• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคลมชัก

ถาม : เสนาะ/สระแก้ว
ผมมีปัญหาสุขภาพขอถามดังนี้
แฟนของผม เวลาใกล้จะหลับมักมีอาการชาบริเวณแขนก่อน จากนั้นชาลงไปถึงขาข้างขวา และเกร็งชักไปทั้งตัวประมาณ ๒-๓ นาที 
ขณะที่เกิดอาการเกร็ง ปากจะซีดและเปลี่ยนเป็นสีคล้ำเหมือนคนขาดอากาศ ต่อจากนั้นจะมีน้ำลายหรือเสมหะในลำคอ และสลบไปเหมือนคนหลับปกติ บางครั้งกัดลิ้นตัวเองด้วย
อาการนี้นานๆ จะเกิดสักครั้ง แต่เกิดช่วงใกล้หลับ  ซึ่งก่อนจะมีอาการ สัญญาณเตือนที่สังเกตได้คือมีอาการชานิดๆ เคยไปตรวจเอกซเรย์สมอง ก็ไม่พบอะไรผิดปกติ ขณะนี้กำลังท้องได้ ๘ เดือนกว่า
๑. อาการของแฟนผม เป็นโรคลมชักใช่หรือไม่
๒. ไปปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยา ได้ยา Depakine ๒๐๐ มิลลิกรัม กินวันละ ๓ ครั้ง และยาคลายเครียดกินวันละ ๓ ครั้งเหมือนกัน แต่ให้หยุดกินนานแล้ว เพราะแฟนตั้งครรภ์ กลัวว่าจะมีปัญหากับเด็ก ยานี้เป็นยากันชักใช่หรือไม่ กินแล้วมีผลข้างเคียงอย่างไร
๓. พอแนะนำได้หรือเปล่าครับว่า แฟนผมควรจะไปรักษาที่ไหนเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง 
๔. ไม่ได้เป็นตั้งแต่กำเนิดเพิ่งมาเป็นแค่ ๒ ปีที่ผ่านมา เกิดจากอะไร มีโอกาสหายขาดหรือไม่
๕. ระดับความรุนแรงมีมากหรือไม่ เพราะปากสีคล้ำเหมือนคนขาดอากาศ 
      
ตอบ : นพ. กัมมันต์ พันธุมจินดา
๑. อาการที่บอกมานี้เป็นอาการของโรคลมชัก 
โรคลมชักเป็นโรคที่พบบ่อยมากในคนไทย (ประมาณร้อยละ ๑ คือ ๖ แสนคน) เป็นโรคที่ถูกสังคมมองข้ามมานาน มีทัศนคติที่ผิดว่าผู้ป่วยโรคลมชัก เป็นผู้ที่พิการไม่สมประกอบ และเป็นโรคที่รักษาไม่หายต้องกินยาไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมาน เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม เป็นปมด้อย และขาดโอกาสที่จะศึกษาและประกอบอาชีพ ทำให้ผู้ป่วยขาดคุณภาพชีวิตที่ดี โรคลมชักมักเกิดในครอบครัวที่ยากจน แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขเป็นจำนวนมากยังไม่เข้าใจถึงผู้ป่วย ตลอดจนวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้
๒. Depakine เป็นยากันชัก แต่หยุดไปก่อนท้องนั้นเหมาะแล้ว เพราะเป็นยาที่อาจมีผลต่อเด็กในครรภ์ได้
๓. แนะนำให้คุณมาพบแพทย์ที่คลินิกโรคลมชัก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
๔. ปัจจุบันมีเครื่องมือตรวจภาพสมองที่ทันสมัยและให้ความละเอียด เรียก MRI และคลื่นสมองอย่างละเอียด ช่วยบอกสาเหตุได้ชัดเจนกว่าในสมัยก่อน โอกาสหายขึ้นกับการใช้ยากันชักที่ถูกวิธีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคลมชัก และขึ้นกับสาเหตุที่ตรวจพบ แต่แพทย์จะพยายามรักษาให้หายขาด หรือหายชักอย่างดีที่สุด 
โดยความเป็นจริง โรคลมชักสามารถหายได้ด้วยการใช้ยากันชักที่มีประสิทธิภาพถึงกว่า ร้อยละ ๖๐ และหากผู้ป่วยดื้อยาทุกชนิดแล้ว (ร้อยละ ๑๐-๒๐) ก็สามารถหายขาดได้ด้วยการผ่าตัดสมอง หากได้รับการประเมินอย่างพิถีพิถันด้วยกระบวนการตรวจที่ทันสมัย
ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนมากจะถูกรบกวนเพียงเมื่อมีอาการชักเป็นครั้งคราว ซึ่งมักนานครั้งละไม่เกิน ๑๐ นาที แต่เวลาที่เหลือนอกนั้น ผู้ป่วยส่วนมากจะมีชีวิตเหมือนคนปกติ ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยสามารถประกอบอาชีพหรือสำเร็จการศึกษาขั้นสูงได้ เพียงแต่ผู้ป่วยได้รับการรักษาอาการชักอย่างถูกวิธี ครอบครัว ครู หรือนายจ้าง ได้รับความรู้และทัศนคติที่ถูกต้อง ผู้ป่วยก็จะสามารถเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมได้
๕. อาการชักแบบนี้ เรียกลมบ้าหมู มีการขาดออกซิเจนขณะชัก ทำให้ปากเขียวคล้ำ ซึ่งมีผลต่อเด็กในครรภ์ได้ และมีผลต่อผู้ป่วยเอง ควรป้องกันไม่ให้ชักอีก โดยรักษาให้ถูกต้องและต่อเนื่องแต่เนิ่นๆ รวมทั้งเรียนรู้เรื่องการปฐมพยาบาล ดังนี้
- ไม่งัดหรือใส่ของแข็งเข้าไปในปากผู้ป่วย
- ป้องกันการบาดเจ็บ
- ไม่ควรละทิ้งผู้ป่วยเพื่อไปตามผู้อื่น 
- ไม่ควรผูกมัดหรือต่อสู้กับผู้ป่วย
- ช่วยเหลือการหายใจ คือภายหลังที่หยุดชักแล้วควรจับให้ผู้ป่วยนอนตะแคง จะช่วยให้ลิ้นของผู้ป่วยอยู่ในตำแหน่งปกติ และน้ำลายไหลออกมา
- ไม่ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารใดๆ ในระหว่างชักหรือหลังชักใหม่ๆ เพราะอาจทำให้สำลักได้