Q การเปลี่ยนไตคืออะไร
A การเปลี่ยนไตคือ การปลูกถ่ายไตใหม่ให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยที่ผู้รับการปลูกถ่ายไตสามารถที่จะได้รับไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต เช่น ในพ่อ แม่ หรือญาติพี่น้องที่มีความสัมพันธ์กันทางสายโลหิต หรือจากผู้บริจาคสมองตาย (หมายถึงผู้บริจาคที่ก้านสมองไม่ทำงานโดยสิ้นเชิงและผู้ป่วยไม่สามารถที่จะมีชีวิตต่อไปอีกได้).
Q ข้อบ่งชี้และข้อห้ามของการเปลี่ยนไต
A ข้อบ่งชี้ สามารถกระทำการเปลี่ยนไตหรือปลูกถ่ายไตได้ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ไม่มีข้อห้ามในการรับการผ่าตัด.
ข้อห้าม - มีโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือโรคร่วมอื่นๆ ที่ประเมินแล้วคิดว่ามีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด.
- มีมะเร็งระยะลุกลาม หรือที่มีแนวโน้มจะมีการแพร่กระจายของมะเร็งมากขึ้น หลังการผ่าตัดเปลี่ยนไต.
- ไม่สามารถมารับการรักษาติดตามผลอย่างต่อเนื่องได้หลังการผ่าตัดเปลี่ยนไต เช่น ผู้ป่วยต้องกินยากดภูมิตลอดชีวิต เฝ้าระวังและตรวจดูการทำงานของไตใหม่ว่ามีการต่อต้านกันของเนื้อเยื่อหรือไม่, ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ.
- มีปัญหาเรื่องการติดเชื้อระยะรุนแรงในร่างกาย.
Q ความเสี่ยงและประโยชน์ของการผ่าตัดเปลี่ยนไต
A ความเสี่ยงหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนไต โดยทั่วไปควรระวังเรื่องของการติดเชื้อในร่างกายเนื่องจากผู้ป่วยกินยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีผลทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายต่ำลง และมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น. นอก จากนั้นความเสี่ยงจะเหมือนกับการผ่าตัดที่ใช้ยาดมสลบทั่วไปคือ มีเสมหะมากหลังจากการผ่าตัดในช่วง 1-2 วันแรก เนื่องจากปอดแฟบ (lung atelectasis) เจ็บบริเวณแผลผ่าตัด, ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ, ติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด.
ประโยชน์ของการผ่าตัดเปลี่ยนไต คือ
1. คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยไม่ต้องได้รับการฟอกเลือดหรือล้างไตโดยผ่านทางช่องท้อง.
2. ไม่จำเป็นต้องจำกัดปริมาณน้ำในร่างกาย.
3. ไม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะของเสียคั่ง (uremia) ในร่างกาย ซึ่งจะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย, คลื่นไส้ อาเจียน, กินอาหารไม่ได้, และในบางรายผู้ป่วยเสียระดับความรู้สึกตัว เช่น ซึมลง, สับสน พูดคุยไม่รู้เรื่อง.
4. ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติหรือใกล้เคียงกับปกติ.
Q ราคาของการเปลี่ยนไตเท่าไร และทำได้ที่ไหนบ้าง
A สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนไต ไม่ว่าจะเป็นจากผู้บริจาคมีชีวิต หรือผู้บริจาคสมองตาย จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 200,000-250,000 บาท ในโรงพยาบาลรัฐบาล และในรายที่รับไตจากผู้บริจาคมีชีวิต ผู้ป่วยจะอยู่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 สัปดาห์. แต่สำหรับรายที่รับไตจากผู้บริจาคสมองตาย ผู้ป่วยจะอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 4-5 สัปดาห์ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าไตที่ได้รับบริจาคจะสามารถฟื้นตัวกลับมาทำงานได้เร็วมากน้อยแค่ไหน.
สามารถทำการผ่าตัดเปลี่ยนไตได้ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศิริราชพยาบาล, โรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลรัฐบาลที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ในต่างจังหวัดบางแห่ง และโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง.
ผู้นิพนธ์
ปิยนุช พูตระกูล พ.บ. อาจารย์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
บรรณาธิการ
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ. ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล รามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 37,330 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้