แม้การทำงานในห้องฉุกเฉินล่อแหลมต่อความเครียดสูง แต่บรรยากาศการพัฒนาคุณภาพงานบริการในโรงพยาบาล ทำให้บุคลากรในห้องฉุกเฉินพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อันเป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่ผลงาน.
ภาพที่ 1. การระบายสีบนเครื่องฉายรังสีเอกซเรย์เป็นรูปยีราฟในโรงพยาบาล.
ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พนักงานรังสีวิทยาระบายสีเครื่องฉายรังสีเคลื่อนที่ จนดูเหมือนดั่งยีราฟ (ดังภาพที่ 1) ทำให้ผู้คนเดินผ่านไปเห็นครั้งใดก็อดยิ้มให้กับความช่างคิดของพนักงานคนนี้ไม่ได้. ความใกล้ชิดกับคนไข้อาจทำให้พยาบาลท่านหนึ่งคิดประดิษฐ์แผ่นไม้ที่มีขาสั้นๆ ยึดขอบเตียงไว้ โดยไม่ต้องมีขาหยั่งสูงๆ เหมือนชนิดที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายและไม่เปลืองพื้นที่จัดเก็บอีกด้วย. ขอเพียงกล้าคิดกล้าทำ คุณค่าของถุงมือก็ถูกขยายต่อเป็นอุปกรณ์บริหารมือให้คนไข้อัมพาตโดยนำถุงมือมาใส่น้ำจนเหมือนลูกโป่ง แล้วให้คนไข้อัมพาตกำเพื่อบริหารมือได้. คนช่างคิด ยังช่วยให้ห้องฉุกเฉินบรรเทาจากการก่อกวนของยุงและแมลงวัน เมื่อเขานำหลอดไฟสีม่วงล่อให้จอมกวนมาพลีชีพตามจุดต่างๆ.
ความคิดดี บางครั้งก็หาได้จากสังคมรอบตัว ดังเช่นคนขับแท็กซี่ท่านหนึ่ง ซึ่งต้องใช้ชีวิตอย่างจำเจภายในรถอันคับแคบท่ามกลางการจราจรที่อันคับคั่งในกรุงเทพมหานคร ได้คิดตกแต่งภายในรถด้วยอาหารกระป๋อง ขนมถุงขบเคี้ยว และน้ำอัดลมกระป๋องต่างๆมากมาย (ดังภาพที่ 2) เพื่อมุ่งหวังให้ตนเองคลายเครียดในขณะขับรถและมีอาหารแก้หิว อีกทั้งเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ตนเองอีกทางหนึ่งด้วย.
ภาพถ่ายทางอากาศอย่างที่เห็นในภาพ ที่ 3 และ 4 ย่อมอธิบายตัวเองได้ดีว่าเจ้าของ ผืนนานี้ ช่างมีหัวศิลปอย่างน่าทึ่ง.
ภาพที่ 2. การตกแต่งสินค้าภายในรถแท็กซี่.
ภาพที่ 3 และ 4 ภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงให้เห็นอารมณ์ศิลปะของเจ้าของที่นา.
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่นำมาฝากในที่นี้ อาจช่วยให้เราเห็นอีกมุมหนึ่งของการสร้างสรรค์ในงานคุณภาพที่ไม่เพียงมีแต่ตัวเลข guideline หรือตัวชี้วัดอันคุ้นเคย (อาจบางทีก็น่าเวียนหัวด้วย).
ถ้าผู้ปฏิบัติงานพัฒนาคุณภาพเข้าไปในงานบริการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องจนกระทั่งกลายเป็นงานประจำแล้ว เชื่อว่าความรู้สึกวิตกกับการตรวจเยี่ยมของบรรดาหน่วยพัฒนาคุณภาพทั้งภายในและภายนอก ก็จะคลายลงมากจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดาในที่สุด.
รพีพร โรจน์แสงเรือง พ.บ., อาจารย์
ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 3,137 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้