Disclaimer : รายงานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์มีมากมายมหาศาล ในขณะนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเป็นอย่างยิ่ง คอลัมน์นี้ได้สรุปรายงานการศึกษาที่น่าสนใจที่ลงในวารสารทางการแพทย์ที่ผ่าน peer review มาให้สมาชิกทราบ แต่ข้อพึงระวังคือ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่มีการรายงานการศึกษาจะมีความถูกต้องเป็นสัจจะ เพราะไม่มีอะไรถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ในทางการแพทย์ ความรู้ ความเชื่อ ณ วันนี้อาจได้การยอมรับแต่ความรู้ใหม่ๆ ในวันหน้าก็สามารถลบล้างความรู้ ความเชื่อในวันนี้ได้เช่นกัน.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D.
รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
ยาพ่น สตีรอยด์ ชะลออาการของ COPD ได้หรือไม่
Soriano JB, et al. A pooled analysis of FEV1 decline in COPD patients randomized to inhaled corticosteroids or placebo. Chest March 2007;131:682-9.
แนวทางการรักษาผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง โดยใช้ยาสตีรอยด์นั้น ให้ใช้เมื่อ FEV1 ต่ำกว่า 50% ยาช่วย ทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้น ลดความรุนแรง คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ก็ยังมีข้อกังขาว่าผลเสียของการใช้ยาสตีรอยด์ ระยะยาวจะเป็นอย่างไร และสามารถทำให้ธรรมชาติของโรคเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่. การศึกษาโดย Soriano และคณะจึงได้ศึกษาว่าการใช้ยาพ่นในผู้ป่วย ถุงลมโป่งพองว่ามีผลต่อการเสื่อมลงของ FEV1 อย่างไร และมีความแตกต่างระหว่างเพศ หรือมีความแตกต่างระหว่างคนที่ยังสูบและเลิกสูบบุหรี่แล้วหรือไม่.
ผู้วิจัยศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการรวมงานวิจัยแบบ randomized controlled trial 7 ฐาน ข้อมูล ที่มีการเปรียบเทียบการใช้ยาพ่นสตีรอยด์กับยาหลอกในขณะที่ผู้ป่วย COPD อยู่มีอาการคงที่ ผู้ป่วยที่อยู่ในการศึกษามีตั้งแต่อาการไม่รุนแรง จนกระทั่งมีอาการรุนแรง อายุ 40 ปีขึ้นไป มีการใช้ spirometer ประเมินผลสมรรถภาพปอด ในระยะ 6 เดือนหลังจากการเริ่มต้นการทดลอง ในรวมผู้ป่วย 3911 คน.
ผลการศึกษา ระยะหลัง 6 เดือนหลังการทดลอง ผู้ป่วยที่ได้ยาพ่นสตีรอยด์มี FEV1 ดีขึ้นกว่ากลุ่มไม่ได้ยาอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากนั้น ช่วง 6 ถึง 36 เดือน การลดลงของระดับ FEV1 ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ได้ยาและไม่ได้ยา. การศึกษานี้ยังพบว่าใน 6 เดือนแรก ในกลุ่มที่ได้ยานั้นคนที่หยุดสูบบุหรี่แล้วมี FEV1 ดีกว่ากลุ่มที่ยังคงสูบบุหรี่อยู่อย่างมีนัยสำคัญ โดยในผู้หญิงมี FEV1 ดีกว่าผู้ชาย แต่ภายหลังการใช้ 6 เดือน แล้วอัตราการเลวลงของ FEV1 คนสูบบุหรี่และหยุดสูบบุหรี่ และในคนที่หยุดสูบบุหรี่แล้ว ชายและหญิงก็ไม่มีความแตกต่างกัน.
สรุป การใช้ยาพ่นสตีรอยด์ ได้ผลดีต่อ FEV1 บ้างในระยะ 6 เดือนแรก โดยคนที่เลิกบุหรี่แล้วดีกว่าคนยังสูบบุหรี่ แต่หลังจากนั้นยาไม่ได้ช่วยชะลอการเลวลงของ FEV1.
วิตามินช่วยลดอัตราการติดเชื้อได้หรือไม่
Liu BA, et al. Effect of multivitamin and mineral supplementation on episodes of infection in nursing home residents: a randomized, placebo-controlled study. J Am Geriatr Soc January 2007;55:35-42.
วิตามินและเกลือแร่เสริมช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน และน่าจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อ จึงควรมีประโยชน์ในคนที่อาศัยในสถานที่พักฟื้นซึ่งมีโอกาสเกิดภาวะขาดสารอาหาร. ผู้วิจัยจึงศึกษาว่าการให้วิตามินและอาหารเสริม ช่วยลดอัตราการติดเชื้อในคนกลุ่มนี้ได้หรือไม่.
ผู้วิจัยทำการศึกษาในผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานพักฟื้น 21 แห่ง ในโตรอนโต ประเทศแคนาดา มีการแบ่งแบบสุ่มเป็นกลุ่มที่ให้ยาบำรุงวิตามิน และกลุ่มยาหลอกทดลองเป็นเวลา 19 เดือน ระหว่างนี้มีการประเมินการกินอาหารว่าครบถ้วนหรือไม่ มีการเฝ้าระวังการติดชื้อในคนพักฟื้นเหล่านี้ การติดเชื้อของอวัยวะต่างๆ ได้แก่ ผิวหนัง เนื้อเยื่อ ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในเลือด ฯลฯ. โดยตัวชี้วัดผลหลัก คือ จำนวนครั้งของการติดเชื้อต่อคน สำหรับตัวชี้วัดรอง คือ การใช้ยาปฏิชีวนะ และการเข้านอนรักษาในโรงพยาบาล.
ผลการศึกษา พบว่า ในจำนวนคนที่เข้าร่วม 748 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุเฉลี่ย 85 ปี ทั้งสองกลุ่มมีลักษณะคล้ายกัน ยกเว้น กลุ่มได้ยาบำรุงมี อัตราคนที่มีภาวะสมองเสื่อมมากกว่า (57 % vs. 48%) จากการดูอัตราการติดเชื้อพบว่า มี 1.66 ครั้ง/คน รวมทั้งสิ้น 1245 ครั้ง โดยกลุ่มได้ยาบำรุงมีการติดเชื้อ 3.5 ครั้ง/พันคน/วัน (ต่อคนใน 1000 วัน). ส่วนกลุ่มยาหลอกอัตรา 3.8 ครั้ง/ พันคน/วัน ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ. กลุ่มได้ยาบำรุงมีการ ใช้ยาปฏิชีวนะน้อยกว่ากลุ่มยาหลอก แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน. การวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมเฉพาะคนที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อมของทั้ง 2 กลุ่ม พบว่าในกลุ่มที่ได้ยาบำรุงมีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่ากลุ่มควบคุม.
สรุป โดยรวมการได้ยาบำรุงไม่ได้ช่วยลดการติดเชื้อในคนที่อาศัยในสถานพักฟื้นเหล่านี้ แต่กลุ่มที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อมอาจได้ประโยชน์จากยาบำรุงมากกว่า.
การศึกษาในประชากรทั่วไปยังไม่มีหลักฐานการวิจัยเพียงพอที่สนับสนุนว่าการให้ยาบำรุงช่วยลดอัตราการติดเชื้อ. อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่มีโอกาสขาดสารอาหาร การให้วิตามินเสริมส่วนที่ขาดนั้นมีความเหมาะสม การที่ได้ผลวิจัยพบว่าคนไม่มีภาวะสมองเสื่อมได้ประโยชน์มากกว่า เป็นเพราะคนกลุ่มนี้(ในการศึกษานี้) มีโรคเรื้อรังทางกายอื่นๆ และมีภาวะขาดสารอาหารมากกว่าคนที่มีภาวะสมองเสื่อม.
- อ่าน 5,000 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้