การป้อนยาเด็ก
Q อยากขอคำแนะนำวิธีในการป้อนยาเด็ก ให้เด็กยอมกินยาด้วยดีครับ.
ศุภชัย กิจศิริไพบูลย์
A ข้อแนะนำในการป้อนยาเด็ก แบ่งตามช่วงอายุคือ อายุแรกเกิดถึงอายุ 1 ปี.
1. ในการป้อนยาควรอุ้มเด็กไว้ในวงแขน เพื่อให้เด็กอยู่ในท่าที่สามารถกินยาได้ง่าย ระหว่างป้อนยาหากสามารถหาของเล่นที่เด็กชอบเพื่อผ่อนคลายอารมณ์เด็กจะดีมาก.
2. ใช้หลอดหยดยา หรือกระบอกฉีดยาพลาสติก (syringe) โดยค่อยๆ หยดยาในหลอดเข้าบริเวณกระพุ้งแก้ม ด้านใดด้านหนึ่งช้าๆ หลีกเลี่ยงที่จะหยดลงไปบนลิ้น เพราะเด็กจะขัดขืนและพ่นยาออกมา. หากมีรสยาที่ไม่พึงประสงค์อย่าผสมยาในนมของลูก ลูกจะได้รับยาไม่ตรงตามขนาด เพราะการผสมยาลงในนมหากลูกกินนมไม่หมด จะทำให้ลูกได้รับยาไม่ครบขนาดที่ต้องการ จึงควรป้อนยาแยกต่างหากจากการให้นม.
สำหรับการป้อนยาในเด็กอายุ 1 ปี-6 ปี มีข้อแนะนำดังนี้.
1. เด็กในวัยนี้บางครั้งกินยาบางชนิดได้ แต่บางครั้งอาจไม่ยอมกินยาเนื่องจากรสชาติไม่ชวนกิน อาจเจือจางยาด้วยน้ำสะอาด น้ำผลไม้ หรือน้ำหวานลงไปสักเล็กน้อยเพื่อให้ยามีรสอ่อน และหวานขึ้น.
2. ไม่ควรขู่บังคับ เพราะเด็กจะขัดขืน ไม่ร่วมมือ หากเป็นยาเม็ดอาจติดคอเป็นอันตราย แม้เป็นยาน้ำอาจสำลักเข้าปอด.
3. การหัดให้เด็กเล็กๆ กินยาเม็ดหรือยาแคปซูล ควรเริ่มด้วยยาเม็ดเล็กๆ หากเป็นยาเม็ดที่แบ่งได้ ให้หักเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วค่อยๆ กลืนทีละชิ้น ยาแคปซูลที่สามารถแกะแคปซูลออกแล้วนำผงยาข้างในกินเติมน้ำหวานผสมเล็กน้อยแล้วดื่มน้ำตาม อาจผสมยาเม็ดหรือแคปซูลในเยลลี่ที่เย็นมีรสหวานหอม เพื่อจะได้กลืนได้ง่าย แล้วดื่มน้ำตาม.
วิภาจรี นวสิริ ภ.บ.
เภสัชกร สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
โรคตาแดง
Q โรคตาแดงติดต่อกันได้อย่างไร การอยู่ใกล้กันหรือมองตากัน สามารถติดต่อได้หรือไม่.
หมอใหม่
A โรคตาแดงติดต่อกันโดยตามีการสัมผัสกับเชื้อโรค ซึ่งอาจจากมือไปสัมผัสกับเชื้อโรคแล้วมาสัมผัสถูกตา จึงติดเชื้อตาแดง โดยเชื้อโรคอาจอยู่ตามที่สกปรกต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หรือของใช้ร่วมกันที่คนเป็นตาแดงใช้มือที่สัมผัสตาแดงของตนแล้วยังไม่ได้ล้างมือไปจับไว้ตามสิ่งของต่างๆ ไม่ได้ติดต่อกันจากการยืนอยู่ใกล้กันหรือมองตากัน.
โรคตาแดงเป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาขาว อาจเป็นข้างเดียวหรือ 2 ข้าง ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย.
โรคตาแดงจะมีอาการเจ็บเคืองตา น้ำตาไหล อาจมีเยื่อบุตาขาวบวม หนังตาบวม อาจเริ่มเป็นตาเดียวก่อน แล้วลามไปตาอีกข้าง.
ถ้าเป็นตาแดงจากเชื้อไวรัส มักจะไม่ค่อยมีขี้ตา อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่หน้าหูโต มักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนจะมีขี้ตาเป็นหนอง สีเหลือง สีเขียวได้.
แต่ถ้าเป็นตาแดงจากเชื้อแบคทีเรีย จะมีขี้ตาเป็นหนอง สีเหลือง สีเขียว.
ส่วนตาที่แดงจากโรคภูมิแพ้ จะมีอาการคันตามาก น้ำตาไหล อาจมีขี้ตาขาว หนังตาบวม.
ข้อควรระวังในคนเป็นตาแดงคือ ถ้ามีอาการปวดตา ตาแดง ตามัวหรือมองสู้แสงไม่ได้ ควรรีบพบจักษุแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นโรคอื่น เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ ซึ่งถ้าได้รับการรักษาช้า ตาจะเสื่อมลงมากได้.
วิธีป้องกันการแพร่กระจายโรคตาแดง คือ
- ไม่ใช้มือที่สกปรกขยี้ตา.
- ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แว่นตา เครื่องสำอาง.
- ไม่สัมผัสมือผู้ป่วย.
- หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่.
การดูแลรักษาโรคตาแดง
โรคตาแดงที่เกิดจากเชื้อไวรัส มักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
- การประคบเย็นที่ตา จะช่วยให้สบายตาขึ้น.
- ใช้ยาหยอดตา ช่วยลดอาการระคายเคืองตา.
- ไม่ควรหยอดยาที่มีสตีรอยด์ เพราะจะทำให้หายช้า และอาจมีการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน.
โรคตาแดงจากเชื้อแบคทีเรีย ควรทำความสะอาดตา ขี้ตา และใช้ยาปฏิชีวนะหยอดตา.
ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ พ.บ.
จักษุแพทย์ คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อ่าน 2,858 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้