ท้องผูก
ถาม : พิณ/นนทบุรี
ลูกดิฉัน อายุ ๖ ขวบ คุณครูที่โรงเรียนแจ้งว่าเข้าห้องน้ำนานกว่าคนอื่นๆ ออกจากห้องน้ำได้ก็มีอาการเหงื่อออกมากและมีอาการจะเป็นลมบ่อยครั้ง เกิดจากอะไร
ตอบ : พญ.วารุณี พรรณพาณิช
ท้องผูกคือการที่เด็กถ่ายอุจจาระลำบาก อุจจาระแข็งเป็นเม็ดๆ อาจมีอาการเจ็บเวลาถ่ายหรือไม่สามารถ ถ่ายได้เด็กอาจจะอย่างถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก ถ้าถ่ายเป็นอุจจาระก้อนขนาดใหญ่ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือถ่ายลำบาก โดยอาจจะ ๒-๓ วันถ่ายครั้งหนึ่ง ก็ไม่ถือว่า ท้องผูก
เด็กเล็กๆ บางคนเวลาถ่ายจะเบ่งจนหน้าแดง แต่อุจจาระไม่แข็งไม่ร้องเจ็บปวดก็ไม่เข้าข่ายท้องผูก
ท้องผูกเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและทั่วไป ส่วนใหญ่เกิดจาก
๑. การกินอาหารที่ไม่ถูกสันส่วน โดยเฉพาะการกินเนื้อสัตว์ ไขมัน ข้าวขาวหรือแป้งขัดขาว โดยไม่ค่อยกินอาหารที่มีเส้นใยหรือมีกากน้อย ชอบกินแต่ขนมหวาน ไม่ชอบกินข้าว ผัก ผลไม้ ดื่มน้ำน้อย
๒. ขาดการออกกำลังกาย โดยเฉพาะคนทำงานแล้วจำนวนไม่น้อยคิดว่าทำงานมาแล้วทั้งวัน กลับบ้านก็เอาแต่นอนไม่ออกกำลังกาย ทำให้ลำไส้ไม่ทำงาน
๓. ความเคร่งเครียด ความเร่งรีบในชีวิตประจำวัน ระบบประสาทเร่งรัดจะทำงานมาก รบกวนระบบย่อยและขับถ่าย มีผลทำให้ลำไส้บีบตัวลดลง
๔. การที่เด็กบางคนไม่ได้รับการฝึกขับถ่ายในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้ถ่ายไม่เป็นเวลาจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคท้องผูกได้
๕. ดื่มนมผสมที่ไม่ถูกต้องตามวัย หรือชงนมที่ไม่ถูกสัดส่วน เช่นชงข้นหรือเจือจากเกิน
๖. โรคอื่นๆ เช่น มีการตีบของรูทวารหนัก โรคทางระบบประสาทหรือโรคลำไส้ใหญ่พอง เพราะขาดประสาทควบคุม มักพบว่ามีอาการตั้งแต่เดือนแรกๆ ของชีวิต
วิธีป้องกันแก้ไข
๑. ในทารกควรให้กินนมแม่แทนนมผสม ถ้าใช้นมผสมต้องพิจารณาว่าผสมนมถูกอัตราส่วนหรือไม่
๒. เด็กโตควรให้ดื่มนมจากแก้ว จะทำให้ดูดนมน้อยลงและกินอาหารอื่นได้มากขึ้น
๓. เด็กที่ได้อาหารเสริมแล้วไม่ควรได้นมเกินวันละ ๓๐ ออนซ์ ควรให้เด็กได้กินอาหารที่มีกากมากขึ้น และหัดให้เด็กกินข้าวกล้อง ผักผลไม้สดที่มีเส้นใยปริมาณมาก เช่น ส้มทั้งกลีบ ชมพู่ มะละกอและดื่มน้ำมากขึ้น และอาหารว่างควรเป็นผลไม้ ไม่ควรตามใจให้กินแต่ขนมหวาน
๔. ให้ดื่มน้ำ ๑ แก้วเป็นประจำเมื่อตื่นนอนตอนเช้าและควรให้น้ำอย่างน้อย๔-๖ ๖ แก้วต่อวัน
๕. สนับสนุนให้เด็กได้มีการออก-กำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรใช้เวลา ในการดูทีวีในแต่ละวันมากเกินไป
๖. การฝึกหัดขับถ่ายให้เด็กเมื่ออายุมากกว่า ๑ ปีค่อยๆ ฝึก ไม่ควรเร่งรีบ ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา
๗. ไม่ควรให้ยาระบายเป็นประจำ ยกเว้นถ้าเด็กท้องผูกมาก มีเลือดปน มากับอุจจาระ ควรจะปรึกษาแพทย์ ไม่ควรสวน หรือใช้ยาถ่ายประเภทน้ำมันระหุ่ง ใบมะขามแขก เพราะอาจทำให้เด็กถ่ายรุนแรง หลังจากนั้นไส้อาจหยุดทำงานชั่วขณะ ทำให้ท้องผูกต่อไปอีก หากใช้บ่อยๆ ต่อเนื่อง อาจทำให้เป็น
ท้องผูกเรื้อรัง
๘. ถ้าเด็กมีแผลที่ก้น ให้นั่งเด็กแช่น้ำอุ่นผสมด่างทับทิมวันละ ๒ ครั้ง ทาวาสลินหรือครีมทาก้นรอบทวารหนักก่อนถ่าย หรือถ้าเจ็บมากอาจใช้ยาชาทาเฉพาะที่ก่อนถ่ายตามที่แพทย์สั่งก็ได้
๙. ถ้าท้องผูกธรรมดาคุณดูแลให้การช่วยเหลือเบื้องต้นเด็กก็หาย ท้องผูกได้ หากท้องผูกร่วมกับท้องอึดมากอาเจียน ซึ่งอาจเกิดจาก ทางเดินอาหารอุดตัน คุณควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว
- อ่าน 5,385 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้