การจัดบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้มาตรฐานให้กับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสิทธิบัตรทอง เป็นภารกิจสำคัญที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แบ่งออกเป็น 4 ประเภท
หน่วยบริการร่วมให้บริการ หมายถึง สถานบริการที่สามารถให้บริการด้านสาธารณสุขเฉพาะด้านเท่านั้น เช่น หน่วยบริการทันตกรรม ศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาล ฯลฯ เป็นสถานบริการที่อยู่ในเครือข่ายของหน่วยบริการประจำ และรับค่าใช้จ่ายด้านการบริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการประจำ
ถัดมาคือ หน่วยบริการปฐมภูมิ หมายถึง สถานบริการระดับแรกที่อยู่ใกล้ชิดชุมชนมีศักยภาพในการให้ บริการด้านเวชกรรมหรือทันตกรรมขั้นพื้นฐานตรงตามเกณฑ์ปฐมภูมิ ได้แก่ สถานีอนามัย ศูนย์บริการสุขภาพชุมชน โดยรับค่าใช้จ่ายด้านการบริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการประจำ
หน่วยบริการที่สาม คือ หน่วยบริการประจำ หมายถึง สถานบริการที่ได้รับค่าใช้จ่ายในการบริการสาธารณสุขให้แก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง ในลักษณะเหมาจ่ายรายหัวจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยต้องสามารถจัดบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตได้อย่างเป็นองค์รวมทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพ และต้องให้บริการด้านเวชกรรมด้วยตนเอง และมีเครือข่ายหน่วยบริการเพื่อการส่งต่อในกรณีที่เกินขีดความสามารถของตนเอง ลักษณะของสถานบริการที่เป็นหน่วยบริการประจำ ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลของรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือหน่วยบริการอื่นๆ ที่ผ่านการตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ
และสุดท้าย คือ หน่วยบริการส่งต่อ เป็นสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน มีขีดความสามารถในการจัดการบริการตั้งแต่ระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ หรือโรคเฉพาะทาง เช่น บริการศัลยกรรม บริการฉุกเฉิน ฯลฯ สามารถให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้ใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ส่งต่อมาจากหน่วยบริการประจำ หรือหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการในระดับนี้ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลเฉพาะทาง หรือโรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น
นอกจากการจัดให้มีหน่วยบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศควบคู่กับการตรวจติดตามคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานแล้ว การสนับสนุนกระบวนการคุณภาพของหน่วยบริการให้ผ่านการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน Hospital Accreditation : HA เป็นสิ่งที่ สปสช. ดำเนินการร่วมกับสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในปี 2550 ที่ผ่านมา มีหน่วยบริการในระบบที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาของ HA รวมทั้งสิ้น 923 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 95.15 โดยมีหน่วยบริการที่ผ่านการรับรองคุณภาพรับรองคุณภาพโรงพยาบาลตามมาตรฐาน HA ทั้งระบบแล้ว จำนวน 173 แห่ง
ที่สำคัญ คือ การพัฒนาหน่วยบริการตติยภูมิให้มีคุณภาพทั้งบุคลากรและแนวทางเวชปฏิบัติ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง เพื่อการเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาลระดับสูงของประชาชน ทั่วทุกภูมิภาค ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย
- หน่วยบริการตติยภูมิด้านหัวใจ 46 แห่ง
- หน่วยบริการตติยภูมิเฉพาะด้านมะเร็ง 30 แห่ง
- หน่วยบริการตติยภูมิเฉพาะด้านอุบัติเหตุ 28 แห่ง
เพื่อการเข้าถึงบริการด้วยความมั่นใจในคุณภาพที่จะได้รับจากการใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนไทย
- อ่าน 15,873 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้