ผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และที่สำคัญพบผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุน้อย เพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดให้มีการรณรงค์เพื่อการป้องกันและควบคุมเบาหวานทั่วประเทศเชนโครงการเด็กไทยไม่กินหวาน โครงการขยับกายสบายชีวี โครงการพิชิตอ้วน พิชิตพุง เป็นต้น เนื่องจาก เบาหวานเป็นต้นเหตุของโรคเรื้อรังอันตราย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ตาบอด ไตวายเรื้อรัง การดูแล ผู้ป่วยเบาหวานจึงมีความสำคัญต่อการป้องกันภาวะเสื่อมสภาพของร่างกาย ซึ่งอาจจะลุกลามไปสู่ความพิการและอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยทั่วไปการดูแลรักษาโรคเบาหวานมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 5 ประการ คือ
1. รักษาอาการที่เกิดขึ้นจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
2. ป้องกันและรักษาการเกิดโรคแทรกซ้อนเฉียบพลัน
3. ป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรัง
4. ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงกับคนปกติ
5. สำหรับเด็กและวัยรุ่นให้มีการเจริญเติบโตเป็นปกติ
การตรวจติดตามรักษาผู้ป่วยเบาหวานขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และวิธีการรักษา เพื่อหาความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน และประเมินผู้ป่วยทุกรายว่ามีภาวะหรือโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานหรือไม่ ซึ่งในระยะแรกอาจจะต้องนัดผู้ป่วยทุก 1-4 สัปดาห์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ติดตามระดับน้ำตาลในเลือด ปรับขนาดของยาจนกว่าจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเป้าหมาย ในระยะต่อไปติดตามทุก 2-3 เดือน เพื่อประเมินการควบคุมว่ายังคงได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติตลอดเวลาทำได้ยาก ดังนั้น ในการรักษาโรคเบาหวานควรจะตั้งเป้าหมายการรักษาสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานให้ผู้ป่วยทราบเป้าหมายในการควบคุมและมีทักษะการดูแลตนเอง ประสานความร่วมมือจากทั้งผู้ป่วย ครอบครัว และทีมบุคลากรทางการแพทย์เพื่อการบรรลุถึงเป้าหมายการรักษาให้ได้
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยเบาหวานจึงกำหนดให้ระดับประสิทธิผลการให้การดูแลผู้ป่วย "เบาหวาน" ของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของเกณฑ์คุณภาพบริการของหน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการรับการส่งต่อ ซึ่งพิจารณาจากอัตราผู้ป่วยที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยมีผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Plasma Glucose controlled) มีค่าระหว่าง 70-110 มก./ดล. ทุกครั้งที่มีการตรวจ และมีการตรวจอย่างน้อย 4 ครั้งใน รอบ 1 ปี โดยใช้วิธีการสุ่มตรวจสอบเวชระเบียนของผู้ป่วยเบาหวานในระบบ UC ทีมีอายุมากกว่า 15 ปี และได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และรับการรักษามากกว่า 1 ปีและกำหนดหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนดังนี้
นอกจากนี้ เพื่อการติดตามคุณภาพบริการผู้ป่วยเบาหวาน สปสช. กำหนดตัวชี้วัดทางคลินิกซึ่งสามารถคำนวณได้โดยตรงจากฐานข้อมูลการให้บริการที่หน่วยบริการจัดส่งทางอิเล็กทรอนิกส์
เกณฑ์ชี้วัดของหน่วยบริการปฐมภูมิ คือ อัตราการรับเข้าโรงพยาบาลอันเนื่องมาจากภาวะแทรกซ้อนระยะสั้นของโรคเบาหวาน โดยมีวิธีคำนวณ ดังนี้
เกณฑ์ชี้วัดของหน่วยบริการรับการส่งต่อ คือ อัตราการกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาลด้วยโรคเบาหวานหรือภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน ภายใน 28 วัน โดยมีวิธีคำนวณ ดังนี้
การตรวจติดตามคุณภาพบริการของหน่วยบริการในการดูแลผู้มีสิทธิบัตรทองที่ป่วยเป็น "เบาหวาน" เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างครบวงจร เพื่อลดความพิการ อัตราการเสียชีวิตและช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างปกติสุขเช่นเดียวกับคนทั่วไป
- อ่าน 13,128 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้