ไตวายเรื้อรัง หมายถึง ภาวะไตเสื่อมผิดปกตินานติดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป และมักจะดำเนินไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด ทำให้ร่างกายไม่สามารถขับถ่ายของเสียหรือน้ำที่เกินออกจากร่ายกายได้ ผู้ป่วยจะทุกข์ทรมานจากภาวะมีของเสียคั่งอยู่ในโลหิต และหากไม่ได้รับการรักษา จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างทุกข์ทรมานในเวลาประมาณ 3-4 เดือน สาเหตุสำคัญของไตวายเรื้อรังคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตอักเสบ และนิ่วในไต
การล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis หรือ CAPD) เป็นวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการยอมรับวิธีหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสามารถทำได้ด้วยตนเอง และในช่วงเวลาที่น้ำยาอยู่ในช่องท้องสามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อพบแพทย์บ่อยครั้งเท่ากับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis-HD) ต้องเดินทางมารับ บริการฟอกเลือดที่หน่วยบริการที่มีเครื่องไตเทียมและแพทย์โรคไต สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งๆ ละ 4-5 ชั่วโมง แต่การล้างไตผ่านทางช่องท้อง ผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนน้ำยาเข้าออกจากช่องท้องได้เองที่บ้าน (หลังจากได้รับการฝึกอบรมแล้ว) โดยใช้เวลาปล่อยน้ำยาเข้าออกรอบละ 30 นาที และต้องดำเนินการวันละ 4 รอบ รอบละ 4-6 ชั่วโมง ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์เพียงประมาณเดือนละครั้ง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางพึ่งตนเองได้มากกว่าและคุณภาพชีวิตจะดีกว่า นอกจากนี้ต้นทุนการล้างไตผ่านทางช่องท้องจะมีแนวโน้มลดลงได้อีกมาก
สำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่ (Kidney transplant-KT) ถือว่าเป็นวิธีรักษาผู้ป่วยไตให้มีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด เพราะไม่ต้องใช้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการล้างช่องท้องอีกต่อไป แต่ผู้ป่วยต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดไปเพื่อป้องกันการต่อต้านอวัยวะ ปัจจุบันระบบการปลูกถ่ายไตในประเทศไทยมีผลงานต่ำ เนื่องจากขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้มีผู้บริจาคไตอย่างเพียงพอ ทั้งที่ศักยภาพในการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีสูงมาก ฉะนั้นแต่ละปีสามารถปลูกถ่ายไตใหม่ได้จำนวนไม่มาก เพียงปีละประมาณ 300 รายเท่านั้น ทั้งที่มีผู้ป่วยรอผ่าตัดหลายพันราย ทำให้ในช่วงเวลาที่ผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายไตมีความจำเป็นต้องใช้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือการล้างช่องท้องอย่างต่อเนื่อง
ความคุ้มค่าของการดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายกับคุณภาพชีวิต
หากสมมติให้ค่าคุณภาพชีวิตของคนปกติมีค่าเท่ากับ 1.0 จากการศึกษาข้อมูลในต่างประเทศมีรายงานว่า ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่มีคุณภาพชีวิตเท่ากับ 0.77 ผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตช่องท้องอย่างต่อเนื่องมีคุณภาพชีวิตเท่ากับ 0.72 และผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือดจะมีคุณภาพชีวิตเท่ากับ 0.68 จะเห็นได้ว่า การล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้ใกล้เคียงกับการได้รับปลูกถ่ายไตใหม่ ซึ่งปัจจุบันค่าน้ำยาล้างช่องท้องมีต้นทุนประมาณถุงละ 100 บาท ในหนึ่งวันผู้ป่วยต้องใช้น้ำยาวันละ 4 ถุง หรือเดือนละ 120 ถุง ทำให้มีค่าใช้จ่ายค่าน้ำยาล้างช่องท้องต่อปีประมาณ 150,000 บาท คาดการณ์ว่าภายใน 3 ปี ถ้ามีการใช้บริการล้างช่องท้องอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ต้นทุนของน้ำยาต่อถุงจะถูกลงได้กว่าร้อยละ 20 คือ เหลือประมาณไม่เกิน 120,000 บาทต่อปี
สำหรับ ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายและเป็นผู้ถือบัตรทอง หรือผู้มีสิทธิในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับบริการทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องด้วยน้ำยา (Peritoneal dialysis) ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากข้อจำกัดของระบบบริการบำบัดทดแทนไตในระยะเริ่มแรก สิทธิการเข้ารับบริการทดแทนไตเป็นไปตามลำดับก่อน-หลัง และเนื่องจากผู้ป่วยไตแต่ละรายอาจมีลักษณะจำเพาะที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถบริการครอบคลุมได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการบำบัดและทดแทนไตระดับเขตพื้นที่เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบการให้บริการบำบัดทดแทนไตเป็นรายๆ ไป ผู้สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางโทรศัพท์สายด่วน บัตรทอง โทร. 1330
- อ่าน 18,872 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้