จากประสบการณ์ในการเยี่ยมชมหอผู้ป่วยในของโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง พบว่า พยาบาลประจำการหอผู้ป่วยในมักจะรู้เรื่องราวของผู้ป่วยแต่ละเตียงเป็นอย่างดี. นอกจากสามารถรายงานสรุปประวัติอาการเจ็บป่วย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัย และแนวทางการดูแลรักษาแล้ว พวกเขายังสามารถเล่าถึงปัญหาชีวิตและครอบครัวของผู้ป่วย ทำให้เข้าใจปัญหาของผู้ป่วยและวางแนวทางดูแลช่วยเหลือได้อย่างเป็นองค์รวม ดังกรณีตัวอย่างต่อ ไปนี้
n ผู้ป่วยหญิงอายุ 70 ปีเศษ ป่วยเป็นอัมพาตซีกซ้าย หลังจากได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดจนอาการทุเลาแล้ว ก็ถูกส่งกลับมาพักฟื้นที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน. ขณะไปเยี่ยมอาการผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าท้อแท้ สิ้นหวัง. พยาบาลประจำหอผู้ป่วยเล่าว่า ผู้ป่วยเป็นคนต่างถิ่น เกิดมาไม่เคยมีบัตรประชาชน ไม่มีบ้านเป็นของตนเอง พักอาศัยอยู่กับคนรู้จัก เคยมีลูกชายอยู่ด้วยคนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ติดคุกอยู่ จึงไร้ญาติเหลียวแล รวมทั้งไม่สามารถสืบเสาะได้ว่าเคยพักอาศัยอยู่กับใคร ทางโรงพยาบาลจึงจำต้องรับผู้ป่วยไว้ดูแลและติดต่อหาสถานสงเคราะห์ในจังหวัดใกล้เคียง เพื่อเป็นแหล่งพักพิงในระยะต่อไป. ระหว่างนี้ ก็ได้ให้การบำบัดฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ. บางวันก็นิมนต์พระมาที่หอผู้ป่วยให้ผู้ป่วยทำบุญตักบาตร ช่วยให้ผู้ป่วยมีอารมณ์แช่มชื่นขึ้นบ้าง.
♦ ผู้ชายอายุ 60 ปีเศษ ป่วยเป็นเบาหวานมาหลายปี คราวนี้มีเนื้อตายเน่า (gangrene) ที่เท้า จึงส่งไปโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งได้รักษาด้วยการตัดเท้า หลังจากนั้นผู้ป่วยถูกส่งกลับมาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลชุมชน เพื่อดูแลแผลผ่าตัด. พยาบาลประจำหอผู้ป่วยพบว่า ผู้ป่วยมีความรู้สึกท้อแท้ที่ต้องกลายเป็นคนขาพิการ ก็ได้ให้กำลังใจผู้ป่วยและติดต่อหน่วยงานที่ช่วยทำขาเทียมให้ผู้ป่วย. หลังจากดูแลจนแผลหายดีและจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้าน ทีมพยาบาลก็ได้ออกไปติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ช่วยแนะนำการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับสภาพร่างกายของผู้ป่วย ให้กำลังใจผู้ป่วยและแนะนำญาติในการดูแลผู้ป่วย.
นอกจากนี้ พยาบาลประจำหอผู้ป่วยที่มีทักษะในการซักประวัติและสังเกตอาการเจ็บป่วย บางครั้งก็อาจให้ข้อมูลสำคัญในการช่วยให้สามารถวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้
♦ ผู้ป่วยชายอายุ 30 ปี มีอาชีพเป็นตำรวจ ถูกคนร้ายใช้มีดแทงถูกหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบฉีกขาด ตกเลือดรุนแรง. แพทย์ได้ทำการผ่าตัดแก้ไข และให้เลือดไปหลายขวด. ต่อมาพบว่าผู้ป่วยมีไข้ขึ้น ได้ให้ยาปฏิชีวนะรักษาอยู่หลายวัน ก็ไม่ดีขึ้น. พยาบาลประจำหอผู้ป่วย เฝ้าสังเกตพบว่า ผู้ป่วยมีอาการจับไข้หนาวสั่นเป็นเวลา จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นจากไข้มาลาเรียได้หรือไม่ (แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่เคยเดินทางไปในเขตป่าเขามาหลายปี แต่ผู้ป่วยได้รับการถ่ายเลือดจากเพื่อนตำรวจที่บริจาคให้สดๆ ในสถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วน). เมื่อทำการตรวจเลือดผู้ป่วยก็พบว่าเป็นมาลาเรียจริงๆ และไข้ทุเลาหลังจากให้ยามาลาเรียรักษา.
♦ ผู้ป่วยชายอายุ 50 ปี มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซีด น้ำหนักลด รับไว้รักษาในหอผู้ป่วย เพื่อเฝ้าสังเกตอาการ. พยาบาลประจำหอผู้ป่วยทบทวนประวัติการรักษาในเวชระเบียนผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยมีประวัติโลหิตจาง ได้รับยาเข้าธาตุเหล็กบำรุงโลหิตมาหลายเดือน ผลการตรวจระดับฮีโมโกลบินและฮีมาโทคริต ก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด จึงได้ซักประวัติผู้ป่วยเพิ่มเติม. ภรรยาผู้ป่วยได้ให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยถ่ายเป็นเลือดสด เปื้อนกางเกงทุกวัน ผู้ป่วยเคยสงสัยว่าตัวเองจะเป็นริดสีดวงทวาร แต่ก็อายไม่กล้าบอกหมอ. เมื่อแพทย์ทราบข้อมูลนี้ ก็ได้ทำการตรวจที่ทวารหนักพบว่าเป็นริดสีดวงทวารจริง.
จะเห็นได้ว่าพยาบาลประจำหอผู้ป่วยที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมานาน ย่อมมีทักษะทางคลินิก (การซักประวัติ ตรวจร่างกาย การแปลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัย) และทักษะการเข้าถึงปัญหาผู้ป่วย (ปัญหาชีวิต ปัญหาครอบครัว ปัญหาด้านจิตใจ) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยค้นหาปัญหาของผู้ป่วยและดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเป็นองค์รวม.
โรงพยาบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาลชุมชนที่ขาดแคลนแพทย์ จึงควรส่งเสริมให้พยาบาลประจำหอผู้ป่วยในการพัฒนาทักษะทางคลินิกควบคู่กับทักษะการเข้าถึงปัญหาผู้ป่วย ทั้งนี้อาจกระทำโดยการส่งเสริมเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรพยาบาลเวชปฏิบัติที่เน้นการดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วย หรือโดยการอบรมระหว่างประจำการ (in-service training).
- อ่าน 5,314 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้