โรคสิวในเวชปฏิบัติ (Acne in Clinical Practice) ตอนจบ : ความเชื่อที่ผิดและคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคสิว (Acne Myths and FAQs)
ความเชื่อที่ผิดและคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคสิว (Acne Myths and FAQs)
เนื่องจากโรคสิวเป็นโรคที่พบบ่อยและบางครั้งก่อความกังวลให้แก่ผู้ป่วย อีกทั้งผู้ป่วยอาจมีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับโรคสิว แพทย์จึงควรให้สุขศึกษาที่ถูกต้องกับผู้ป่วย ขอยกตัวอย่างความเชื่อที่ผิดและคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคสิว ดังนี้
ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับโรคสิว
ฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกเป็นสาเหตุของสิว จึงควรล้างหน้าฟอกสบู่บ่อยๆ
แม้ว่าจะมีผิวหนังสะอาดที่สุด โดยการล้างหน้าฟอกสบู่เสมอๆ ก็อาจเป็นสิวได้. ในทางตรงข้าม บางคนใช้เพียงน้ำเปล่าล้างหน้าเท่านั้นกลับไม่เป็นสิวเลย. สิวหัวดำที่เห็นเป็นจุดดำนั้น ไม่ได้เกิดจากสิ่งสกปรกไปอุดตัน แต่เกิดจากไขมันอุดตันในท่อต่อมไขมันมีเม็ดสีเมลานิน (melanin) มาสะสม ความเชื่อที่ว่าสิ่งสกปรกทำให้เกิดสิวนั้น ทำให้ผู้เป็นสิวหลายรายล้างหน้าบ่อยครั้งเกินไป และใช้สบู่ที่แรงหรือสบู่ยาทำให้หน้าอักเสบ ระคายเคือง และสิวกำเริบขึ้น. โลชันเช็ดหน้าป้องกัน สิวบางตัวพยายามเน้นว่าสิ่งสกปรกทำให้เกิดสิว เพราะเมื่อใช้สำลีชุบโลชันเช็ดใบหน้าแล้วจะได้คราบสีดำติดสำลีออกมา ที่จริงแล้วคราบดำนั้นเป็นผิวหนังชั้นขี้ไคลส่วนที่ตายและพร้อมที่จะหลุดลอกออกโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีใบหน้าสะอาดเพียงใด หากใช้โลชันที่มีแอลกอฮอล์ผสมเช็ดหน้า ย่อมได้คราบดำติดมาทุกคน แท้จริงแล้วสิวไม่ได้เกิดจากสิ่งสกปรกหรือไขมันที่อยู่บนผิว. โดยทั่วไปแนะนำให้ล้างหน้าด้วยสบู่อ่อนวันละ 2 ครั้งและซับหน้าให้แห้ง ไม่ควรเช็ดหน้า.
กินช็อกโกแลตแล้วทำให้สิวขึ้น
ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ยืนยัน ว่าอาหารพวกช็อกโกแลต มันฝรั่ง ถั่วทอด พิซซ่า อาหารมันๆ น้ำอัดลม ไอศกรีม เหล่านี้กระตุ้นให้สิวเกิดขึ้น.
เคยมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งกลุ่มทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกไม่ให้กินช็อกโกแลตเลย อีกกลุ่มให้กินช็อกโกแลต ไม่พบว่าอัตราการเกิดสิวในทั้ง 2 กลุ่มแตกต่างกัน. อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยยืนยันว่าอาหารบางชนิดกินแล้วสิวกำเริบก็ควรงดอาหารนั้นๆ เป็นรายๆไป แต่การหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน และหวานจัด ก็เป็นผลดีต่อสุขภาพ โดยรวม. อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอาหารทะเลที่มีเกลือไอโอดีนสูงๆ หรือพวกสาหร่ายทะเล ถ้ากินมากๆ อาจทำให้สิวกำเริบได้. นอกจากนั้น ยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของเกลือไอโอดีนสูงอาจทำให้สิวกำเริบได้เช่นกัน. มีงานวิจัยว่าขนมปังที่ฟอกขาวมีส่วนทำให้สิวกำเริบ จึงแนะนำให้กินขนมปังโฮลวีตแทน.
ส่วนความเชื่อที่ว่าเมื่อกินอาหารมันๆ แล้วความมันจะกระตุ้นให้เกิดสิวนั้นก็ไม่จริง เพราะไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมัน ซึ่งเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดสิวนั้น เป็นไขมันคนละตัวกับอาหารที่กินเข้าไป. อาหารพวกไอศกรีมและนมไม่ทำให้สิวกำเริบ ยกเว้นในกรณีผู้ที่เป็นสิวอักเสบและกำลังรักษาโดยกินยากลุ่มเตตรา-ไซคลีน (tetracycline) ไม่ควรดื่มนมภายในเวลา 1 ชั่วโมงครึ่งก่อนหรือ 2 ชั่วโมงหลังกินยา เพราะแคลเซียมในนมจะขัดขวางการดูดซึมของยา.
การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองทำให้สิวกำเริบ
ความเชื่อที่ผิดนี้เกิดเพราะสิวเริ่มเป็นมากในวัยรุ่น จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองทำให้สิวกำเริบได้ แท้ที่จริงแล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน. วัยรุ่นบางรายมีความต้องการทางเพศสูง แต่ไม่กล้าปลดปล่อยด้วยวิธีสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง เพราะมีความรู้สึกผิดและกลัวสิวกำเริบ ทำให้ยิ่งเกิดความเครียดและสิวเป็นมากขึ้น.
เพศสัมพันธ์ทำให้สิวดีขึ้นหรือทำให้สิวกำเริบ
บางคนเชื่อว่าเพศสัมพันธ์ทำให้สิวดีขึ้น ความเชื่อนี้สืบเนื่องมาแต่ครั้งยุโรปโบราณที่ว่าการแต่งงานทำให้สิวหายไปได้ (marriage cures acne) แท้ที่จริงผู้ที่แต่งงานแล้วอาจมีสิวหายไป เพราะวัยที่แต่งงานนั้นผ่านพ้นวัยรุ่น จึงเป็นวัยที่พบสิวน้อยลงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว.
ในทางตรงข้าม บางคนเชื่อว่าสิวจะกำเริบเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งไม่เป็นจริง การมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ มีส่วนกระตุ้นให้ฮอร์โมนเพศชายซึ่งเป็นต้นเหตุของสิวหลั่งออกมา จึงไม่เกี่ยวกับการเกิดสิว.
โดยสรุปก็คือ การมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้มีส่วนทำให้สิวเลวลงหรือดีขึ้นแต่อย่างใด.
ความเครียดทำให้สิวกำเริบ
ความเครียดโดยทั่วไปไม่ได้ทำให้สิวกำเริบ อย่างไรก็ตาม ตามทฤษฎีแล้วความเครียดส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนและอาจทำให้เกิดสิวได้ พบว่ายาลดความเครียดและยาต้านซึมเศร้าบางขนานทำให้สิวกำเริบได้
สิวเป็นแค่เรื่องความงาม ไม่ได้เป็นโรคผิวหนัง
สิวมีผลต่อบุคลิกภาพจริง แต่มักไม่ก่ออันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย จึงถูกมองว่าสิวเป็นแค่เรื่องความงาม. แท้จริงแล้วสิวจัดเป็นโรคผิวหนังอย่างหนึ่ง การใช้ยาทายากินรักษาสิวมีข้อบ่งชี้แตกต่างกันไปขึ้นกับลักษณะและความรุนแรงของโรค ยาทายากินรักษาสิวหลายขนานมีผลแทรกซ้อนได้ จนถึงขั้นอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ. การรักษาสิวที่ไม่ถูกต้อง จึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาและอาจทำให้เกิดแผลเป็นถาวรได้ ความเชื่อที่ว่าสิวเป็นเรื่องธรรมชาติไม่ต้องรักษาก็ได้จึงเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะสิวที่รุนแรงบางชนิดหากปล่อยให้หายเองจะทิ้งแผลเป็นอย่างมาก (physical scars) ซึ่งมีงานวิจัยชี้ว่าแผลเป็นทางร่างกายเหล่านี้ส่งผลเสียทางจิตใจด้วย (psychological scar) มีงานวิจัยแสดงว่าโรคสิวก่อให้เกิดผลเสียทางด้านจิตใจต่อผู้ป่วยอย่างชัดเจน คือ เมื่อตรวจสอบภาวะทางจิตใจโดยอาศัยจิตแพทย์และนักจิตวิทยา พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคสิวเรื้อรัง ร้อยละ 44 เกิดความกังวล และร้อยละ 18 มีอารมณ์ซึมเศร้าอย่า มีนัยสำคัญทางสถิติ พบว่าโรคสิวก่อให้เกิดผลเสียต่อจิตใจในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และยังพบว่า ความกังวลและอารมณ์ซึมเศร้านี้อาจคงอยู่ได้นาน.
แสงแดดทำให้สิวดีขึ้น
แสงแดดอาจทำให้ดูเหมือนว่าสิวดีขึ้น เพราะแสงแดดทำให้ผิวไหม้แดงและผิวคล้ำลง ช่วยบดบังรอยแดงรอยดำจากสิวอักเสบและรอยจากการอักเสบ (post inflammatory hyperpigmentation) แท้จริงแล้วนอกจากแสงแดดเป็นอันตรายต่อผิวหนังแล้ว แสงแดดยังทำให้ผิวระคายเคืองและสิวกำเริบ.
ผิวมันทำให้สิวกำเริบ
สิวไม่ได้เกิดจากผิวมัน แต่เกิดจากเซลล์ผิวหนังที่บุท่อรูขุมขนที่หลุดออกตามธรรมชาติไม่ถูกขจัดสู่ผิวหนังด้านนอก ทำให้เกิดการตกค้าง เมื่อรวมกับไขมันที่ต่อมไขมันสร้างขึ้น จะก่อให้เกิดสิวอุดตัน (comedone) ผิวมันเป็นอาการแต่ไม่ได้เป็นสาเหตุของสิว.
สิวเป็นโรคติดต่อ
ยุคหนึ่งมีความเชื่อว่าสิวเป็นโรคติดต่อ บิดามารดาจะไม่ให้บุตรสาววัยรุ่นพบปะกับวัยรุ่นชายที่เป็นสิวเพราะเกรงว่าจะติดโรคสิว.
การรักษาสิวนั้นยิ่งใช้ยาแรงยิ่งได้ผลดี
วัยรุ่นที่เป็นสิวส่วนใหญ่เชื่อว่าการรักษาสิวนั้น ยิ่งใช้ยาแรงยิ่งได้ผลดี เช่น ถ้าใช้ยาทา 2.5 % benzoyl peroxide แล้วได้ผล ถ้าเพิ่มความเข้มข้นเป็น 10 % ก็น่าจะได้ผลมากขึ้นอีก. ที่จริงแล้วถ้ายาความเข้มข้นต่ำได้ผลดีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแรงขึ้น นอกจากจะเสียเงินมากขึ้นโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจเกิดผลแทรกซ้อน เช่น การระคายเคืองมากขึ้น.
ถ้าบิดามารดาเป็นสิว บุตรน่าจะเป็นสิว
ในบางครอบครัวบิดามารดาอาจมีลักษณะผิวที่เป็นสิวง่าย บุตรอาจเป็นสิวง่ายด้วย ความเชื่อข้อนี้จึงอาจไม่ผิด.
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคสิว
ถาม ทำไมยาทารักษาสิวเบนซอยล์ เปอร์ออกไซด์ จึงทำให้เสื้อด่าง
ตอบ ยาทาตัวนี้จะให้ออกซิเจนอิสระ ซึ่งช่วย ในการรักษาสิว เมื่อเนื้อยาถูกเสื้อผ้า ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดตัว หรือแม้แต่ผม จะทำให้สีผ้า สีผมด่าง หรือสีจางลงได้ จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง.
ถาม ประจำเดือนขาดทำให้เกิดสิวได้หรือไม่
ตอบ สาเหตุของประจำเดือนไม่มา (amenorrhea) ซึ่งพบในผู้ที่ตั้งครรภ์และผู้ที่หมดประจำเดือน และยังพบบ่อยในนักกีฬา นักเต้นรำ นางแบบที่ผอมมากๆ มีไขมันต่ำ ทำให้มีการผลิตฮอร์โมนเพศไม่พอเพียง. ถ้าประจำเดือนไม่มานานกว่า 2 เดือน หรือมาไม่สม่ำเสมอ หรือมามากเกินไป ก็ควรไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง. การมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอทำให้เกิดสิวหรือไม่นั้น จากงานวิจัยของ Dr. Cunliffe แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็น ผู้แต่งตำราเรื่อง "Acne" (โรคสิว) ระบุว่า การเกิดโรคสิวในผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาปกติ มาผิดปกติ ผู้หญิงที่มีขนดกล้วนเท่าๆ กัน คือประจำเดือนที่ ผิดปกติไม่น่าจะเป็นสาเหตุของการเกิดสิว. อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยหญิงที่เป็นสิวอยู่แล้ว 2 ใน 3 จะ มีสิวเพิ่มจำนวนขึ้น และมีสิวอักเสบเป็นหนองใน ช่วง 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน เพราะก่อนมีประจำเดือนมีการคั่งของน้ำในร่างกาย รูเปิดของขุมขนเล็กลง การไหลของไขมันในท่อต่อมไขมันเป็นไปไม่ได้ดี เกิดสิวอุดตันและสิวอักเสบตามมา.
ถาม เจลใส่ผมให้ตั้งก่อให้เกิดสิวได้อย่างไร
ตอบ เจลใส่ผมอาจทำให้เกิดสิวที่หน้าผาก เรียกกันว่า pomade acne (สิวจากน้ำมันปอมเหมด) เพราะน้ำมันใส่ผมที่เหนียวเหนอะหนะทำให้ท่อต่อมไขมันอุดตัน. สิวชนิดนี้แต่เดิมพบในชาวผิวดำ เพราะใช้เจลมากเนื่องจากผมหยิก. ปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะวัยรุ่นนิยมผมทรงตั้ง ทำให้ต้องใช้เจลเหนอะหนะ จึงเกิดสิวจากเจลใส่ผมมากขึ้น.
ลักษณะของสิวจากน้ำมันใส่ผมนี้ เห็นเป็นสิวอุดตันยิบๆ อาจพบสิวอักเสบตุ่มแดง และตุ่มหนองได้บ้าง. ข้อแนะนำก็คือ ลองเปลี่ยนทรงผมใหม่ เลือกทรงที่ไม่ต้องใช้เจลเลย เช่น สกินเฮด (skin head) หรืออีกทีก็เป็นผมยาว หรือถ้าใช้เจลก็ต้องระวังไม่ให้เปื้อนหน้าผาก.
ถาม สบู่อะไรเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิว
ตอบ ความเชื่อว่าสิวเกิดจากสิ่งสกปรกหรือล้างหน้าไม่สะอาดนั้นไม่ถูกต้อง สิวเป็นโรคของต่อมไขมันใต้ผิวหนังที่อุดตันและมีแบคทีเรียมาติดแทรกซ้อน การล้างหน้าฟอกสบู่บ่อยเกินไปหรือใช้สบู่ที่แรงโดยเฉพาะสบู่ยาหรือสบู่ผสมเม็ดขัดถู ยิ่งทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองได้ง่ายขึ้น. ดังนั้น การล้างหน้าสำหรับทั้งผู้ที่เป็นสิวและไม่เป็นสิวก็คือล้างวันละ 1- 2 ครั้ง และอาจใช้สบู่ฟอกหน้าเพียงวันละครั้งเดียวก็เพียงพอ แนะนำให้ใช้สบู่เด็กฟอกให้เกิดฟองบนฝ่ามือ แล้วลูบไล้ผิวหน้า และล้างหน้าด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด เสร็จแล้วใช้ผ้าขนหนูซับหน้าให้แห้งอย่างแผ่วเบา.
ถาม ยาทารักษาสิวทำให้ผิวไหม้แดดได้หรือไม่
ตอบ ยาทารักษาสิวกลุ่มกรดวิตามินเอ (vitamin A acid) ทำให้ผิวไหม้แดดได้ง่ายจริง เพราะยาทำให้ผิวหนังชั้นนอกสุดคือชั้นขี้ไคลบางลง ผิวหนังชั้นขี้ไคลนี้ปกติจะกันแสงแดดไว้ได้มาก. ดังนั้น หากใช้ยากลุ่มกรดวิตามินเอทารักษาสิวและรักษาริ้วรอยเหี่ยวย่น ก็ต้องทากลางคืนก่อนนอน ต้องหลบเลี่ยงการถูกแสงแดดจัดและใช้ยากันแดดอย่างสม่ำเสมอ.
ถาม สิวเสี้ยนคืออะไร แก้ไขได้อย่างไร
ตอบ ปัญหาผิวหน้ามีจุดดำๆ ตามใบหน้า บางเม็ดบีบออกมาเป็นก้อนไขมัน แต่บางเม็ดพอบีบออกมาแล้วใช้เล็บเกลี่ยจะเห็นเป็นเศษขนเล็กๆ ไขมัน อุดตันและเศษขนเล็กๆ ในรูขุมขนเป็นต้นเหตุของสิวเสี้ยน. สาเหตุของสิวเสี้ยนมี 2 ชนิด ชนิดแรกเกิดจากการอุดตันของไขมันในท่อต่อมไขมัน (comedone) ถ้าปากรูขุมขนปิดเรียกว่า "สิวหัวขาว" ต่อมาสิ่งอุดตันอาจดันให้รูขุมขนเปิด เรียกว่า "สิวหัวดำ". ส่วนชนิดที่ 2 นั้นเกิดจากการอุดตันของกระจุกเส้นขนเล็กๆ ในรูขุมขน (trichostasis spinulosa) เห็นเป็นจุดดำๆ เล็กๆ ซึ่งพบได้บ่อยเช่นกัน แต่มักพบ ในผู้ใหญ่ ในขณะที่ชนิดแรกพบบ่อยในวัยรุ่น. สิวเสี้ยนทั้ง 2 ชนิด นี้มักเกิดบริเวณจมูกและข้างแก้ม บางคนแก้ไขปัญหานี้โดยการบีบและแกะสิวเสี้ยน อาจทำให้ผิวหนังอักเสบและติดเชื้อลุกลาม. การขจัดสิ่งอุดตันในรูขุมขนไม่ว่าจะเป็นก้อนไขมันหรือกระจุกเส้นขนเล็กๆ อย่างถูกวิธีทำให้รูขุมขนแลดูเล็กลง และลดการเกิดสิวเสี้ยนด้วย. ปัจจุบันมีวิธีขจัดสิวเสี้ยน เช่น การใช้ยาทารักษาสิว การกดสิวด้วย comedone extractor การใช้มาสก์ลอกหน้า การใช้เครื่องดูดสิวเสี้ยน และการใช้แผ่นขจัดสิวเสี้ยนซึ่งควรใช้เพียงสัปดาห์ละครั้ง และควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากด้วย.
ถาม ยาทารักษาสิวเสี้ยน BP (เบ็นซอยล์ เปอร์-ออกไซด์) และกรดวิตามินเอ ทาพร้อมกันได้หรือไม่
ตอบ ยาทา BP และกรดวิตามินเอ เป็นยาทาที่แพทย์และเภสัชกรมักแนะนำให้ใช้รักษาสิวเสี้ยน ซึ่งมีข้อควรระวังคือ ห้ามทา BP และกรดวิตามินเอ ในเวลาเดียวกัน เพราะ BP ทำให้กรดวิตามินเอ ไม่ออกฤทธิ์ จึงต้องเลี่ยงมาทา BP ในช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย และทากรดวิตามินเอ ก่อนนอน และถ้าใช้ BP หรือ กรดวิตามินเอ อยู่แล้ว ต้องระมัดระวังในการใช้กรดผลไม้ (alpha hydroxy acid, AHA) เพราะยาเหล่านี้มีโอกาสทำให้ผิวหน้าระคายเคืองได้ง่าย ถ้าใช้ร่วมกันยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผิวแพ้ระคายเคือง การใช้กรดวิตามินเอ ควรเริ่มด้วยความเข้มข้นต่ำก่อนแล้ว จึงค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้น. นอกจากนั้น ในผู้ป่วยโรคสิวบางราย ในช่วงแรกของการใช้กรดวิตามินเอ นอกจากจะต้องใช้ความเข้มข้นต่ำแล้ว ยังอาจต้องทายาวันเว้นวันไปจนกว่าผิวจะคุ้ยเคยกับยาแล้วจึงทายาทุกวันได้ โดยทั่วไปยาทากลุ่มนี้ในรูปของเจลหรือสาร ละลายทำให้ผิวระคายเคืองได้ง่ายกว่าในรูปของครีม.
ถาม ทำไมสตรีพ้นวัยรุ่นยังเป็นสิวได้
ตอบ โรคสิวมักพบบ่อยในช่วงวัยรุ่น และจะดีขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลายหรือในวัย 20 ตอนต้น แต่ในบางครั้งพบว่าสิวอาจเป็นอยู่ได้จนถึงวัยผู้ใหญ่ หรือในบางคนช่วงวัยรุ่นไม่เป็นสิว แต่พอพ้นวัยรุ่นกลับเป็นสิว เชื่อว่าการเกิดสิวในวัยนี้เพราะผู้หญิงวัยทำงานมีความเครียดสูง. เมื่อร่างกายมีความเครียด ต่อมไฮโปทาลามัสในสมองจะไปกระตุ้นต่อมพิทูอิทารี ซึ่งส่งสัญญาณไปกระตุ้นต่อมหมวกไต และต่อมหมวกไตจะกระตุ้นรังไข่ในเพศหญิง และอัณฑะในเพศชายให้สร้างฮอร์โมนเพศชายขึ้น ฮอร์โมนเพศชายกระตุ้นต่อมไขมันให้ผลิตไขมันมากขึ้น จึงมีโอกาสเกิดสิวมากขึ้นด้วย นอกจากนั้น ยังพบว่าสิวในสตรีพ้นวัยรุ่นอาจเกิดจากเครื่องสำอางได้. สิวจากเครื่องสำอางมี 2 ลักษณะ ลักษณะแรกประกอบด้วยไขมันอุดตัน เท่านั้น เห็นเป็นสิวหัวดำและสิวหัวขาว. ส่วนอีกลักษณะเป็นสิวอักเสบ ส่วนผสมบางอย่างในเครื่องสำอางโดยเฉพาะเครื่องสำอางที่เหนียวเหนอะหนะ เช่น เมคอัพ หรือ moisturizer บางตัวทำให้เป็นสิวได้. ดังนั้น หากใช้เครื่องสำอางแล้วเกิดสิวอุดตัน ก็ต้องหาเครื่องสำอางที่ระบุว่าเป็น non-comedogenic หรือถ้าใช้เครื่องสำอางแล้วเกิดสิวอักเสบก็ต้องเลือกใช้เครื่องสำอางที่ระบุว่าเป็น non-acnegenic พบว่าสิวในสตรีพ้นวัยรุ่นบางรายอาจเกิดจากระดับของฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ. สิวประเภทนี้มักดื้อต่อการรักษา อาจจำเป็นต้องพบสูตินรีแพทย์ร่วมกับแพทย์ผิวหนัง เพื่อการตรวจรักษาที่เหมาะสม.
ถาม การอดนอนทำให้เป็นสิวหรือไม่
ตอบ หลายคนสังเกตว่าสิวขึ้นทุกครั้งในช่วงใกล้สอบ ถ้าต้องอดนอนเพื่อดูหนังสือ. การอดนอนจัดเป็นความเครียดอย่างหนึ่ง อาจส่งผลให้เกิดสิวได้ เพราะความเครียดส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย มีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนซึ่งผลให้เกิดการกำเริบของสิวได้ สังเกตได้ว่าเด็กวัยรุ่นหลายรายพอใกล้สอบจะมีสิวกำเริบขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเครียดนั่นเอง. นอกจากนั้น การเป็นสิวก็ก่อให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน อีกทั้งวัยที่ต้องดูหนังสือสอบก็มักเป็นวัยรุ่นที่มักเป็นสิวอยู่แล้ว.
ถาม เป็นสิวควรใช้เครื่องสำอางและครีมล้างหน้าชนิดใด
ตอบ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า "ไม่ก่อให้เกิดคอมมีโดน" (non-comedogenic) เพราะไม่มีส่วนผสมที่กระตุ้นให้เกิดสิว พบว่ายาทารักษาสิวหลายชนิดอาจทำให้ผิวหน้าแห้งและระคายเคืองได้ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการใช้ยา จึงควรหลีกเลี่ยงเครื่องสำอางหรือครีมล้างหน้าที่ทำให้ผิวแห้งมากขึ้น ซึ่งคือเครื่องสำอางสำหรับคนผิวมัน. นอกจากนั้น ไม่แนะนำให้ผู้ที่เป็นสิวแต่งหน้าเข้ม ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นฝุ่น (powder) ไม่ใช่เป็นครีมหรือเป็นแป้งแข็ง เพราะผลิตภัณฑ์ที่เป็นแป้งฝุ่นระคายเคืองต่อผิวหน้าน้อยกว่าและไม่กระตุ้นให้เกิดคอมมีโดน. การใช้เทคนิคแต่งหน้าพลางหัวสิวทำให้ผิวหน้าดูเรียบเนียนขึ้นได้ การใช้รองพื้นสีออกโทนเขียวแต้มทับหัวสิวสีแดงทำให้สีผิวแลดูสม่ำเสมอขึ้นได้.
ถาม ยาทาสิวต้องทาทั่วหน้าหรือไม่
ตอบ ปกติแล้วถ้าเป็นสิวอักเสบไม่กี่เม็ด อาจใช้ยาแต้มหัวสิวแต้มเฉพาะสิวที่กำลังอักเสบ เช่น กลุ่มยาทาปฏิชีวนะ อีริโทรไมซิน, คลินดาไมซิน แต่ถ้าผิวหน้ามีแนวโน้มที่จะเป็นสิวง่ายเพราะมีสิวอุดตัน ก็ต้องใช้ยาทาลดสิวเสี้ยนทาทั่วหน้าหรือทาตำแหน่งที่มักเป็นสิว เช่น หน้าผาก แก้ม คาง และจมูก.
ถาม อยากทราบวิธีดูแลผิวในผู้ที่เป็นสิว
ตอบ ข้อแนะนำในการดูแลผิวในผู้ที่เป็นสิวโดยทั่วไปมีดังนี้
1. ควรล้างหน้าด้วยสบู่อ่อน โดยล้างหน้าในตอนเช้า 1 ครั้ง และในตอนเย็นอีก 1 ครั้ง หลังออกกำลังกายหากเหงื่อออกมาก อาจล้างหน้าได้.
2. ไม่ควรขัดถูใบหน้า ไม่ควรใช้สบู่ที่แรงๆ ควรล้างหน้าอย่างแผ่วเบา โดยล้างหน้าตั้งแต่ใต้คางไปจนจรดแนวไรผมที่หน้าผาก หลังฟอกสบู่ต้องล้างสบู่ออกให้หมด ไม่ควรใช้โลชัน หรือ astringent เช็ด ใบหน้า เว้นเสียแต่ว่าผิวหนังมันมาก และก็ควรใช้เฉพาะบริเวณที่ผิวมันมากเท่านั้น ควรสระผมอย่างสม่ำเสมอ ในผู้ที่มีผมมันมากอาจต้องสระผมทุกวัน.
3. ไม่ควรบีบหรือแกะสิว เพราะทำให้เกิดสิวอักเสบลุกลาม ทำให้เป็นแผลเป็น และรอยดำ ไม่ควรถูและจับผิวหนังบ่อยๆ โดยเฉพาะตรงบริเวณที่เป็นสิว.
4. ต้องโกนหนวดอย่างระมัดระวัง อาจลองเลือกใช้ทั้งใบมีดโกนหรือเครื่องโกนหนวดไฟฟ้าว่าแบบใดจะเหมาะสมสำหรับสภาพผิวของตนเองมากที่สุด. ในผู้ที่ใช้มีดโกนต้องเปลี่ยนใบมีดเสมอ ควรล้างหน้า ฟอกสบู่และถูสบู่บริเวณหนวดเคราและทิ้งไว้จนเส้นขนนุ่ม แล้วจึงทาครีมโกนหนวด เวลาโกนหนวดควรโกนตามแนวเส้นขน อย่าโกนย้อนขึ้น เพราะอาจทำให้เกิดตุ่มขนคุดแล้วอักเสบเป็นหนองได้.
5. หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัด ยารักษาสิวส่วนใหญ่มักทำให้ผิวไหม้แดดง่ายขึ้น บางคนเชื่อว่าการอาบแดดจัดทำให้สิวหายเร็ว เพราะเมื่อผิวคล้ำขึ้นจะกลบเกลื่อนรอยอักเสบกำเริบแดงและรอยดำของ สิว แต่แท้ที่จริงแล้วแสงแดดจัดอาจทำให้สิวกำเริบและยังทำให้ผิวเหี่ยวแก่และเกิดมะเร็งผิวหนังง่ายขึ้น.
6. การใช้ยาทารักษาสิวที่ซื้อมาเอง ต้องอ่านฉลากยาให้ละเอียดและเข้าใจเสียก่อน.
7. มีผลิตภัณฑ์ปกปิดรอยสิว (cover-up products) หลายชนิดที่อาจพรางให้สิวจางลง และรอเวลาให้สิวหายเองได้ ส่วนใหญ่ใช้ได้ผลและไม่ทำให้สิวเลวลง.
8. เครื่องสำอางบางตัวและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบางอย่าง อาจทำให้สิวเลวลงได้ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าไม่ก่อให้เกิดสิว (non-comedogenic).
ถาม มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับผู้ป่วยโรคสิวหรือไม่
ตอบ โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยกเว้นในรายที่สงสัยว่าจะเป็น
1. โรคสิวที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ (endocrine acne) เช่น ผู้หญิงที่ขนดกดำ อ้วน ประจำเดือนผิดปกติเป็นประจำ เสียงห้าว ศีรษะล้านแบบผู้ชาย ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางนรีเวชและต่อมไร้ท่อด้วย.
2. โรคสิวจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ (gram-negative folliculitis) โดยทำการเพาะเชื้อ (bacterial culture).
3. โรคสิวจากเชื้อยีสต์ (pityrosporum folliculitis) หรือโรคสิวอักเสบที่ต้องการระบุชนิดของเชื้อ (bacterial folliculitis) โดยทำ KOH preparation, pus smear and stain ด้วย Gram หรือ methylene blue.
4. รอยโรคที่คล้ายสิว อาจต้องทำ biopsy เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา.
ถาม โดยทั่วไปแพทย์ควรมีการติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโรคสิวอย่างไร
ตอบ แพทย์ควรติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโรคสิวโดย
1. นัดผู้ป่วยมาตรวจซ้ำครั้งแรกใน 1-4 สัปดาห์ เพื่อสอบถามถึงวิธีการใช้ยา และผลข้างเคียง.
2. ต่อไปอาจนัดผู้ป่วยทุก 1-3 เดือน เพื่อปรับขนาดยา.
3. ดูผลการรักษาหลังรักษาอย่างต่อเนื่องกันแล้วอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ขึ้นไป ถ้าไม่ได้ผลหรือเลวลง จึงจะพิจารณาเปลี่ยนยา.
4. หลังจากสิวยุบหมดแล้ว ควรให้ผู้ป่วยใช้ยาทาป้องกันไว้จนกว่าจะพ้นวัยที่เป็นสิว.
ถาม เมื่อเป็นวัยรุ่นไม่เป็นสิว แต่ทำไมจึงมี สิวเมื่อเป็นผู้ใหญ่
ตอบ ทั่วไปสิวเริ่มเป็นในวัยรุ่น เมื่ออายุย่างเข้าช่วงต้นของวัย 20 ปี สิวมักดีขึ้น แต่ก็มีบางรายที่สิวกำเริบจนถึงวัยผู้ใหญ่ เช่น สิวหัวช้าง (nodulocystic acne) ที่นอกจากจะเป็นที่ใบหน้าแล้ว ยังเป็นที่หน้าอกและหลัง (มักพบในเพศชาย) และสิวที่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือนในเพศหญิง. ส่วนสิวที่เริ่มเป็นในสตรีที่พ้นวัยรุ่นมาแล้ว เชื่อว่าเป็นเพราะเมื่อสตรีมีวัยสูงขึ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ทำให้มีการกระตุ้นต่อม sebaceous gland ทำให้เกิดสิวตามมา การมีเนื้องอกของรังไข่ (ovarian cysts) และการตั้งครรภ์ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้เกิดสิวเช่นกัน. สตรีบางรายเมื่อหยุดยาคุมกำเนิด สิวอาจกำเริบเพราะยาคุมกำเนิดคุมอาการสิวไว้ นอกจากนั้น การแต่งหน้าก็อาจทำให้เป็นสิวได้.
ถาม การใช้ยารักษาสิวต้องตรงเวลาหรือไม่
ตอบ การทายาและกินยารักษาสิวควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร การกินยากรดวิตะมินเอ (isotretinoin) มักกินวันละครั้ง อาจเป็นเวลาเช้า กลางวัน หรือเย็น โดยแนะนำให้กินพร้อมอาหารมื้อที่มีไขมันเพื่อเพิ่มการดูดซึม. ส่วนการกินยาปฏิชีวนะถ้าต้องกินวันละครั้ง ควรเลือกกินยาในเวลาเดิมทุกวัน. การกินยาปฏิชีวนะถ้าต้องกินวันละ 2-3 ครั้ง ก็ต้องเว้นระยะห่างให้เหมาะสม เช่น กินยาเวลาเช้าและเย็น หรือเช้า กลางวัน และเย็น ยาปฏิชีวนะบางขนานต้องกินเวลาท้องว่าง. ส่วนยาทานั้นให้ใช้ตามคำแนะนำ เช่น ทาก่อนล้างหน้า ทาก่อนนอน.
ถาม ชอบลืมกินยา ทายา ต้องทำอย่างไร
ตอบ ผู้ป่วยโรคสิวหลายรายมักลืมกินยาทายา แนะนำว่าให้ทายากินยาพร้อมกับการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การแปรงฟัน การแต่งหน้า การกินอาหาร. ถ้าลืมกินยาปฏิชีวนะไป 1 วัน ก็ให้กินยาต่อตามปกติได้เลย โดยไม่ต้องกินเป็น 2 เท่า แต่ถ้าเป็นยากลุ่มกรดวิตะมินเอ ถ้าลืมกินยาไป 1 วัน วันรุ่งขึ้นอาจกินเป็น 2 เท่าได้เพราะยาขนานนี้หวังผลการออกฤทธิ์โดยขนาดยารวมทั้งหมด (total cumulative dosage) คือ ขนาดยารวม 120 มก./น้ำหนักตัว 1 กก./1 คอร์สของการรักษา.
ถาม เมื่อไรควรไปพบแพทย์
ตอบ ควรไปพบแพทย์เมื่อ
1. ใช้ยาทาเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น.
2. สิวอักเสบมาก ปวดบวมแดง หรือสิวหายแล้วมักเป็นแผลเป็น.
3. ผู้หญิงที่เป็นสิวที่ขนขึ้นตามใบหน้า หรือประจำเดือนผิดปกติ ควรพบแพทย์.
4. ถ้าสิวเลวลงมาก สิวอักเสบบวมแดงมาก และมีไข้ ควรพบแพทย์ทันที เพราะอาจแสดงว่ามีการอักเสบและติดเชื้ออย่างรุนแรง.
5. รู้สึกอายที่เป็นสิวหรือรู้สึกหดหู่.
6. เป็นคนผิวคล้ำเมื่อสิวหายแล้วทิ้งรอยดำไว้นานมาก.
เอกสารอ้างอิง
1. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร. สิว...แค่ ผิวไม่สวยหรือเป็นโรค. นสพ. มติชนรายวัน. 20 สิงหาคม 2540.
2. ประวิตร พิศาลบุตร. สิว...ปัญหาผิวหนังที่พบบ่อย ที่สุด. กรุงเทพฯ : โฮลิสติก, 2539.
3. ประวิตร พิศาลบุตร. สาระพันปัญหาเรื่อง..."โรคสิว". วิชัยยุทธจุลสาร 2549;34:26-31.
4. ประวิตร พิศาลบุตร. Beauty Guide. กรุงเทพฯ : เฮล์ทธี ไลฟ์ สไตล์, 2547.
5. เพ็ญวดี ทิมพัฒนพงศ์, วัณณศรี สินธุภัค, สุชาย ศรีปรัชญาอนันต์, นุชา เนียมประดิษฐ์. Clinical practice guideline for acne. สำหรับแพทย์เวชปฏิบัติ. www.onisueka.com. Last updated 28 May 2007.
6. Adebamowo CA, et al. "High school dietary dairy intake and teenage acne." Journal of the American Academy of Dermatology 2005; 52.2:207-14.
7. Brand-Miller J, Cordain L, Eaton SB, Hill K, Hurtado M, Lindeberg S. "Acne vularis : a disease of western civilization." Archives of Dermatology 2002;138.12:1584-1590.
8. Cordain L. "Implications for the role of diet in acne." Seminars in Cutaneous Medicine and Surgery 2005;24:84-91.
9. Gfesser M, Worret WI. "Seasonal variations in the severity of acne vulgaris." International Journal of Dermatology 1996;35.2:116-7.
10. Green J, Sinclair RD. "Perceptions of acne vulgaris in final year medical student written exam answers." The Australasian Journal of Dermatology 2001;42.2:98-101.
11. Kligman AM, Plewig G. Acne and rosacea. Berlin : Springer, 2000.
12. Magin P, Pond D, Smith W, Watson A. "A systematic review of the evidence for 'Myths and Misconceptions' in acne management: diet, face-washing and sunlight." Family Practice. 2005;22.1:62-70.
13. Questions and Answers About Acne. National Institute of Arthritis and Musculoskeletal and Skin Diseases. Jan 2006.
14. Frequently Asked Questions About Acne. AcneNet. American Academy of Dermatology 2008.
ประวิตร พิศาลบุตร พ.บ., เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
Diplomate, American Board of Dermatology
Diplomate, American Subspecialty Board of Dermatological Immunology,
Diagnstic and Laboratory Immunology
อาจารย์พิเศษ, ภาควิชาเภสัชกรรม, คณะเภสัชศาสตร์,
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อ่าน 29,864 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้