• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปัญญาอ่อนชนิด LD

เด็กที่จัดอยู่ในประเภทปัญญาอ่อนชนิด LD มีอาการเป็นอย่างไร มีวิธีรักษาให้หายหรือไม่
ผู้ถาม ป้าเล็ก/กรุงเทพฯ
ผู้ตอบ พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ 

ถาม ดิฉันมีเรื่องจะเรียนปรึกษาคุณหมอ ดังนี้ค่ะ คือดิฉันมีหลานคนหนึ่งเป็นเด็กผู้หญิงอายุ ๗ ขวบ เขามีความผิดปกติ เท่าที่ทราบจากคุณแม่ของเด็กและทางโรงเรียนว่า การเรียนของเด็กค่อนข้างแย่มาก ทั้งๆที่ได้มีการทบทวน ทดสอบก่อนที่เด็กจะสอบในวันรุ่งขึ้น ทางคุณแม่ของเด็กจึงพาเด็กไปพบคุณหมอเด็ก ซึ่งทางคุณหมอแจ้งให้ทราบว่าเด็กจัดอยู่ในประเภทปัญญาอ่อนชนิด LD ซึ่งดิฉันอยากทราบรายละเอียดของอาการดังกล่าว

จึงใคร่รบกวนคุณหมอช่วยตอบให้หายกังวลด้วยนะคะ
 
ตอบ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าปัญญาอ่อนและ LD เป็นคนละเรื่องกัน เด็กปัญญาอ่อน คือ เด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำกว่า ๗๐ และมีความบกพร่องในการเรียนรู้และปรับตัว เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาวะปัญญาอ่อนนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กมีปัญหาด้านการเรียนได้ ส่วนเด็กที่มีปัญหา LD หรือ Learning Disability คือเด็กที่มี ความบกพร่องในการเรียนรู้ อันเนื่อง มาจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง ทำให้เรียนไม่ได้เต็มที่ตามศักยภาพที่มีอยู่ โดยอาจแสดงออกเป็นความบกพร่องในการฟัง คิด พูด อ่าน เขียน หรือคำนวณ ซึ่งความบกพร่องเหล่านี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจาก ตาบอด หูหนวก ปัญญาอ่อนหรือปัญหาทางอารมณ์ (แต่ในคนที่ตาบอด หูหนวก หรือปัญญาอ่อนอาจ มีสภาวะ LD ร่วมด้วยได้)

โดยทั่วไปจะสงสัยว่าปัญหา การเรียนนั้นอาจเป็นจาก LD ในเด็กที่ดูว่ามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมีสติปัญญาปกติ แต่เรียนไม่ได้เต็มที่ตามศักยภาพที่มีอยู่ ซึ่งการที่จะบอกว่าเด็กมีปัญหา LD หรือไม่ ต้องทำการตรวจประเมินอย่างละเอียด โดยกุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็ก

โดยทั่วไปเมื่อเด็กมีปัญหาด้านการเรียน ต้องมองในภาพรวมทั้งที่ตัวเด็กและสภาวะแวดล้อมทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพื่อที่จะได้หาทางแก้ไขให้มีประสิทธิภาพ

โดย ๑. สาเหตุที่ตัวเด็กเองอาจเป็นจาก
- หูหนวก ตาบอด ทำให้มีปัญหาในการพูด อ่านและเขียน
- มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ทำให้ขาดเรียนบ่อยๆ หรือต้องใช้ยาที่ทำให้ง่วง หรือซนชนิดผิดปกติ
- สติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้เรียนได้ช้ากว่าเพื่อนๆ
- สมาธิสั้น (ADHD)
- มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD=Learning Disability)

๒. สาเหตุจากสภาวะแวดล้อม
เช่น โรงเรียนที่มีมาตรฐานการสอนต่ำ หรือหลักสูตรที่เร่งรัดมากเกินไป ปัญหาในครอบครัว เช่น หย่าร้าง ขาดความรักความเอาใจใส่ ก็จะส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็กได้ การตรวจประเมินเด็กที่มีปัญหา การเรียนต้องใช้เวลามากและต้องมีการประสานงานและติดตามอย่างใกล้ชิดทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน