ถาม ผู้ป่วยหญิง ไปขัดหน้าด้วยสมุนไพร แล้วต่อมามี red papule แบบ acne eruption ขึ้นเต็มหน้า ควรจะรักษาแบบ contact dermatitis หรือ acne ผู้ป่วยบางคนจะมี red papule เป็นๆ หายๆ อยู่หลายเดือนกว่าจะหาย.
สมาชิก
ตอบ ควรตรวจดูลักษณะของรอยโรคว่าเป็น acne vulgaris หรือ contact dermatitis โดยในสิวจะตรวจพบมี comedone เป็นลักษณะสำคัญ ถ้าเป็นสิว ให้การรักษาโดยยารักษาสิว เช่น benzoyl peroxide, tretinoic acid เป็นต้น. แต่ถ้ามีอาการคันและตรวจไม่พบ comedone น่าจะเป็นผื่นแพ้ สัมผัส (contact dermatitis) มากกว่า โดยชนิดของ contact dermatitis แบ่งเป็น irritant หรือ allergic ส่วนใหญ่แล้วถ้ามีประวัติไปขัดหน้าด้วยสมุนไพรแล้ว ไม่นานมีตุ่มขึ้นที่หน้าลักษณะคล้ายตุ่มหนอง. สารสมุนไพรนั้นน่าจะทำให้เกิด irritant contact dermatitis โดยสารนั้นไป irritate รูขุมขนแล้วทำให้เกิดสิว แต่ถ้ามีประวัติไปทำหน้ามาระยะหนึ่งแล้วถึงมีอาการ น่าจะเป็น allergic contact dermatitis โดยจะมีอาการคันร่วมด้วย. การรักษาระยะแรกอาจให้ mild potency topical steroid เช่น 1-2% hydrocortisone, 0.02% triamcinolone เพื่อลดการอักเสบ และกินยาแก้แพ้เพื่อลดอาการคัน จนลักษณะของผิวหนังอักเสบดีขึ้น.1
หากอยาก ทราบว่าเป็นจากสมุนไพรหรือไม่ ต้องทำ use test โดยใช้สารที่สงสัยทาบริเวณท้องแขนเป็นวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 ซม. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ หากมีอาการคัน แดงหรือมีผื่นบริเวณนั้นมักเป็น allergic reaction. แต่ถ้าจะหาว่าสาเหตุเกิดจากสารชนิดใด ต้องขอส่วนผสมของสมุนไพรจากร้านที่ไปทำแล้วแยกสารออกมา test เป็นชนิดโดยทำ use test เช่นเดียวกัน นอกจากว่าจะสงสัยสาร preservative หรือ fragrance สามารถทำ standard patch test ก่อนก็ได้.2 อย่างไรก็ตาม ควรให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์เฉพาะทางและนำผลิตภัณฑ์ที่สงสัยมาด้วยจึงจะดีที่สุด.
เอกสารอ้างอิง
1. de Groot AC, Weyland JW, Nater JP. Acne-folliculitis. In : de Groot AC, Weyland JW, Nater JP. eds. Unwanted effects of cosmetics and drugs used in dermatology. 3rd ed. Elsevier Science B.V.,1994:171-3.
2. Rietschel RL, Fowler JF. Practical aspect of patch testing. In : Rietschel RL, Fowler JF, eds. Fisher's contact dermatology. 5th ed. Philadelphia : Williams&Wilkins, 2001:9-10.
ณัฏฐา รัชตะนาวิน พ.บ.
หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
บรรณาธิการ
สุรางค์ เจียมจรรยา พ.บ.
ศาสตราจารย์, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
- อ่าน 2,851 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้