เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติและประสบการณ์กับทีมงานของบริษัทแห่งหนึ่งจำนวน 15 คน โดยพนักงานกลุ่มนี้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการอบรม "ผู้บริหารรุ่นใหม่" ของบริษัท เพื่อเป็นการ "เตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มผู้นำในอนาคต ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึก ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และความรับผิดชอบต่อสังคม และมีมุมมองที่กว้าง ในการบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืน" และเนื่องจากบทสนทนาในวันนั้นเต็มไปด้วยประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพพนักงาน จึงจะได้นำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ด้วย.
ความเสี่ยง
ประเด็นหลักที่พูดคุยกันในวันนั้น คือ สุขภาพพนักงาน ในความหมายของการธำรงไว้ซึ่งสภาวะสุขภาพที่ดีของพนักงานในบริษัท ซึ่งเป็นได้ทั้ง "เหตุ" และ "ผล" ของ "การบริหารธุรกิจที่ยั่งยืน" เนื่องจากการที่พนักงานสุขภาพดี ย่อมส่งผลดีต่อการผลิตของบริษัท ขณะเดียวกันหากบริษัทมีการจัดการที่ดี สุขภาพพนักงานก็จะไม่ถูกบั่นทอนด้วยการทำงาน หรือถ้าจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพก็ไม่รุนแรงมาก ทั้งนี้ การจะทำให้พนักงานมีสภาวะสุขภาพที่ดีได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งบริษัทและพนักงาน.
ประเด็นที่ใช้เวลาแลกเปลี่ยนกันยาวนาน คือ มุมมองว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงาน คือ "ความเสี่ยง" ต่อสุขภาพ (health risk) ซึ่งการ "มอง" ความเจ็บป่วยจาก "มุม" ดังกล่าว ทำให้การเจ็บป่วยคล้ายคลึงกับความเสี่ยงชนิดอื่นๆ เช่น ความเสี่ยงด้านการลงทุน และสามารถประยุกต์ใช้ หลักการของการประเมินและจัดการความเสี่ยงที่ใช้กับความเสี่ยงอื่นๆ มาจัดการกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ ก่อนที่จะลุกลามเป็นความเจ็บป่วย ซึ่งส่วนใหญ่รักษาไม่ได้.
นักอาชีวอนามัยให้ความหมายว่า "ความเสี่ยง" เกิดจากการสัมผัสสิ่งคุกคามสุขภาพ (hazard) ที่มีปรากฏในบริเวณที่ทำงาน (working environment) เช่น เสียงดังมาก ฝุ่นละอองเยอะ สารเคมีฟุ้งกระจาย หรือลักษณะการทำงาน (working condition) มีผลให้เจ็บป่วย เช่น การทำงานด้วยท่าทางผิดธรรมชาติ ยืนตลอดเวลา หยิบของออกจากสายพานตลอดเวลา ทำงานที่ผิดพลาดไม่ได้ การทำงานเป็นกะ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ยังไม่มีการกล่าวถึงความเจ็บป่วยที่อาจเกิดจากการสัมผัสเหล่านี้ หรืออีกนัยหนึ่ง หากเห็นว่าพนักงานต้องสูดหายใจสารเคมีเป็นพิษเป็นปริมาณมาก ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงได้แล้ว โดยไม่ต้องรอให้ป่วยเป็นพิษสารเคมีเฉียบพลันหรือมีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรังก่อน.
ปัญหา คือ จะทำการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพเหล่านี้อย่างไร ในบริบทของบริษัท ?
ขั้นตอนของการประเมินความเสี่ยง (risk assessment) ประกอบไปด้วย hazard identification, dose-response study, exposure assessment และ risk characterization ซึ่งสามารถประยุกต์ มาใช้ในการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพสำหรับพนักงานบริษัทได้เป็น
1. การระบุสิ่งคุกคามสุขภาพในสถานที่ทำงาน.
2. การค้นหาข้อมูลกลไกก่อโรคของสิ่งคุกคามเหล่านั้น.
3. การเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อประมวลว่าพนักงานมีโอกาสสัมผัสกับสิ่งคุกคามเหล่านั้นอย่างไร.
4. การคำนวณโอกาสเจ็บป่วยจากการสัมผัสสิ่งคุกคาม.
ยกตัวอย่างเช่น "คุณนพนัย" เป็นพนักงานควบคุมการผลิตของบริษัท แต่ละวันเขานั่งทำงานในห้องควบคุม (control room) ตลอดเวลา 8 ชั่วโมง โดยต้องอ่านข้อมูลจากจอมอนิเตอร์แสดงภาพ จอแสดงตัวเลข และสัญญาณไฟอีกหลายอันเป็นระยะๆ เพื่อตรวจหาแนวโน้มความผิดปกติ เช่น มีการใช้กำลังไฟมากเกินไป มีการปล่อยออกของก๊าซไม่พึงประสงค์ปริมาณเข้าใกล้ระดับอันตราย.
การระบุสิ่งคุกคามสุขภาพในสถานที่ทำงานสำหรับคุณนพนัย อาศัยการนั่งสังเกตการณ์โดยนักอาชีวอนามัยของบริษัท ทำให้สรุปได้ว่า สิ่งคุกคามสุขภาพที่สำคัญสำหรับเขา คือ การเพ่งอ่านข้อมูลจากจอมอนิเตอร์ตลอดเวลา การนั่งทำงานยาวนาน และความเครียด เนื่องจากต้องคอยระแวดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดในกระบวนการผลิต.
ขั้นตอนต่อมา นักอาชีวอนามัยต้องอาศัยประสบการณ์ของตนเองประกอบกับหาความรู้เพิ่มเติมจนสรุปได้ว่า การเพ่งอ่านข้อมูลจากจอ ทำให้เกิดอาการ "เมื่อยตา" ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อตาและกล้ามเนื้อเลนส์ทำงานมากเกินไป ซึ่งอาจจะนำไปสู่อาการมองภาพซ้อน โฟกัสภาพลำบาก รวมทั้งปวด มึนศีรษะระหว่างคิ้วถ้าไม่มีการหยุดพักเป็นระยะ ขณะเดียวกัน การนั่งทำงานยาวนานด้วยเก้าอี้ที่นั่งไม่สบาย เช่น ปรับระดับไม่ได้ ไม่มีที่พิง ไม่มีที่วางแขน ก็ก่ออาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ ตั้งแต่บริเวณคอ ไหล่ หลัง เอว และสุดท้ายความเครียด อาจทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทั้งทางกายและใจ รวมทั้งอาจกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร สารเคมีกระตุ้นการทำงานของหัวใจ เป็นเหตุให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆตามมาได้.
สำหรับขั้นตอนการประเมินการสัมผัสสิ่งคุกคามสุขภาพของพนักงานนั้น ถ้าเป็นการสัมผัสสารเคมี ฝุ่นละอองหรือไอควันต่างๆ รวมทั้งแสงสว่าง เสียงดัง ก็สามารถใช้เครื่องมือทำการตรวจวัดได้ ทั้งนี้ เป้าหมายสุดท้ายของการประเมินนี้ คือ ปริมาณ (dose) ของสิ่งคุกคามสุขภาพที่พนักงานได้รับและระยะเวลา (duration) ที่ได้รับ นำมาคูณกันเป็นปริมาณสิ่งคุกคามที่ได้รับตลอดช่วงเวลาการทำงาน แต่ถ้าตรวจวัดด้วยเครื่องมือไม่ได้หรือไม่มีเครื่องมือใช้ เช่นกรณีการเพ่งอ่านข้อมูล การนั่งนานหรือความเครียด ซึ่งคุณนพนัยต้องเผชิญอยู่ ก็สามารถประเมินด้วยวิธีกึ่งปริมาณหรือเชิงคุณภาพ โดยการสังเกตและใช้แบบสอบถาม เช่น กรณีการเพ่งอ่านข้อมูล อาจถามคุณนพนัยว่าอ่านจอประมาณกี่ครั้งใน 1 ชั่วโมง ครั้งละกี่นาที ตัวหนังสือขนาดเล็กเกินไป หรือแสงสว่างไม่เพียงพอทำให้อ่านลำบากด้วยหรือไม่.
โดยทั่วไปแล้ว ขั้นตอนสุดท้าย มักอาศัยสมการคณิตศาสตร์ซึ่งนักวิชาการได้ทำไว้ ในการสรุปความเสี่ยง ซึ่งจะใช้ได้ดีกับกรณีที่สิ่งคุกคามสุขภาพเป็นสารเคมีหรือฝุ่นละอองที่ตรวจวัดได้ แต่สำหรับกรณีนพนัย การสรุปได้ว่า เขาต้องอ่านจอข้อมูลประมาณ ทุก 5 นาที นั่นคือ 12 ครั้งในแต่ละชั่วโมง โดยอ่านเป็นเวลาอย่างน้อย 1 นาที ทำให้ประมาณการได้ว่า กล้ามเนื้อตาและกล้ามเนื้อเลนส์ต้องกลอกไปมาอย่างรวดเร็วเป็นเวลา 1 นาทีจำนวน 12 รอบในแต่ละชั่วโมง ซึ่งการสรุปว่ามากพอที่จะเกิดอาการเมื่อยตาได้หรือไม่นั้น นักอาชีวอนามัยควรปรึกษาจักษุแพทย์ด้วย. แต่อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ไม่มีจักษุแพทย์ให้ปรึกษา ก็อาจสรุปเบื้องต้นได้ว่า การทำงานซ้ำๆของกล้ามเนื้อตาด้วยความถี่ที่เป็นอยู่น่าจะทำให้เมื่อยได้ หากไม่มีการพักการทำงานเลยตลอด 8 ชั่วโมง.
การตรวจสุขภาพ
เกิดคำถามในวงสนทนาวันนั้นว่า "การตรวจสุขภาพ" อยู่ในขั้นตอนประเมินความเสี่ยงที่กล่าวมาแล้วหรือไม่ ?
การตอบคำถามนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ต้องเริ่มจากความหมายหรือนิยามของ "การตรวจสุขภาพ" ก่อนการตรวจสุขภาพที่พนักงานในวงสนทนาวันนั้นรู้จัก คือ การตรวจสุขภาพประจำปีหรือที่เรียกติดปากว่า check up โดยทั่วไปแล้ว การตรวจสุขภาพประจำปี ที่บริษัทจัดให้กับพนักงาน มักเป็นการประเมินสภาวะสุขภาพทั่วไป ได้แก่ โอกาสป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด โรคตามระบบอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะตับ ไต ข้อกระดูก โรคติดเชื้อ เช่น หนอนพยาธิ วัณโรค รวมทั้งโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก ซึ่งประเมินจากการเจาะเลือดตรวจหรือการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพรังสีปอด การทำ pap smear.
ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่า เนื่องจากการประเมินความเสี่ยง เป็นการประเมินโอกาสเกิดโรคด้วยข้อมูลการสัมผัสสิ่งคุกคามสุขภาพ ดังนั้น "การตรวจสุขภาพ" เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพของระบบอวัยวะที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนของการประเมินความเสี่ยง.
ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว การตรวจสุขภาพแบบนี้ จะเป็นประโยชน์หรือไม่กับการจัดการความเสี่ยง ?
ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่า การตรวจสุขภาพประจำปีที่พนักงานกล่าวถึง ถ้ามีการเชื่อมโยงการตรวจกับสิ่งคุกคามสุขภาพที่พนักงานสัมผัสขณะทำงาน ก็ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนการตรวจสอบ (check) มาตรการลดความเสี่ยงที่นักอาชีวอนามัยได้เสนอแนะไว้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีคุณนพนัย ผลตรวจตาหรือสายตาที่ผิดปกติ จะเป็น "ตัวชี้วัด" สะท้อนให้เห็นว่า คุณนพนัยอาจจะ
1. ไม่ได้พักสายตา และกลอกตาบริหารกล้ามเนื้อตา เป็นระยะตามที่ได้แนะนำไว้.
2. ต้องทำงานต่อเนื่องนาน เช่น ทำนอกเวลา หรือต้องดูจอข้อมูลบ่อยขึ้นในช่วงการผลิตที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ถึงจะมีการพักสายตาแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอ .
นั่นคือ ถ้ามีการวิเคราะห์ผลตรวจสุขภาพที่ผิดปกติ โดยนักอาชีวอนามัยร่วมกับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ ว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งคุกคามสุขภาพที่พนักงานสัมผัสในขณะทำงานหรือไม่ ก็จะนำไปสู่การปรับมาตรการลดความเสี่ยง เพื่อลดโอกาสเจ็บป่วยให้กับพนักงาน เช่น กรณีคุณนพนัย อาจต้องพักสายตาบ่อยขึ้น ใช้วิธีทำงานเป็นทีม หรือหมุนเวียนไปทำหน้าที่อื่นบ้างในระหว่างวัน.
นอกจากประโยชน์ในการตรวจสอบมาตรการลดความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว หากมีการวิเคราะห์แล้วไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งคุกคามสุขภาพ ก็แสดงให้เห็นว่าพนักงานกำลังเจ็บป่วยด้วยสาเหตุนอกงานต่างๆ ซึ่งควรหาสาเหตุและทำการแก้ไขเช่นกัน เช่น คุณนพนัย อาจเริ่มสายตาสั้นหรือสายตาเอียง เป็นต้น. .
ตรวจสุขภาพเหมาโหล
พนักงานท่านหนึ่งได้ถามว่า "ทำไมการตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงงานผม ถึงตอบคำถามไม่ได้ว่าผมป่วยจากฝุ่นในที่ทำงานหรือเปล่า?" โดยพนักงานท่านนั้นได้อธิบายว่า ทำงานเป็นวิศวกรประจำโรงงาน มีหน้าที่เดินตรวจสอบกระบวนการผลิตร่วมกับการ นั่งทำงานในห้องควบคุม ทำให้ต้องออกมาสัมผัสฝุ่นละออง ไอควันรถยกของ (forklift) และสารเคมีต่างๆ ไปด้วย เวลาเดินสำรวจ มีอาการเคืองจมูก จามบ้าง แต่เมื่อกลับถึงบ้าน บางคืนเกิดอาการแน่นหน้าอก แต่ไม่ถึงกับหอบหรือหายใจลำบาก และตลอดทุกปี ที่เขาไปตรวจสุขภาพ ผลภาพถ่ายรังสีปอดของเขาปกติเสมอ เขาไม่แน่ใจว่าตกลงเขาป่วยจากการทำงานหรือไม่.
ผู้เขียนได้อาศัยประสบการณ์และความเห็นส่วนตัวตอบคำถามว่า "เพราะการตรวจสุขภาพประจำปีที่เขาได้รับ เป็นการตรวจสุขภาพแบบ เหมาโหล" กล่าวคือ เป็นการตรวจคัดกรอง (screening) ทำให้ได้คำตอบแต่เพียงว่าในกลุ่มพนักงานทั้งหมด มีใครผิดปกติบ้าง ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น มีระดับไขมันในเลือดหรือเอนไซม์ตับ สูงกว่าค่าปกติ หรือภาพถ่ายรังสีปอดไม่มี "ก้อน" แต่ไม่ได้ออกแบบ มาสำหรับการค้นหาพยาธิสภาพอันอาจเกิดจาก ความเสี่ยงที่พนักงานเผชิญในที่ทำงานอย่างแท้จริง.
ในทางตรงกันข้าม การสรุปว่าพนักงานท่านนั้นป่วยจากงานหรือไม่ ต้องอาศัยข้อมูล 3 ส่วนประกอบกัน คือ การสำรวจสิ่งคุกคามในที่ทำงาน ซึ่งในกรณีนี้ ต้องยืนยันให้ได้ก่อนว่า โรงงานมีฝุ่นละออง สารเคมีและไอควัน โดยทำการตรวจวัดด้วยเครื่องมือเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อม จากนั้นประเมินดูว่าสารเคมีเหล่านั้น มีโอกาสเข้าร่างกายเขาได้จริงหรือไม่ และสุดท้าย ต้องทำการตรวจสุขภาพให้สอดคล้องกับพยาธิสภาพที่เกิดขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ เขามีอาการสอดคล้องกับโรคหืดเหตุอาชีพ (occupational asthma) ควรมีการตรวจสมรรถภาพปอดด้วย peak flow meter ตอนเช้าก่อนเริ่มงานและต่อเนื่องไปตลอด 24 ชั่วโมง ในวันทำงาน และในวันหยุด เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีพยาธิ-สภาพเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการเดินสำรวจโรงงานของเขา ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การถ่ายภาพรังสีปอดเพียงครั้งเดียวต่อปีจากการตรวจสุขภาพพนักงานแบบ "เหมาโหล" นั้นไม่สามารถตอบคำถามของเขาได้จริงๆ.
ประเด็นสุดท้ายที่เล่าสู่กันฟัง คือ พนักงานประมาณร้อยละ 10 ของโรงงานมีค่าเอนไซม์ตับในช่วง 40-45 unit เมื่อรายงานผลการตรวจไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ก็ทำให้เจ้าหน้าที่มาเพ่งเล็งว่า โรงงานแห่งนั้นกำลังเกิดปัญหาสารเคมีทำลายตับ ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนขอยกยอดไปตอบในฉบับต่อไป.
ฉันทนา ผดุงทศ พ.บ.
DrPH in Occupational Health, สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม,
กรมควบคุมโรค,กระทรวงสาธารณสุข
E-mail address : [email protected]
- อ่าน 4,428 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้