ขณะนี้ได้มีการเตรียมการเปลี่ยนแปลงบัญชีเงินเดือนของข้าราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
โดยหลักการทั่วไปในการจัดระบบเงินเดือนภาครัฐนั้น ควรจะต้องพิจารณาอย่างมีเหตุผล เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับงาน มิฉะนั้นเราจะสูญเสียบุคลากรไปสู่ภาคเอกชนหรือที่เรียกว่า "สมองไหล" ซึ่งผู้กำหนดค่าตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานจะต้องใช้หลักทางวิชาการซึ่งมีดังนี้คือ ประการที่ 1 เรื่องคุณค่าของงานซึ่งต้องพิจารณาจากความยากง่าย ความเสี่ยง และความรับผิดชอบ ส่วนประการที่ 2 ต้องดูค่าตอบแทนของภาคเอกชนประกอบด้วย.
แพทย์นั้นเป็นวิชาชีพที่จะต้องปฏิบัติงานที่ถือว่ายาก เพราะการวินิจฉัยและการรักษาโรคนั้น จะต้องใช้วิชาความรู้ ประสบการณ์และการตัดสินใจ ที่ถูกต้องเหมาะสมเท่านั้น เพราะหากผิดพลาดไป หมายถึง ชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งไม่สามารถจะทดแทนได้ด้วยสิ่งใดๆทั้งสิ้นดังนั้นการปฏิบัติงานของแพทย์ จึงอยู่ภายใต้ความกดดันที่สูงมาก. ส่วนความเสี่ยงนั้น จะเห็นได้ว่าแพทย์มีความเสี่ยงสูง เพราะต้องอยู่กับผู้ป่วยที่อาจมีโรคติดต่อมายังแพทย์ได้เสมอ มีแพทย์ที่ติดโรคจากผู้ป่วยจนเสียชีวิต หรือได้รับทุกข์ทรมานมาแล้วจำนวนไม่น้อย อีกทั้งในปัจจุบันยังมีความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้องทางอาญา ซึ่งก็มีแพทย์ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกไปแล้วหลายรายตามที่เป็นข่าว อีกทั้งในทางแพ่งก็มีการฟ้องร้อง และศาลพิพากษาให้แพทย์ต้องชดใช้ค่าสินไหมให้กับผู้ป่วยหรือทายาทเป็นจำนวนเงินที่สูงมากขึ้นทุกทีๆ. ส่วนในเรื่องความรับผิดชอบนั้น แพทย์ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยตลอดเวลา ไม่มีวันหยุด เพียงแค่มีโอกาสเปลี่ยนเวรยามกันได้เท่านั้น.
ในเรื่องค่าตอบแทนที่เปรียบเทียบกับภาคเอกชนนั้น จะเห็นได้ว่ายังต่างกันในอัตราเฉลี่ยประมาณ 6-10 เท่า ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แพทย์ส่วนหนึ่งลาออกจากราชการมาปฏิบัติงานในโรงพยาบาลเอกชน หรือเปิดคลินิกส่วนตัว.
ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วครับที่รัฐจะต้องเข้ามาดูแลโดยแยกบัญชีเงินเดือนแพทย์ออกมาต่างหาก เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และมิให้เกิดปัญหาในระบบสุขภาพของประเทศดังเช่นทุกวันนี้.
อำนาจ กุสลานันท์ พ.บ.
น.บ., น.บ.ท.,
ว.ว. (นิติเวชศาสตร์)
ศาสตราจารย์คลินิก
เลขาธิการแพทยสภา
- อ่าน 14,564 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้