Disclaimer : รายงานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์มีมากมายมหาศาล ในขณะนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามเป็นอย่างยิ่ง คอลัมน์นี้ได้สรุปรายงานการศึกษาที่น่าสนใจที่ลงในวารสารทางการแพทย์ที่ผ่าน peer review มาให้สมาชิกทราบ แต่ข้อพึงระวังคือ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่มีการรายงานการศึกษาจะมีความถูกต้องเป็นสัจจะ เพราะไม่มีอะไรถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ในทางการแพทย์ ความรู้ ความเชื่อ ณ วันนี้อาจได้การยอมรับ แต่ความรู้ใหม่ๆ ในวันหน้าก็สามารถลบล้างความรู้ ความเชื่อในวันนี้ได้เช่นกัน.
วิชัย เอกพลากร พ.บ., Ph.D.
รองศาสตราจารย์, ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, มหาวิทยาลัยมหิดล
Rosiglitazone โยงใยกับการตายด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
Nissen SE, Wolski K. Effect of rosiglitazone on the risk of myocardial infarction and death from cardiovascular causes. N Engl J M 2007;356.
ยารักษาเบาหวาน rosiglitazone (Avandia®) ดังอีกแล้ว ยานี้อยู่ในกลุ่ม thizolidinedione ซึ่งมีอีก 2 ขนานคือ troglitazone ซึ่งถูกเพิกถอนออกไปแล้วเนื่องจาก เป็นพิษต่อตับ และ pioglitazone. สำหรับ rosiglitazone เริ่มเข้าสู่ตลาดยา ปี พ.ศ. 2542 โดดเด่นที่สามารถลดน้ำตาล และ HbA1c ได้ดี และอาจเป็นยาช่วยป้องกันเบาหวานรายใหม่ในคนที่เสี่ยง.
ที่ผ่านมายังมีข้อมูลน้อยเกี่ยวกับผลของยานี้ต่อการลดภาวะแทรกซ้อนในระบบหัวใจและหลอดเลือด และผลต่ออัตราตายด้วยโรคระบบหัวใจซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตหลักในผู้ป่วยเบาหวาน.
คราวนี้ นักวิจัยชาวอังกฤษ ทบทวนงานวิจัยแบบ meta-analysis เลือกการวิจัยที่เป็นทดลองทางคลินิก ดูว่ายาตัวนี้มีผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอย่างไรหรือไม่.
แหล่งข้อมูลของการศึกษานี้ได้จากงานวิจัยที่ลงทะเบียนโดยบริษัทยา เลือกงานวิจัยที่มีระยะเวลาติดตามนานไม่ต่ำกว่า 24 สัปดาห์ มีตัวชี้วัดด้านโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเสียชีวิตด้วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด.
จากรายงานวิจัยทั้งหมด 116 เรื่องมี 42 เรื่องที่เข้าเกณฑ์ ผู้ป่วยทั้งหมด มีจำนวน 15,560 คนในกลุ่มได้ยา rosiglitazone และอีก 11,283 คน ที่ได้ยาเบาหวานตัวอื่น ผู้ป่วยอายุเฉลี่ย 56 ปี ระดับ HbA1C 8.2% การวิเคราะห์ พบว่า กลุ่ม rosiglitazone มีอัตราเสี่ยงต่อโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็น 1.43 เท่า และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด 1.64 เท่าของกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ยา rosiglitazone.
ข้อสรุป ยา rosiglitazone สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด และแพทย์และผู้ป่วยควรคำนึงถึงผลข้างเคียงนี้ก่อนใช้ยานี้.
ผลการศึกษานี้เป็นข่าวใหญ่และถูกวิจารณ์ว่า ยังมีข้อจำกัดในเรื่องวิธีการศึกษาข้อมูลที่ไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ คณะผู้วิจัยเองก็ระบุว่าไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดิบได้ จึงมีข้อจำกัดในการวิเคราะห์.
สำหรับหน่วยงานสำนักงานอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกา รีบประกาศเตือนทางเว็บไซต์ให้ประชาชนทั่วไปและผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจให้ปรึกษาแพทย์ แต่ยังไม่มีการเพิกถอนยาจากตลาด เราคงต้องจับตาว่า หน่วยงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังเร่งศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะทำอย่างไรต่อไป.
Sciatica ผ่าตัดเร็ว ช้า หรือ ไม่ต้องผ่า ดี
Peul WC, et al. Survey versus prolonged conservative treatment for sciatica. N Engl J Med 2007;356:2245-56.
การรักษาผู้ป่วยที่เป็น sciatica เริ่มต้นด้วยการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดหรือรอไปก่อน แต่จะรอนานเท่าไรนั้นยังไม่มีข้อสรุป ในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีแนวทางว่าจะรักษาแบบผ่าตัด ในรายที่ไม่ดีขึ้นใน 6 สัปดาห์. อย่างไรก็ตามยังไม่แน่ว่าการรักษาแบบผ่าตัดเร็วขึ้นนั้นให้ผลดีกว่าไม่ผ่าหรือผ่าช้าไม่.
การวิจัยในประเทศเนเธอร์แลนด์นี้สุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ sciatica รุนแรงมานาน 6-12 สัปดาห์ จำนวน 283 คน แบ่งเป็นกลุ่มรักษาโดยการผ่าตัดและกลุ่มไม่ต้องรีบผ่าตัด. ตัวชี้วัดหลัก คือ ประเมินอาการด้วยคะแนน Roland disability score, คะแนนความเจ็บปวดที่ขาว่ามากน้อยเพียงใด และให้คะแนนความรู้สึกของผู้ป่วยว่าตนเองดีขึ้นเพียงใด นักวิจัยทำการประเมินเป็นระยะๆ ณ สัปดาห์ ที่ 2, 4, 8, 12, 26, 38 c]t 52.
ผลการศึกษา ในจำนวนผู้ป่วย 141 รายที่ได้รับการผ่าตัด มี 125 รายที่ได้รับการผ่าตัด micro diskectomy ภายในเวลาเฉลี่ยหลังมีอาการนาน 2.2 สัปดาห์ ส่วนในกลุ่มที่ไม่ต้องรีบผ่าตัดนั้น พบว่า 55 ราย (ร้อยละ 39) ได้รับการผ่าตัดในที่สุด เฉลี่ยภายหลังมีอาการนาน 18.7 เดือน เมื่อประเมินความเจ็บปวดและความรู้สึกของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม ปรากฏว่ากลุ่มที่ได้รับการผ่าตัดเร็วมีอาการปวดทุเลาเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ต้องรีบผ่าตัด แต่ทั้งสองกลุ่มภายหลังการติดตามนาน 12 เดือนพบว่า ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มเท่ากัน มีความรู้สึกว่าดีขึ้นเหมือนกัน.
สรุปว่า ในระยะเวลา 1 ปี ผลของการผ่าตัดเร็วเทียบกับกลุ่มที่ผ่าช้าหรือไม่ผ่านั้น ไม่แตกต่างกัน แต่ว่ากลุ่มที่ผ่าตัดเร็วมีอาการดีขึ้นเร็วกว่า และผู้ป่วยในกลุ่มนี้ก็รู้สึกว่าตนเองดีขึ้นเร็วกว่าเช่นเดียวกัน.
ดูเหมือนว่า ถ้าผู้ป่วยที่สามารถทนอาการเจ็บปวดได้นานกว่า 28 สัปดาห์ การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ก็มีอาการดีขึ้นไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ผ่าตัดเร็ว. ข้อจำกัดของการศึกษานี้คือใช้เวลาศึกษาเพียง 1 ปี อาการภายหลัง 1 ปีอย่างไรยังต้องติดตามต่อไป.
- อ่าน 5,971 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้