ในปัจจุบันพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคจิตในหมู่บ้านชนบทมากขึ้น. ผู้ป่วยเหล่านี้มีปัญหาในการเข้าถึงบริการ เนื่องจากโรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำการวินิจฉัย และให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยจิตเวชได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวชหรือโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปที่มีจิตแพทย์อยู่ประจำ ซึ่งมีอยู่ไม่ครบทุกจังหวัด. มีผู้ป่วยจิตเวชจำนวนไม่น้อยที่ขาดการวินิจฉัยตั้งแต่แรก ส่วนที่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อนก็มักจะขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องหรือขาดยา ทำให้ไม่สามารถควบคุมอาการได้ ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย (ทำงานไม่ได้ ดูแลตัวเองไม่ได้ ถูกกระทำอย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์) ครอบครัว (เป็นภาระที่ต้องดูแลผู้ป่วย ทุกข์ใจ ถูกเพื่อนบ้านรังเกียจเดียดฉันท์ ถูกผู้ป่วยทำร้ายร่างกาย อยู่อย่างหวาดกลัว) และสังคม (หวาดระแวง ขัดแย้งกับผู้ป่วยและครอบครัว).
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสดูแลนักศึกษาแพทย์กลุ่มหนึ่งในการวิจัยปัญหาการเข้าถึงยาของ ผู้ป่วยจิตเภท (schizophrenia) ที่อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี.
โรงพยาบาลท่าหลวงได้มีโครงการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยจิตเวชมาได้ 2 ปี โดยที่ผู้บริหารโรงพยาบาลและทีมพยาบาลที่รับผิดชอบ (ซึ่งมี 2 คนที่จบทางด้านพยาบาลจิตเวช) ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เนื่องจากเคยพบผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกล่ามโซ่อยู่ที่บ้านและเคยมีกรณีผู้ป่วยก่อเหตุร้ายแรง เช่น ทำร้ายครอบครัว จุดไฟเผาบ้าน เป็นต้น.
ทีมงานได้ทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนผู้ป่วยจิตเวชที่มีประวัติเคยรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์ ขอข้อมูลการรักษาจากโรงพยาบาลเหล่านี้ เพื่อให้กลับมาดูแลรักษาที่โรงพยาบาลท่าหลวง โดยที่โรงพยาบาลท่าหลวงได้เชิญจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลพระพุทธบาท มาทำการฝึกอบรมแพทย์และทีมงานให้มีความรู้และทักษะในการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวช. นอกจากการนัดผู้ป่วยจิตเวชมาติดตามดูอาการและจ่ายยาแล้ว ทีมงานยังได้ลงไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยช่วยติดตามผู้ป่วย รวมทั้งฉีดยาจิตเวชให้ผู้ป่วยที่บ้าน (สำหรับในรายที่แพทย์สั่งยาฉีด).
ผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียน กลุ่มใหญ่สุดได้แก่ ผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งมีกระจายอยู่ทุกตำบล รวมทั้งสิ้น 53 ราย.
ในปีแรกๆ ทีมงานได้ติดตามกลุ่มผู้ป่วยจิตเภทเหล่านี้อย่างใกล้ชิด สามารถสนับสนุนให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ควบคุมอาการได้. มีผู้ป่วยชายหนุ่มรายหนึ่งได้รับการดูแลรักษาจนเป็นปกติ ทางโรงพยาบาลก็ได้เชิญชวนให้มาทำงานจิตอาสาที่โรงพยาบาลทุกวันตราบเท่าทุกวันนี้. นับว่าเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการเยียวยาผู้ป่วยจิตเภท จนสามารถฟื้นคืนคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์.
จากการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ในครั้งนี้ พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาอย่างต่อเนื่องจะควบคุมอาการได้ดี และสามารถทำงานอาชีพหรือช่วยงานของครอบครัวได้ดี ผู้ป่วยกลุ่มนี้มัก มีการรับรู้ค่อนข้างมากเกี่ยวกับโรคที่เป็น มีแรงสนับสนุนจากครอบครัว (เช่น เตือนให้ผู้ป่วยกินยา รับยาที่โรงพยาบาลแทนผู้ป่วย) และได้รับการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย (เช่น การเยี่ยมบ้าน การฉีดยาที่บ้าน).
ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับยาไม่ต่อเนื่อง หรือขาดยา ซึ่งช่วงหลังพบจำนวนมากขึ้นกว่าช่วงดำเนินโครงการใหม่ๆ ก็มักจะมีอาการกำเริบ บางครั้งต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์. ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งหยุดยาหรือลดยาเอง เนื่องจากทนต่อผลข้างเคียงของยาไม่ได้ (เช่น ง่วง ซึม คิดอะไรไม่ออก) ส่วนหนึ่งเมื่ออาการดีขึ้นก็คิดว่าหายดีแล้วจึงหยุดยาเอง. ทั้งนี้พบว่า ผู้ป่วยและครอบครัวจะมีการรับรู้เกี่ยวกับโรคที่เป็นค่อนข้างน้อย.
จากตัวอย่างโครงการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยจิตเวชของโรงพยาบาลท่าหลวง ได้สะท้อนว่า โรงพยาบาลชุมชนมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน (ใกล้บ้าน) ซึ่งส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารรถเข้าถึงการรักษาและยาจำเป็น ส่งผลให้ผู้ป่วยควบคุมอาการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้. ทั้งนี้ จำเป็นต้องพัฒนาทีมงาน (แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย) ให้มีความรู้และทักษะในการดูแลรักษาโรคทางจิตเวช การติดตามผลการรักษา การเยี่ยมบ้าน การสนับสนุนบทบาทของครอบครัว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และอบต.ในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย. ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนากลไกเชื่อมต่อกับจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลใหญ่ในการรับการส่งต่อผู้ป่วย การสนับสนุนทางวิชาการและการให้คำปรึกษาทางไกล.
แม้ว่าในระยะสั้นเรายังไม่สามารถกระจายจิตแพทย์ลงสู่ระดับอำเภอ แต่ด้วยการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนและเครือข่ายในชุมชน ให้มีความเข้มแข็งดังกรณีโรงพยาบาลท่าหลวง ก็เชื่อว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่กระจายอยู่ตามหมู่บ้านชนบท จะได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ.
- อ่าน 19,956 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้