Q อยากเรียนถามว่าจะทราบได้อย่างไรว่าตาแดงชนิดใดเป็นอันตราย
รัชดาภรณ์ ตันติมาลา
ภาพที่ 1. ตาแดงบริเวณตาขาวจะเป็นปื้นสีแดง.
A โรคตาแดงหรือเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือโรคภูมิแพ้ ตามที่กล่าวมาแล้ว มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงแก่ดวงตา ถึงขนาดทำให้ตามัวหรือตาบอดได้ ซึ่งโดยทั่วไปโรคตาแดงที่ไม่อันตราย แม้จะมีตาแดงอย่างไร การมองเห็นต้องไม่มัวลง. ถ้ามีตาแดงร่วมกับการมองเห็นลดลงหรือตามัว ให้ระวังว่าอาจเกิดจากโรคตาที่อาจเป็นอันตราย. ในกรณีตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างแดง และมีตามัวลง ถ้ามีขี้ตาอาจเกิดจากการเป็นหนองที่กระจกตา หรือติดเชื้อรุนแรงในลูกตา หรือกรณีตาแดง และมัวที่ไม่มีขี้ตา อาจเกิดจากกระจกตาอักเสบ หรือม่านตาอักเสบ ดังนั้นในภาวะตาแดงที่มีตามัวร่วมด้วย ถือว่าอันตรายต้องรีบไปพบจักษุแพทย์.
ภาวะตาแดงอีกกรณีหนึ่งแต่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ คือ เลือดออกใต้เยื่อบุตาขาว มักเกิดจากเผลอ ไปขยี้ตา อาจเพิ่งสังเกตในตอนตื่นนอน. ลักษณะตาแดงที่บริเวณตาขาวจะเป็นปื้นสีแดงสด (ภาพที่ 1) มักไม่มีอันตราย เลือดจะไม่เข้าตาดำ ไม่ทำให้ตามัว และไม่ติดต่อกัน แนะนำว่าอย่าขยี้ตา อาจใช้ผ้าชุ่มน้ำอุ่นประคบตาวันละ 10 นาที เลือดมักค่อยๆจางและหายสนิทใน 10-14 วัน.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.
จักษุแพทย์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โรคหูน้ำหนวกในเด็ก
Q ผู้ป่วยเด็กที่เคยเป็นหูน้ำหนวก แล้วกลับเป็นอีก มีสาเหตุอย่างไร
วรวิทย์ อึ้งภูริเสถียร
A ในเด็ก มีโอกาสเป็นโรคหูน้ำหนวกได้มาก เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างประกอบกัน ได้แก่ การที่เด็กอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือที่โรงเรียน ซึ่งมีโอกาสรับเชื้อต่างๆ ได้มาก โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ฝุ่นควันมลภาวะต่างๆ การทำงานของ eustachian tube ยังไม่สมบูรณ์ ภูมิต้านทานน้อย หรืออาจมีความผิดปกติทางกายวิภาค เช่น cleft palate เป็นต้น.
ในเด็กที่เป็นหูน้ำหนวกซ้ำ อาจมีพยาธิสภาพหลายแบบ เช่น
- Recurrent acute otitis media ซึ่งอาจเกิดร่วมกับไข้หวัด.
- Chronic otitis media ซึ่งจะมี tympanic membrane perforation.
- อาจมี granulation tissue หรือ aural polyp ที่ external ear หรือ middle ear cavity ทำให้มี discharge ไหลออกจากหูเป็นๆ หายๆ.
- มี retraction ของ ear drum หรือมี retraction pocket.
- เป็น cholesteatoma.
ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกาย และให้การรักษาตามพยาธิสภาพที่ผิดปกตินั้นๆ.
พิบูล วชิรลาภไพฑูรย์ พ.บ.
โสต ศอ นาสิกแพทย์
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
- อ่าน 6,175 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้