ฉบับที่แล้วผมเล่าถึงประวัติศาสตร์ของอหิวาตกโรค ฉบับนี้จึงขอเล่าถึงวิวัฒนาการการรักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ลองติดตามกันดูครับ
การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
ในช่วงปี ค.ศ. 1829-1831 อหิวาตกโรค (cho-lera) ระบาดไปทั่วยุโรปทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนไม่น้อยจนเป็นแรงกระตุ้นให้มีการศึกษาโรคนี้อย่างจริงจัง. วันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1832 William Brooke O'Shaughnessy (1808-1889) แพทย์ชาวไอร์แลนด์ รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ The Lancet ชื่อบทความว่า "Report on the chemical pathology of malignant cholera" จากการตรวจเลือดผู้ป่วยที่อาการหนักเขาพบว่าเกิดจากภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ เขาเสนอให้รักษาด้วยการฉีดน้ำเกลือเข้าหลอดเลือดดำเพื่อรักษาสมดุลเดิม.
O'Shaughnessy ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น Sir ในปี ค.ศ. 1856 จากการบุกเบิกระบบโทรเลขในอินเดีย.
Thomas Aitchison Latta (?-1833) ทราบผลการศึกษาของ O'Shaughnessy จึงทดลองทำตาม ที่แนะนำเป็นคนแรก. ผู้ป่วยรายแรกเป็นหญิงชรา ที่อาการหนักใกล้เสียชีวิต เขาฉีดน้ำเกลือเข้าหลอดเลือดดำ basilic ช่วงแรกไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อให้การรักษาไปครึ่งชั่วโมงผู้ป่วยอาการดีขึ้นอย่าง เห็นได้ชัด ผิวหนังจากเย็นเป็นอุ่นและชีพจรคลำได้ชัดเจนขึ้น เขาเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงหยุดการรักษา แต่ผู้ป่วยถ่ายเหลวร่วมกับอาเจียนเพิ่มเติมและเสียชีวิตใน 5 ชั่วโมงต่อมา แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการให้น้ำเกลืออย่างต่อเนื่อง. เขารายงานผลการวิจัยในวารสารการแพทย์ The Lancet ลงวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1832.
น่าเสียดายที่การให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล Latta ก็มาด่วนจากไปเสียก่อน แต่งานของเขาก็ได้รับการสานต่อโดย John MacKintoch ที่โรงพยาบาล Drummond Street Cholera นั่นเอง. จากนั้นก็มีงานวิจัยรับรองตามมามากมายจากหลายแห่งจนเป็นที่ยอมรับมากขึ้นและ ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน.
เครื่องดื่มเกลือแร่
ในยุคแรกๆ นั้นการให้สารน้ำทำได้เฉพาะทางหลอดเลือดดำทำให้ผู้ด้อยโอกาสเข้าไม่ถึงการรักษา. ร้อยกว่าปีต่อมา ค.ศ. 1943 มีการใช้เครื่องดื่มเกลือแร่ (Oral Rehydration Solution : ORS) ในการรักษาผู้ป่วยอุจจาระร่วงเป็นครั้งแรกที่โรงพยาบาล Balti-more City ใน Baltimore ไม่มีใครทราบกลไกทางสรีรวิทยาของมันจนกระทั่งทศวรรษที่ 1960s Stanley G. Schultz (เกิดค.ศ. 1931) แพทย์ชาวอเมริกันศึกษากลไกการดูดซึมและการนำพาของไอออนต่างๆ จนค้นพบความรู้พื้นฐานที่ว่าน้ำตาลสามารถช่วยให้ การดูดซึมของเกลือโซเดียมในลำไส้เล็กดีขึ้น โดยโซเดียมที่จับคู่กับน้ำตาลจะถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์เยื่อบุของลำไส้เล็กดีกว่าโซเดียมเพียงตัวเดียว เป็นคำอธิบาย ว่าทำไมเครื่องดื่มเกลือแร่ที่ประกอบด้วยน้ำ, น้ำตาล และเกลือจึงสามารถแก้ไขภาวะขาดน้ำในผู้ป่วยอุจจาระร่วงได้.
ค.ศ. 1968 Richard A. Cash และ David R. Nalin สองแพทย์ชาวอเมริกันที่ห้องปฏิบัติการวิจัยอหิวาตกโรคขององค์การซีโต้แห่งประเทศปากีสถาน (Pakistan-SEATO Cholera Research Labora-tory) ที่เมืองธากา ปากีสถานตะวันออก (ปัจจุบันคือ กรุงธากาเมืองหลวงของประเทศบังกลาเทศ) ร่วมกันศึกษาจนประสบความสำเร็จในการทดสอบว่าเครื่องดื่มเกลือแร่สามารถใช้แก้ไขภาวะขาดน้ำในผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงแทนการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำได้.
ในปี ค.ศ. 1971 ช่วงสงครามแยกเอกราชของบังกลาเทศ (Bangladesh Liberation War) เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคในค่ายผู้อพยพลี้ภัยที่รัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งมีผู้อพยพราว 350,000 คน อัตราการตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สารน้ำที่จะให้ทางหลอดเลือดดำก็ขาดแคลน. จากงานวิจัยของ Cash และ Nalin ที่พิสูจน์ว่าเครื่องดื่มเกลือแร่นั้นได้ประโยชน์จริง Dilip Mahalanabis แพทย์ชาวอินเดียนักวิจัยของศูนย์วิจัยทางการแพทย์และฝึกอบรมระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกิ้นส์ (Johns Hopkins University International Center for Medical Research and Training) ที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียจึงตัดสินใจนำเครื่องดื่มเกลือแร่มาใช้ในผู้ป่วยจริงๆ. เขาใช้เครื่องดื่มเกลือแร่รักษาผู้ป่วยกว่า 3,000 คน พบว่าสามารถลดอัตราการตายลงจากร้อยละ 20 - 30 เหลือเพียงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเพียงอย่างเดียว สามารถรักษาชีวิต ผู้ป่วยไว้ได้หลายพันคนรวมถึงเด็กๆ ด้วย. นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำเครื่องดื่มเกลือแร่มาใช้รักษาผู้ป่วยจำนวนมากในสถานการณ์จริงซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ได้รับความสนใจจากองค์กรสาธารณสุขระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก.
ความสำเร็จที่ดูเกินจริงทำให้ Dhiman Barua ผู้เชี่ยวชาญด้านอหิวาตกโรคขององค์การอนามัยโลกเดินทางไปเยี่ยมสำรวจและวิเคราะห์งานวิจัยพบว่าเป็นความจริง. เขาเล็งเห็นว่านอกจากจะใช้ในการรักษาอหิวาตกโรคแล้วน่าจะมีประโยชน์ในผู้ป่วยอุจจาระร่วงอื่นๆ ด้วย นำไปสู่ปี ค.ศ. 1978 องค์การอนามัยโลกรณรงค์ให้มีการใช้เครื่องดื่มเกลือแร่ในการรักษาอุจจารระร่วง.
จากการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ ค.ศ. 1980-2000 พบว่าเครื่องดื่มเกลือแร่ลดอัตราการตายของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีที่เป็นอุจจาระร่วงจาก 4.6 ล้านคนทั่วโลกเหลือเพียง 1.8 ล้านคน (ลดลงถึงร้อยละ 60) ประมาณการว่าปีหนึ่งๆ มีการใช้เครื่องดื่มเกลือแร่ราว 500 ล้านซองในประเทศกำลังพัฒนาราว 60 ประเทศ ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้หลายล้านคนทั่วโลก. วารสารการแพทย์ The Lancet ถึงกับยกย่องให้เครื่องดื่มเกลือแร่เป็นการค้นพบทางการแพทย์ที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว.
ผลงานที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ Barua ได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award ในการประชุม Asian Conference on Diarrhoeal Diseases and Nutrition (ASCODD) ครั้งที่ 10 ในปี ค.ศ. 2003 สำหรับ Cash, Nalin และ Mahalanabis ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาสาธารณสุขประจำปี ค.ศ. 2006 ร่วมกัน และ Schultz ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาการแพทย์ประจำปีค.ศ. 2006.
ธีรวัฒน์ บูระวัฒน์ พ.บ.
โรงพยาบาลบ้านแหลม, จังหวัดเพชรบุรี
E-mail : [email protected]
www.geocities.com/tantanodclub
- อ่าน 4,414 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้