงินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 60,000 บาท สามารถช่วยผู้ป่วยให้เข้าถึงบริการได้มากขึ้น
การที่หมอนิลยืนหยัดปักหลักใช้ชีวิตอย่างสมถะที่นี่ คือจุดได้เปรียบกว่าที่อื่น เพราะไม่ต้องจ้างหมอ จึงสามารถนำเงินไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ทั้งการจัดทีมออกเยี่ยมบ้าน และเพิ่มเติมผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่จำเป็น ทั้งนักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา รวมถึงการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน ที่ทำร่วมกับ อบต. และเครือข่าย
"สำหรับที่นี่ การทำกายภาพบำบัดเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเมื่อชาวบ้านป่วยเป็นอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้วก็ต้องกลับบ้าน ก็มักไม่ได้ทำการบำบัดเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยต่อ เพราะที่นี่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลมาก เป็นเรื่องลำบาก เพราะผู้ป่วยก็ช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วยังต้องขึ้นรถลงเรือ ดังนั้นหากเราช่วยให้ทำกายภาพบำบัดได้ที่นี่ คงจะดีกว่า"
"ตอนนี้ที่นี่มีผู้พิการ 85 คน ในจำนวนนี้ 40 คน ป่วยเป็นอัมพาต แต่ยังไม่มีนักกายภาพบำบัดมาประจำ จึงมีแนวคิดที่จะสร้างคนของเราขึ้นมาเอง เช่นเดียวกับนักจิตวิทยา เพราะที่นี่ผู้ป่วยจิตเวชมีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากเหตุการณ์สึนามิ ตอนนี้มีคนที่ต้องไปรับยาที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต 33 ราย และยังมีกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการบำบัดจากปัญหาความเครียดและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย"
นอกจากนี้ ศูนย์แพทย์ชุมชนโดยการนำของหมอนิล อดีตเด็กกิจกรรมเก่าสมัยเป็นนักศึกษายังสนับสนุนเรื่องจิตอาสา โดยนำนักเรียน เข้ามีส่วนร่วมช่วยดูแลผู้ป่วยช่วงคลินิกความดันโลหิตสูง และออกไปช่วยรณรงค์ให้ชาวบ้านหันมาออกกำลังกายเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ทำให้ผู้สูงอายุที่นี่ได้ยืดเส้นยืดสายมากกว่าเดิม
"ผมให้ความสำคัญกับทีมสุขภาพ พยายามทำให้เป็นทีมสุขภาพที่เข้มแข็ง เพราะที่นี่มีหมอแค่คนเดียว และผมต้องเวียนตรวจสถานีอนามัย 3 แห่งบนเกาะ ดังนั้นถึงไม่เจอหมอ ทีมสุขภาพก็สามารถดูแลได้ และต้องไม่ทำให้คนไข้ติดหมอ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นเท่ากับว่าหมอยังทำงานไม่เป็น แต่หากผู้ป่วยคิดว่าที่นี่เป็นหมอทุกคนจะดีกว่า และโดยธรรมชาติผู้ป่วยจะดูแลตัวเองก่อน ที่ผ่านมาในผู้มารับบริการที่ศูนย์แพทย์ฯ 1,000 คน มี 200 คนที่ต้องเจอหมอ และมีเพียงรายเดียวที่ต้องส่งต่อไปโรงพยาบาล"
บนเกาะอันเงียบสงบ แม้นดูเหมือนทุกสิ่งหยุดนิ่ง แต่แท้ที่จริงกลับมีความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ... อย่างน้อยที่สุดก็คือ ประชาชนที่นี่มีโอกาสได้สัมผัสถึงความอุ่นใจและรู้สึกมั่นคงต่อการมีชีวิตอยู่มากขึ้น
ด้วยพลังที่เกิดจากหัวใจของหมอหนุ่มวัยยี่สิบปลายๆ ผู้รักความสมถะคนนี้
- อ่าน 4,295 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้