ตอนที่ 1 : ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคสิวและยาทารักษาโรคสิว
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคสิว
สิวจัดเป็นโรคของต่อมไขมัน (sebaceous gland) ของผิวหนังที่พบบ่อยที่สุดในเวชปฏิบัติ สถิติของสถาบันโรคผิวหนังแสดงว่า สิวเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์เป็นอันดับ 2 ของผู้ป่วยทั้งหมด เป็นชายร้อยละ 33, หญิงร้อยละ 67 สิวมักปรากฏอาการในหญิงอายุช่วง 14-17 ปี, และในชายช่วงอายุ 16-19 ปี (โรคผิวหนังที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่สถาบันโรคผิวหนังสูงสุดคือ ผิวอักเสบไม่ติดเชื้อ เรียกว่า eczema)
ส่วนสถิติของสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลก พบว่าสิวเป็นโรคผิวหนังอันดับหนึ่งที่ นำให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ผิวหนัง สถิติของอเมริการะบุว่า ประชากรร้อยละ 85-100 เคยเป็นสิวในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยที่ในช่วงวัยรุ่น ชายเป็นสิวมากกว่าหญิง แต่ในวัยผู้ใหญ่ หญิงเป็นสิวมากกว่าชาย เมื่อถึงอายุ 25 ปี หญิงร้อยละ 12 และชายร้อยละ 5 ยังคงเป็นสิว เมื่ออายุถึง 45 ปี ทั้งชายและหญิงร้อยละ 5 ยังเป็นสิว ความจริงแล้วโรคสิวในไทยก็น่าจะเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยที่สุดเช่นกัน เพราะมีข้อมูลว่า ผู้เป็นสิวถึงร้อยละ 90 จะรักษาตนเอง ไม่ได้มาพบแพทย์
จากงานวิจัย พบว่านิสิตแพทย์ใหม่ ร้อยละ 69.8 เชื่อว่าความสกปรกเป็นต้นเหตุของโรคสิว และร้อยละ 66.7 เข้าใจว่าความสกปรกของผิวหนังทำให้สิวเห่อขึ้น ร้อยละ 33.2 เชื่อว่าสามารถรักษาสิวให้หายขาดได้ แต่มีความคาดหวังว่าจะหายอย่างรวดเร็ว ภายในวันหรือสัปดาห์หลังจากการรักษา ผลิตภัณฑ์รักษาสิวซึ่งวัยรุ่นนิยมซื้อใช้เอง คือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวร้อยละ 88.4, โลชันร้อยละ 17.1, ผลิตภัณฑ์ทาหัวสิวร้อยละ 7.8
รายงานฉบับนี้แสดงว่า แม้ในกลุ่มนิสิตแพทย์ เองก็ยังเข้าใจว่าสิวเกิดจากความสกปรกถึงร้อยละ 69.8 ซึ่งแตกต่างจากสถิติต่างประเทศที่พบว่าเข้าใจถูกต้องว่าสิวเกิดจากการแปรปรวนของฮอร์โมนเพศ ยังพบว่าวัยรุ่นร้อยละ 47.3 และร้อยละ 14.7 เข้าใจว่าสิวควรรักษาหายได้ภายใน 4 สัปดาห์ และต่ำกว่า 2 สัปดาห์ ในคลินิกผิวหนังจึงสั่งยากินและยาทารักษาสิวอย่างฟุ่มเฟือย เพราะต้องการเร่งให้หาย แต่ไม่อธิบายข้อเท็จจริงให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า สิวต้องรักษานาน 3-6 เดือน จึงจะควบคุมโรคสิวได้
สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคสิว มีหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือ ความผิดปกติของการหลุดลอกของเซลล์ในท่อรูขุมขน ทำให้เกิดไขมันอุดตันเป็นก้อน (comedone) บางครั้งก้อนไขมันจะแตกออกในรูขุมขนมีเศษไขมันและเซลล์ผิวหนังกระจายสู่ผิวหนังข้างเคียง ทำให้เกิดการอักเสบ บวมแดง และเป็นสิวขึ้นมา
เชื้อแบคทีเรียที่เคยอยู่ตามปกติในผิวหนัง คือ Propionibacterium acnes (ภาพที่ 1) ทำให้เกิดสิวอักเสบ เพราะมันจะหลั่งสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบบวมแดง และหลั่งเอนไซม์ที่ช่วยสลายก้อนไขมันอุดตันทำให้เกิดกรดไขมัน ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้อักเสบ
พบว่าฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่พบได้ทั้งในชายและหญิง แต่ในผู้ชายมีมากกว่า ฮอร์โมนตัวนี้ทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ ทำให้ต่อมไขมันที่ผิวหนังโตขึ้น และทำให้ต่อม ไขมันหลั่งไขมันมากขึ้น. ไขมันที่หลั่งออกมากขึ้นทำให้เกิดการอุดตันได้และเป็น "อาหาร" สำหรับเชื้อแบคทีเรีย. ฮอร์โมนตัวนี้มีระดับสูงในวัยรุ่น ทำให้ วัยรุ่นทั้ง 2 เพศ มีขนบริเวณรักแร้และอวัยวะสืบพันธุ์ และเฉพาะในวัยรุ่นชายมีหนวดเคราและเสียงแตก และยังทำให้วัยรุ่นเป็นสิวมาก
ส่วนฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้เกิดสิวในผู้หญิงได้ การที่เพศหญิงมีประจำเดือนก็เพราะมีระดับฮอร์โมนตัวนี้เปลี่ยนแปลงในร่างกาย ดังนั้น ในหญิงบางรายพบว่ามีสิวเห่อและสิวหายเป็นระยะๆ ของรอบเดือน
เชื่อว่าพันธุกรรมน่าจะมีส่วนทำให้เป็นสิว
ตำแหน่งที่พบสิว เนื่องจากรูขุมขนพบได้ในบริเวณผิวหนังทั่วไป ไม่พบก็เฉพาะที่ฝ่ามือ, ฝ่าเท้า ต่อมไขมันจะเชื่อมต่อกับรูขุมขนนี้ และหลั่งไขมัน (sebum) ออกตามท่อรูขุมขนเป็นระยะค่อนข้างสม่ำ เสมอ ทำให้ผิวนุ่มเนียน ไม่แห้ง และป้องกันเชื้อโรค. ผิวที่ใบหน้า, หน้าอก และหลังมีต่อมไขมันมาก จึงพบสิวได้บ่อย
ลักษณะของสิว ที่พบได้บ่อยมี 2 ชนิด คือ สิวไม่อักเสบ และสิวอักเสบ
สิวไม่อักเสบ ได้แก่ สิวหัวดำ (ภาพที่ 2) คือก้อนไขมันเปิดสู่ภายนอก, และสิวหัวขาว (ภาพที่ 3) คือก้อนไขมันยังไม่เปิดสู่ภายนอก
สิวอักเสบ แบ่งเป็นสิวหัวแดง (papules), สิวหัวหนอง (pustules), (ภาพที่ 4, 5, 6). สิวเป็นก้อนนูนแข็ง เรียกว่า สิวหัวช้าง (ภาพที่ 7) ซึ่งสิวประเภทนี้มักเป็นเรื้อรัง รักษายาก และอาจเกิดคีลอยด์ ตามมา (ภาพที่ 8)
ปัจจัยที่ทำให้สิวอักเสบเป็นมากขึ้นมีอะไรบ้าง
1. ความเครียด ภาวะที่ร่างกายอดนอน หรือนอนดึก หรือสตรีในขณะมีประจำเดือน จะมีการหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นให้เกิดสิวมากขึ้น อีกทั้งความต้านทานของร่างกายจะลดต่ำลง ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตมากขึ้น.ฃ
2. การบีบ การแกะ การขัดถูสิว ตลอดจนการล้างหน้าบ่อยๆ เช็ดหน้าแรงๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามได้ จึงไม่ควรทำ
3. ปัจจัยที่ก่อให้เกิดสิวจากภายนอกร่างกาย สำหรับผู้ที่ผ่านพ้นวัยรุ่นไปแล้วยังคงเป็นสิว มักเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น สารเคมีในสบู่บางชนิด อาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้ สบู่ที่ผสมกำมะถันและสารเฮกซาคลอโรฟิน ครีมบำรุงผิว น้ำมัน และโลชันบางชนิด เหล่านี้อาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดสิวได้ด้วย นอกจากนั้นสารสตีรอยด์ทั้งชนิดทาและชนิดกิน และกัญชา จะกระตุ้นให้เกิดสิวได้ ยากินที่ก่อสิว ได้แก่ testosterone (รวมทั้งในรูปยาฉีดด้วย), danazole, lithium, dilantin, vitamin B 12, ยาที่มีส่วนผสมของเกลือโบรไมด์ ไอโอไดด์ เช่น ยาแก้ไอบางขนาน
ภาพที่ 1 เชื้อแบคทีเรีย P. acnes. ภาพที่ 2 สิวหัวดำ
ภาพที่ 3 สิวหัวขาว ภาพที่ 4 สิวหัวแดงบริเวณใบหน้า
ภาพที่ 5 สิวหัวหนองบริเวณใบหน้า ภาพที่ 6 สิวบริเวณหลัง
ภาพที่ 7 สิวหัวช้าง ภาพที่ 8 คีลอยด์ที่เกิดจากสิว
ยาทารักษาสิว
ยาทารักษาสิว มีดังนี้
1. เบนซอยล์ เปอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide)
เป็นยารักษาสิวที่ได้ผลดีขนานหนึ่ง ฤทธิ์ของยาขนานนี้ทำให้หัวสิวหลุดออกได้เร็วขึ้น ร่วมไปกับการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้สิวอักเสบ และป้องกันไม่ให้เกิดไขมันอุดตัน. ในแง่ของการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ที่ก่อสิวนั้น ยังไม่มีรายงานที่เชื้อดื้อยาขนานนี้. ยาเบนซอยล์ เปอร์ออกไซด์ หรือที่เรียกกันว่า บีพี นี้ มีทั้งในรูปเจล ครีม หรือโลชัน ชนิดที่ออกฤทธิ์ได้ผลดีที่สุด คือ เจล.
ยิ่งตัวยาบีพีมีความเข้มข้นสูงเพียงใด ก็ยิ่งทำให้ผิวหนังแห้งและลอกมากขึ้นเพียงนั้น. นอกจากทำให้ผิวหนังแห้งแล้ว ยาขนานนี้ยังก่ออาการแพ้สัมผัส (allergic contact dermatitis) ได้. บีพียังอาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง (irritant contact dermatitis) ได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับยาทากลุ่มกรดวิตามินเอ หรือในผู้ที่ล้างหน้าฟอกสบู่บ่อยๆ ผู้ป่วยบางรายทาบีพีบ่อยเกินไป หน้าจะแห้ง ระคายเคืองมาก ในกรณีนี้จำเป็นต้องหยุดทายา แล้วกลับมาพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาการระคายเคืองและอักเสบของใบหน้าต่อไป.
ความเข้มข้นของยาบีพีมีตั้งแต่ร้อยละ 2.5, 5 และ 10. ในกรณีที่ไม่เคยใช้ยามาก่อน แพทย์อาจ เริ่มให้ยาตั้งแต่มีความเข้มข้นต่ำที่สุดคือร้อยละ 2.5 แรกทีเดียวอาจทาทิ้งไว้ทั่วหน้า 2-3 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่า วันละ 1-2 ครั้ง. ควรทายาก่อนล้างหน้า ถ้าไม่มีการระคายเคืองและอักเสบอาจค่อยๆ เพิ่มเวลาและความเข้มข้นขึ้นได้. ต้องระวังในการทายาไม่ให้เปื้อนเสื้อผ้าและเส้นผม เพราะทำให้เกิดรอยด่างได้. การใช้ในหญิงมีครรภ์ยังไม่ยืนยันความปลอดภัย (pregnancy category C, การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าอาจมีผลเสียและพิษต่อตัวอ่อน แต่ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนในคน ควรเลือกใช้ยาเมื่อผลดีจากการได้รับยามีน้ำหนักกว่าความเสี่ยงต่อทารก).
2. ยาทากลุ่มกรดวิตามินเอ หรือเรตินอยด์ (topical retinoids)
เรตินอยด์ ในรูปยาทาช่วยขจัดปัญหาสิวอุดตันได้ โดยที่กรดวิตามินเอจะซึมผ่านลงไปสู่รูขุมขน ทำให้เซลล์ผิวหนังในรูขุมขนหลวมตัว สิวอุดตันจึงหลุดออกมาง่ายขึ้น. นอกจากนั้น กรดวิตามินเอ ทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วขึ้น สิ่งที่คั่งค้างอุดตันจึงหลุดลอกออกมาเร็ว และยังมีฤทธิ์ต้านอักเสบ.
การใช้ยาขนานนี้ ต้องใช้เวลานานจึงเริ่มเห็นผล เพราะยาจะออกฤทธิ์ต่อเมื่อทาไปแล้ว 3-6 สัปดาห์ ผู้ป่วยหลายคนที่ใจร้อน เมื่อทายาได้เพียง 5-6 วันสิวไม่ดีขึ้นก็หยุดใช้ยา นับว่าเป็นความคิดที่ผิด. จากประสบการณ์ในการรักษาเคยพบผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่มารักษาสิวกันครั้งสองครั้ง กินเวลาแค่สัปดาห์สองสัปดาห์ พอไม่ดีขึ้นก็หยุดรักษา. ความจริงแล้วผู้ที่เป็นสิวต้องเข้าใจว่า การรักษาสิวที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์นั้นต้องใช้เวลาพอสมควร.
ยาทากลุ่มกรดวิตามินเอนั้น มีอยู่ 3 แบบ คือ เป็นเจล, น้ำ หรือครีม. ยาทาขนานนี้ทำให้ผิวหนังระคายเคือง แสบ แดง แห้ง และลอกได้. ยาในรูปของเจลทำให้หน้าแห้งและลอกออกได้มากที่สุด ส่วนยาในรูปครีมทำให้หน้าแห้งน้อยที่สุด.
การทายาขนานนี้ให้ทาเพียงบางๆ วันละครั้งก่อนนอน ไม่ต้องล้างหน้าก่อนทา เพราะยิ่งทำให้หน้าแห้งและระคายเคืองง่ายขึ้น. นอกจากนั้น ในตอนเช้าควรทายากันแดดทั่วหน้าด้วย เพราะแสงแดดยิ่งทำให้ฤทธิ์การระคายเคืองของกรดวิตามินเอต่อผิวหนังสูงขึ้น ยาขนานนี้ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น.
ยาทาเรตินอยด์ที่ใช้รักษาโรคสิว ได้แก่
2.1 Tretinoin อาจเรียกว่า vitamin A acid หรือ retinoic acid เป็นเรตินอยด์รุ่นแรก (non-aromatic retinoids) มีในรูปครีมความเข้มข้น ร้อยละ 0.025, 0.05, และ 0.1 และในรูปเจลความเข้มข้นร้อยละ 0.01 และ 0.025 ควรเริ่มด้วยความ เข้มข้นต่ำที่สุดก่อน หากทาพร้อมกับบีพีประสิทธิภาพจะลดลง. การใช้ในหญิงมีครรภ์ยังไม่ยืนยันความปลอดภัย (pregnancy category C) ในเด็กอายุ เกิน 12 ปีใช้เหมือนผู้ใหญ่ ยังไม่มีการระบุวิธีใช้ในเด็ก ต่ำกว่า 12 ปี.
2.2 Isotretinoin (isotrexin จะมี erythromycin ผสม) เป็นเรตินอยด์รุ่นแรกเช่นกัน มักอยู่ในรูปเจล 0.05 % ได้ผลใกล้เคียงกับ tretinoin และบีพี ทำให้แห้ง ลอกเป็นขุยได้ แต่น้อยกว่า tretinoin. ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตร (pregnancy category B1).
2.3 Adapalene ในบางรายที่ใช้ยากลุ่มกรด tretinoin แล้วมีปัญหาผิวแห้งระคายเคืองมาก แพทย์อาจเปลี่ยนมาให้ยากลุ่มเรตินอยด์รุ่นที่สาม (polyaromatic retinoids) แทน คือ adapalene ควรทายาก่อนนอน อาจทาครีมให้ความชุ่มชื้นตามใน บริเวณที่ผิวแห้งและรอบดวงตา และควรใช้ยากันแดดร่วมด้วย. การใช้ในหญิงมีครรภ์ยังไม่ยืนยันความปลอดภัย (pregnancy category C).
2.4 Tazarotene เป็นยากลุ่มเรตินอยด์รุ่นที่สามเช่นกัน นอกจากมีฤทธิ์ต่อการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังแล้ว ยังมีฤทธิ์ต้านอักเสบและฤทธิ์ต่อระบบภูมิต้านทาน (immunomodulatory proper-ties). อยู่ในรูปของครีมและเจลความเข้มข้นร้อยละ 0.05 และ 0.1. ใช้ทาบางๆวันละครั้ง. ในวัยรุ่นใช้เหมือน ผู้ใหญ่ ในเด็กยังไม่มีการระบุการใช้ ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ (pregnancy category X, การศึกษาในสัตว์ทดลองและคน พบความผิดปกติและความเสี่ยงต่อ ตัวอ่อนและทารกในครรภ์). ไม่ควรใช้ร่วมกับยาทา หรือเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวแห้ง เช่น salicylic acid, benzoyl peroxide, astringents เพราะจะเกิดการแพ้ได้ง่าย.
3. ยาทารักษาสิวกรด azelaic นอกจาก ช่วยให้สิวอุดตันหลุดลอกแล้ว ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคที่ผิวหนัง กรด azelaic จัดเป็น dicarboxylic acid ที่พบในข้าวสาลี, ไรย์, บาร์เลย์ ออกฤทธิ์คล้าย BP 5%, กรดวิตามินเอ 0.05 % หรือ erythromycin cream 2%. โดยทั่วไปยาทา azelaic acid ไม่ค่อยทำให้ผิวระคายเคืองและไม่ค่อยก่อให้เกิดผิวไวต่อแสง. การใช้ในหญิงมีครรภ์จัดเป็น pregnancy category B (การศึกษาในสัตว์ทดลองไม่พบความเสี่ยงต่อตัวอ่อน แต่ยังไม่มีการศึกษาชัดเจนพอเพียงในคน).
4. ยาปฏิชีวนะชนิดทา (topical antibiotics) เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ P. acnes ทำให้เกิดสิวอักเสบขึ้นได้. การให้ยาปฏิชีวนะกินเพื่อการรักษาสิวจึงเป็นสิ่งที่แพทย์ปฏิบัติมานานแล้ว. เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการพัฒนายาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาสิว มาอยู่ในรูปยาทา เพื่อลดข้อแทรกซ้อนจากการกินยาต่อเนื่องกันนานๆ. ผู้ป่วยที่เป็นสิวหลายรายที่เคย ได้รับยาปฏิชีวนะชนิดกินเพื่อรักษาสิว. ปัจจุบันอาจ ใช้เพียงยาทาก็พอ ซึ่งยาทานี้จะอยู่ในรูปของโลชั่น ครีม หรือขี้ผึ้ง. ยาปฏิชีวนะชนิดทาจะออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียที่ก่อสิว (P. acnes) จึงมีฤทธิ์ต้านอักเสบ แต่ไม่มีฤทธิ์สลายก้อนไขมันอุดตัน (comedolytic). อาจพบภาวะเชื้อดื้อยาได้ อาจใช้ร่วมกับบีพีเพื่อลด ภาวะเชื้อดื้อยาลง.
ยาปฏิชีวนะชนิดทาที่อยู่ในรูปของโลชัน ซึ่งมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ จะทำให้ผิวหนังแห้งได้. ดังนั้นถ้าเป็นคนที่มีผิวหน้าแห้งและระคายเคืองง่ายอยู่แล้ว แพทย์อาจเลือกใช้ยาปฏิชีวนะชนิดที่ทาอยู่ในรูปครีม หรือขี้ผึ้งแทน. ในทางตรงกันข้าม หากมีผิวหน้าค่อนข้างมันก็อาจใช้ยาในรูปของโลชัน. การใช้ยาปฏิชีวนะทานี้ ให้ทาประมาณ 20-30 นาทีหลังล้างหน้าตอนเช้าและตอนเย็น.
ยาปฏิชีวนะที่ใช้ทาทั่วไป ได้แก่
คลินดาไมซิน จากการทดลองพบว่าเมื่อใช้ยาขนานนี้ จะลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบลงได้มาก จึงเหมาะสำหรับสิวหัวหนองขนาดเล็ก แต่ถ้าเป็นสิวหัวช้างหรือซิสต์ หรือเป็นสิวอุดตันจะได้ผลไม่ดี (pregnancy category B).
อีริโทรไมซิน เชื่อว่าได้ผลดีใกล้เคียงกับคลินดาไมซิน (pregnancy category B).
เตตราไซคลีน เชื่อว่าได้ผลน้อยกว่าคลินดาไมซินและอีริโทรไมซิน (pregnancy category B).
ยาปฏิชีวนะชนิดทาพวกนี้ หลายขนานบรรจุอยู่ในขวด ที่มีลูกกลิ้งสำหรับทาใบหน้าเพื่อความ สะดวก บางขนานทำอยู่ในรูปแผ่นกระดาษอาบน้ำยาสำเร็จรูป เมื่อจะใช้ก็ฉีกซองแล้วใช้แผ่นกระดาษอาบน้ำยาปฏิชีวนะนั้นเช็ดหน้า.
ข้อควรระวังก็คือ ยาพวกนี้เมื่อใช้ไปนานๆ ก็ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และให้ผลแทรกซ้อนได้เหมือน ยาชนิดกิน. การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทา จึงจำเป็น ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัดเช่น กัน.
นอกจากนั้นก็ยังมียาปฏิชีวนะในรูปยา ทาขนานอื่นๆ เช่น metronidazole, nadifloxacin, sodium sulfacetamide และมียาทาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะที่นำมาใช้รักษาสิว ได้แก่ sulphur, resorcinol, zinc และ salicylic acid หรือยาทาที่มีส่วนผสมของทั้งยาปฏิชีวนะและยาที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ เช่น erythromycin-zinc complex.
การรักษาโรคสิวด้วยยาทาในปัจจุบัน
เนื่องจากมีการพัฒนายาทารักษาสิวใหม่ๆ การใช้ยาทารักษาสิวจึงแตกต่างจากเมื่อ 10-25 ปีที่ผ่านมา ในอดีตการใช้ยาทากลุ่มกรดวิตามินเอ หรือเรตินอยด์ ก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนได้บ่อย คืออาการผิวแดง, ปวดแสบปวดร้อน และผิวลอก. ปัจจุบันมีการพัฒนาเรตินอยด์รุ่นใหม่ ทำให้ยาทาเรตินอยด์จัดเป็นการรักษาอย่างแรก (first-line treatment) สำหรับผู้ป่วย โรคสิวที่มีอาการตั้งแต่น้อยจนถึงรุนแรงปานกลาง (mild to moderately severe acne). พบว่ายาทาเรตินอยด์ลดสิวอุดตันและสิวอักเสบ เมื่อใช้ร่วมกับยาทาปฏิชีวนะ เช่นบีพี หรือยาปฏิชีวนะชนิดกิน เช่น ด็อกซิไซคลีนทำให้สิวหายเร็วขึ้น และหยุดกินยาปฏิชีวนะได้เร็วขึ้น. ส่วนการใช้ยาทาบีพีร่วมกับยาทาปฏิชีวนะ คือ อีริโทรไมซินหรือคลินดาไมซินก็จัดเป็นการรักษาโรคสิวที่มีประสิทธิภาพ. การใช้ยาทาปฏิชีวนะอย่างเดียวได้ผลในการรักษาช่วงแรก แต่เมื่อใช้ไปนานๆเชื้อสิวมักดื้อยา จึงควรคู่ไปกับยาทาขนานอื่น. การใช้ยาทา salicylic acid ได้ผลปานกลาง ส่วนยาทา azelaic acid นั้นได้ผลในการทดลอง แต่เมื่อนำมาใช้จริงผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่ายังมีประ- สิทธิภาพไม่ดีเท่ายาทารักษาสิวขนานอื่น. ส่วนยาทา sulfur, resorcinol, sodium sulfacetamide, zinc, aluminium chloride นั้น ยังมีข้อมูลผลการศึกษาถึงประสิทธิภาพในการรักษาสิวไม่ชัดเจน. การทายารักษาสิวหลายชนิดร่วมกันนั้น ไม่ควรทาพร้อมกันครั้งเดียว นอกจากจะมีการระบุว่าถ้าทาพร้อมกันแล้วฤทธิ์เสริมกัน.
เอกสารอ้างอิง
1. รัศนี อัครพันธุ์. โรคของต่อมไขมัน. ใน : ปรียา กุล-ละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร. ตำราโรคผิวหนังใน เวชปฏิบัติปัจจุบัน (Dermatology 2010). กรุงเทพฯ : บริษัท โฮลิสติก พับบลิชชิ่ง จำกัด. 2548:56-70.
2. อนงค์นาฏ ชินะผา, สุรีย์พร ศรีตั้งรัตนกุล, พรทิพย์ หุยประเสริฐ. ความเข้าใจโรคสิวในนิสิตซึ่งสอบผ่าน เข้าเรียนแพทย์. วารสารโรคผิวหนัง 2544;17:175-9.
3. กนกวลัย กุลทนันทน์. สิว. วารสารคลินิก 2546;19: 213-20.
4. Strauss JS, Krowchuk DP, Leyden JJ, Lucky AW, Shalita AR, Siegfried EC, Thiboutot DM, Van Voorhees AS, Beutner KA, Sieck CK, Bhushan R. American Academy of Dermato-logy/American Academy of Dermatology. Guidelines of care for acne vulgaris management. J Am Acad Dermatol 2007 Apr; 56(4):651-63.
5. Julie C Harper. Acne vulgaris. eMedicine. Last updated January 23, 2007.
6. Cunliffe WJ, Holland KT. The effect of benzoyl peroxide on acne. Acta Derm Venereol 1981; 61(3):267-9.
7. Cunliffe WJ, Holland DB, Clark SM, Stables GI. Comedogenesis : some new aetiological, clinical and therapeutic strategies. Br J Dermatol Jun 2000;142(6):1084-91.
8. Gollnick H, Schramm M. Topical drug treatment in acne. Dermatology 1998;196(1):119-125.
9. Harper JC. An update on the pathogenesis and management of acne vulgaris. Journal of the American Academy of Dermatology 2004 July:51(1):S36-8
ประวิตร พิศาลบุตร พ.บ., เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
Diplomate, American Board of Dermatology
Diplomate, American Subspecialty Board of Dermatological Immunology,
Diagnostic and Laboratory Immunology
อาจารย์พิเศษ, ภาควิชาเภสัชกรรม, คณะเภสัชศาสตร์,
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อ่าน 28,764 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้