วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ : การลงทุนทางสาธารณสุขเสริมความมั่นคงชาติ
ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน พบได้บ่อยในคนทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงของโรคสูงจากการมีภาวะแทรกซ้อน ลักษณะของการเกิดโรคและลักษณะของกลุ่มเสี่ยงในแต่ละประเทศจะคล้ายคลึงกันทั่วโลก โดยทั่วไปจะพบการเกิดโรคประมาณร้อยละ 10-20 ของประชากร จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาและผลการศึกษาวิจัยในประเทศไทยคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งประเทศได้ 700,000-900,000 รายต่อปี และมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ต้องรับไว้ โรงพยาบาลประมาณ 12,575-75,801 รายต่อปี อัตราป่วยตายของโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีภาวะแทรกซ้อนสูงถึงร้อยละ 2.5 ก่อให้เกิดความสูญเสียในด้านเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล คิดเป็นมูลค่า 913-2,453 ล้านบาทต่อปี โดยครึ่งหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปในการรักษาพยาบาล
มาตรการในการป้องกันโรคที่ได้ผลดีที่สุดในขณะนี้ คือ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้ ร้อยละ 70-90 และมีความปลอดภัยสูง อาจพบอาการบวมแดงเฉพาะที่เล็กน้อยหลังฉีด โดยวัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันถึงระดับที่สามารถป้องกันโรคได้ภายใน 2-3 สัปดาห์หลังฉีด และต้องฉีดทุกปีเนื่องจากเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตลอดเวลา ในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรค เรื้อรัง
สำหรับประเทศไทยมีการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่เกิดการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา โดยภาครัฐมีการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เฉพาะบุคลากรสาธารณสุขและผู้ทำหน้าที่กำจัดสัตว์ปีกเพื่อการควบคุมโรคไข้หวัดนกระบาด ปีละประมาณ 3-4 แสนโด๊ส งบประมาณค่าวัคซีน 77-102 ล้านบาท เหตุผลของการให้วัคซีนในกลุ่มนี้ คือ ป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เพื่อรักษากำลังบุคลากรสาธารณสุขผู้ให้บริการแก่ผู้ป่วย ในขณะเดียวกันก็ป้องกันการแพร่เชื้อต่อไปยังผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิด พร้อมทั้งป้องกันการข้ามสายพันธุ์ (re-assortment) ระหว่างเชื้อไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก ที่อาจเกิดขึ้นในบุคลากรในขณะดูแลผู้ป่วยไข้หวัดนกหรือกำจัดสัตว์ปีกติดเชื้อ และจากการศึกษาทดลองสนับสนุนการใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชน และผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถอุบัติการณ์การเกิดโรคได้ประมาณครึ่งหนึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ และลดได้มากกว่า 4 เท่า ในกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
สืบเนื่องจากภาวะความเสี่ยงของโลกในปัจจุบัน ซึ่งเชื้อไข้หวัดนกที่กำลังแพร่อยู่ในหลายทวีป อาจกลายพันธุ์เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ที่เป็นเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ไปทั่วโลก นานาประเทศจึงเร่งเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ สำหรับประเทศไทยได้มีการดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกัน แก้ไขปัญหาไข้หวัดนก และเตรียมพร้อมรับปัญหาไข้หวัดนกและการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ และเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในระดับอุตสาหกรรม ของกระทรวงสาธารณสุขและกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี เพื่อจะเร่งพัฒนาความสามารถพึ่งตนเองที่จะผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
กรมควบคุมโรค และสำนักงานพัฒนานโยบายระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าของการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผลสรุปว่า การให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยนอกจากจะเป็นการลงทุนทางสาธารณสุขที่คุ้มค่า เนื่องจากจะสามารถลดอัตราป่วย อัตราตาย การนอนโรงพยาบาล และการสูญเสียทางเศรษฐกิจในประเทศไทยได้อย่างมาก ในแต่ละปีแล้ว ยังเป็นปัจจัยเสริมความมั่นคงของชาติ โดยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในขั้นตอนการสร้างความสามารถ พึ่งตนเองที่จะผลิตวัคซีนป้องกันประชาชนไทยในกรณีเกิดการระบาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นการป้องกันและลดการสูญเสีย ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ในอนาคต ทั้งด้านจำนวนผู้ป่วย/ตาย ด้านเศรษฐกิจ และด้านความมั่นคงของประเทศ
ดังนั้น เพื่อการลดการป่วย และการตายเนื่องจากผลแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สิทธิบัตรทอง) และลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลโรคไข้หวัดใหญ่จากโรคแทรกซ้อน รวมทั้งการเตรียมพร้อมรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติขยายสิทธิประโยชน์การให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 64 ปี ที่มีโรคเรื้อรังที่สำคัญ ได้แก่ โรคหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตวาย โรคหัวใจ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาเคมีบำบัด ฯลฯ โดยในระยะแรก (ปี พ.ศ. 2551) ใช้งบประมาณที่เหลืออันเนื่องจากการใช้สิทธิบัตรเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ของกองทุนเอดส์ จำนวน 103.32 ล้านบาท พร้อมกับการศึกษาติดตามประเมินผล และคาดว่าในปี 2551จะขยายการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่แก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีอายุเท่ากับหรือน้อยกว่า 65 ปี และในปี 2553 จะครอบคลุมผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ที่ไม่มีโรคเรื้อรังด้วย
นอกจากนี้ เพื่อการประกันการมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ใช้ตามความต้องการ (Secure demand) และเป็นการสนับสนุนการผลิตวัคซีนใช้เองภายในประเทศเพื่อการพึ่งตนเอง และเตรียมความพร้อมป้องกันประชาชนไทยในกรณีเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขศึกษาอุบัติการณ์การเกิดโรคในเด็ก และความคุ้มค่ากรณีการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในเด็กต่อไป
- อ่าน 4,232 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้