วิทยาการสมัยใหม่มีเพิ่มขึ้นทุกวันในการดูแลรักษาผู้ป่วย บางครั้งแพทย์โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่อาจมีปัญหาในการตอบคำถามหรือสื่อสารกับผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งอาจดูเหมือนเป็นคำถามง่ายๆ สั้นๆ แต่จะตอบให้เข้าใจตรงกันได้ยาก ถ้ามีแนวทางในการตอบคำถามและสื่อสารกับผู้ป่วยให้เข้าใจโรคของตนเองก็จะทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างสมบูรณ์และดียิ่งขึ้น
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
Q ตรวจผู้ป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัด พบผู้ป่วยผู้หญิงจำนวนมากมาขอทำ mammogram ทั้งๆที่ไม่มีอาการอะไร เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม อยากทราบว่าส่งตรวจไปมีประโยชน์หรือไม่
A การส่งตรวจในกรณีที่ไม่มีอาการแบบนี้เรียกว่าเป็นการตรวจคัดกรอง คือการค้นหาโรคหรือภาวะต่างๆก่อนที่จะมีอาการ มีประโยชน์ในผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป.
Q มีแนวทางในการตรวจคัดกรองอย่างไรบ้างครับ หรือว่าส่งทำ mammogram ไปเลย
A โดยทั่วไปเราเริ่มด้วยการซักประวัติเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมต่างๆ เช่น
- ประวัติการมีประจำเดือนครั้งแรก และประจำเดือนหมดเมื่ออายุเท่าไร.
- ประวัติมะเร็งในครอบครัว เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งรังไข่ และอายุของญาติที่เริ่มเป็น.
- จำนวนบุตรและอายุที่เริ่มมีบุตรคนแรก.
- ประวัติการผ่าตัดเนื้องอกบริเวณเต้านมทั้งที่เป็นมะเร็งและไม่เป็นมะเร็ง.
- ประวัติการใช้ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทน.
- ประวัติการฉายรังสีที่เต้านมหรือทรวงอก.
Q ต้องตรวจเต้านมด้วยหรือไม่ครับ เพราะผู้ป่วยบางคนก็ไม่อยากให้ตรวจ อยากให้รอดูจาก mammogram ถ้ามีสิ่งผิดปกติแล้ว ค่อยตรวจทีหลัง บอกว่าคลำด้วยตัวเองแล้วไม่มีอะไร
A ต้องตรวจด้วยเสมอครับ เนื่องจากรอยโรคบางอย่างดูจาก mammogram เพียงอย่างเดียวอาจผิดพลาดได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เนื้อเต้านมมีความหนาแน่นมากๆ.
Q การตรวจคัดกรองด้วยการตรวจร่างกายอย่างเดียว เพียงพอหรือไม่ครับ ถ้าที่โรงพยาบาลไม่มี mammogram
A ไม่พอครับ เพราะโดยปกติการใช้เครื่องมือในการตรวจคัดกรองแล้วมีประโยชน์หรือไม่ จะดูว่าสามารถลดอัตราตายจากโรคนั้นได้หรือไม่ การศึกษาพบว่า breast self exam และ clinical breast exam ไม่ลดอัตราตายจากมะเร็งเต้านม แต่ก็ยังแนะนำให้ทำ เพื่อให้สามารถตรวจพบรอยโรคได้ระหว่างช่วงปีที่รอทำ mammogram.
Q การตรวจคัดกรองใช้ mammogram ได้เพียงอย่างเดียว ไม่มี imaging อื่นๆเลยหรือครับ
A การใช้อัลตราซาวนด์หรือ MRI ในการคัดกรองยังไม่พบว่ามีประโยชน์ครับ เนื่องจากไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าสามารถลดอัตราการตายจากมะเร็งเต้านมได้ ในขณะที่ mammogram สามารถลดได้ถึงร้อยละ 20-35 ในผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป. ในปัจจุบัน ทั้งอัลตราซาวนด์ และ MRI จึงใช้ในการพยากรณ์โรคเท่านั้น.
Q เริ่มคัดกรองเมื่อไหร่ครับ
A โดยทั่วไปแนะให้
- Mammogram เป็น baseline เมื่ออายุ 35 ปี.
- อายุ 40-49 ปี ทำ mammogram ทุก 1-2 ปี ร่วมกับการตรวจร่างกายโดยแพทย์.
- อายุ 50 ปีขึ้นไป ทำ mammogram ทุก 1 ปี ร่วมกับการตรวจร่างกายโดยแพทย์.
โดยแนะนำและสอนผู้ป่วยทำ monthly self breast exam ระหว่างช่วงปีด้วย.
Q จะหยุดตรวจคัดกรองเมื่อไหร่ครับ
A การศึกษาทั้งหมดมีข้อมูลหลังจากอายุ 70 ปี ขึ้นไปน้อย แต่ก็ยังพบว่ามีประโยชน์ จึงต้องพิจารณาร่วมกับ comorbid และ life-expectancy ของผู้ป่วยด้วย.
Q ทำ mammogram บ่อยๆ มีอันตรายหรือไม่ครับ
A มีการพูดถึง radiation-induce breast cancer เช่นกัน แต่เป็น incidence น้อยมาก คือพบ 8/100,000 ในผู้หญิงที่ทำ annual mammogram 10 ปีเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปี.
สรุป การทำการตรวจคัดกรองด้วย mammogram มีประโยชน์ในการลดอัตราตาย จากมะเร็งเต้านมอย่างมีนัยสำคัญ โดยแนะนำให้ทำทุก 1-2 ปี ในช่วงอายุ 40-49 ปี และทำทุกปีในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร่วมกับการสอนผู้ป่วยตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง.
บรรณาธิการ
วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา พ.บ. ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้นิพนธ์
ยอดยิ่ง วาสุถิตย์ พ.บ.
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 5,073 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้