• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคลมชัก

ถาม : นที/สงขลา
ต้องการทราบวิธีการปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมชักและการปฏิบัติตัว ทั้งยามฉุกเฉินและยามปกติ

ตอบ : นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่สามารถหยุดอาการชักได้ แม้แต่ยากันชักที่ผู้ป่วยกินเป็นประจำ ดังนั้นจึงต้องปล่อยให้อาการชักดำเนินต่อไปจนสิ้นสุดระยะของอาการเอง

การปฐมพยาบาลเป็นเพียงการป้องกันไม่ให้เกิดบาดเจ็บระหว่างชักเท่านั้น เมื่อผู้ป่วยหายชักแล้วอาจจะพูดปลอบโยนหรือบอกให้รู้ว่ามีอาการชัก จะทำให้ผู้ป่วยหายสับสนได้

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมชัก
มีดังนี้
1. ไม่งัดหรือนำของแข็งใส่เข้าไปในปาก
2. ป้องกันการกระแทกจากการล้ม
3. ห้ามมัดหรือต่อสู้กับผู้ป่วยลมชัก
4. ห้ามทิ้งผู้ป่วยไว้ตามลำพังเพื่อไปตามผู้อื่น
5. ช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ในตำแหน่งปกติ จะได้หายใจสะดวก
6. ห้ามกินอาหารระหว่างการชักหรือหลังจากชักใหม่ๆ

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคลมชัก
มีดังนี้
1. ผู้ที่เคยชัก (และผู้เห็นเหตุการณ์) พยายามสังเกตและจดจำลักษณะของลมชักไว้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตรวจและรักษา
2. หลีกเลี่ยงงานที่เสี่ยงอันตราย เช่น งานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ที่สูง ใกล้น้ำ บนผิวจราจร ของร้อน เป็นต้น
3. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดการชัก เช่น การอดนอน เครียด ตรากตรำการงาน ดื่มเหล้า และกินยากันชักไม่สม่ำเสมอ
4. กินยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
5. แม้คุมอาการชักได้แล้ว ห้ามหยุดยาเองจนกว่าแพทย์จะบอกให้หยุดยา เพราะโรคอาจไม่หายและอาจมีอาการชักได้อีก
6. ถ้าตั้งครรภ์ หรือเจ็บป่วยอย่างอื่นด้วย จะต้องแจ้งแพทย์ผู้รักษา
7. ยอมรับความเจ็บป่วยของตนเอง ศึกษาหาความรู้ เพื่อความเข้าใจและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง