โรคฝ้าในเวชปฏิบัติ (Melasma in Clinical Practice)
ตอนที่ 3 : ยาและเวชสำอางรักษาฝ้าชนิดใหม่
ปัจจุบันมีการคิดค้นยาและเวชสำอางรักษาฝ้าใหม่ๆ โดยหวังจะรักษาฝ้าให้ได้ผลดี และมี ผลข้างเคียงน้อยที่สุด. อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ยาและเวชสำอางรักษาฝ้าเหล่านี้ ผลการรักษายังต้องติดตามต่อไป.
ยาและเวชสำอางรักษาฝ้าชนิดใหม่ เช่น
กรดโคจิก (Kojic acid)
สูตรเคมี คือ 5-hydroxy-4-pyran-4-one-2-methyl เป็นสารที่สร้างจากเชื้อรา Aspergillus oryzae กรดโคจิกกดการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase เพราะจับตัวกับทองแดงที่ tyrosinase จำเป็นต้องใช้. จากการใช้พบว่าปรับสีผิวได้น้อย และมีรายงานการแพ้ครีมชนิดนี้ประปราย ผิวหนังที่ทาด้วยกรดโคจิก พบว่าเซลล์สร้างเม็ดสี (melanocytes) ไม่มีระยางค์ (non-dendritic) และมีปริมาณเม็ดสีเมลานินน้อยลง ปกติใช้กรดโคจิกความเข้มข้นร้อยละ 1-4. ข้อควรระวังคือ ครีมชนิดนี้มีรายงานว่าก่อความระคายเคืองสูง และทำให้เกิดผิวหนังอักเสบระคายเคืองจากการแพ้สัมผัส (irritant contact dermatitis) มีการศึกษาเปรียบเทียบครีมทาฝ้าสูตร glycolic acid/kojic acid และ glycolic acid/hydroquinone (HQ) พบว่าไม่มีความแตกต่างของประสิทธิภาพระหว่างกรดโคจิก และ HQ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ครีมสูตรกรดโคจิกก่อความระคายเคืองมากกว่า เพื่อลดการระคายเคืองจากกรดโคจิก จึงมีการผสมสตีรอยด์. จากการศึกษาเปรียบเทียบการรักษาฝ้าระหว่างยาสูตรผสม 2% HQ +10% glycolic acid + 2% kojic acid และ 2% HQ +10% glycolic acid โดยให้ผู้เป็นฝ้าทายาสูตรแรกที่ครึ่งหนึ่งของใบหน้า ส่วนอีกครึ่งหนึ่งให้ทายาสูตรหลังที่ไม่มีส่วนประกอบของกรดโคจิก 2% ผลการรักษาพบว่าผู้ป่วยทุกคนฝ้าจางลงทั้ง 2 ซีกของใบหน้า แต่ซีกที่รักษาโดยมีส่วนประกอบของกรดโคจิก พบว่าฝ้าจางลงมากกว่า.
Arbutin (Uva ursi, bearberry extract)
สูตรเคมีคือ hydroquinone-beta-D-gluco-pyranoside เป็นสาร HQ ที่จับตัวกับน้ำตาลกลูโคส arbutin ยับยั้งการสร้างเม็ดสีโดยการออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase เพราะ arbutin มีลักษณะคล้าย กรดอะมิโน tyrosine ที่เป็น substrate ของเอนไซม์ tyrosinase แต่จะไม่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี เนื่องจาก arbutin ไม่ถูก hydrolyse ให้เกิด HQ. ดังนั้นฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีจึงไม่ได้เกิดจาก HQ แรกเริ่ม arbutin เป็นสารสกัดธรรมชาติจากพืช bearberry (เป็นต้นไม้พุ่มเตี้ยชนิดหนึ่ง).
ภาพที่ 1. ต้น bearberry.
พบในสูตรยาโบราณของญี่ปุ่น มีประสิทธิภาพน้อยกว่า HQ (ยาทารักษาฝ้าตัวหลักที่ใช้กันแพร่หลาย) 100 เท่า ยังไม่มีรายงานว่าต้องใช้ arbutin ความเข้มข้นเท่าไรในการทาลบรอยดำ. บริษัทเครื่องสำอางบางแห่งรายงานว่าใช้ arbutin ความเข้มข้นร้อยละ 1 มีประสิทธิภาพทำให้ผิวสีจางลง. อย่างไรก็ ตาม มีรายงานหลายรายงานแสดงว่า arbutin มีประสิทธิภาพน้อยกว่ากรดโคจิกในการรักษาภาวะ ผิวสีเข้ม (hyperpigmentation). มีรายงานว่าการรักษาฝ้าด้วย arbutin ร้อยละ 3-7 ได้ผลดี แต่ส่วนใหญ่เป็นรายงานจากบริษัทเครื่องสำอาง ในการทดลองรักษาจริง พบว่าประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำ.
นอกจากนั้น ยังพบสาร arbutin ในสารสกัดจาก Mitracarpus scaber, Morus bombycis (mulberry), Morus alba (white mulberry) และ Broussonetia papyrifera (paper mulberry).
จากการศึกษาพบว่า a-arbutin ออกฤทธิ์ ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ได้มากกว่า arbutin จึงเริ่มนิยมใช้ a-arbutin ในครีมทาให้ผิวขาวแทนการใช้ arbutin.
วิตามินซีและอนุพันธ์
วิตามินซี (L-ascorbic acid) ใช้กันอย่างแพร่หลายในเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาว กลไกการออกฤทธิ์ ของวิตามินซี และอนุพันธ์ ออกฤทธิ์โดยเป็น reducing agents ของ melanin intermediates และกั้น oxidative chain reaction จาก tyrosine/dihydroxyphenylalanine (DOPA) ไปสู่ melanin ที่หลายตำแหน่ง. วิตามินซีเป็น antioxidant ที่ดี แต่จะถูก oxidized ได้ง่ายเมื่อถูกแสง ทำให้ความสามารถในการยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินลดลงไปด้วย จึงมีการพัฒนาอนุพันธ์ของวิตามินซีให้มีฤทธิ์เทียบเท่ากับมันคือ มีความสามารถทำให้ผิวขาวขึ้น และแพร่ผ่านผิวหนังได้ แต่มีความคงตัว.
Magnesium ascorbyl phosphate (MAP) เป็นอนุพันธ์ของวิตามินซีที่มีความคงตัว ในรูปครีมความเข้มข้นร้อยละ 10 พบว่า MAP กดการสร้างเม็ดสีเมลานิน มีรายงานว่าผู้ป่วย 19 ราย จาก 34 รายที่เป็นฝ้าและขี้แมลงวัน (solar lentigines) เมื่อทา MAP มีรอยดำจางลงอย่างมี นัยสำคัญทางสถิติ ยังพบว่า MAP ป้องกันผิวบาดเจ็บจากรังสี UV-B ซึ่งการออกฤทธิ์ในกรณีหลังนี้ น่าจะมาจากการที่ MAP เปลี่ยนเป็น ascorbic acid ในญี่ปุ่นมีการศึกษาผู้ป่วย 110 ราย พบว่ารอยผิวสีเข้ม (hyperpigmentation) ลดลงร้อยละ 25 หลังทาครีมให้ความชุ่มชื้นที่มี 3% MAP เป็นเวลานาน 6 เดือน.
สารสกัดชะเอม (Licorice extract)
สารออกฤทธิ์หลัก คือ glabridin มีงานวิจัยแสดงว่า glabridin ลดการสร้างเม็ดสีเมลานินโดยยับยั้งการทำงานของ tyrosinase ของเซลล์สร้างเม็ดสี แต่จะไม่เป็นพิษต่อเซลล์สร้างเม็ดสี ยังพบว่าการทา 0.5% glabridin ลดการเกิดผิวสีเข้มหลังได้รับรังสี UV-B และลดอาการผิวไหม้แดง (erythema). นอกจากนั้น glabridin ยังมีฤทธิ์ต้านอักเสบเนื่องจากยับยั้งการผลิต superoxide anion และยับยั้งการออกฤทธิ์ของ cyclooxygenase มีรายงานว่ายา สูตรผสม 0.4% licorice extract +0.05% betamethasone + 0.05% retinoic acid มีประสิทธิภาพในการรักษาฝ้า.
นอกจากนั้น ในสารสกัดชะเอมยังพบ glabrene, isoliquiritigenin, licuraside, isoliquiritin และ licochalcone A ซึ่งล้วนยับยั้ง tyrosinase ได้. สำหรับ liquiritin ไม่มีผลต่อ tyrosinase แต่ก็ทำให้สีผิวจากกระบวนการอื่น มีการใช้ครีม 20% liquiritin ทารักษาฝ้านาน 4 สัปดาห์ พบว่าได้ผล.
กรดผลไม้ (Alpha hydroxyl acid, AHA)
กรดผลไม้ หรือ AHA ใช้ในครีมทาให้ผิวขาว เช่น glycolic acid (พบมากในอ้อย), lactic acid (พบมากในนมเปรี้ยว), malic acid (พบมากใน แอปเปิ้ล), citric acid (พบมากในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว, citrus fruits)
ภาพที่ 2. Citrus fruits.
และ tartaric acid (พบมากในองุ่น) พบว่า lactic acid มีประสิทธิภาพมากที่สุด AHA ออกฤทธิ์โดย เป็น chelating agent ที่สามารถไปดึงแคลเซียมอิออนจากเซลล์ผิวหนัง เนื่องจากโครงสร้างของผิวหนังเป็นลักษณะเซลล์บุผิว (epithelium cell) ที่ยึดติดกันแน่น มีการยึดเกาะระหว่างเซลล์โดยโมเลกุลที่เรียกว่า cadherin (เป็น transmembrane glycoprotein) ซึ่งการทำหน้าที่ของ cadherin ขึ้นกับแคลเซียมอิออน. ดังนั้น เมื่อระดับแคลเซียมอิออนลดลง ทำให้เซลล์ผิวหนังแยกตัวตรงรอยต่อของ stratum granulosum และ stratum corneum จึงเร่งการหลุดลอกของเซลล์ที่ผิวชั้นนอกออกได้เร็วขึ้น ใช้ในความเข้มข้นร้อยละ 5-20.
N-acetyl-4-cysteaminylphenol (NAC)
เป็น phenolic thioether ที่นำมาใช้เป็นสาร ฟอกสี (depigmenting agent) ชนิดใหม่ เชื่อว่ามีความคงตัวสูงกว่า HQ และระคายผิวน้อยกว่า และยังพบว่า N-acetylcysteine (NAC) มีประสิทธิภาพในการป้องกันการกดภูมิต้านทานที่เกิดจากรังสียูวี (UVB-induced immunosuppression) และเพิ่มระดับของ glutathione ในเซลล์ เนื่องจาก glutathione เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงมีงานวิจัยเพื่อใช้ NAC ในแง่ป้องกันการแก่.
Flavonoids
สามารถแบ่ง bioflavonoids เป็น flavones, flavonols, isoflavones และ flavanones การศึกษาผลต่อการ oxidation ของ L-DOPA ใน flavonoids หลายตัว พบว่ากลุ่ม isoflavones ที่รวมถึง glycitein, daidzein และ genistein มีฤทธิ์ยับยั้ง tyrosinase เพียงเล็กน้อย แต่พบว่า 6, 7, 4'- trihydroxyisoflavone มีฤทธิ์ยับยั้ง tyrosinase สูงกว่ากรดโคจิก ส่วนกลุ่ม flavanones เช่น hesperidin, eriodictyol และ naringenin มีสูตรโครงสร้างคล้าย HQ.
Hesperidin
สาร hesperidin เป็น bioflavonoid ที่พบในเปลือกและเยื่อผลไม้รสเปรี้ยว (citrus fruits) พบว่า hesperidin สามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีโดยไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ ยังพบว่าสารตัวนี้ป้องกันการบาดเจ็บของไฟโบรบลาสท์ และคอลลาเจนที่เกิดจากการได้รับรังสียูวีเอ.
Niacinamide
Niacinamide เป็น biologically active form ของ niacin (vitamin B3) พบในรากพืชหลายชนิดและยีสต์ มีงานวิจัยพบว่า niacinamide ยับยั้งการส่งผ่าน melanosomes จากเซลล์สร้างเม็ดสี (mela-nocytes) ไปยังเซลล์ผิวหนัง (keratinocyte) มีการศึกษาทางคลินิกพบว่าการทา niacinamide ทำให้รอยโรคผิวหนังสีเข้มจางลงได้.
Polyphenols
Polyphenols เป็นกลุ่มของสารประกอบที่ออกฤทธิ์ antioxidant ซึ่งพบในพืชหลายชนิด พบว่าสารสกัด polyphenol หลายตัวจากพืช ยับยั้งการสร้างเม็ดสีได้ พบสาร proanthocyanidins หรือ procyanidins ซึ่งเป็น polyphenols ในไวน์แดง, น้ำ cranberry และเมล็ดองุ่น ส่วน ellagic acid เป็น polyphenol อีกตัวที่พบในผักและผลไม้ พบว่าสารสกัดเปลือกทับทิมที่มี 90% ellagic acid ยับยั้ง tyrosinase ของเห็ดในหลอดทดลอง.
Ellagic acid
เป็น polyphenol ที่พบในธรรมชาติ มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase โดยจับกับทองแดง มีการทดลอง ประสิทธิภาพของครีม ellagic acid ในการป้องกัน UV-induced pigmentation พบว่าได้ผลร้อยละ 86 ครีมตัวนี้มีวางขายในญี่ปุ่น. มีงานวิจัยในไทยพบว่าในเมล็ดลำไย มีสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่ม polyphe-nol และ bioflavonoids ค่อนข้างสูง และสารสำคัญ ตัวหนึ่งของการสกัดแยกเมล็ดลำไย คือ ellagic acid ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันมะเร็ง (anticarcinogenic agent) และป้องกันการกลายพันธุ์ (antimutagenic agent) และทำให้ผิวขาว.
ภาพที่ 3. เมล็ดลำใย
สารสกัดจากปอสา (paper mulberry extract)
ปอสา หรือ paper mulberry (Broussonetia papyrifera) มีสารสำคัญ คือ kazinol F ซึ่งยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ที่มีประสิทธิภาพ พบว่า kazinol F มีความแรงมากกว่ากรดโคจิก, วิตามินซี และ HQ ในการยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase และมีคุณสมบัติ ในการขจัดอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวขาวจึงมีการนำมาใช้ในทารักษาฝ้า-กระ.
มีงานวิจัยเปรียบเทียบฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ของ paper mulberry เทียบกับกรดโคจิก และ HQ พบว่า IC50 (คือ ความเข้มข้นที่ออกฤทธิ์ยับยั้งฤทธิ์ของ tyrosinase ร้อยละ 50) ของ paper mulberry คือร้อยละ 0.396, ของ HQ คือร้อยละ 5.5 และของ kojic acid คือร้อยละ 10.0 มีการทดลองทำ patch test โดยใช้ 1% paper mulberry extract ไม่พบการระคายเคืองที่ 24 และ 28 ชั่วโมง.
สารสกัดจากใบหม่อน (Mulberry, Morus alba)
มีงานวิจัยแสดงว่าสารสกัดจากใบหม่อนแห้งออกฤทธิ์ยับยั้ง tyrosinase ได้ สามารถสกัด phenolic flavonoids หลายตัว เช่น gallic acid และ quercetin และกรดไขมัน เช่น linoleic acid และ palmitic acid จากใบหม่อน. สารหลักที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง tyrosinase ทำให้มีการสร้างเม็ดสีน้อยลงคือ mulberroside F (moracin M-6, 3'-di-O-beta-D-glucopyranoside).
สารสกัดจากว่านหางจระเข้ (Aloesin)
พบว่า aloesin ซึ่งเป็นสารสกัดจากว่านหางจระเข้ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ได้มีการทดลองทาสาร aloesin บนท้องแขนที่ฉายรังสียูวี พบว่าสามารถกดการสร้างเม็ดสีได้ และมีงานวิจัยแสดงว่า aloesin เสริมฤทธิ์ arbutin ในด้านการยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase.
สารสกัดจากใบโสม (Ginseng)
พบว่าในสารสกัดจากใบโสมสด (Panax ginseng) มีสาร p-coumaric acid ซึ่งยับยั้งการสร้างเม็ดสีได้.
สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Gingko)
พบว่าในสารสกัดจากใบแปะก๊วย มี flavone glycosides ที่ส่วนใหญ่คือ quercetin และอนุพันธ์ของ kaempferol สารเหล่านี้ยับยั้ง tyrosinase โดยการจับกับทองแดง.
ภาพที่ 4. ใบและผลแปะก๊วย.
สารสกัดสมุนไพรแก่นมะหาด (Artocarpus lakoocha Roxb.)
มีการศึกษาการใช้สารสกัด 5% trans-2, 4, 3', 5'-tetrahydroxystilbene จากสมุนไพรแก่นมะหาดในการรักษาฝ้า ได้ผลดีไม่แตกต่างจากยาทา 2% HQ และพบผลข้างเคียงเล็กน้อย.
สารสกัดจากรก (placental extract)
มีการใช้สารสกัดจากรกมาทำเครื่องสำอางและสบู่ โดยหวังผลทำให้ผิวสีจางลง มีงานวิจัยผลของสาร สกัดจากรกต่อการสร้างเม็ดสี พบว่าสารสกัดจากรกยับยั้งกระบวนการการสร้างเม็ดสีของ SK30 melanoma cells โดยการยับยั้งการสร้างเอนไซม์ tyrosinase แต่ไม่ยับยั้งการเจริญเติบโตของ SK30 melanoma cells ยังต้องมีการวิจัยเพื่อหาสารออกฤทธิ์ต่อไป.
สารสกัดจากใบพืชกลุ่ม Arctostaphylos
ใบของพืชกลุ่ม Arctostaphylos คือ Arctostaphylos patula และ Arctostaphylos viscida ยับยั้ง tyrosinase ทำให้ไม่มีการสร้าง melanin จาก dopachrome และยังมีฤทธิ์คล้าย superoxide dismutase ยังไม่ทราบความเข้มข้นที่เหมาะสมของสารสกัดจากใบของพืชชนิดนี้ที่จะนำมารักษาความผิดปกติที่มีผิวสีเข้ม.
สารสกัดจาก Rumex
สารสกัดจาก rumex (rumex extract) เป็นสารสกัดจากพืช 4 ชนิด ได้แก่ Rumex occidentalis, Rumex maritimus, Rumex pseudonateonstus และ Rumex stenophyllus กลไกในการทำให้ผิวขาวขึ้นเกิดจากการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีเนส. การศึกษาผลของสารสกัดจาก rumex โดยเปรียบเทียบกับ kojic acid, HQ และ arbutin พบว่าความสามารถยับยั้งเอนไซม์โรซีเนสของสารสกัดจาก rumex มีค่าใกล้เคียงกับ kojic acid แต่มีค่าสูงกว่า HQ และ arbutin ในทุกความเข้มข้น.
สารสกัดจากชาเขียว (green tea extract)
พบว่าชาเขียวมีส่วนประกอบของ polyphenols ซึ่งเป็น bioflavonoids ในปริมาณสูง สารตัวนี้มีฤทธิ์ antioxidant ในชาเขียวมี polyphenols ชนิดเฉพาะที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ catechins ซึ่งมีคุณสมบัติ antioxidant สูง. Catechins ตัวที่ออกฤทธิ์สูงสุดในชาเขียวคือ epigallocatechin gallate (EGCG) ส่วน catechins ตัวอื่นๆที่พบได้ในชาเขียวคือ epigallocatechin (EGC), epicatechin 3-gallate (ECG) และ epicatechin (EC). นอกจากนั้น polyphenols ในชาเขียวยังมีฤทธิ์ต้านอักเสบ และต้านมะเร็ง พบว่าส่วนประกอบของชาเขียวโดยเฉพาะ EGCG ทำให้เม็ดเลือดขาวไม่มาสะสมในผิวหนังเมื่อถูกแสงยูวีบี.
นอกจากนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเสริมที่ใช้รักษาฝ้า เช่น
สารสกัดเมล็ดองุ่น (grape seed extract)
มีรายงานว่าการกินสารสกัดเมล็ดองุ่นทำให้ฝ้าจางลง สารออกฤทธิ์หลักคือ proanthocyanidin มีรายงานศึกษาสตรีญี่ปุ่นที่เป็นฝ้า 12 คน โดยให้กินสารสกัดเมล็ดองุ่น พบว่าทำให้ฝ้าจางลงบ้าง โดยจางมากที่สุดหลังกินนาน 6 เดือนและจะไม่จางลงไปมากกว่านี้ นอกจากนั้น ยังใช้สารสกัดเมล็ดองุ่นกินป้องกันการเข้มของฝ้าในฤดูร้อน.
สารสกัดเปลือกสน
มีการใช้สารสกัดเปลือกสน (French maritime pine, Pinus pinaster) ซึ่งมีฤทธิ์ antioxidant สูงกว่าวิตามินอีและซี สารสกัดเปลือกสน ออกฤทธิ์กันรังสียูวีได้ จึงมีการศึกษาว่าสามารถนำมารักษาฝ้าได้หรือไม่ โดยให้สารสกัดเปลือกสนนาน 30 วัน พบว่าขนาดรอยฝ้าลดลงโดยเฉลี่ย 25.86 ± 20.39 mm2 (p < 0.001) และความเข้มของเม็ดสีลดลง 0.47 ± 0.51 unit (p < 0.001) ไม่พบภาวะแทรกซ้อน.
พบว่าสารสกัดเปลือกสนประกอบด้วย oligomeric proanthocyanidins (OPCs) และ bioflavonoids ตัวอื่นๆ คือ catechin, epicatechin, phenolic fruit acids (เช่น ferulic acid และ caffeic acid) และ taxifolin. พบ procyanidins ซึ่งเป็น oligometric catechins ปริมาณสูงในไวน์แดง, องุ่น, แอปเปิ้ล, cocoa, cranberries.
สารสกัดทับทิม (pomegranate extract)
มีส่วนประกอบของ ellagic acid, anthocyanins และ tannins ซึ่งมีฤทธิ์ antioxidant สารสกัดนี้ยังช่วยป้องกัน cellular lipid membranes และเสริมการออกฤทธิ์ของ antioxidant enzyme คือ catalase, superoxide dismutase, glutathione peroxidase และ glutathione reductase ซึ่งเอนไซม์เหล่านี้ลดลงเมื่อถูกแสงแดด มีงานวิจัยจำนวนน้อยแสดงว่าการกินอาหารเสริมที่มีสารสกัดทับทิมทำให้ฝ้าจางลง.
ภาพที่ 5. ทับทิม.
Tranxemic acid
มีการกินยา tranxemic acid เพื่อให้ฝ้าจางลง ยาขนานนี้ออกฤทธิ์ทำให้บริเวณที่มีเลือดไหลหยุดเร็วขึ้น แต่ตัวยาสามารถยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ได้ ทำให้ฝ้าจางลง. อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยเป็นที่ยืนยันอย่างชัดเจน. นอกจากนั้น ยังต้องกินยาระยะยาว จึงต้องระวังผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ภาวะหลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดดำเกิดการอุดตัน.
ครีมทารักษาฝ้าและอาหารเสริมรักษาฝ้าชนิดใหม่นั้น หลายตัวอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ผลการรักษายังสรุปจากกลุ่มผู้รับการรักษาจำนวนไม่มาก อีกทั้งการวิจัยหลายชิ้นยังเป็นการศึกษาแบบเปิด ทำให้ประสิทธิภาพของครีมและอาหารเสริมรักษาฝ้าที่กล่าวในตอนนี้ส่วนใหญ่ยังต้องติดตามผลการรักษาต่อไป ทั้งในแง่ประสิทธิภาพที่แท้จริงในการรักษาฝ้า, ผลแทรกซ้อน และการนำมาประยุกต์ใช้จริง และมีแนวโน้มที่จะมีการทดลองสารใหม่ๆ โดยเฉพาะสารที่สกัดจากธรรมชาติมาใช้รักษาฝ้าต่อไป.
การทาครีมปกปิดรอยฝ้า (Cosmetic camouflage)
เป็นการใช้ครีม และ/หรือแป้งเพื่อปกปิดความผิดปกติของสีหรือโครงรูปของใบหน้าหรือร่างกาย ใช้ทาปกปิดไฝและปาน เช่น ปานดำที่ใบหน้า (nevus of Ota), ด่างขาว, แผลเป็น, รอยสัก และฝ้า. ในแง่การรักษาฝ้าเนื่องจากสตรีเอเชียส่วนใหญ่นิยมมีผิวขาว จึง อาจใช้สารเคลือบคลุมผิว (opaque covering agents) เนื่องจากคุณสมบัติเดิมเป็นสารที่ทำให้ทึบแสง มีสีขาว หรือขาวหม่น (white or pale pigments) จึงทำให้ใบหน้าและผิวหนังแลดูขาวขึ้น. ตัวอย่างของสารเคลือบคลุมผิว เช่น titanium dioxide, zinc oxide, talcum, kaolin และ bismuth pigments สารพวกนี้ยังกันแสงแดดจึงมีส่วนป้องกันการเกิดฝ้าอีกด้วย นับว่าการทาครีมปกปิดรอยฝ้าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาฝ้าวิธีหนึ่ง.
ข้อกำหนดทางกฎหมายของสารที่ใช้เกี่ยวกับฝ้า
สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันมีข้อกำหนดทางกฎหมายของสารที่ใช้เกี่ยวกับฝ้าดังนี้คือ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2525 กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ monobenzone เป็นสารที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง, กรกฎาคม 2532 ห้ามใช้ ammoniated mercury และกรดวิตามินเอ (vitamin A acid, retinoic acid, tretinoin), กุมภาพันธ์ 2534 ประกาศห้ามใช้กรดอะเซลาอิค (azelaic acid) ในเครื่องสำอาง ทุกชนิด และตั้งแต่มิถุนายน 2539 ห้ามใช้ HQ ในเครื่องสำอาง ยกเว้นผลิตภัณฑ์ย้อมผม.
ความสับสนของผู้ป่วยที่ได้รับครีม HQ จากแพทย์
เนื่องจากยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางรักษาฝ้าที่ลักลอบใช้ HQ ในท้องตลาด สำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงมีการประชาสัมพันธ์วิธีทดสอบว่าผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของ HQ หรือไม่ ด้วยการป้ายครีมหรือหยดโลชันที่ต้องการทดสอบลงบนกระดาษทิชชูสีขาว แล้วหยดน้ำผงซักฟอกเข้มข้นลงไป หากเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ให้สงสัยว่ามีส่วนผสมของ HQ หลังจากที่อย.ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ มีผู้บริโภคสอบถามอย.ว่า ได้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาฝ้า แพทย์จ่ายครีมให้ทาฝ้า เมื่อทดสอบตามวิธีที่แนะนำ พบว่ามีส่วนผสมของ HQ จึงกังวลว่าจะเกิดอันตราย และข้องใจว่าเหตุใดแพทย์จึงจ่ายยาที่มีสารห้ามใช้ คือ HQ กรณีนี้อย.อธิบายว่า ครีมที่มีส่วนผสมของ HQ จัดเป็นยา การใช้ HQ หรือกรดวิตามินเอ แพทย์สามารถใช้ได้ โดยทราบว่าควรใช้ครีมความเข้มข้นเท่าไร. สามารถปรับลดได้ตามแต่ความรุนแรงของโรค และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน รวมทั้งการใช้ผลิตภัณฑ์อื่น ร่วมด้วย เช่น การหลีกเลี่ยงแสงแดดและใช้ยากันแดด.
เอกสารอ้างอิง
1. กนกวลัย กุลทนันทน์. Pigmentary disorders. ใน : ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร. บก. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน (Dermatology 2010). กรุงเทพฯ : สนพ.โฮลิสติก, 2548 :100-19.
2. สุวิรากร โอภาสวงศ์. สถานการณ์และความจริงของเครื่องสำอางฝ้าในปัจจุบัน. วารสารผิวหนัง 2546;8(1): 48-51.
3. ปัญญา เจียรวุฒิสาร. สารสกัดสมุนไพรกับการรักษาฝ้า. วารสารผิวหนัง 2545;7(2):116-22.
4. ตรีรัตน์ รัตนอานุภาพ, มนตรี อุดมเพทายกุล, ปิติ พลังวชิรา. การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลในการรักษาฝ้าด้วยการทาสารสกัด 5% trans-2, 4.3', 5'-tetrahydroxystilbene จากสมุนไพรแก่นมะหาดและการทายา 2% hydroquinone. วารสารโรคผิวหนัง 2551;24(1):26-7.
5. มานิตา หาญพานิชเจริญ. สารทำให้ผิวขาว. วารสารศูนย์บริการวิชาการ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) 2546; 11(4):19-23.
6. Ortonne JP. Melanin pigmentary disorders : treatment update. Dermatol Clin 2005;23(2): 209-26.
7. Zhu W, Gao J. The use of botanical extracts as topical skin-lightening agents for the improvement of skin pigmentation disorders. J Invest Derm, Symposium Proceedings 2008;13:20-4.
8. Gupta AK, Gover MD, Nouri K, Taylor S. The treatment of melasma : a review of clinical trials. J Am Acad Dermatol 2006 Dec;55(6):1048-65.
9. Piamphongsant T. Treatment of melasma : a review with personal experience. International Journal of Dermatology 1998;37(12):897-903.
10. Lim JT. Treatment of melasma using kojic acid in a gel containing hydroquinone and glycolic acid. Dermatol Surg 1999;25:282-4.
11. Rendon MI, Gaviria JI. Review of skin-lightening agents. Dermatol Surg 2005;31:886-9.
13. Yokota T, Nishio H, Kubota Y, Mizoguchi M. The inhibitory effect of glabridin from licorice extracts on melanogenesis and inflammation. Pigment Cell Res 1998 Dec;11(6):355-61
14. Kim HJ, Lee JW, Kim YI, Lee MH. The effect of placental extract on the expression of tyrosinase, TRP-1 and TRP-2 in SK30 melanoma cells. Korean J Dermatol 2003 Dec;41(12): 1612-18. Korean.
15. James AJ, Tabibian MP, Ditre CM. Skin lightening and depigmenting agents. eMedicine. Last updated : June 28, 2006.
16. Schwartz RA, Centurion SA, Solis CS. Cosmeceuticals. eMedicine. Last updated : Jun 18, 2007.
ประวิตร พิศาลบุตร พ.บ., เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
Diplomate, American Board of Dermatology
Diplomate, American Subspecialty Board of Dermatological Immunology,
Diagnstic and Laboratory Immunology
อาจารย์พิเศษ, ภาควิชาเภสัชกรรม, คณะเภสัชศาสตร์,
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อ่าน 29,221 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้