• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคต่อมลูกหมากโต

โรคต่อมลูกหมากโต

 

ผู้ถาม พิชิต / นครสวรรค์
โรคต่อมลูกหมากโตเกิดขึ้นได้อย่างไร  สามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ไหม

ผมอายุ ๔๐ ปี ผมมีเพื่อนเคยเป็นโรคต่อมลูกหมากโต แต่เขาผ่าตัดรักษาหายแล้ว เขาบอกว่าเขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นได้อย่างไร ผมจึงกลัวว่าผมจะเป็นโรคนี้บ้าง
จึงขอรบกวนถามคุณหมอเกี่ยวกับรายละเอียดของโรคนี้ เพื่อผมจะได้คอยระวังป้องกันไว้

๑. โรคต่อมลูกหมากโตเป็นอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

๒. โรคนี้มีอาการอย่างไร มีอันตรายมากน้อยแค่ไหน

๓. เพื่อนผมเล่าว่าปัจจุบันนี้มีการรักษาด้วยการผ่าตัดเลเซอร์ได้ผลดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิม เป็นความจริงหรือไม่ครับ

๔. โรคนี้สามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ไหม

 

ผู้ตอบ นพ.วัชรินทร์  อริยประกาย

๑. ต่อมลูกหมากเป็นต่อมที่อยู่รอบท่อปัสสาวะส่วนต้น บริเวณโคนอวัยวะเพศของผู้ชาย คนมักเข้าใจผิดว่าต่อมลูกหมาก คือ ลูกอัณฑะ แต่ความจริง คือ ลูกอัณฑะมีหน้าที่สร้างเชื้ออสุจิ และต่อมลูกหมากมีหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงเชื้ออสุจิ ต่อมลูกหมากในผู้ชายที่โตเต็มที่จะมีขนาดประมาณเท่ากับลูกเกาลัด เมื่ออายุมากขึ้นเนื้อเยื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้องอก (ชนิดธรรมดา) โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร เมื่อเซลล์แตกตัวมากขึ้นก็ทำให้ขนาดต่อมลูกหมากโตขึ้นเรื่อยๆ จนไปกดหรือเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัดขึ้น

ฉะนั้น โรคนี้จึงเป็นโรคของผู้ชายสูงอายุโดยเฉพาะ คือ ประมาณอายุ ๔๕ ปีขึ้นไปจึงจะมีอาการโรคต่อมลูกหมากโตเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ซึ่งมี ๒ ระยะ คือ

ระยะแรก จะมีอาการปัสสาวะบ่อย จากที่เคยลุกขึ้นปัสสาวะในตอนกลางคืน ๑-๒ ครั้ง หรือไม่ลุกเลย จะลุกขึ้นบ่อย ๓-๔ ครั้งขึ้นไปจนรบกวนการนอนหลับ ในเวลากลางวันก็มีอาการปัสสาวะบ่อย แต่คนไข้จะปรับตัวได้จนไม่รู้สึก

ระยะที่สอง ต่อมาจะรู้สึกว่าปัสสาวะนานกว่าจะออก ต้องเบ่งบางครั้งต้องรอ ๑-๒ นาทีจึงจะออกและจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ปัสสาวะไม่พุ่ง แทนที่จะพุ่งไปข้างหน้าก็พุ่งน้อยลง พอปัสสาวะเสร็จยังมีหยดออกมาอีก ในที่สุดจะปัสสาวะไม่ออกเลย คนไข้มักจะมาหาหมอด้วยอาการปัสสาวะไม่ออกเลย ปัสสาวะแน่นท้อง ต้องใช้วิธีสวนออกให้ และ ให้การรักษาต่อไป

๒. เนื่องจากในกระเพาะปัสสาวะปกติมีปัสสาวะประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ มิลลิลิตร ถ้าปัสสาวะไม่หมดมีปัสสาวะค้างอยู่ ผลที่ตามมาอย่างที่หนึ่ง คือ ทำให้เกิดการตกตะกอนและเป็นนิ่วได้ อย่างที่สอง คือ เกิดการติดเชื้อขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาเลยก็อาจมีผลต่อไต อันตรายของโรคนี้ส่วนใหญ่มัก เป็นเรื่องของอาการมากกว่า คนไข้มักมีคุณภาพชีวิตเสีย ต้องลุกขึ้นปัสสาวะบ่อยๆ ซึ่งหน้าที่ของหมอ ก็คือ ทำให้อาการดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ฉะนั้น เวลามีอาการปัสสาวะไม่ออกอย่าตกใจ ให้มาหาหมอเพื่อหาสาเหตุ เนื่องจากมีบางโรคที่มีอาการคล้ายต่อมลูกหมากโต หลังจากแยกแยะโรคแล้วว่าไม่ใช่โรคอื่น หมอก็จะดูอาการเป็นหลัก หากหมอเห็นว่าคุณมีอาการน้อยก็แนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมแทน โดยไม่ต้องใช้ยา แต่ถ้าคุณมีอาการมาก หมอจะให้ยากินเพื่อขยายท่อปัสสาวะ วิธีสุดท้าย คือ ผ่าตัดเพื่อขูดต่อมลูกหมาก

๓. สำหรับเรื่องการผ่าตัดที่คุณถามมานั้น ผมขออธิบายว่าสมัยก่อน จะผ่าตัดต่อมลูกหมากและขูดต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมและปลอดภัย ระยะหลังมีการรักษาเกี่ยวกับการผ่าตัดเพิ่มขึ้น ๔-๕ วิธี ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายมาก คนไข้ก็จะเข้าใจผิดว่าเป็นการรักษาที่ดีมาก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

๔. สำหรับวิธีป้องกันโรคนี้ ยังทำไม่ได้ เพราะต่อมลูกหมากโตเกิดจากสาเหตุอะไรก็ยังไม่ทราบแน่ชัดแต่ที่ทำได้คือป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงเท่านั้น จุดใหญ่ คือ คนที่อายุมากขึ้นจะมีปัญหาเรื่องปัสสาวะแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นมากเป็นน้อย วิธีปฏิบัติตัว คือ
 - หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ ก่อนนอนอย่าดื่มน้ำมาก และให้ปัสสาวะก่อนเข้านอน เพราะกลางคืนจะได้ไม่ต้องลุกขึ้นบ่อย กลางวันไปไหนก็อย่ากลั้นปัสสาวะปวดแล้วก็ควรจะปัสสาวะเลย เพราะ กลั้นแล้วจะทำให้เป็นมากขึ้น
 - งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ปัสสาวะออกมาเยอะ
 - อย่านั่งรถจักรยานหรือทำอะไรที่สะเทือนต่อมลูกหมาก เพราะจะทำให้ปัสสาวะไม่ออก
 - ถ้าเป็นไปได้ควรมีการร่วมเพศบ้าง เพราะเวลามีน้ำเชื้อออกมา จะทำให้ต่อมลูกหมากไม่บวม

สำหรับคำถามที่ว่า โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่คำตอบนี้คงตอบยากสักหน่อย เนื่องจากโรคส่วนใหญ่ไม่มีหายขาด นอกจากโรคติดเชื้อบางอย่าง โรคต่อมลูกหมากโตเป็นโรคเนื้องอกในต่อมลูกหมาก การรักษาโดยผ่าตัดก็ไม่ได้ตัดต่อมลูกหมาก เพียงแค่เอาเนื้องอกออกเท่านั้น ซึ่งก็เกิดขึ้นใหม่ได้ แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมดังที่กล่าวไปแล้ว มีส่วนทำให้อาการดีขึ้น ถึงบางส่วนอาจจะไม่ดีขึ้นแต่ก็ไม่แย่ลง โรคนี้เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงและรักษาไม่หายขาด แต่มีอาการดีขึ้นได้หากเปลี่ยนพฤติกรรม ที่สำคัญอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่บอกว่ามียารักษาโรคนี้ได้หายเด็ดขาด หรือวิธีนี้วิธีนั้นดีที่สุด