ถาม : เวโรจน์/กรุงเทพฯ
ผมอายุ ๔๙ ปี ไปตรวจสุขภาพมา มีผลดังนี้
คอเลสเตอรอล ๒๓๑ ไตรกลีเซอไรด์ ๒๖๘ เอชดีแอล ๗๒ แอลดีแอล ๗๘ น้ำตาล ๑๑๔กรดยูริก ๔.๔ Alk phos ๙๘ SGOT 47 เอนไซม์ตับ (SGPT 80)
น้ำหนัก ๖๙ กิโลกรัม ความดันตัวล่าง ๖๐ ตัวบน ๑๐๐
๑. ต้องการลดไตรกลีเซอไรด์ให้ลงกว่านี้ จะต้องทำอย่างไร ไขมัน ๒๗๐ ใช้เวลา ๑ ปีลดเหลือ ๒๓๑ แอลดีแอล ๑๖๘ ลดลง ๗๘ แต่ไตรกลีเซอไรด์ไม่ยอมลดลง เป็นเพราะอะไร ไม่ได้ใช้ยา แต่วิ่งออกกำลังกายวันละ ๓ กิโลเมตร
๒. ตับ SGPT สูงไปหรือไม่ จะลดลงอย่างไร เกี่ยวกับโรคนอนไม่หลับหรือไม่ แต่ไม่กินยา
๓. โรคนอนไม่หลับ เคยรักษากับจิตแพทย์ใช้เวลา ๓ เดือน หมอให้ยาเพิ่มสารเคมีในสมองกับยานอนหลับ จึงเลิกกินยาเพราะหมอจะให้ยานอนหลับไปกินตลอดชีวิต โดยเปรียบเทียบกับคนเป็นเบาหวาน ความดันให้ฟัง
ตอบ : นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์
ผมขอตอบคำถามเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ
๑. ไตรกลีเซอไรด์ที่สูงกว่าปกติ (มากกว่า ๑๕๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) อาจเกิดจากการอดอาหาร หรือเครื่องดื่ม ไม่ครบ ๑๒ ชั่วโมงก่อนเจาะเลือดตรวจ แต่ถ้าอดอาหารครบแล้วยังสูง ส่วนใหญ่เกิดจากการกินอาหารที่มีไขมัน (ทั้งจากพืชและสัตว์) มากเกินไป หรือกินอาหารประเภทข้าว แป้ง น้ำตาล ผลไม้ แอลกอฮอล์ มากเกินไป กินแล้วใช้ไม่หมด ร่างกายจึงเก็บสะสมเป็นไตรกลีเซอไรด์ แม้ว่าคุณจะวิ่งวันละ ๓ กิโลกรัม แต่ถ้ายังอ้วนลงพุง (รอบเอวในชายไทยเกิน ๙๐ ซม. หรือ ๓๒ นิ้ว) หรือมีน้ำตาลในเลือด (หลังอดอาหาร ๘ ชั่วโมง) ยังสูงเกิน ๑๐๐ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรอยู่ (น้ำตาลของคุณสูง ๑๑๔) และยังตรวจพบเอนไซม์ตับ คือ sGPT สูง น่าจะเป็นกลุ่มอาการเมตาบอลิก หรือ อ้วนลงพุง ดังนั้น ถ้าคุณใส่กางเกงเกิน ๓๒ นิ้ว อยากจะลดไตรกลีเซอไรด์ น่าจะลดรอบเอวลง โดยการลดปริมาณอาหารดังกล่าวข้างต้น แต่ถ้าไม่ได้เอวเกิน ก็ควรลดอาหาร โดยเฉพาะผลไม้ และ น้ำตาล
๒. เอนไซม์ตับ (sGPT) สูงเกินค่าปกติ บ่งบอกถึงมีความผิดปกติ หรือการอักเสบขึ้นที่ตัวตับ ซึ่งไม่น่าเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากยา สมุนไพร อาหารเสริม ที่กินเป็นประจำ หรือไวรัสตับอักเสบที่ซ่อนตัวอยู่ โดยอาจไม่เกิดอาการ หรือจากภาวะอ้วนลงพุงดังกล่าวข้างต้น (ไขมันพอกตับ) ไม่น่าจะเกี่ยวกับภาวะนอนไม่หลับโดยตรง ถ้าจะลดการอักเสบในตับ ก็ลดที่เหตุปัจจัยที่ทำให้เป็น เช่น ลดรอบเอว งดกินยา สมุนไพร ที่กินประจำ หรือตรวจเช็กดูว่าเราเป็นไวรัสตับอักเสบหรือเปล่า เป็นต้น
๓. ภาวะนอนไม่หลับ มักเกิดจากหยุดคิดไม่ได้เวลาหลับ เพราะคนหลับไม่คิด คนคิดไม่หลับ ยานอนหลับเป็นยากดคิด ไม่ให้สมองใช้ความคิด เมื่อไม่คิดก็หลับไปเอง แต่การกดความคิดด้วยยาเป็นประจำ เมื่อไม่กินยานอนหลับกดไว้ สมองก็จะฟุ้งซ่าน คิดมากขึ้นนอนไม่หลับ ก็ต้องกินยานอนหลับไปเรื่อยๆ จนติดยานอนหลับ
ดังนั้น ควรหาวิธีที่จะหยุดคิดด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องบังคับ เพราะการบังคับให้หยุดคิด บังคับให้หลับ ก็เป็นการคิด ซึ่งใช้ไม่ได้ผล ส่วนใหญ่ผมจะหลับด้วย ๒ วิธีครับคือ เพลียหลับ กับ เผลอหลับ
เพลียหลับ คือ กลางวัน ใช้แรงทำงาน ออกกำลังให้เพลีย จนกลางคืนเวลานอน ไม่มีแรงพอจะคิด (หมดแรงคิด) หัวถึงหมอนก็หลับเลย หรือคืนไหนอยู่เวรทั้งคืน เช้าทำงานต่อ ก็ทำงานพอได้ แต่บ่ายๆ ง่วงมากก็งีบสัก ๒๐ นาที ตื่นพอสดชื่น ก็ทำงานต่อได้ พอตกกลางคืน เวลานอนก็เพลียหลับ นอนชดเชยคืนก่อนได้ โดยไม่ต้องกินยานอนหลับ หรือดื่มกาแฟแก้ง่วงเลย
เผลอหลับ คือ บางคนเคยเผลอหลับหน้าจอทีวีบ้าง เวลาฟังบรรยายบ้าง ก็ใช้วิธีเดียวกัน เวลานอนไม่หลับ พลิกไปมาครึ่งชั่วโมงแล้วก็ไม่หลับ (เพราะไม่เพลียพอ ยังมีแรงคิดอยู่) ก็ให้ลุกขึ้นจากเตียง มาดูทีวี ดูสารคดีท่องเที่ยว อ่านหนังสือ ฟังเพลงบรรเลง จนง่วง จนจะเผลอหลับสัปหงก แล้วจึงกลับขึ้นเตียงนอน
- อ่าน 7,883 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้