ซาร์ส (SARS) เป็นคำที่ทำให้ทุกคนในโลกขวัญกระเจิงมาแล้ว วันนี้ผมจะขอนำทุกท่านกลับไปสู่เหตุการณ์นั้นอีกครั้งหนึ่ง.
ปอดบวม (pneumonia) เป็นโรคหนึ่งของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่สำคัญคือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส.
16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 ถึง 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003 ประเทศจีนรายงานว่าที่มณฑลกวางตุ้งเกิดการระบาดของโรคปอดบวมโดยมีผู้ป่วยถึง 305 ราย เสียชีวิต 5 ราย ผลการชันสูตรศพพบว่า 2 รายเป็นปอดบวมจากเชื้อ Chlamydia pneumoniae.
นายแพทย์หลิว เจี้ยนหลุนวัย 64 ปีศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยซงซานในเมืองกวางเจาทางภาคใต้ของจีนเริ่มรู้สึกไม่สบายเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2003 แต่ยังสามารถเดินทางไปร่วมงานมงคลสมรสของญาติที่ฮ่องกงได้โดยเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ วันที่ไปถึงน้องเขยวัย 53 ปีชาวฮ่องกงมาต้อนรับและพาออกไปเที่ยวชมเมือง.
22 กุมภาพันธ์ นายแพทย์หลิวอาการทรุดหนักลง ระบบหายใจล้มเหลวจนต้องเข้ารักษาตัวในห้อง ICU ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เขาเปิดเผยว่าที่เมืองกวางเจามีผู้ป่วยเป็นปอดบวมเสียชีวิตหลายสิบราย นอกจากนี้แพทย์ในโรงพยาบาลยังป่วยและเสียชีวิตด้วย ทำให้ทราบข้อมูลที่แท้จริงของจีนว่าน่าจะมีการระบาดมากกว่าที่รายงานต่อองค์การอนามัยโลก.
23 กุมภาพันธ์ จอห์นนี่ เฉิน นักธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายจีนวัย 48 ปีเดินทางจากอเมริกามาทำธุรกิจที่เซี่ยงไฮ้โดยเข้าพักที่โรงแรมเดียวกับนายแพทย์หลิว ต่อมาก็ไม่สบายเช่นกันแต่ยังคงเดินทางไปทำธุรกิจต่อที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม.
26 กุมภาพันธ์ จอห์นนี่ เฉิน อาการหนักขึ้นจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่กรุงฮานอย.
28 กุมภาพันธ์ น้องเขยของนายแพทย์หลิวไม่สบายหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเช่นกัน.
3 มีนาคม นายแพทย์หลิวถึงแก่กรรม วันเดียวกันนี้เอง จอห์นนี่ เฉินอาการทรุดลงอย่างมากจึงถูกส่งตัวมารักษาต่อที่ฮ่องกง.
ต่อมาบุคลากรในโรงพยาบาลทั้งที่ฮ่องกงและ กรุงฮานอยต่างก็เริ่มป่วยและบางรายเสียชีวิต นายแพทย์คาร์โล เออร์บานิ แพทย์ชาวอิตาลีวัย 47 ปี นักระบาดวิทยาประจำสำนักงานองค์การอนามัยโลกที่เวียดนามได้เข้าไปสอบสวนโรคในกรุงฮานอย.
10 มีนาคม นายแพทย์คาร์โล เออร์บานิเริ่มไม่สบายและรู้ตัวว่าคงติดโรคนี้เข้าแล้วจึงขอเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย.
11 มีนาคม นายแพทย์คาร์โล เออร์บานิเดินทางมาโดยสายการบินไทยเที่ยวบินพิเศษที่ TG685 และกระทรวงสาธารณสุขของไทยจัดให้พักอยู่ในห้องกักกันโรคของสถาบันบำราศนราดูร.
12 มีนาคม องค์การอนามัยโลกแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังโรคระบาดชนิดใหม่นี้โดยตั้งชื่อว่า กลุ่มอาการ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส์ (SARS: Severe Acute Respiratory Syndrome).
13 มีนาคม จอห์นนี่ เฉินถึงแก่กรรมที่ฮ่องกง.
เนื่องจากโรคนี้แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วและไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ ดังนั้นไม่น่าจะเป็นการระบาดจากเชื้อ Chlamydia pneumoniae หรือเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ความสนใจจึงพุ่งไปที่ไวรัส.
17 มีนาคม มีรายงานจากเยอรมันและฮ่องกงว่าตัวอย่างจากช่องหลังโพรงจมูก (nasopharynx) เมื่อตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนพบอนุภาคคล้ายพารามิกโซไวรัส (paramyxovirus-like particle) และ John Tam หัวหน้าศูนย์ไวรัสแห่งโรงพยาบาล Prince of Wales ในฮ่องกงพบ paramyxovirus ในผู้ป่วย SARS ถึง 25 รายจาก 53 ราย ทำให้เชื่อกันว่าสาเหตุของโรคเกิดจาก paramyxovirus.
19 มีนาคม น้องเขยของนายแพทย์หลิวถึงแก่กรรมที่ฮ่องกง.
ประเทศไทยส่งตัวอย่างจากนายแพทย์คาร์โล เออร์บานิไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) 22 มีนาคม CDC ประกาศว่าแยกได้เชื้อกลุ่ม coronavirus จากตัวอย่างที่ส่งมาจากประเทศไทยและตั้งชื่อว่า SARS-coronavirus (SARS-CoV) สายพันธุ์เออร์บานิ.
29 มีนาคม นายแพทย์คาร์โล เออร์บานิถึงแก่กรรมในประเทศไทย.
การที่นายแพทย์ท่านนี้เข้ามาพักในประเทศไทย เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ไทยตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างมากและมีการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดจึงไม่มีการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทย.
16 เมษายน Albert Osterhaus และคณะจากศูนย์การแพทย์ Erasmus มหาวิทยาลัย Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ทำการทดลองในลิงตาม Koch's postulate ยืนยันว่า coronavirus เป็นสาเหตุของ SARS ไม่ใช่ Paramyxovirus อย่างที่เข้าใจในตอนแรก.
27 เมษายน รัฐบาลจีนระดมคนงานกว่า 7,000 ชีวิตสร้างโรงพยาบาล Xiaotangshan ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 1,000 เตียงขึ้นในกรุงปักกิ่งเพื่อรับดูแลผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะ สร้างแล้วเสร็จและสามารถรับผู้ป่วยได้ในเวลาเพียง 7 วันหลังเริ่มก่อสร้าง.
24 พฤษภาคม นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงทำการวิจัยเพาะเชื้อจากสัตว์ชนิดต่างๆ ที่มีจำหน่ายเพื่อบริโภคในภาคใต้ของจีน พบว่าชะมด Paguna larvata มีเชื้อไวรัสที่คล้ายคลึงกับ SARS-CoV มาก เป็นไปได้ว่า SARS อาจจะมีต้นตอมาจากชะมด.
จากความร่วมมือร่วมใจกันทำให้โลกเราสามารถควบคุมโรคนี้ได้ในเวลาไม่นานนัก การระบาดในครั้งนั้นองค์การอนามัยโลกสรุปว่าพบผู้ป่วยใน 30 กว่าประเทศรวมทั้งสิ้น 8,437 ราย เสียชีวิต 813 ราย (ประเทศไทยมีผู้ป่วย 6 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยทุกคนติดเชื้อมาจากต่างประเทศ).
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังคงค้นคว้าวัคซีนเพื่อใช้ป้องกันโรคนี้กันอยู่ เพราะไม่รู้ว่ามันจะหวนกลับมาเขย่าโลกอีกเมื่อไหร่.
"ถ้าคุณอยากเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวันนี้ คุณต้องค้นหาอดีตของมัน"
Pearl Buck กล่าวไว้ว่า "ถ้าคุณอยากเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวันนี้ คุณต้องค้นหาอดีตของมัน" ประวัติศาสตร์มีเพียงหนึ่งเดียว แต่บันทึกทางประวัติศาสตร์นั้น มีเยอะ บางอย่างก็ไม่ตรงกัน ความพยายามรวบรวมจากหลายแหล่ง เพื่อหาข้อสรุปช่วยให้เราเข้าใกล้ "หนึ่งเดียว" นั้นมากขึ้น
ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.
โรงพยาบาลบ้านแหลม, จังหวัดเพชรบุรี
E-mail : [email protected]
- อ่าน 3,456 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้